ความพิสดารของกฎหมายยา (อีกครั้ง)

ความพิสดารของกฎหมายยา (อีกครั้ง)

การควบคุมคุณภาพของ “ยา” คือหัวใจของกฎหมายยา

การควบคุมคุณภาพมาตรฐานของยาแผนปัจจุบัน” เนื่องจากจุดมุ่งหมายของการใช้ยานั้นก็เพื่อบำบัด บรรเทา รักษาป้องกันโรคหรือความเจ็บป่วยที่บังเกิดขึ้น ดังนั้น การควบคุมคุณภาพมาตรฐานของยาจึงไม่เพียงจำกัดอยู่แค่การควบคุมมาตรฐานของตัวยาสำคัญในสูตรตำรับให้มีปริมาณและความบริสุทธิ์ไม่ขาดหรือเกินจากมาตรฐานที่กำหนดไว้เท่านั้น แต่ยังจะต้องหมายรวมถึงการควบคุมประสิทธิผลในการบำบัดรักษาหรือป้องกันโรคของยานั้น ๆ รวมถึงการควบคุมไม่ให้เกิดผลที่ไม่พึงประสงค์หรืออาการข้างเคียงจากการใช้ยาด้วย

กระบวนการในการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานของยา เริ่มต้นด้วยการควบคุมการผลิตเพื่อให้ยาที่ผลิตได้มีคุณภาพมาตรฐานจะต้องมีการควบคุมกระบวนการหรือกรรมวิธีในการผลิต โดยผู้ผลิตจะต้องปฏิบัติให้ถูกต้องตรงตามหลักและวิธีการที่ดีในการผลิตยา (Good manufacturing practice) หรือเรียกย่อ ๆ ว่า “GMP”

การควบคุมคุณภาพมาตรฐานของผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปและวัตถุดิบที่ใช้

การควบคุมการบรรจุและบรรจุภัณฑ์

การควบคุมความคงตัวของยา

การควบคุมฉลากและเอกสารกำกับยา

การควบคุมประสิทธิผลและความปลอดภัยของยา

จากกระบวนการและขั้นตอนทั้งหมดในการควบคุมคุณภาพมาตรฐานของยาดังกล่าวตั้งแต่ขั้นตอนการผลิตในโรงงานจนกระทั่งวางจำหน่ายในท้องตลาดจะเห็นได้ว่าบริษัทผู้ผลิตต้องใช้ความเอาใจใส่ในการดำเนินงานในทุกขั้นตอนเป็นอย่างสูง เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ยาที่มีคุณภาพได้มาตรฐานและผู้บริโภคได้รับประโยชน์สูงสุดรวมทั้งไม่ก่อให้เกิดผลที่ไม่พึงประสงค์หรืออาการข้างเคียงอันจะเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค (อ้างอิงจาก: การควบคุมคุณภาพมาตรฐานของยาแผนปัจจุบัน; ธิดารัตน์ บัวชื่น; กลุ่มงานด้านบริหารวิชาการ R&D Newsletter ปีที่ 17 ฉบับที่ 4 ตุลาคม- ธันวาคม พ.. 2553 วารสารเพื่อการวิจัยและพัฒนา; องค์การเภสัชกรรม)

ปัญหาข้อกฎหมายยาว่า ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่?

ในกฎหมายยาฉบับยกร่างใหม่ที่เป็นพิษต่อประชาชน เป็นภัยต่อประเทศชาติที่เป็นปัญหาอยู่ในปัจจุบันนี้ ที่สร้างปัญหาให้มากที่สุดคือ มีการยกเว้นให้บุคลากรที่ไม่มีความเชี่ยวชาญชำนาญการด้านกระบวนการผลิตยา การกำกับดูแลยาภายหลังการผลิต ให้เข้ามามีบทบาทในด้านนี้เป็นอย่างมาก ทั้ง ๆ ที่กฎหมายยกเว้นให้เพียงไม่ต้องขอใบอนุญาตเท่านั้น แต่ในทางปฏิบัติแล้วกลับสร้างปัญหามากมายในเรื่องคุณภาพมาตรฐานของยา เกี่ยวกับเรื่องนี้มีการสัมมนาคัดค้านกันพอสมควรอยู่แล้ว และกำลังรอการพิจารณาแก้ไขอยู่ ในบทความนี้จะกล่าวถึงอีกแง่มุมหนึ่งของกฎหมายว่าด้วยการที่ลูกจ้างหรือตัวแทนกระทำผิดกฎหมายยาแล้ว ผู้รับอนุญาตต้องรับผิดด้วย การบัญญัติกฎหมายเช่นนี้เป็นการขัดต่อกฎหมายรัฐธรรมนูญหรือไม่ ในกฎหมายยาบัญญัติไว้ว่า

