ความรับผิดทางแพ่งในกฎหมายยา

ความรับผิดทางแพ่งในกฎหมายยา

ดังที่กล่าวมาแล้วในบทความครั้งก่อนว่า ความพิสดารของกฎหมายยาฉบับที่จะร่างขึ้นใหม่นี้ แทนที่จะมีการควบคุมมาตรฐานของยาให้เข้มงวดและปลอดภัยมากยิ่งขึ้น เพราะประชาชนชาวไทยมีการบริโภคยาอย่างมากมายจนติดอันดับต้น ๆ ของโลก แต่กฎหมายยาฉบับใหม่กลับมีความจงใจให้ผู้ประกอบวิชาชีพด้านสาธารณสุขเกือบทุกสาขาเป็นผู้สั่งจ่าย ใช้ รวมถึงการขายยาได้อย่างค่อนข้างเสรี โดยไม่ต้องมีการขออนุญาตตามหลักการที่กำหนด ไม่เพียงแต่เป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนต้องบริโภคยา (โดยบุคลากรด้านสาธารณสุขที่หลากหลายแตกต่างกัน) มากยิ่งขึ้น อีกทั้งอนุโลมให้มีการผลิตยาสัตว์และอาหารสัตว์ผสมยาควบคุมโดยบุคลากรที่เพียงแต่ผ่านการอบรมมาบ้างเท่านั้น เป็นการสร้างปัญหาทำให้การควบคุมการใช้ยาเพื่อให้มีมาตรฐานสูงสุดกระทำได้ยากยิ่งขึ้น เพราะหากยิ่งมีบุคคลที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องได้รับอนุญาตให้ผลิต ขาย นำเข้ายามีบทบาทในการสั่งใช้ยาให้แก่ประชาชนมากขึ้น ก็จะยิ่งทวีความเสี่ยงและอาจเกิดอันตรายต่อประชาชนผู้บริโภคได้มากขึ้น ผู้เขียนเห็นว่า นิติศาสตร์ที่ดีจะต้องมีข้อยกเว้นไว้บ้าง เพื่อจะให้ผู้ปฏิบัติตามมีความยืดหยุ่นได้บ้างตามโอกาส แต่การมีข้อยกเว้นเกินขอบเขตอย่างในร่างกฎหมายยาใหม่นี้ กฎหมายยาที่ดีก็จะสูญเสียวัตถุประสงค์ที่แท้จริงไป และทำให้กฎหมายนั้นด้อยความศักดิ์สิทธิ์ลง

วัตถุประสงค์ของกฎหมายยาคือ การควบคุมมาตรฐานของยา ให้ยานั้นมีคุณภาพ และมีการใช้ยาอย่างถูกต้องและปลอดภัย ดังปรากฏในหลักการและเหตุผลของพระราชบัญญัติยา พ.ศ. 2510 ตอนหนึ่งว่า “...และโดยที่กฎหมายว่าด้วยยายังไม่มีบทบัญญัติที่จะให้ความคุ้มครองแก่ประชาชนผู้ใช้ยาเพียงพอ เช่น ไม่มีบทบัญญัติห้ามการขายยาชุด ไม่มีการควบคุมการผลิตยาแผนโบราณที่ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ เป็นต้น และบทบัญญัติในส่วนที่เกี่ยวกับการอนุญาตและการควบคุมการผลิต การขาย การนำหรือสั่งยาเข้ามาในราชอาณาจักรยังไม่เหมาะสม สมควรแก้ไขเพิ่มเติมให้เหมาะสมยิ่งขึ้น จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้” ดังนั้น เหตุผลที่ยกร่างกฎหมายยาฉบับใหม่จึงควรจะมุ่งเน้นการให้ความคุ้มครองแก่ประชาชนผู้ใช้ยาอย่างเพียงพอ ร่วมกับการคุมเข้มเรื่องการขออนุญาตผลิต ขาย และนำเข้า รวมทั้งกระบวนการเข้าถึงยาอย่างถูกต้องและปลอดภัย เหล่านี้น่าจะเป็นหัวใจของการคิดยกร่างกฎหมายยาใหม่ขึ้น

