BPA free สำคัญอย่างไร

 

BPA free สำคัญอย่างไร

ในปัจจุบันผลิตภัณฑ์บรรจุอาหารต่าง ๆ โดยเฉพาะอาหารหรือขวดนมสำหรับทารกนั้น จะพบสัญลักษณ์หรือเครื่องหมาย BPA free ติดอยู่ที่บรรจุภัณฑ์อย่างชัดเจน เปรียบเหมือนส่วนหนึ่งของป้ายโฆษณาเครื่องหมายการค้าที่ขาดไม่ได้ และสัญลักษณ์นี้สำคัญอย่างไร

รูปที่ 1 ขวดนมสำรับทารก กับสัญลักษณ์ BPA free(1)

BPA หรือ Bisphenol A(2-4) เป็นสารเคมีประกอบหนึ่งในวัตถุที่เรียกว่า โพลีคาร์บอเนต (Polycarbonate – Plastic) ซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักที่ใช้ในการผลิตขวดนม ขวดน้ำดื่มมานาน โดยสารนี้มีคุณสมบัติช่วยให้ขวดนมหรือพลาสติกมีความแข็งแรง ใส ไม่แตกง่าย เมื่อบริโภคอาหารจากบรรจุภัณฑ์เหล่านั้นก็มีโอกาสจะได้รับสาร BPA เข้าไปโดยไม่รู้ตัว ต่อมาได้มีการศึกษาวิจัยในประเทศแคนาดา และตรวจพบว่าสารชนิดนี้สามารถหลุดลอกออกมาจากขวดนมได้ หากขวดนมมีการแตกร้าว เสื่อมคุณภาพ และอยู่ในอุณหภูมิความร้อนสูง ๆ เช่น ระหว่างการต้มขวดนม หรือนึ่งขวดนม ปัจจัยหลักที่เป็นปัญหาคือ โรงงานผู้ผลิตบางโรงงานได้นำวัตถุดิบรีไซเคิลมาใช้ผลิตขวดนมเพื่อลดต้นทุน ภายหลังจึงได้มีการประกาศห้ามผลิตเพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค ปัจจุบันวัตถุดิบทางเลือกที่มาทดแทนการใช้ผลิตขวดนมมีหลายชนิด แต่วัตถุดิบที่ปลอดภัยที่สุดในขณะนี้คือ Polypropylene หรือ PP เนื่องจาก PP ได้รับรองจาก FDA (Food and Drug Administration คือ องค์การอาหารและยาของประเทศสหรัฐอเมริกา) ให้สามารถใช้ PP ผลิตอุปกรณ์ขวดนมสำหรับเด็กอ่อนได้ ส่วนวัตถุดิบตัวเลือกชนิดอื่น ๆ แม้ว่าจะมีการรับรอง หลายชนิดยังอยู่ในขั้นตอนการตรวจสอบหาสารอื่นที่มีอันตรายเพิ่มเติม(2-4)

รูปที่ 2 โครงสร้างทางเคมีของ Bisphenol A (BPA)(3)

พลาสติกในกลุ่ม #7-other ซึ่งมักหมายถึง โพลีคาร์บอเนตอาจปลดปล่อย Bisphenol A (BPA) ซึ่งเป็นสารตั้งต้นในการผลิต และจัดเป็นสารรบกวนการทำงานของฮอร์โมน (hormone disrupter) และอาจถูกปลดปล่อยสู่อาหารและเครื่องดื่ม สารชนิดนี้จะมีคุณสมบัติคล้ายฮอร์โมนเอสโตรเจน ในงานวิจัยพบว่า BPA ทำให้น้ำหนักของสัตว์ทดลองเพิ่มขึ้น และมีผลต่อระดับฮอร์โมนในเลือด นอกจากนี้ยังพบว่าการได้รับ BPA เพียงเล็กน้อยก็ทำให้เกิดการต้านอินซูลิน (insulin resistance) ซึ่งนำไปสู่การอักเสบและโรคหัวใจ(5)

 

BPA เข้าสู่ร่างกายได้อย่างไร(2)

            การเข้าสู่ร่างกายของ BPA นั้นจะเข้าสู่ร่างกายได้อย่างไร ในเบื้องต้นตัวที่จะเร่งปฏิกิริยาคือ ความร้อน เช่น การต้ม นึ่ง หรือสเตอริไลซ์พลาสติกทำให้สารพิษหลุดและร่อนออกมาปะปนในอาหารยิ่งขึ้น สาร BPA จะแทรกซึมลงในของเหลวและอาหารที่บรรจุอยู่ภายในภาชนะที่มีสาร BPA เช่น ขวดนม ขวดน้ำพลาสติก กล่องบรรจุอาหาร แล้วจึงเข้าสู่ร่างกายเมื่อรับประทานหรือดื่มเข้าไป

