ภญ.ภัทรจิตรา สมานชาติ

ภญ.ภัทรจิตรา สมานชาติ

ขอเป็นเปลวเทียนส่องสว่างเพื่อทำประโยชน์ต่อสังคม

“การทำงานเปรียบเสมือนเทียนไข” แท่งเทียนย่อมถูกแผดเผาให้หลอมละลายกลายเป็นน้ำตาเทียน เพื่อให้มีไส้เทียนและเผาไหม้จนเกิดแสงสว่าง ซึ่งก็เหมือนการทำงานนั้นต้องใช้ความพยายาม อดทน เหน็ดเหนื่อย จนบางครั้งอาจเบียดเบียนความสุขของตน เพื่อให้เกิดผลงานอันเป็นประโยชน์ต่อสังคม” สิ่งนี้เป็นสิ่งที่ ภญ.ภัทรจิตรา สมานชาติ เภสัชกรผู้รับผิดชอบงานความปลอดภัยด้านยาและวัคซีน โรงพยาบาลชำนิ จ.บุรีรัมย์ ยึดถือมาตลอดตั้งแต่สมัยเมื่อครั้งยังเป็นนักเรียน จวบจนปัจจุบันแม้ว่างานในโรงพยาบาลชุมชนจะมีมากมายแค่ไหน แต่สิ่งหนึ่งที่ ภญ.ภัทรจิตรา ไม่เคยลืมเลยคือ การคิดช่วยเหลือพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย ดังจะเห็นได้จากผลงานทางวิชาการ 5 เทคนิคขั้นตอน “เขย่าอม กดพร้อมดูด กลั้นแล้วกลั้ว” เทคนิคการปฏิบัติตัวในการพ่นยาป้องกันหอบหืด และยาขยายหลอดลมขณะเกิดอาการ ช่วยให้ผู้ป่วยรู้เทคนิคในการใช้ยาพ่นเองอย่างปลอดภัย ลดอัตราการมาโรงพยาบาล และการนอนรักษาตัวที่โรงพยาบาล เพิ่มคุณภาพชีวิตให้สูงขึ้น

ภญ.ภัทรจิตรา เป็นคนภูมิลำเนา อ.นางรอง จ.บุรีรัมย์ ศึกษาชั้นอนุบาลและเรียนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ที่ อ.นางรอง มีนิสัยส่วนตัวคือ ชอบหาเวลาทำกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อสังคมตั้งแต่เป็นนักเรียน ปี พ.ศ. 2547 ได้สอบผ่านการคัดเลือกเข้าเรียนระดับอุดมศึกษาที่มหาวิทยาลัยมหาสารคาม มีกิจกรรมระหว่างเรียนในระดับอุดมศึกษา ดังนี้ 1. คณะกรรมการสโมสรนิสิตคณะเภสัชศาสตร์ จัดกิจกรรมเสริมสร้างความสามัคคี พัฒนาศักยภาพด้านกิจกรรมวิชาชีพในคณะ ดูแลให้คำแนะนำปรึกษาให้แก่น้อง ๆ ในคณะ 2. เป็นคณะกรรมการหอพักของมหาวิทยาลัย ทำหน้าที่ดูแลน้อง ๆ นักศึกษาทุกคณะ ทุกชั้นปีที่พักอยู่ในหอพักของมหาวิทยาลัยตลอดระยะเวลาการศึกษา 6 ปี 3. เป็นหนึ่งในตัวแทนนักกีฬาเต้นแอโรบิคประกวดและได้รับรางวัลชนะเลิศระดับมหาวิทยาลัย 4. ได้รับทุนสนับสนุนงานวิจัยเรื่อง โปรแกรมควบคุมน้ำหนักที่เน้นเรื่องการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหารในนิสิตที่มีน้ำหนักเกินหรือเป็นโรคอ้วนในปี พ.ศ. 2552 จากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ตีพิมพ์ทางวารสารเภสัชกรรมอีสานในปี พ.ศ. 2553 สำเร็จการศึกษาปริญญาตรี เภสัชศาสตรบัณฑิต (บริบาลเภสัชกรรม หลักสูตร 6 ปี) ของมหาวิทยาลัยมหาสารคามในปี พ.ศ. 2553 เมื่อสำเร็จการศึกษาก็ได้เข้าปฏิบัติราชการที่โรงพยาบาลชำนิ จ.บุรีรัมย์ ด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะทำคุณประโยชน์และพัฒนา จ.บุรีรัมย์ โดยตลอดระยะเวลา 4 ปีของการเป็นเภสัชกรของโรงพยาบาล ได้รับผิดชอบงานความปลอดภัยด้านยา (งานตามเกณฑ์คุณภาพระบบยาของสถานพยาบาล) และวัคซีน โดยสะสมความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์จากการทำงาน ผ่านการอบรม/ฝึกปฏิบัติงานจริง ไม่ว่าจะเป็นการฝึกทักษะการดูแลผู้ป่วยที่ได้รับยา warfarin (ยาป้องกันเลือดแข็งตัว) เขตสุขภาพนครชัยบุรินทร์ (ประกอบด้วย 4 จังหวัดคือ นครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ และสุรินทร์) ร่วมกับโรงพยาบาลศูนย์และโรงพยาบาลทั่วไป, การฝึกอบรมเภสัชกรประจำบ้านร่วมกับทีมสหวิชาชีพ ร่วมกับโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา, การประเมินทักษะความสามารถในการประเมินใช้ยาอย่างเหมาะสม และการรณรงค์การใช้ยาปฏิชีวนะอย่างเหมาะสมของเครือข่าย สปสช. เขต 9, การสร้างเครือข่ายการดูแลคุณภาพยา วัคซีน และระบบลูกโซ่ความเย็น ร่วมกับหน่วยบริการปฐมภูมิ (รพ.สต.) ในเขต อ.ชำนิ เพื่อสร้างเสริมภูมิคุ้มกันในเด็ก ให้ได้ยาที่มีคุณภาพและปลอดภัย, สร้างเครือข่ายการติดตาม เฝ้าระวัง อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา, ยาสมุนไพร และผลิตภัณฑ์สุขภาพ ร่วมกับหน่วยบริการปฐมภูมิ (รพ.สต.) ในเขต อ.ชำนิ เพื่อป้องกันเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์จากการใช้ผลิตภัณฑ์สุขภาพ ตลอดจนการหาแนวทางป้องกันอย่างทันท่วงที และเป็นเภสัชกรประจำคลินิกโรคเรื้อรัง เช่น โรคความดันโลหิต เบาหวาน ให้บริบาลเภสัชกรรมผู้ป่วยเฉพาะรายในคลินิกหอบหืด และโรคหลอดลมอุดกั้นเรื้อรัง

