จงอย่ากิน สินบาท คาดสินบน

ภก.วิสุทธิ์ สุริยาภิวัฒน์

จงอย่ากิน สินบาท คาดสินบน

ประเทศไทยเป็นเมืองพุทธที่สอนให้คนทำดี ละเว้นความชั่ว แต่เมื่อสังคมโลกได้พัฒนาเข้าสู่ระบบเชิงอุตสาหกรรมและระบบเชิงพาณิชย์อย่างสุดโต่งดังเช่นทุกวันนี้ สังคมชาวพุทธได้รับผลร้ายนี้ด้วย ทำให้เกิดความมัวหมองในทั้งวงราชการและเอกชน ไม่เว้นแม้กระทั่งการศึกษาและด้านการสาธารณสุข ยิ่งร้ายกว่านี้ แม้แต่ด้านการศาสนาและด้านงานยุติธรรมก็หนีไม่พ้นความครอบงำของระบบเชิงพาณิชย์นี้ จึงใคร่ขอแบ่งปันอุทาหรณ์ที่มีในบทความนี้ให้เป็นกรณีศึกษาแก่บุคลากรที่อยู่ในวงการยาได้เป็นความรู้พอสังเขป

ดร.จุรี วิจิตรวาทการ เลขาธิการมูลนิธิองค์กรเพื่อความโปร่งใสในประเทศไทย (Transparency Thailand) เปิดเผยผลการจัดอันดับในการจัดอันดับดัชนีชี้วัดภาพลักษณ์คอร์รัปชัน ประจำปี พ.ศ. 2557 ประเทศไทยได้คะแนน 38 คะแนน จากคะแนนเต็ม 100 คะแนน อยู่อันดับที่ 85 จากการจัดอันดับทั้งหมด 175 ประเทศทั่วโลก และเป็นอันดับที่ 12 จาก 28 ประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ผลการจัดอันดับปีนี้ ประเทศไทยมีผลคะแนนดีขึ้นบ้าง แต่ได้อันดับดีกว่าเดิมเมื่อเปรียบเทียบจากปีที่แล้วซึ่งได้อันดับที่ 102 ในระดับโลก และอันดับที่ 16 ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เมื่อพิจารณาเฉพาะกลุ่มประเทศอาเซียน มีเพียงประเทศสิงคโปร์และมาเลเซียเท่านั้นที่มีคะแนนเกิน 50 คะแนน ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 3 จาก 9 ประเทศในกลุ่มอาเซียน (ข้อมูลจาก http://thaipublica.org/2014/12/cpi-2014-1/)

 

เมื่อการให้เงินแก่จราจร กลายเป็นข่าวระดับชาติ

วันตำรวจ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2558 ที่ผ่านมา พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผบ.ตร. (ในขณะนั้น) เห็นด้วยกับนโยบายของกองบัญชาการตำรวจนครบาลที่ตั้งรางวัล 10,000 บาทให้แก่ตำรวจจราจรที่จับกุมผู้กระทำผิดกฎหมายจราจรและพยายามติดสินบนตำรวจ จะเป็นการช่วยทำลายวัฒนธรรมการรับส่วย และลดการติดสินบนทุกกรณีไม่เฉพาะงานจราจร ยิ่งกว่านี้ทางด้านประชาชนที่มีพยานหลักฐาน จนถึงขั้นแจ้งความดำเนินคดีต่อตำรวจที่เรียกรับสินบน ตนเองจะมอบเงินรางวัล 10,000 บาทให้แก่ประชาชนเช่นกัน แม้นโยบายดังกล่าวจะทำให้เกิดความหวาดระแวงระหว่างกัน แต่จะทำให้ทุกฝ่ายระวังไม่กระทำผิดกฎหมาย และช่วยทำให้การเรียกรับสินบนหมดไป

“การให้ส่วยและสินบนนั้นถือว่าผิดทั้งผู้ให้และผู้รับ เสมือนการปรบมือ การปรบมือข้างเดียวย่อมไม่ดัง ที่ผ่านมาเรียกได้ว่าสินบนกลายเป็นวัฒนธรรมของตำรวจไปแล้ว แต่ในสังคมไทยมีการกระทำในลักษณะนี้ในทุกกระทรวง ทบวง กรม…” ผบ.ตร. กล่าว