“ใบอนุญาตที่ออกตามมาตรา ๒๖ ให้มีผลถึงลูกจ้างหรือตัวแทนของผู้รับอนุญาตด้วย ให้ถือว่าการกระทำของลูกจ้างหรือตัวแทนของผู้รับอนุญาตตามวรรคหนึ่งเป็นการกระทำของผู้รับอนุญาตด้วย เว้นแต่ผู้รับอนุญาตจะพิสูจน์ได้ว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการสุดวิสัยที่ตนจะล่วงรู้หรือควบคุมได้”

เกี่ยวกับเรื่องนี้มีปัญหาในการตีความของนักกฎหมายเป็นอย่างมาก ดังจะยกความพิสดารของปัญหามาแบ่งปันและเล่าสู่กันฟังต่อไปนี้

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐

มาตรา ๓๙ วรรคสอง และวรรคสาม ได้รับประกันสิทธิของผู้ต้องหาหรือจำเลยที่ถูกกล่าวหาในคดีอาญาว่า ต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด และก่อนมีคำพิพากษาอันถึงที่สุดแสดงว่าบุคคลใดได้กระทำความผิด จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทำความผิดมิได้

มาตรา ๓๒ วรรคหนึ่ง และวรรคสาม ได้กำหนดว่า บุคคลย่อมมีสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย การจับและการคุมขังบุคคล จะกระทำมิได้ เว้นแต่มีคำสั่งหรือหมายของศาลหรือมีเหตุอย่างอื่นตามที่กฎหมายบัญญัติ

คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ ๑๒/๒๕๕๕

พระราชบัญญัติขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ. ๒๕๔๕ มาตรา ๕๔ ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา ๓๙ วรรคสอง มาตรา ๔๐(๕) ประกอบมาตรา ๓๐ หรือไม่

เห็นว่า พระราชบัญญัติขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ. ๒๕๔๕ มาตรา ๕๔ เป็นข้อสันนิษฐานตามกฎหมายที่มีผลเป็นการสันนิษฐานความผิดของจำเลยโดยโจทก์ไม่ต้องพิสูจน์ให้เห็นถึงการกระทำหรือเจตนาอย่างใดอย่างหนึ่งของจำเลยก่อน เป็นการนำการกระทำความผิดของบุคคลอื่นมาเป็นเงื่อนไขของการสันนิษฐานให้จำเลยมีความผิดและต้องรับโทษทางอาญา เนื่องจากการสันนิษฐานว่า ถ้าผู้กระทำความผิดเป็นนิติบุคคลก็ให้กรรมการผู้จัดการ ผู้จัดการ หรือบุคคลใดซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของนิติบุคคลนั้นต้องร่วมรับผิดกับนิติบุคคลผู้กระทำความผิดด้วย เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนไม่ได้มีส่วนรู้เห็นเป็นใจในการกระทำความผิดของนิติบุคคลดังกล่าว โดยโจทก์ไม่ต้องพิสูจน์ถึงการกระทำหรือเจตนาของกรรมการผู้จัดการ ผู้จัดการ หรือบุคคลใดซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของนิติบุคคลนั้นว่า มีส่วนร่วมเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดของนิติบุคคลอย่างไร คงพิสูจน์แต่เพียงว่า นิติบุคคลกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ และจำเลยเป็นกรรมการผู้จัดการ ผู้จัดการ หรือบุคคลซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของนิติบุคคลนั้นทั้งหมดทุกคน บทบัญญัติมาตราดังกล่าวจึงเป็นการสันนิษฐานความผิดของผู้ต้องหาและจำเลยในคดีอาญาโดยอาศัยสถานะของบุคคลเป็นเงื่อนไข มิใช่การสันนิษฐานข้อเท็จจริงที่เป็นองค์ประกอบความผิดเพียงบางข้อหลังจากที่โจทก์ได้พิสูจน์ให้เห็นถึงการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับความผิดที่จำเลยถูกกล่าวหา และยังขัดกับหลักนิติธรรมข้อที่ว่า โจทก์ในคดีอาญาต้องมีภาระการพิสูจน์ถึงการกระทำความผิดของจำเลยให้ครบองค์ประกอบของความผิด นอกจากนี้บทบัญญัติมาตราดังกล่าวยังเป็นการนำบุคคลเข้าสู่กระบวนการดำเนินคดีอาญาให้ต้องตกเป็นผู้ต้องหาหรือจำเลย ซึ่งทำให้บุคคลดังกล่าวอาจถูกจำกัดสิทธิและเสรีภาพ เช่น การถูกจับกุมหรือถูกคุมขัง โดยไม่มีพยานหลักฐานตามสมควรในเบื้องต้นว่า บุคคลนั้นได้กระทำการหรือมีเจตนาประการใดอันเกี่ยวกับความผิดที่ถูกกล่าวหา บทบัญญัติมาตราดังกล่าวในส่วนที่สันนิษฐานความผิดอาญาของผู้ต้องหาและจำเลยโดยไม่ปรากฏว่า ผู้ต้องหาหรือจำเลยได้กระทำการหรือมีเจตนาประการใดเกี่ยวกับความผิดนั้นจึงขัดต่อหลักนิติธรรมและขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา ๓๙ วรรคสอง