ทฤษฎีนิติศาสตร์เชิงสังคมวิทยา (Sociological Jurisprudence) กับกฎหมายสินค้าที่ไม่ปลอดภัย

กฎหมายยาเป็นกฎหมายที่มุ่งเน้นคุ้มครองผู้บริโภคในด้านยาเป็นประการสำคัญ ซึ่งอาจอธิบายได้จากข้อความที่มีท่านผู้รู้ให้ความเห็นไว้ในสื่อสังคมออนไลน์ ซึ่งผู้เขียนขออนุญาตเรียบเรียงและคัดลอกไว้เพื่อเป็นหลักคิดไว้ ดังนี้

ทฤษฎีนิติศาสตร์เชิงสังคมวิทยาเป็นทฤษฎีทางนิติปรัชญาที่เน้นบทบาทความสัมพันธ์ของกฎหมายต่อสังคม เป็นการพิจารณาถึงบทบาทหน้าที่ของกฎหมายยิ่งกว่าการพิจารณาแต่เนื้อหาของกฎหมายซึ่งเป็นนามธรรม และที่สำคัญเป็นการเน้นบทบาทของกฎหมายไปในทางที่จะมุ่งสร้างกฎหมายให้เป็นกลไกของการปกป้องผลประโยชน์ของส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนบุคคล

รูดอล์ฟ ฟอน เยียริ่ง (Rodolf von Jhering) นักนิติศาสตร์ชาวเยอรมันซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งทฤษฎีนิติศาสตร์เชิงสังคมวิทยาได้วางหลักพื้นฐานทฤษฎีนี้ว่า กฎหมายเป็นเพียงกลไกหรือวิธีการ (mean) ที่จะนำไปสู่เป้าหมายที่ต้องการ (end) โดยกฎหมายต้องเปลี่ยนแปลงไปตามสภาพของสังคม และกลไกของกฎหมายมีบทบาทในการสร้างความสมดุล หรือการจัดลำดับชั้นความสำคัญระหว่างประโยชน์ของเอกชนกับประโยชน์ของสังคม

ต่อมา ลีออง ดิวกี (Leon Duguit) นักนิติศาสตร์ชาวฝรั่งเศส และ รอสโก พาวด์ (Roscoe Pound) ได้วางทฤษฎีอื่นเสริมทฤษฎีนิติศาสตร์เชิงสังคมวิทยาให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น โดย Pound สร้างทฤษฎีวิศวกรรมสังคม (Social Engineering Theory) ขึ้นจากการพิจารณาว่ากฎหมายเป็นกลไกหรือเครื่องมือที่สร้างขึ้นเพื่อคานผลประโยชน์ต่าง ๆ ในสังคมเพื่อให้เกิดความสมดุล เสมือนเป็นการก่อสร้างหรือกระทำวิศวกรรมสังคม และผลของการพิจารณาบทบาทของกฎหมายเช่นนี้ทำให้มีการสร้างหรือตรากฎหมายในลักษณะเข้าไปแทรกแซงการจัดระเบียบทางเศรษฐกิจหรือถ่วงดุลผลประโยชน์ต่าง ๆ ในสังคมให้มีความเสมอภาค หรือเป็นธรรมมากขึ้น

ดังนั้น เราอาจมองทฤษฎีนิติศาสตร์เชิงสังคมวิทยาได้ 2 ประการ คือ 1. ทฤษฎีนิติศาสตร์เชิงสังคมวิทยาเป็นทฤษฎีในแง่ต้นกำเนิด (origin) ของกฎหมายซึ่งมองว่ากฎหมายเป็นผลิตผลของสังคม และ 2. ทฤษฎีนิติศาสตร์เชิงสังคมวิทยา พิเคราะห์อิทธิพลของกฎหมายที่มีต่อสังคม และกฎหมายเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งในการควบคุมพฤติกรรมของสังคม หรือเป็นวิศวกรรมสังคม หรือเป็นทฤษฎีที่ใช้ในการจัดระเบียบสังคม

พระราชบัญญัติความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย พ.ศ. 2551 ที่มีผลใช้บังคับในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552 ก็อาจกล่าวได้ว่ามีผลมาจากทฤษฎีนิติศาสตร์เชิงสังคมวิทยาที่กฎหมายเป็นผลิตผลของสังคม กล่าวคือ ในปัจจุบันกระบวนการผลิตสินค้าทันสมัยขึ้นโดยใช้ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสูงขึ้น การที่ผู้บริโภคจะตรวจพบว่าสินค้าไม่ปลอดภัยนั้นกระทำได้ยาก ทำให้ผู้บริโภคนำสินค้าที่ไม่ปลอดภัยไปใช้ก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย สุขภาพ อนามัย จิตใจ หรือทรัพย์สินของผู้บริโภคหรือผู้อื่น ทั้งตามกฎหมายเดิมของประเทศไทย ผู้บริโภคมีสิทธิฟ้องร้องเรียกค่าสินไหมทดแทนจากผู้ประกอบการในฐานละเมิดได้ แต่การฟ้องคดีเพื่อเรียกค่าเสียหายมีความยุ่งยาก เพราะตามหลักกฎหมายละเมิด ผู้บริโภคต้องมีภาระการพิสูจน์ถึงความจงใจหรือประมาทเลินเล่อในการกระทำผิดของผู้ผลิตหรือผู้นำเข้าสินค้า ซึ่งแทบจะเป็นไปไม่ได้เพราะผู้บริโภคจะต้องรู้ถึงกระบวนหรือขั้นตอนการผลิตสินค้าชนิดนั้น ซึ่งมักจะเป็นเรื่องเทคนิค ใช้เทคโนโลยีซับซ้อน เกินความรู้และความเข้าใจของคนทั่วไป (หมายเหตุ: การที่บุคคลใดก็ตามนำยาที่ขึ้นทะเบียนไว้แล้ว ไปทำการผสม ปรุง แต่ง แบ่งบรรจุหรือรวมบรรจุ ถือเป็นการผลิตขึ้นใหม่ วัตถุที่ผลิตขึ้นใหม่นี้จัดอยู่ในประเภทของสินค้าที่ไม่ปลอดภัย)

ในต่างประเทศมีกฎหมายว่าด้วยความรับผิดในผลิตภัณฑ์ หรือ Product Liability Law มาหลายสิบปีแล้ว ทั้งในสหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น และจีน เป็นต้น โดยกฎหมายดังกล่าว ผู้บริโภคมีภาระการพิสูจน์ว่าตนได้รับความเสียหายจากการใช้สินค้าที่ไม่ปลอดภัยเท่านั้น แต่ไม่ต้องมีภาระการพิสูจน์ว่าความเสียหายเกิดจากข้อบกพร่องในขั้นตอนการผลิตใดหรือชิ้นส่วนใดที่เสียหาย อันเป็นหลักความรับผิดโดยเคร่งครัด (Strict Liability) แต่ไม่ถึงกับเป็นความรับผิดโดยสมบูรณ์ (Absolute Liability) เพราะผู้ประกอบการก็ยังมีโอกาสที่จะปฏิเสธว่าไม่ต้องรับผิดในความเสียหายได้ตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด

พระราชบัญญัติความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย พ.ศ. 2551 นับว่าเป็นผลผลิตของสังคมในปัจจุบันตามทฤษฎีนิติศาสตร์เชิงสังคมวิทยา กล่าวคือ

