ยาอายุวัฒนะจะเริ่มทดลองปีหน้า

ยาอายุวัฒนะจะเริ่มทดลองปีหน้า

ผศ.ดร.นพ.ประกอบ ผู้วิบูลย์สุข

ยาอายุวัฒนะเป็นสิ่งที่มนุษย์พยายามแสวงหามานานนับพันนับหมื่นปีแล้ว ซึ่งล้วนแล้วแต่ประสบความล้มเหลว การค้นหายาอายุวัฒนะจึงเป็นเรื่องค่อนข้างเหลวไหลในสายตาของคนทั่วไป บางคนกล่าวว่า คนเราหายาแบบนี้มานานแล้ว ถ้ามีจริงบรรดาเศรษฐีมีเงิน หรือบรรดาผู้มีอำนาจวาสนายิ่งใหญ่ทั้งหลายทั่วโลกคงไม่มีวันตายและอยู่ยงคงกระพันเป็นตัวอย่างให้เราเห็นกันบ้างในทุกวันนี้

แต่ไม่เคยมีเลยใช่ไหมครับ

นั่นอาจจะเป็นข้อมูลที่จะเป็นอดีตก็ได้ หากการวิจัยที่จะเกิดขึ้นในปีหน้าประสบความสำเร็จ

ท่านผู้อ่านอาจสงสัยว่า ยาอายุวัฒนะที่จะทดลองนี้เป็นยาอะไร

เฉลยตรงนี้เลยครับว่า มันคือยา Metformin!!

ณ บรรทัดนี้หลายท่านคงฉงนว่า ยาเบาหวานที่ชื่อ Metformin เนี่ยนะจะเป็นยาอายุวัฒนะ

ครับ อาจจะใช่ ยาเก่านับหลายสิบปีขนานนี้แหละที่กำลังจะมีการทดลองวิจัยดูว่า มันจะส่งผลให้คนเรามีอายุยืนขึ้นได้จริงหรือเปล่า ทั้งนี้ทั้งนั้นจากข้อสังเกตที่เกิดขึ้นคือ พบว่าคนไข้เบาหวานที่รับประทานยา metformin มีอัตราการเป็นโรคมะเร็งและโรคหัวใจน้อยกว่าคนทั่วไป ยิ่งไปกว่านั้น มีงานวิจัยชิ้นหนึ่งรายงานว่า ยานี้ช่วยให้คนไข้เบาหวานอายุยืนกว่าคนทั่วไปถึงร้อยละ 15

กลไกที่อธิบายเรื่องนี้ยังไม่เป็นที่กระจ่างนักหรอกครับ เชื่อว่ามีหลายกลไกที่เกิดขึ้นกับเซลล์ แต่ก็มีสมมติฐานอันหนึ่งในขณะนี้ว่า ยานี้น่าจะมีกลไกที่เหมือนการจำกัดแคลอรี ซึ่งเรื่องนี้ได้มีการวิจัยมามากแล้วในทุกวันนี้ที่พบว่า สัตว์ที่ถูกจับให้ได้รับอาหารลดแคลอรีลงจะมีอายุที่ยืนยาวขึ้น เพราะเราพบว่า เมื่ออยู่ในภาวะอาหารขาดแคลน เซลล์ในร่างกายจะปรับตัวเองสู่โหมดประหยัดพลังงาน และตรงนี้เป็นคำอธิบายของการมีอายุที่ยืนยาวขึ้น

เมื่อเดือนที่แล้ว คณะนักวิจัยได้พูดคุยกับองค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา (US FDA) ถึงโครงการการวิจัยดังกล่าว เรื่องนี้นับเป็นข่าวเขย่าโลกที่หลายคนกำลังให้ความสนใจ เพราะแต่เดิมเราไม่เคยที่จะมีการวิจัยเรื่องของ aging หรือความชรา โดยเฉพาะการชะลอความชรามากนัก ทั้งนี้ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะ ณ ปัจจุบัน โดยทางการแล้วความชราไม่ใช่โรค จึงไม่จำเป็นต้องมียารักษา

การเริ่มต้นการวิจัยด้วยยา Metformin นับเป็นการเริ่มต้นที่ดี เพราะยานี้มีมานานหลายสิบปี และเราพบว่ายานี้ค่อนข้างปลอดภัย ผลข้างเคียงก็มีเพียงคลื่นไส้ อาเจียน และท้องเดิน ซึ่งปัญหานี้ก็แก้ไม่ยากด้วยการเริ่มจากขนาดยาน้อย ๆ และให้รับประทานพร้อมอาหาร

ยานี้มีประวัติแห่งความปลอดภัยสูง เมื่อคณะนักวิจัยคุยกับองค์การอาหารและยา องค์การฯ จึงไม่ได้มีความเห็นขัดแย้ง จะมีก็เพียงคำแนะนำเล็ก ๆ น้อย ๆ ให้การวิจัยรัดกุมและปลอดภัยมากขึ้น

อันที่จริง การวิจัยครั้งนี้คณะนักวิจัยไม่มีความจำเป็นต้องคุยกับองค์การอาหารและยาก็ได้ คนที่นักวิจัยต้องคุยด้วยคือ คณะกรรมการจริยธรรมและความปลอดภัยของการวิจัยมากกว่า แต่เมื่อองค์การอาหารและยาเปิดทาง การสนับสนุนก็จะเข้ามาได้ง่ายขึ้น เพราะการวิจัยต้องใช้เงินนับพันล้านบาท อีกทั้งการขออนุมัติขึ้นทะเบียนยาเพื่อใช้ในเหตุผลนี้ในอนาคตก็น่าจะง่ายขึ้น อย่างไรก็ตาม ในขั้นเตรียมการวิจัยและวางแผน American Federation for Aging Research ก็ตกลงสนับสนุนแล้ว

แผนที่คณะนักวิจัยวางไว้คือ จะทำในอาสาสมัครสูงอายุที่มีอายุตั้งแต่ 70ปี จำนวน 3,000 คน และติดตามผลไปนาน 5 ปี และหากผลออกมาดีก็คงเพียงพอให้องค์การอาหารและยาอนุมัติขึ้นทะเบียนได้

อันที่จริง พร้อม ๆ ไปกับโครงการนี้ เราคงจะนึกออกว่า ก่อนหน้านี้เคยมีรายงานว่ายาปฏิชีวนะที่ชื่อ Rapamycin มีผลชะลอความชรา ในขณะนี้ก็มีการวิจัยยาขนานนี้อย่างขะมักเขม้น มีการวิจัยในสัตว์ที่สูงขึ้นมาอย่างเช่น ในสุนัขอายุครึ่งทางชีวิต (middle-aged dogs) บริษัทยา Novartis ก็กำลังวิจัยยาต้านความชราที่ชื่อ Everolimus อยู่ ยานี้มีกลไกเช่นเดียวกันกับ Rapamycin ตรงนี้แสดงให้เห็นว่า บริษัทยาสนใจยากลุ่มนี้อย่างเอาจริงเอาจังเพิ่มมากขึ้น

ทำให้เกิดความหวังว่า ในอนาคตมนุษย์เราอาจจะมียาที่ทำให้อายุยืนยาวขึ้น และที่สำคัญ ยืนยาวอย่างแข็งแรงด้วยครับ

ช่วยกันรอนะครับ