สำหรับจุดเริ่มต้นของการทำงานวิจัย ภญ.ภัทรจิตรา กล่าวว่า โรคหอบหืดเป็นโรคที่มีการอักเสบเรื้อรังของหลอดลมที่พบบ่อย และเป็นปัญหาทางสาธารณสุขของประเทศไทยและทั่วโลก พบอุบัติการณ์ของโรคเพิ่มขึ้นและเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิต ในประเทศไทยพบอุบัติการณ์โรคหืดร้อยละ 6.9 ของประชากร โดยในส่วนของโรงพยาบาลชำนิซึ่งเป็นโรงพยาบาลชุมชนขนาด 30 เตียง ก่อนเริ่มจัดตั้งคลินิกโรคหอบหืดพบว่าผู้ป่วยในเขตบริการของโรงพยาบาลชำนิที่ได้รับยาพ่นเพื่อบรรเทาอาการหอบ (ยาพ่นฉุกเฉิน) และยารักษาอาการหอบ (ยาพ่นทุกวัน) พ่นยาไม่ถูกต้อง จดจำขั้นตอนการพ่นยาไม่ได้ ทำให้ไม่สามารถควบคุมโรคหอบหืดได้ ส่งผลให้ผู้ป่วยต้องมาพ่นยาที่ห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาลบ่อย เฉลี่ย 2.4 ครั้ง/เดือน, เข้ามานอนเพื่อรักษาตัวที่โรงพยาบาลเฉลี่ย 1.2 ครั้ง/เดือน และพบอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาสูงถึงครึ่งหนึ่งในผู้ป่วยที่เข้ารับบริการทั้งหมด ดังนั้น โรงพยาบาลชำนิจึงจัดตั้งคลินิกโรคหอบหืดตามนโยบาย สปสช. ในปี พ.ศ. 2553 โดยเภสัชกรให้บริบาลเภสัชกรรมร่วมกับทีมสหวิชาชีพ เพื่อป้องกัน/แก้ไขปัญหาจากการใช้ยา