1. เนื่องจากปัจจุบันสินค้าไม่ได้มาตรฐานมีมากและก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้บริโภค และกฎหมายนี้เน้นที่ความปลอดภัยของตัวสินค้าหรือผลิตภัณฑ์เป็นหลัก (หมายเหตุ: ผู้ผลิตยาตามกฎหมายยาจึงถูกกำหนดให้ต้องมีมาตรฐานของ GMP, PICs และ ISO ในระดับต่าง ๆ)

2. ผู้บริโภคควรมีคุณภาพชีวิตดีขึ้นตามความเจริญก้าวหน้าของสังคม และควรได้รับการชดเชยจากอันตรายที่เกิดขึ้นจากสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ที่ไม่ปลอดภัยบ้างอันเป็นการปกป้องคุ้มครองผลประโยชน์ของสังคม แต่ในขณะเดียวกันผลประโยชน์ของเอกชนหรือของผู้ประกอบการก็ไม่ลดน้อยลงเพราะผู้ประกอบการยังได้รับผลประโยชน์ด้วยเนื่องจากหากสินค้ามีมาตรฐานดีขึ้นย่อมเป็นที่ต้องการของตลาด ขจัดคู่แข่งที่ไม่มีมาตรฐานได้ เช่น ผู้ประกอบการด้านผลิตภัณฑ์ยา พระราชบัญญัติฉบับนี้จะทำให้ผู้ประกอบการผลิตและวิจัยยาเพื่อให้ได้ยาที่มีความปลอดภัยและได้มาตรฐาน เกิดผลดีต่อตัวผู้บริโภค เป็นที่ต้องการของตลาดมากขึ้น และผู้ประกอบการก็จะได้ผลกำไรเพิ่มขึ้น

3. พระราชบัญญัติฉบับนี้เน้นให้ผู้ประกอบการเป็นผู้รับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นกับผู้บริโภค โดยไม่จำเป็นต้องให้ผู้บริโภคเป็นผู้พิสูจน์ว่าความเสียหายเกิดขึ้นอย่างไร อันเป็นการผลักภาระการพิสูจน์ในการปฏิเสธความรับผิดไปยังผู้ประกอบการ เพราะผู้ประกอบการย่อมรู้รายละเอียดเกี่ยวกับกระบวนการ กรรมวิธี และขั้นตอนการผลิตแต่เพียงผู้เดียว

อย่างไรก็ตาม แม้พระราชบัญญัติฉบับนี้จะมีหลักการที่เป็นประโยชน์ทั้งต่อผู้บริโภคและผู้ประกอบการดังกล่าวแล้ว แต่เพื่อให้มีประสิทธิภาพและสมประโยชน์แก่สังคมยิ่งขึ้นแล้ว กฎหมายนี้น่าจะเพิ่มเติมมาตรการอื่นอีก ดังนี้

1. การบริการก็น่าจะได้รับการคุ้มครองเสมือนสินค้าที่ไม่ปลอดภัยตามกฎหมายฉบับนี้ด้วย เพราะการบริการที่ไม่ปลอดภัยก็มีผลกระทบต่อผู้บริโภคเช่นกัน เช่น ผู้ป่วยที่ไปรักษาโรค แทนที่จะหายป่วยกลับป่วยรุนแรงยิ่งขึ้น ทั้งตาบอด หรือเสียชีวิต (หมายเหตุ: กรณีของการบริการทางการแพทย์ที่มีการตรวจด้วยเครื่องมืออันเกินความจำเป็น เช่น เป็นหวัดเล็กน้อยมีการสั่งให้เอกซเรย์ปอด เจาะเลือด ถือได้ว่าเป็นการบริการที่ไม่ปลอดภัย)

