ดร.ศิวนนท์ จิรวัฒโนทัย

ดร.ศิวนนท์ จิรวัฒโนทัย

นักวิจัยคือผู้ค้นหาสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่มนุษย์ในวงกว้าง

โรคมะเร็งเป็นโรคร้ายแรงที่คร่าชีวิตคนเป็นจำนวนมหาศาลในแต่ละปี ปัญหาของโรคนี้คือ ยังไม่มีวิธีการรักษาที่มีประสิทธิภาพ หลักการรักษาใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้นคือ การรักษามะเร็งแบบเจาะจง (Targeted Therapy) โดยมุ่งทำลายเฉพาะที่สารก่อโรค เป็นวิธีที่ให้ผลดีและมีผลข้างเคียงต่ำ โปรตีนก่อมะเร็งชื่อ cyclin D1 เป็นโปรตีนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับมะเร็งหลายชนิด จึงน่าจะเป็นเป้าหมายของการรักษาแบบเจาะจงที่ดี อุปสรรคที่สำคัญที่ยังไม่สามารถใช้ cyclin D1 เป็นเป้าหมายการรักษาได้คือ ไม่ทราบกลไกแน่นอนว่า cyclin D1 มีส่วนก่อมะเร็งได้อย่างไร

จากความตั้งใจที่จะค้นคว้าหาคำตอบเพื่อหาแนวทางในการรักษาโรคมะเร็ง โรคร้ายที่คร่าชีวิตผู้คนเป็นจำนวนมาก ทำให้ ดร.ศิวนนท์ จิรวัฒโนทัย ภาควิชาเภสัชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เข้าร่วมและเป็นผู้นำทีมของนักวิทยาศาสตร์สหสาขาวิชาจากสถาบันต่าง ๆ ในการออกค้นหารายละเอียดและธรรมชาติของโปรตีนก่อโรคที่สำคัญชนิดหนึ่งคือ cyclin D1 โดยเน้นการประสานเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ากับความชำนาญเฉพาะด้านของผู้ร่วมทีม ส่งผลให้เกิดการค้นพบหน้าที่ใหม่ 2 ด้านของ cyclin D1 ที่ไม่มีการคาดคิดมาก่อนในแง่ของการก่อมะเร็งและในการเจริญเติบโตของอวัยวะ (Organ Development)

ดร.ศิวนนท์ สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาจากโรงเรียนเทพศิรินทร์ และระดับปริญญาตรี เภสัชศาสตรบัณฑิตจากคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร (เกียรตินิยม) ในปี พ.ศ. 2540 และได้รับคัดเลือกเป็นผู้รับทุนจากกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ศึกษาในระดับปริญญาเอกด้านพันธุศาสตร์ระดับโมเลกุล ที่มหาวิทยาลัยอิลลินอยส์ เมืองชิคาโก ประเทศสหรัฐอเมริกา จากนั้นได้รับการผึกอบรมหลังปริญญาเอกด้านกลไกของการเกิดโรคมะเร็งที่สถาบันมะเร็งดานา-ฟาร์เบอร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ก่อนที่จะได้รับตำแหน่งอาจารย์และนักวิจัยที่สถาบันเดียวกัน ปัจจุบันเป็นอาจารย์ประจำภาควิชาเภสัชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล และเป็นอาจารย์พิเศษที่คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และทำการวิจัยเพื่อค้นหาเป้าหมายใหม่ในการรักษาโรคมะเร็งและโรคอื่น ๆ ที่สำคัญในคนไทย

จากการทำงานร่วมกับนักวิจัยนานาชาติ ทำให้ ดร.ศิวนนท์ สามารถรวบรวมผู้เชี่ยวชาญและเทคนิคการวิจัยเพื่อนำมาใช้เป็นส่วนหนึ่งของงาน เคยได้รับรางวัล Quest Diagnostics Young Investigators Award (พ.ศ. 2547) โดย The Endocrine Society ประเทศสหรัฐอเมริกา และเป็นหนึ่งในนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ที่มีผลงานโดดเด่นจนได้รับการคัดเลือกเข้าสู่โครงการ Women’s Cancer Program’s Fellowship โดย Brigham and Women’s Hospital/Dana-Farber Cancer Institute คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ในช่วงปี พ.ศ. 2549-2554 TRF-CHE-Scopus Young Researcher Awards สาขา Health Sciences 2013, TRF Outstanding Research of the Year 2013, นักศึกษาเก่าดีเด่น มหาวิทยาลัยศิลปากร ประจำปี พ.ศ. 2556, รางวัลศิริราชเชิดชูเกียรติ ประจำปี พ.ศ. 2556 และเจ้าของผลงานวิจัยดีเด่นสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ประจำปี พ.ศ. 2556 ในกลุ่มงานวิจัยเชิงวิชาการและมนุษยศาสตร์ ในหัวข้อเรื่อง การศึกษาฤทธิ์ของ cyclin D1-CDK4 ในกระบวนการตอบสนองหลังจากเกิดการทำลายของ DNA