“ทั้งนี้ ได้ทำการศึกษาในผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคหอบหืดและเข้ารับการรักษาในคลินิกโรคหืด โรงพยาบาลชำนิทั้งหมด 76 คน ผู้ป่วยที่มารับบริการท่องจำเทคนิค 5 ขั้นตอนคือ “เขย่าอม กดพร้อมดูด กลั้นแล้วกลั้ว” ทุกคน ดังนี้ 1. (เขย่า) - เขย่ายาในแนวตั้ง ให้ยากระจายตัวดี 2. (อม) - ใช้ริมฝีปากอมปากหลอดพ่นให้สนิท 3. (กดพร้อมดูด) - จังหวะการสูดที่สัมพันธ์กับจังหวะของการกดกระบอกยาพ่น MDI 4. (กลั้น) - เอากระบอกยาพ่นออกจากปาก แล้วกลั้นลมหายใจสักระยะนับ 1-10 และ 5. (กลั้ว) - กลั้วปากด้วยน้ำสะอาดหรือแปรงฟันเพื่อป้องกันอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา”

“ก่อนพบแพทย์ผู้ป่วยจะถูกประเมินการพ่นยาตามเทคนิค 5 ขั้นตอน โดยการท่องจำ และสาธิตการปฏิบัติจริง หลังพบแพทย์ผู้ป่วยก็จะได้รับคำแนะนำการใช้ยาและประเมินอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาอีกครั้งก่อนรับยากลับบ้าน เพื่อให้เภสัชกรประเมินทุกครั้งที่มารับบริการ เก็บข้อมูลวิจัยจากผู้ป่วยผู้ใหญ่ที่อายุมากกว่า 15 ปี และมาติดตามอาการตั้งแต่ 6 ครั้งขึ้นไป รวมทั้งหมด 57 คน ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2554 ถึงวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2557 พบว่าเทคนิค 5 ขั้นตอน “เขย่าอม กดพร้อมดูด กลั้นแล้วกลั้ว” เพิ่มความสามารถในการจดจำขั้นตอน ส่งเสริมให้ผู้ป่วยพ่นยาได้ถูกต้องเพิ่มขึ้น 47.2%, ลดการมาพ่นยาที่ห้องฉุกเฉินได้ 70.83% (เฉลี่ย 0.7 ครั้ง/เดือน), ลดการมานอนเพื่อรักษาตัวที่โรงพยาบาลถึง 91.6 % (เฉลี่ย 0.1 ครั้ง/เดือน), เพิ่มสมรรถภาพของปอดได้ 14.43% และลดอาการข้างเคียงจากการใช้ยาได้ถึง 71.4% (และไม่พบผู้ป่วยเกิดเชื้อราในช่องปาก) ประโยชน์ที่ได้รับจากงานวิจัยนี้คือ ผู้ป่วยสามารถจำขั้นตอนการพ่นยาและสามารถปฏิบัติได้จริง เพียง 5 ขั้นตอน โดยเภสัชกรมีบทบาทในการกระตุ้นกำกับเรื่องการใช้ยาพ่นในผู้ป่วยทุกราย ได้ประเมินอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาเพื่อให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น”

นอกจากนี้ ภญ.ภัทรจิตรา ยังกล่าวถึงการนำงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ต่อว่า ควรมีการศึกษาผลทางประสิทธิภาพของเทคนิค 5 ขั้นตอนนี้ในผู้ป่วยเด็กอายุน้อยกว่า 15 ปีเพิ่มเติม ควรพัฒนาระบบเภสัชกรรมชุมชน เช่น ออกเยี่ยมบ้านหรือนัดรับยาที่อนามัยใกล้บ้านเพื่อติดตามการใช้ยาในผู้ป่วยที่ขาดหาย/ไม่มาพบแพทย์ตามนัด (เนื่องจากข้อมูลจากกลุ่มงานเวชปฏิบัติครอบครัวในเขตพื้นที่บริการของโรงพยาบาลชำนิ ผู้ป่วยส่วนใหญ่อยู่ตามลำพังตา-ยาย เพราะลูกหลานไปทำงาน หรือบางรายอยู่เป็นครอบครัวใหญ่ แต่ผู้ป่วยต้องบริหารยาเอง อ่านหนังสือไม่ออก) ควรมีการพัฒนากระบวนการสอนกลั้นหายใจและฝึกการหายใจ โดยประสานนักกายภาพบำบัดเพื่อสอนเทคนิคการหายใจและการกลั้นหายใจเพิ่มเติม (จากผลการศึกษาพบว่าในเทคนิคช่วงขั้นตอนการ “กลั้น” นั้น พบจำนวนผู้ป่วยที่สามารถปฏิบัติได้อย่างถูกต้องเพิ่มจาก 21 เป็น 26 คน เพิ่มขึ้นเพียง 5 คน) จึงควรนำเทคนิคช่วยจำ 5 ขั้นตอน “เขย่าอม กดพร้อมดูด กลั้นแล้วกลั้ว” มาใช้กับผู้ป่วยที่ต้องใช้ยาสูดพ่นแบบ Meter Dose Inhaler ในคลินิกโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง และผู้ป่วยทุกรายที่จำเป็นต้องใช้ยา