อาศัยเหตุดังกล่าวข้างต้น จึงวินิจฉัยว่าพระราชบัญญัติขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ. ๒๕๔๕ มาตรา ๕๔ เฉพาะในส่วนที่สันนิษฐานให้บรรดากรรมการผู้จัดการ ผู้จัดการ หรือบุคคลใดซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของนิติบุคคลนั้นต้องรับโทษทางอาญาร่วมกับนิติบุคคล โดยไม่ปรากฏว่ามีการกระทำหรือเจตนาประการใดอันเกี่ยวกับการกระทำความผิดของนิติบุคคลนั้น ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา ๓๙ วรรคสอง เป็นอันใช้บังคับไม่ได้ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๖

พิจารณาแล้วเห็นว่า รัฐธรรมนูญ มาตรา ๓๙ วรรคสอง และมาตรา ๔๐(๕) เป็นบทบัญญัติในหมวด ๓ ว่าด้วยสิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทย ส่วนที่ ๔ สิทธิในกระบวนการยุติธรรม โดยมาตรา ๓๙ วรรคสอง ซึ่งบัญญัติว่า ในคดีอาญาต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด เป็นบทบัญญัติที่มุ่งคุ้มครองสิทธิของผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญา โดยให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิดจนกว่าจะมีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าเป็นผู้กระทำความผิด ซึ่งข้อสันนิษฐานว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญาเป็นผู้บริสุทธิ์ (presumption of innocence) ตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ มาตรา ๓๙ วรรคสองนี้ เป็นข้อสันนิษฐานอันมีที่มาจากหลักสิทธิมนุษยชนดังปรากฏอยู่ในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Universal Declaration of Human Rights) ข้อ ๑๑ ที่ว่า “บุคคลซึ่งถูกกล่าวหาว่ามีความผิดอาญามีสิทธิที่จะได้รับการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าบริสุทธิ์ จนกว่าจะมีการพิสูจน์ว่ามีความผิดตามกฎหมายในการพิจารณาโดยเปิดเผยและผู้นั้นได้รับหลักฐานทั้งหลายที่จำเป็นในการต่อสู้คดี” อันถือเป็นหลักการพื้นฐานของระบบงานยุติธรรมทางอาญาสากลที่ว่า บุคคลทุกคนมิใช่ผู้กระทำความผิดอาญา เพื่อเป็นหลักประกันแห่งสิทธิและเสรีภาพของบุคคลเกี่ยวกับความรับผิดทางอาญาที่รัฐให้การรับรองแก่บุคคลทุกคนที่จะไม่ถูกลงโทษทางอาญาจนกว่าจะมีพยานหลักฐานมาพิสูจน์ได้ว่าเป็นผู้กระทำความผิด และเป็นหลักการที่สำคัญประการหนึ่งของหลักนิติธรรม (the rule of law) ที่ได้รับการยอมรับในนานาอารยประเทศและระดับระหว่างประเทศ อันได้แก่ ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ (Universal Declaration of Human Rights) และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights) ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีสมาชิกมีพันธกรณีอยู่ด้วย

นอกจากพระราชบัญญัติขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ. ๒๕๔๕ แล้ว ยังมีพระราชบัญญัติอื่น ๆ อีกจำนวนมาก (ซึ่งรวมทั้งกฎหมายยาด้วย) ที่มีบทบัญญัติคล้ายคลึงกันที่ศาลวินิจฉัยแล้วว่าขัดรัฐธรรมนูญ อาทิ

พ.ร.บ.สถานบริการ พ.ศ. ๒๕๐๙; พ.ร.บ.ปุ๋ย พ.ศ. ๒๕๑๘; พ.ร.บ.น้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. ๒๕๒๑; พ.ร.บ.ควบคุมคุณภาพอาหารสัตว์ พ.ศ. ๒๕๒๕; พ.ร.ก.การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. ๒๕๒๗; พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. ๒๕๓๕; พ.ร.บ.ประกันชีวิต พ.ศ. ๒๕๓๕; พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. ๒๕๓๕; พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. ๒๕๔๒; พ.ร.บ.โรงงานผลิตอาวุธของเอกชน พ.ศ. ๒๕๕๐; พ.ร.บ.โรงเรียนเอกชน พ.ศ. ๒๕๕๐; พ.ร.บ.คุ้มครองซากดึกดำบรรพ์ พ.ศ. ๒๕๕๑; พ.ร.บ.มาตรฐานสินค้าเกษตร พ.ศ. ๒๕๕๑

นอกจากนี้แล้ว ด้านของสภาผู้สอบบัญชีก็เคยยกกฎหมายลักษณะนี้เกี่ยวกับงานการบัญชีว่าเป็นการขัดต่อกฎหมายรัฐธรรมนูญด้วยเช่นกัน กล่าวคือ

- ประมวลรัษฎากร มาตรา ๙๐/๕ บทกำหนดโทษภาษีมูลค่าเพิ่ม ในกรณีที่ผู้กระทำความผิดซึ่งต้องรับโทษตามหมวดนี้เป็นนิติบุคคล กรรมการผู้จัดการ ผู้จัดการ หรือผู้แทนของนิติบุคคลนั้น ต้องรับโทษตามที่บัญญัติไว้สำหรับความผิดนั้น ๆ ด้วย เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนมิได้ยินยอม หรือมีส่วนในการกระทำความผิดของนิติบุคคลนั้น มาตรา ๙๑/๒๑(๗) บทลงโทษภาษีธุรกิจเฉพาะ ให้นำบทกำหนดโทษภาษีมูลค่าเพิ่มมาใช้โดยอนุโลม

- พระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. ๒๕๓๕ มาตรา ๓๐๑ ในกรณีที่ผู้กระทำความผิดตามมาตรา ๒๗๘ มาตรา ๒๘๘ หรือมาตรา ๒๘๙ เป็นนิติบุคคล กรรมการ ผู้จัดการ หรือบุคคลใดซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของนิติบุคคลนั้น ต้องรับโทษตามที่บัญญัติไว้สำหรับความผิดนั้น ๆ ด้วย เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนมิได้มีส่วนในการกระทำความผิดนั้น

- พระราชบัญญัติการบัญชี พ.ศ. ๒๕๔๓ มาตรา ๔๐ ในกรณีที่ผู้กระทำความผิดซึ่งต้องรับโทษตามพระราชบัญญัตินี้เป็นนิติบุคคล ให้กรรมการผู้จัดการ หุ้นส่วนผู้จัดการ ผู้แทนนิติบุคคล หรือบุคคลใดซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินการของนิติบุคคลนั้น ต้องรับโทษตามที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น ๆ ด้วย เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนมิได้มีส่วนรู้เห็นหรือยินยอมในการกระทำความผิดของนิติบุคคลนั้น

- พระราชบัญญัติวิชาชีพบัญชี พ.ศ. ๒๕๔๗ มาตรา ๗๒ ในกรณีที่ผู้กระทำความผิดซึ่งต้องรับโทษตามพระราชบัญญัตินี้เป็นนิติบุคคล ให้กรรมการผู้มีอำนาจลงนามผูกพันนิติบุคคล หุ้นส่วนผู้จัดการ ผู้แทนนิติบุคคล หรือบุคคลใดซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินการของนิติบุคคลนั้น ต้องรับโทษตามที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น ๆ ด้วย เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนมิได้มีส่วนรู้เห็นหรือยินยอมในการกระทำความผิดของนิติบุคคลนั้น