2. สินค้าบางประเภทมีลักษณะทั่วไป เป็นการยากต่อผู้บริโภคที่จะชี้ว่าได้รับความเสียหายจากผู้ประกอบการรายใด เช่น พาราเซตามอลเป็นยาสามัญและมีผู้ผลิตหลายราย ผู้บริโภคอาจรับประทานยาชนิดนี้จากหลายผู้ประกอบการ หากผู้บริโภคได้รับความเสียหายอันเนื่องจากความไม่ปลอดภัยที่เกิดจากสูตรเคมีของยาดังกล่าวก็ควรกำหนดให้ผู้ประกอบการทุกรายที่ผลิตยานั้นออกขายในช่วงเวลานั้นร่วมรับผิดต่อผู้บริโภคโดยเฉลี่ยกันตามส่วนแบ่งทางการตลาด (Market Share) อันเป็นหลักที่ใช้อยู่ในรัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา

3. ในกรณีที่มีผู้เสียหายจำนวนมาก กระบวนการพิจารณาทางแพ่งปกติย่อมไม่เหมาะสมแม้จะใช้วิธีการรวมคดีหรือการร้องสอดก็ตาม แต่หากมีกฎหมายเรื่องการพิจารณาแบบกลุ่ม (Class Action) จะทำให้มาตรการทางแพ่งมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะผู้บริโภคที่ได้รับความเสียหายจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัยเป็นจำนวนเงินเล็กน้อย เช่น 500 บาท แต่มีผู้เสียหายจากทั่วประเทศ ผู้เสียหายทุกรายสามารถใช้ทนายความคนเดียวกันได้และค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีก็ได้รับการเฉลี่ย ซึ่งจะเป็นกลไกในการคุ้มครองผู้บริโภคหรือการเพิ่มประสิทธิภาพให้กับมาตรการทางแพ่ง

ดังข้อความข้างต้นนี้จะเห็นได้ว่า กฎหมายว่าด้วยความรับผิดทางแพ่งในผลิตภัณฑ์จึงเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคมากกว่าเดิม อีกทั้งผู้ประกอบการที่ดีก็มิได้รับผลกระทบแต่ประการใด ซึ่งเป็นข้อดีประการหนึ่งของร่างกฎหมายยาฉบับใหม่นี้ที่ได้บัญญัติหมวดที่ว่าด้วยความรับผิดทางแพ่งไว้ด้วย

 

ความรับผิดทางแพ่ง (เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ยา) ใน (ร่าง) กฎหมายยา

(ร่าง) พระราชบัญญัติยา พ.ศ. ...... มีบทบัญญัติในหมวด 11 เกี่ยวกับเรื่องความรับผิดทางแพ่งมาใช้ในร่างกฎหมายยาฉบับนี้ โดยบัญญัติไว้ว่า “ผู้ผลิต ขาย หรือนำเข้า หรือผู้รับใบสำคัญการขึ้นทะเบียนตำรับยา ต้องร่วมกันรับผิดต่อผู้เสียหายในความเสียหายที่เกิดจากการใช้ยา ไม่ว่าความเสียหายนั้นจะเกิดจากการกระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อของผู้ผลิต ขาย หรือนำเข้า หรือผู้รับใบสำคัญการขึ้นทะเบียนตำรับยาหรือไม่ก็ตาม” อีกทั้งยังบัญญัติไว้ว่า “ให้นำบทบัญญัติตามกฎหมายว่าด้วยความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัยมาใช้บังคับโดยอนุโลมเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับพระราชบัญญัตินี้” และมีบทบัญญัติไว้ว่า กฎหมายยาฉบับนี้ไม่เป็นการตัดสิทธิของผู้เสียหายที่จะเรียกค่าเสียหายโดยอาศัยสิทธิตามกฎหมายอื่น