“ทั้งนี้บางคนอาจจะมองว่าการทำงานวิจัยอาจเป็นการเพิ่มภาระ แต่สำหรับมุมมองของตัวเองคิดว่าการทำวิจัยในงานประจำไม่เป็นภาระหรืออุปสรรค กลับเป็นการท้าทายด้วย เพราะงานวิจัยช่วยพัฒนางานประจำในโรงพยาบาล ให้มีการปรับปรุงการทำงานโดยใช้กระบวนการวิจัยเป็นเครื่องมือในการทำ และพัฒนาผลสัมฤทธิ์ของงานประจำที่ทำอยู่ให้ดีขึ้นตลอดเวลา เมื่อเราทำงาน เราเกิดคำถามในใจ แล้วเราก็ต้องพยายามหาคำตอบ โดยศึกษาค้นคว้างานวิจัยที่มี ถามผู้รู้ แล้ววางแผนการทำงาน พิสูจน์ด้วยการทำวิจัย เมื่อได้ผลวิจัยแล้ว เราก็ต้องนำผลไปลองปฏิบัติ ถ้าทำได้ดีก็นำไปใช้ในการทำงานจริง ระหว่างทำก็พยายามพัฒนาให้ดีขึ้นเรื่อย ๆ การทำวิจัยในงานไม่ยาก เพราะเรามีประสบการณ์ในการดูแลผู้ป่วยของเรา แต่ต้องบริหารจัดการให้ดี อาจจะมีปัญหาหรืออุปสรรคบ้าง เช่น การเขียนรายงานการวิจัย นักวิจัยหน้าใหม่มักติดเรื่องระเบียบวิธีวิจัย และสถิติ ซึ่งเป็นเรื่องของความเชี่ยวชาญ เพื่อไม่ให้เกิดความกังวลในการทำวิจัย ดังนั้น เราจึงต้องมีทัศนคติที่ดีต่อการทำวิจัยเพื่อพัฒนางาน ลองเขียนรายงานในลักษณะเป็นเรื่องเล่า และค่อยขัดเกลาให้เป็นภาษาวิชาการ ที่สำคัญหากทำงานวิจัยแล้วต้องมีความสุขกับการทำงานนั้นด้วย”

สุดท้ายนี้ ภญ.ภัทรจิตรา ได้กล่าวถึงความสุขที่ได้จากการทำงานให้ฟังด้วยว่า ประการแรกได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ใหม่จากการทำงานแล้วงานสำเร็จตามที่คาดหวัง ประการที่สองได้เพิ่มบทบาทสะท้อนความเป็นวิชาชีพให้ประชาชนได้ทราบว่าเภสัชกรไม่ใช่เพียงแค่หมอจ่ายยา แต่ยังมีบทบาทสำคัญอื่น ๆ ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าวิชาชีพอื่นในโรงพยาบาล ประการที่สามได้ช่วยเหลือผู้อื่น ประการที่สี่ได้รับคำชมจากผู้บังคับบัญชา ตลอดจนเพื่อนร่วมงาน การทำงานนั้นเป็นสิ่งที่น่าตื่นเต้นอยู่เสมอ มีสิ่งที่ท้าทายรออยู่ทุกวัน มีความมุ่งมั่นว่าจะมุ่งมั่นพัฒนา ส่งเสริมงานวิจัย และจะเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนองค์กรเพื่อการเรียนรู้และพัฒนาต่อไป เหมือนดังคติที่ตัวเองยึดถือในการดำรงชีวิตตลอดมาคือ การมีชีวิตเพื่อทำความดี อาจจะไม่มากมายเพียงแค่คิดว่าใน 1 วันนี้ เราสามารถทำสิ่งที่ดี ๆ สักเรื่องหนึ่งก็ถือว่าคุ้มกับการใช้ชีวิตใน 1 วัน