คำวินิจฉัยที่ ๑๘-๒๐/๒๕๕๑ ซึ่งแย้งกัน

ในท้ายคำวินิจฉัยนั้นเอง นักวิชาการด้านนี้ได้ให้ความเห็นไว้ว่า ลักษณะความสัมพันธ์ของหัวหน้าพรรคการเมืองหรือกรรมการบริหารพรรคการเมือง กับพรรคการเมืองนั้น ก็มีลักษณะความสัมพันธ์ที่เหมือนกับนิติบุคคลกับผู้แทนนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ. ๒๕๔๕ มาตรา ๕๔ นั่นเอง กล่าวคือเป็นการวางบทสันนิษฐานความรับผิดของพรรคการเมืองโดยอาศัยเพียงฐานะของหัวหน้าพรรคการเมืองหรือกรรมการบริหารพรรคการเมืองมาโยงเข้ากับข้อสันนิษฐานว่า พรรคการเมืองกระทำความผิด ไม่ได้มีการสันนิษฐานบนพื้นฐานขององค์ประกอบความผิดแต่อย่างใด (ลักษณะเดียวกับมาตรา ๕๔ ของพระราชบัญญัติขายตรงฯ) แต่ศาลรัฐธรรมนูญโดยคำวินิจฉัยที่ ๑๘-๒๐/๒๕๕๑ ก็ได้ยอมรับและใช้บังคับบทบัญญัติมาตรา ๒๓๗ วรรคสอง ในการวินิจฉัยตัดสินคดีให้ยุบพรรคพลังประชาชน พรรคชาติไทย และพรรคมัชฌิมาธิปไตยมาแล้ว

ข้อดี-ข้อเสียของคำวินิจฉัย

จะเห็นได้ว่าในประเด็นเรื่องความชอบธรรมในการกำหนดข้อสันนิษฐานความรับผิดของจำเลย ดังที่ยกอุทาหรณ์มาแล้วตามข้างต้นนั้น ศาลรัฐธรรมนูญของประเทศไทยยังไม่ได้มีหลักเกณฑ์ที่แน่นอนในการทำคำวินิจฉัย ทั้งนี้เป็นเพราะข้อเท็จจริงและหลักฐานที่นำสู่ศาล และเจตนาของการกระทำผิดมีความแตกต่างกันในรายละเอียดนั่นเอง