จะเห็นได้ว่า แม้ร่างกฎหมายยาฉบับใหม่นี้จะมีข้อเสียหลายประการในการปล่อยปละให้บุคลากรที่ขาดความรู้จริงเรื่องยาเข้ามาเกี่ยวข้องกับการควบคุมมาตรฐานของยา แต่ก็มีข้อบัญญัติที่เข้าลักษณะของทฤษฎีของนิติศาสตร์เชิงสังคมวิทยาที่มุ่งเน้นให้เกิดความสมดุลระหว่างเอกชนและสังคมโดยรวม อีกทั้งยังเปิดช่องให้นำพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522, พระราชบัญญัติความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย พ.ศ. 2551, พระราชบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาอันไม่เป็นธรรม พ.ศ. 2540 และพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มาดำเนินการพิจารณาในกรณีที่ผู้ได้รับความเสียหายจากการใช้ยา (ผู้บริโภค) ที่ได้รับความเสียหายจากการใช้ยา ทำให้ผู้ได้รับความเสียหายจากการใช้ยาสามารถนำความพิสดารของพระราชบัญญัติความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย พ.ศ. 2551 ในข้อที่ว่า “ข้อตกลงระหว่างผู้บริโภคกับผู้ประกอบการที่ได้ทำไว้ล่วงหน้าก่อนเกิดความเสียหาย และประกาศหรือคำแจ้งความของผู้ประกอบการเพื่อยกเว้นหรือจำกัดความรับผิดของผู้ประกอบการต่อความเสียหายอันเกิดจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย จะนำมาอ้างเป็นข้อยกเว้นหรือจำกัดความรับผิดไม่ได้” และ “เพื่อประโยชน์แห่งมาตรานี้ ผู้บริโภคมีความหมายเช่นเดียวกับนิยามคำว่า “ผู้บริโภค” ตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองผู้บริโภค” (มาตรา 9) และในมาตรา 9 ของพระราชบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาอันไม่เป็นธรรม พ.ศ. 2540 ได้บัญญัติไว้ว่า “ความตกลงหรือความยินยอมของผู้เสียหายสำหรับการกระทำที่ต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย หรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนจะนำมาอ้างเป็นเหตุยกเว้นหรือจำกัดความรับผิดเพื่อละเมิดมิได้” อีกทั้งหากมีการพิพาทถึงศาลผู้บริโภคแล้ว ยังเป็นดุลพินิจของศาลที่จะพิจารณาตามมาตรา 12 แห่งพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.. 2551 ที่ว่า “ในการใช้สิทธิแห่งตนก็ดี ในการชำระหนี้ก็ดี ผู้ประกอบธุรกิจต้องกระทำด้วยความสุจริต โดยคำนึงถึงมาตรฐานทางการค้าที่เหมาะสมภายใต้ธุรกิจที่เป็นธรรม” แม้มาตรานี้จะมิได้บัญญัติโทษ (Sanction) ไว้ แต่ในกระบวนการของการพิจารณาคดีจะมีผลร้ายแก่ผู้ประกอบการที่จงใจฝ่าฝืนมาตรานี้อย่างแน่นอน

 

การยกเว้น “ยา” และ “การให้บริการทางการแพทย์”

มีกลุ่มบุคคลหนึ่งพยายามจะให้ “ยา” อยู่นอกคำจำกัดความของสินค้าที่ไม่ปลอดภัย อีกทั้งประสงค์จะให้ “การบริการทางการแพทย์” เป็นเรื่องของศีลธรรมจรรยา มิให้จัดอยู่ในนิยาม “บริการ” ของกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค แต่โดยหลักการของนิติศาสตร์ที่ดีแล้ว กฎหมายทุกฉบับมีวัตถุประสงค์อันแท้จริงที่จะคุ้มครองสังคมโดยรวม นั่นหมายถึงผู้บริโภคนั่นเอง เมื่อศึกษาในบทบัญญัติกฎหมายต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคแล้ว คงยากจะปฏิเสธที่จะให้ “ยา” และ “การบริการทางการแพทย์” ให้พ้นจากการบังคับของกฎหมายเหล่านี้ เพราะมีคำนิยามชัดแจ้งของคำเหล่านี้ไว้ เช่น คดีผู้บริโภค, ผู้บริโภค, ผู้ประกอบธุรกิจ, สินค้า, สินค้าที่ไม่ปลอดภัย, ความเสียหาย ไว้แล้ว