โทษของ BPA(2-5)

  • มีผลต่อการสร้างเซลล์สมอง ระบบประสาท ความทรงจำ การเรียนรู้
  • มีผลต่อฮอร์โมนการเจริญเติบโตและการสืบพันธุ์ ทำให้เด็กเป็นหนุ่มเป็นสาวเร็วเกินไป
  • เด็กมีแนวโน้มที่จะเป็นโรคอ้วนและไฮเปอร์แอคทีฟ
  • ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อโรคเบาหวานและโรคหัวใจ
  • ยิ่งสะสมในร่างกายมากเท่าใดก็จะยิ่งไปลดศักยภาพการทำงานของร่างกายมากขึ้น
  • ที่สำคัญคือ เด็กทารกเมื่อได้รับสาร BPA ก็จะส่งผลกระทบที่รุนแรงมากกว่าในเด็กโตหรือผู้ใหญ่

 

ชนิดของพลาสติกและการนำไปใช้(5)

  1. PET (PETE) หรือ Polyethylene Terephthalate พลาสติก PET เป็นขวดใสใช้บรรจุน้ำดื่ม น้ำอัดลมขนาด 2 ลิตร ขวดน้ำมันพืช และกระปุกเนยถั่ว
  2. HDPE หรือ High Density Polyethylene เป็นขวดสีขาว ทึบแสง หรือสีทึบอื่น ๆ มักใช้บรรจุน้ำดื่ม นม ยาเม็ด ผงซักล้าง น้ำยาล้างห้องน้ำ แป้งฝุ่น
  3. PVC หรือ Polyvinyl Chloride พลาสติกพีวีซีมักใช้เป็นท่อประปา เฟอร์นิเจอร์ ขวดน้ำ แผ่นฟิล์มถนอมอาหาร ภาชนะบรรจุน้ำสลัดและน้ำยาซักล้าง
  4. LDPE หรือ Low Density Polyethylene มักใช้เป็นถุงซักแห้ง ภาชนะเก็บอาหาร สารเคลือบกระป๋อง
  5. PP หรือ Polypropylene มักใช้เป็นภาชนะบรรจุอาหาร อาหารทารก ฝาขวด หลอดดูดน้ำ
  6. PS หรือ Polystyrene มักถูกนำมาใช้ผลิตถ้วย ชาม ถาดอาหาร ภาชนะบรรจุอาหารกลับบ้าน
  7. Other หมายถึงพลาสติกชนิดอื่น ๆ นอกเหนือจากชนิดที่ 1-6 มักเป็นพวก Polycarbonate ซึ่งใช้เป็นภาชนะบรรจุอาหาร ทัพเพอร์แวร์ แกลลอนน้ำดื่ม และขวดนัลจีน (nalgene) รวมทั้งใช้ในการเคลือบด้านในของกระป๋องบรรจุอาหาร (metal can linings)

รูปที่ 3 เครื่องหมายสัญลักษณ์ของพลาสติกประเภทต่าง ๆ บนบรรจุภัณฑ์

            ในการเลือกใช้ภาชนะพลาสติกสำหรับการบรรจุหรือเก็บอาหาร ควรหลีกเลี่ยงพลาสติกที่มีสัญลักษณ์ #3-PVC #6-PS หรือ #7-Polycarbonate และสามารถใช้พลาสติกที่มีสัญลักษณ์เหล่านี้ ได้แก่ #1-PET #2-HDPE #4-LDPE และ #5-PP ในปัจจุบันนี้นอกจากภาชนะบรรจุอาหารสำหรับทารกแล้ว BPA free ยังนำไปใช้กับของเล่นพัฒนาการเด็กที่สามารถทนกับการกัดเล่นหรืออมเข้าปากของเด็กอีกด้วย ดังนั้น ในการแนะนำการเลือกใช้ของพลาสติกให้ปลอดภัยอาจให้สังเกตจากสัญลักษณ์ BPA free หรือกลุ่มสัญลักษณ์ประเภทของพลาสติกก็จะช่วยให้ผู้บริโภคใช้ของเครื่องใช้พลาสติกได้อย่างปลอดภัยยิ่งขึ้น

เอกสารอ้างอิง

  1. http://img0033.popscreencdn.com/33136816_baby-nova-non-spill-sippy-cups---bpa-free.jpg
  2. ขวดนม BPA คืออะไร. http://www.mom2kiddy.com/สาระน่ารู้-แม่และเด็ก/21-ขวดนม-BPA-คืออะไร.html
  3. http://en.wikipedia.org/wiki/Bisphenol_A
  4. สาร BPA คืออะไร. http://www.babybestbuy.in.th/shop/BPA
  5. พลาสติก (plastic). http://www.pharm.su.ac.th/cheminlife/cms/index.php/product-name/product-name-english/415-plastic.html