แต่การจะกำหนดให้ชัดแจ้งลงไปเลยว่า กฎหมายตามลักษณะขายตรงเช่นนี้เป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญเสียเลยทีเดียว ก็หาใช่สิ่งที่ถูกต้องไม่ เพราะกฎหมายที่ดีต้องเป็นประโยชน์ต่อประชาชนโดยส่วนรวม ซึ่งก็มีปรากฏให้เห็นแล้วในกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคที่บังคับใช้ในระยะหลัง ๆ นี้ ดังเช่น พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. ๒๕๒๒, พระราชบัญญัติความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย พ.ศ. ๒๕๕๑, พระราชบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาอันไม่เป็นธรรม พ.ศ. ๒๕๔๐ และพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. ๒๕๕๑ ก็ล้วนผลักภาระการพิสูจน์ให้แก่ผู้ประกอบการที่มีเศรษฐานะเหนือกว่าผู้บริโภค โดยที่ผู้เสียหายเพียงแต่ฟ้องร้องความเสียหายที่ตนได้รับจากสินค้าหรือบริการจากผู้ประกอบการเท่านั้น โดยที่ผู้ประกอบการต้องเป็นฝ่ายพิสูจน์ว่า สินค้าหรือบริการของตนปลอดภัยจึงจะพ้นความรับผิดได้ และในกรณีที่มีการพิพาทถึงศาลผู้บริโภคแล้ว ยังเป็นดุลพินิจของศาลที่จะพิจารณาตามมาตรา ๑๒ แห่งพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. ๒๕๕๑ ที่ว่า “ในการใช้สิทธิแห่งตนก็ดี ในการชำระหนี้ก็ดี ผู้ประกอบธุรกิจต้องกระทำด้วยความสุจริต โดยคำนึงถึงมาตรฐานทางการค้าที่เหมาะสม ภายใต้ธุรกิจที่เป็นธรรม” อันเป็นการย้ำอีกครั้งถึงความสำคัญของ “สุจริต มาตรฐานเหมาะสม และความเป็นธรรม” ในการพิจารณาคดีของศาล แต่อย่างไรก็ตาม ข้อสันนิษฐานความรับผิดของผู้แทนนิติบุคคลไม่ใช่บทสันนิษฐานเด็ดขาด (Irrebuttable Presumption) แม้ผู้แทนนิติบุคคลจะถูกสันนิษฐานโดยผลของกฎหมายว่าเป็นผู้กระทำความผิดก็ตาม แต่ผู้แทนนิติบุคคลดังกล่าวก็ยังมีโอกาสที่จะนำสืบหักล้างข้อสันนิษฐานว่าตนมิได้มีส่วนในการกระทำความผิดของนิติบุคคลนั้นได้ ตามที่กฎหมายเปิดช่องเอาไว้ให้ อีกทั้งยังมีโอกาสนำสืบพยานโต้แย้งโจทก์ว่าข้อเท็จจริงอันเป็นเงื่อนไขในการได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐาน (Basic Fact) นั้นไม่มีอยู่จริงด้วย
ข้อเท็จจริงอันเป็นเงื่อนไข (Basic Fact) ที่ว่านิติบุคคลเป็นผู้กระทำความผิด กับข้อเท็จจริงตามข้อสันนิษฐาน(Presumed Fact) ที่ถือว่าผู้แทนนิติบุคคลต้องรับโทษด้วย ของพระราชบัญญัติขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ. ๒๕๔๕ มาตรา ๕๔ นั้น หากพิจารณาอย่างถี่ถ้วนจะพบว่ามีความสัมพันธ์กันอย่างสมเหตุสมผล (Rational Connection) ทั้งนี้เพราะถึงแม้นิติบุคคลกับผู้แทนนิติบุคคลจะมีสถานภาพบุคคลแยกต่างหากออกจากกันก็ตามที แต่นิติบุคคลเป็นเพียงบุคคลสมมติตามกฎหมาย หาได้มีความคิดและการกระทำเป็นของตัวเองไม่ การคิดและการแสดงออกของนิติบุคคลล้วนกระทำผ่านผู้แทนนิติบุคคลทั้งสิ้น หากนิติบุคคลถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดจะปฏิเสธได้อย่างไรว่าผู้แทนนิติบุคคลไม่มีส่วนรู้เห็นกับการกระทำดังกล่าว การกำหนดข้อสันนิษฐานในลักษณะนี้จึงมีความสมเหตุสมผลอยู่ในตัว แม้ศาลรัฐธรรมนูญโดยคำวินิจฉัยที่ ๑๒/๒๕๕๕ จะปฏิเสธความสมเหตุสมผลของข้อสันนิษฐานในพระราชบัญญัตินี้ด้วยเหตุผลที่ว่า ข้อสันนิษฐานตามพระราชบัญญัติขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ. ๒๕๔๕ มาตรา ๕๔ เป็นการสันนิษฐานโดยอาศัยเพียงสถานะของบุคคลที่เป็นผู้แทนนิติบุคคล ไม่ได้สันนิษฐานบนพื้นฐานของข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบความผิดก็ตาม แต่ความสัมพันธ์อย่างสมเหตุสมผล (Rational Connection) ของข้อเท็จจริงอันเป็นเงื่อนไข กับข้อเท็จจริงตามข้อสันนิษฐานอาจเกิดขึ้นได้จากข้อเท็จจริงอื่น ๆ ที่ไม่ใช่องค์ประกอบความผิดก็ได้ แม้เป็นการสันนิษฐานบนพื้นฐานของสถานะบุคคลก็มีเหตุผลที่จะฟังว่ามีความสัมพันธ์อย่างสมเหตุสมผลโดยปราศจากข้อสงสัยได้ดังที่กล่าวมาแล้วนั่นเอง
กลับมาสู่กฎหมายยาว่าด้วยนายจ้าง (ผู้รับอนุญาตต้องร่วมรับผิดกับลูกจ้างหรือตัวแทนที่กระทำผิด) อาจสรุปได้ว่า นายจ้างเป็นเจ้าของกิจการที่มุ่งหวังกำไรเชิงพาณิชย์ ลูกจ้างหรือตัวแทนย่อมต้องปฏิบัติตามคำสั่งของนายจ้าง หากฝ่าฝืนบ่อย ๆ อาจถูกเลิกจ้างได้ ดั่งเช่น ร้านยาลูกโซ่ในปัจจุบันที่มีข่าวว่า นายจ้างกำหนดให้ต้องขายอาหารเสริมให้ได้เป้าที่กำหนดเพื่อผลในการพิจารณาโบนัสหรือค่าตอบแทน ลูกจ้างจึงพยายามโฆษณาต่อลูกค้าว่าอาหารเสริมนั้นสามารถรักษาโรคได้ยิ่งกว่า “ยา” เสียอีก เป็นต้น การมีกฎหมายลักษณะสันนิษฐานไว้ว่านายจ้างต้องรับผิดแทนลูกจ้างเช่นนี้ ย่อมเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค แต่หากข้อกล่าวหานี้ไม่เป็นจริง นายจ้างก็ยังมีสิทธิที่จะพิสูจน์ได้ ถ้าพิสูจน์ได้จริง นายจ้างก็ไม่มีความผิด หากคิดในลักษณะนี้แล้ว กฎหมายตามแนวทางนี้ก็น่าจะไม่ขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญที่มีความประสงค์จะปกป้องสิทธิเสรีภาพทั้งทางกายทางความคิดของประชาชนโดยทั่วไป หาใช่บุคคลกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งไม่