พระราชบัญญัติที่เกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคทุกฉบับถือว่าเป็นการกลับหลักแนวคิดและคำพิพากษาเดิมที่ว่า “ความยินยอมไม่ทำให้เป็นละเมิด” เช่น ยินยอมให้ฟันเพื่อลองวิชาอาคม เมื่อผู้ให้ความยินยอมได้รับอันตรายแก่กายผู้กระทำจะอ้างความยินยอมมาเป็นเหตุยกเว้นความรับผิดในมูลละเมิดมิได้ แต่ก็มีข้อยกเว้นอีกเช่นกัน กล่าวคือ ความยินยอมบางกรณี เป็นเหตุ “ยกเว้นความผิด” ได้ เช่น แดงเป็นโรคร้ายแรง แพทย์จำต้องทำการผ่าตัดขาของแดงข้างหนึ่ง แดงยินยอมให้แพทย์ทำการผ่าตัดขา การที่แพทย์ตัดขาแดงเป็นการทำร้ายได้รับอันตรายสาหัสตามมาตรา 297 เพราะการผ่าตัดก็ถือว่าเป็นการทำร้ายร่างกายแล้ว แต่แพทย์ไม่มีความผิดมาตรา 297 เพราะความยินยอมของแดง ความยินยอมที่จะยกเว้นความผิดได้นั้น จะต้องไม่ขัดต่อกฎหมายหรือความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน แต่ถ้าเป็นกรณีอื่น หากยอมให้มีการยิง ฟัน หรือแทง เพื่อทดสอบว่าอยู่ยงคงกระพันจริงหรือไม่ จึงไม่อาจยกเว้นความผิดให้แก่ผู้กระทำได้ เช่น ผู้ตายเชื่อว่าวิชาที่จำเลยถ่ายทอดให้จะอยู่ยงคงกระพัน จึงยอมให้จำเลยใช้ปืนยิง การที่จำเลยเอาปืนจ่อยิงที่สะบักอันเป็นที่สำคัญย่อมเล็งเห็นผลแห่งการกระทำนั้นว่า ถ้าปืนลั่นออกไป ผู้ตายก็ต้องตายแน่นอน ซึ่งจำเลยก็สำนึกในการกระทำนั้น จำเลยมีความผิดตามมาตรา 288 ประกอบมาตรา 59 (ฎีกาที่ 59/2502)

กฎแห่งธรรมชาติคือมีทั้งหยินและหยาง ทั้งคู่จะต้องอยู่อย่างสมดุลกันจึงจะบังเกิดสิ่งดีงามขึ้นได้ กฎหมายทุกฉบับก็เป็นดุจเดียวกัน ผู้ที่ได้สิทธิย่อมมีหน้าที่ควบคู่ไปด้วย ผู้ประกอบวิชาชีพทุกประเภทเป็นกลุ่มชนที่ได้อภิสิทธิ์ตามกฎหมาย จึงต้องมีหน้าที่เฉพาะทางของมันเคียงคู่กัน อีกทั้งกฎหมายวิชาชีพทุกฉบับล้วนบัญญัติขึ้นเพื่อควบคุมการประกอบวิชาชีพในสาขาของตน และมีความประสงค์ให้ผู้ประกอบวิชาชีพประพฤติตนเป็นผู้คุ้มครองผู้บริโภคทั้งสิ้น จงตั้งมั่นยืนหยัดในหลักการความสุขของสังคมอยู่เหนือความสุขแห่งตน แล้วความสุขที่สังคมตอบแทนคืนมาให้จะเป็นความสุขที่ยั่งยืน สถาพร ซึ่งอาจอุปมากับคำกล่าวของจอห์น เอฟ เคเนดี ที่กล่าวไว้ว่า

“Ask not What Your Country Can Do for You.”