ดร.ศิวนนท์ กล่าวถึงการค้นพบจากโครงการนี้ว่า cyclin D1 ได้รับความสนใจในวงกว้างและถูกนำไปค้นคว้าต่อยอดเพื่อหาวิธีการรักษามะเร็งที่มีประสิทธิภาพสูงจากความรู้ที่ได้มานี้ โดยงานวิจัยนี้ได้ใช้เทคโนโลยีล่าสุด และมีขีดความสามารถสูงที่สุดในขณะนั้น ทำให้เกิดการค้นพบ ได้แก่

1. กลไกที่โปรตีน cyclin D1 ใช้ในการก่อมะเร็งอย่างละเอียด

2. ทำการพิสูจน์ได้ว่า เมื่อทำลายโปรตีนนี้จากเซลล์มะเร็ง ทำให้มะเร็งหยุดการเติบโต และตอบสนองต่อการรักษาแบบฉายแสงหรือด้วยยาเคมีบำบัดได้ดีขึ้นอย่างทวีคูณ

3. จากการเรียนรู้กลไกนี้ ทำให้สามารถออกแบบสูตรวิธีรักษาโรคมะเร็งแบบใหม่เป็นผลสำเร็จ นอกจากนี้ยังสามารถสาธิตให้เห็นเป็นที่ประจักษ์ในสัตว์ทดลองว่าได้ผลจริง

นอกจากนี้ผลงานวิจัยนี้สามารถนำไปใช้ประโยชน์ คือ

เชิงวิชาการ โครงการนี้ได้แสดงให้เห็นเป็นครั้งแรกว่า โปรตีนที่ควบคุมการแบ่งตัวของมะเร็งมีส่วนในการซ่อมสาย DNA จึงเป็นครั้งแรกที่มีการพบการทำงานลักษณะนี้ และยังเป็นการเปิดสาขาใหม่ของการวิจัย จึงเป็นที่กล่าวถึงจากนักวิจัยทั่วโลก

เชิงสาธารณะ โครงการนี้ได้สร้างและพิสูจน์สูตรวิธีการรักษามะเร็งแบบใหม่ที่ได้ผล และลดอันตรายจากผลไม่พึงประสงค์ต่อผู้ป่วย ความรู้นี้ได้ถูกเผยแพร่แก่ประชาชนทั่วไปและนักวิจัยทั่วโลก การที่โครงการนี้มีหัวหน้าโครงการเป็นนักวิจัยไทยซึ่งทำงานในหน่วยงานไทย และได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ทำให้ศักยภาพของนักวิจัยไทยถูกเผยแพร่ไปทั่วโลก

เชิงพาณิชย์ โครงการนี้มีส่วนทำให้เกิดการตื่นตัวของแนวคิดที่จะรักษามะเร็งโดยใช้ cyclin D1 เป็นเป้าหมาย ปัจจุบันมีบริษัทยาหลายแห่งได้แสดงความสนใจในแนวคิดนี้ และเปิดแผนกวิจัยที่เน้นการรักษาที่เจาะจงกับโปรตีน cyclin D1

เนื่องจากมะเร็งเป็นปัญหาสุขภาพอันดับต้น ๆ ของประเทศไทยและโลก และมีผลกระทบกับแทบทุกครัวเรือน งานวิจัยที่มีผลการวิจัยรองรับชัดเจนและมีประสิทธิภาพจริงจึงถูกแสวงหาจากสาธารณชนและวงการสาธารณสุข โครงการนี้ได้แสดงให้เห็นถึงประโยชน์จากการใช้โปรตีนก่อมะเร็งชนิดหนึ่งคือ cyclin D1 เป็นเป้าหมายในการรักษามะเร็งอย่างเจาะจง และยังแสดงกลไกของหลักการรักษานี้ในระดับโมเลกุลอย่างละเอียด