ความเสมอภาคและความยุติธรรม

เป็นที่ยอมรับเสมอมาว่า กฎหมายไม่ใช่ยาวิเศษที่จะแก้ปัญหาของสังคมมนุษย์ได้เสมอไป มนุษย์เรียกร้อง “ความยุติธรรม” มาตลอดเวลา แต่ความยุติธรรมที่แท้จริงคืออะไร มักเป็นปัญหาของคู่กรณีในคดีความของศาลเสมอ ความพึงพอใจในความยุติธรรมของฝ่ายหนึ่งมักเป็นความไม่ยุติธรรมของอีกฝ่ายหนึ่ง และ “ความเท่าเทียมไม่ได้หมายความว่าจะยุติธรรม” เสมอไป (ดังบทความที่ผู้เขียนได้นำเสนอแล้วในวารสารวงการยานี้หัวข้อเรื่อง “ความยุติธรรม คืออะไร” ฉบับเดือนกันยายน พ.ศ. ๒๕๕๖) กฎหมายที่ดีนั้น จึงต้องตอบสนองต่อการใช้ทรัพยากรของโลกให้ได้อย่างคุ้มค่ามากที่สุด และเป็นไปตามเพลงหนึ่งของคาราบาวที่ว่า “...คนจนพากันเล่นหวย คนรวยเขาพากันเล่นหุ้น คนมีกะตังค์ซื้อที่กักตุน...” ดังพระราชดำรัสในเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ว่า ทุกคนต้องประพฤติปฏิบัติให้พอเพียงเหมาะสมแก่ฐานะของตน เพียงเท่านี้ก็มีความสุขตามสมควรแก่ฐานะของบุคคลแต่ละกลุ่ม และน่าจะบังเกิดความยุติธรรมในส่วนของตนและสังคมแล้ว

กำหนดข้อสันนิษฐานความผิดของจำเลยในคดีอาญานี้ เป็นปัญหาใหญ่ที่มีการถกเถียงกันมาอย่างยาวนาน เพราะมีปัญหาก้ำกึ่งกับการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของจำเลยอยู่ตามที่กล่าวมาข้างต้น ซึ่งจากที่ศึกษามานั้น เหตุผลของทั้งฝ่ายที่สนับสนุนและฝ่ายที่โต้แย้งตามข้อสันนิษฐานต่าง ๆ ก็น่ารับฟังทั้งสิ้น แต่หากมองผลประโยชน์ของสังคมโดยรวม และความได้เปรียบเสียเปรียบในโลกของ “เชิงอุตสาหกรรม และเชิงพาณิชย์” ดังที่เป็นอยู่ในโลกทุนนิยมปัจจุบันนี้ที่มุ่งเน้นการหาผลกำไรให้แก่กิจการของนายทุนเองแล้ว เชื่อว่าการยอมรับให้มีการกำหนดข้อสันนิษฐานความผิดของจำเลยจะมีประโยชน์และคุ้มค่าต่อการรักษาความสงบเรียบร้อยในสังคมอย่างแน่นอน และน่าจะเป็นไปตามคำขวัญของ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ว่า “...เราจะคืนความสุขให้ประชาชน”