ดังนั้น งานวิจัยนี้จึงมีผลกระทบวงกว้างไปทั่วโลก และได้รับการยอมรับจากผู้เชี่ยวชาญถึงความสำคัญของการค้นพบ ความลึกซึ้งของเนื้อหา และที่สำคัญคือ ผลกระทบและประโยชน์ที่จะเกิดต่อสาธารณชนจนได้รับการคัดเลือกลงตีพิมพ์ในวารสารวิทยาศาสตร์อันดับหนึ่งของโลกคือ Nature ฉบับวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2554 ซึ่งวารสารนี้จะตีพิมพ์เรื่องที่มีผลกระทบสูง (Groundbreaking) เท่านั้น และยังถูกคัดเลือกให้เป็นงานวิจัยเด่นของฉบับด้วย โดยมีการให้ความเห็นจาก Prof.Jiri Bartek จาก Danish Cancer Society ที่ตีพิมพ์ในฉบับเดียวกัน ขณะที่ในวงการแพทย์ ผลงานนี้ถูกเลือกให้เป็นงานวิจัยเด่นโดยวารสาร Cancer Research ที่ออกโดย American Cancer Society ซึ่งเน้นตีพิมพ์เฉพาะงานวิจัยที่ใช้ได้จริงในการรักษามะเร็ง ฉบับวันที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

รวมทั้งได้รับการยกย่องจากนักวิทยาศาสตร์ระดับโลกหลายท่าน และได้จัดอันดับใน Faculty of 1000 เป็นการค้นพบเด่นอันดับต้น ๆ นอกจากนี้ในบทความ Cyclin D as a therapeutic target in cancer โดย Musgrove EA, et al. ตีพิมพ์ใน Nature Reviews Cancer ได้สนับสนุนแนวคิดให้ใช้ cyclin D1 เป็นเป้าหมายในการรักษามะเร็ง โดยใช้การค้นพบของโครงการนี้เป็นหลักฐานหลักอย่างหนึ่งในการสนับสนุน

ทั้งนี้จุดเด่นของงานวิจัยนี้มีความโดดเด่นที่การผสมผสานเทคโนโลยีล่าสุดเข้ากับความร่วมมือจากผู้เชี่ยวชาญระดับโลกในแขนงต่าง ๆ จนนำไปสู่การค้นพบในรายละเอียดของกลไกที่โปรตีนชนิดนี้ใช้ในการก่อมะเร็ง และได้ออกแบบสูตรการรักษาใหม่ รวมถึงยังพิสูจน์ได้ว่าได้ผลจริงในการรักษา และในด้านสาธารณชนพบว่า มีความสนใจในงานวิจัยนี้เป็นจำนวนมาก และถูกเผยแพร่ในสื่อต่าง ๆ ทั้งภายในประเทศและทั่วโลก

สำหรับปัจจัยที่ส่งเสริมให้งานวิจัยประสบผลสำเร็จ ดร.ศิวนนท์ กล่าวว่า สิ่งแรกคือความรู้พื้นฐานที่แตกฉานในสิ่งที่ตนเองทำ มีความรอบคอบและเอาใจใส่ มีความเปิดเผยและซื่อสัตย์ต่อตนเองและผู้อื่น รวมถึงมีความสามารถในการถ่ายทอดและสื่อสารในเรื่องของสิ่งที่เราทำ ที่สำคัญควรมีน้ำใจและความเป็นมิตรต่อผู้ร่วมงานและผู้คน

สุดท้ายนี้ ดร.ศิวนนท์ ได้ฝากข้อคิดถึงผู้ที่จะก้าวสู่การเป็นนักวิจัยรุ่นใหม่ว่า นักวิจัยควรค้นหาสิ่งที่กระตุ้นความสนใจของตนเองอย่างแท้จริง โดยเฉพาะสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่มนุษย์ในวงกว้าง จึงจะสามารถทำให้เรามีความเชื่อมั่นในสิ่งที่เราทำ และมีความสุขกับการทุ่มเททั้งกายและใจในการทำงาน ผลจากการทำงานแบบนี้จะนำความสำเร็จที่ไม่มีขีดจำกัดให้แก่นักวิจัยและสังคม