ตัวอย่างฎีกาการให้สินบน

กรณีทนายความท่านหนึ่งประพฤติตนไม่เหมาะสม แทนที่จะรับว่าความแต่กลับไปรับวิ่งความ เรื่องมีอยู่ว่า จำเลยคดีนี้เป็นทนายความจำเลยในคดียาเสพติด พนักงานอัยการโจทก์คัดค้านการปล่อยตัวชั่วคราวจำเลย เนื่องจากอัตราโทษสูงเกรงว่าจะหลบหนี ทนายจำเลยจึงอาสาที่จะไปเจรจากับอัยการเจ้าของสำนวนเพื่อไม่ให้คัดค้านการปล่อยตัวชั่วคราว ซึ่งจะทำให้ศาลอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวได้ง่าย โดยการอ้างว่าอัยการเจ้าของสำนวนเรียกเงิน 40,000 บาท ซึ่งความจริงแล้วอัยการเจ้าของสำนวนไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องแต่อย่างใด สุดท้ายญาติของจำเลยไปพบอัยการเพื่อขอต่อรองเงินจาก 40,000 บาท เหลือ 30,000 บาท เรื่องจึงแดงขึ้น และมีการแจ้งความดำเนินคดีอาญาเกี่ยวกับการเรียกเงินเพื่อจูงใจให้เจ้าพนักงานกระทำการหรือไม่กระทำการในหน้าที่ตามกฎหมายอันเป็นคุณหรือโทษแก่บุคคลอื่น ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 143 ในที่สุดศาลฎีกาพิพากษาจำคุก 3 ปีโดยไม่รอลงอาญา เพราะการกระทำของจำเลยซึ่งเป็นทนายความเป็นเรื่องร้ายแรงมีผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของกระบวนการยุติธรรมโดยตรง คดีนี้จึงเป็นบทเรียนสำคัญสำหรับผู้ที่เป็นทนายความจะต้องเป็นแบบอย่างที่ดีแก่วิชาชีพเดียวกัน คดีนี้สรุปได้ว่า ทนายความรับวิ่งเต้น ศาลพิพากษาจำคุก 3 ปี (คำพิพากษาฎีกาที่ 14171/2557)

แต่ถ้าเจ้าตัวเองเป็นผู้กระทำโดยการติดสินบนเจ้าพนักงาน มีโทษสูงสุดจำคุก 5 ปี ปรับ 10,000 บาท (มาตรา 144 อาญา) แต่ถ้าพยายามติดสินบนแล้วเจ้าพนักงานไม่รับจะเป็นการพยายามกระทำความผิดซึ่งต้องรับโทษ 2/3 ของความผิดนั้น ในทางกลับกัน การที่เจ้าพนักงานยอมรับสินบน หรือแม้เพียงเรียกรับสินบนเพื่อแลกกับการไม่ออกใบสั่งให้ แม้จะยังไม่ได้รับเงินสินบนจริง ๆ ก็เป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่แล้ว ซึ่งมีโทษสูงสุดถึงประหารชีวิต (มาตรา 149 อาญา)

อีกฎีกาที่เป็นอุทาหรณ์คือ เพียงแต่การเสนอผ่านให้ตำรวจชั้นผู้น้อยเพื่อให้ตำรวจที่เกี่ยวข้องกับคดีแจ้งข้อหาหนักให้เป็นเบาก็เป็นการผิดสำเร็จแล้ว คือ ฎีกาที่ 3096/2552 การกระทำของจำเลยย่อมเป็นการกระทำที่จำเลยทั้ง 2 มุ่งประสงค์ขอให้ทรัพย์สินเพื่อจูงใจให้ดาบตำรวจ ช.ไปดำเนินการให้ผู้บังคับบัญชากระทำการอันมิชอบด้วยหน้าที่ เมื่อ พ.ต.ต.ชาติชาย ทราบความประสงค์ของจำเลยแล้ววางแผนจับกุม โดยตอบตกลงและนัดหมายให้จำเลยนำเงินมามอบให้ เมื่อจับได้พร้อมเงินของกลางถือว่าจำเลยได้ขอให้ทรัพย์สินแก่ดาบตำรวจ ช. และ พ.ต.ต.ชาติชาย เพื่อให้กระทำการอันมิชอบด้วยหน้าที่แล้ว ผิดมาตรา 144 นั่นคือความผิดฐานให้สินบนเจ้าพนักงาน

เรียกและรับเงินอ้างว่าจะนำไปให้ผู้พิพากษาเพื่อให้ยกฟ้อง แม้ผู้พิพากษาที่ถูกอ้างจะไม่ได้เป็นเจ้าของสำนวนหรือองค์คณะพิจารณาก็ตาม ก็ถือว่าเป็นเจ้าพนักงาน มีความผิดตามมาตรา 143 (ฎีกาที่ 4586/2531) คือกระทำความผิดฐานคนกลางเรียกหรือรับสินบนแล้ว

ดังนั้น การที่ภาษาชาวบ้านเรียกว่า “การยัดเงิน” เพื่อไม่ให้ถูกจับกุม กล่าวโทษ แก่เจ้าพนักงานทั้งหลาย อย่างเช่นกรณีให้เงินแก่ตำรวจจราจรเพื่อมิให้ออกใบสั่งจราจร หรือให้กระทำการอันมิชอบ เช่น ปล่อยเราไป ไม่เอาเรื่องเรา เราจะมีความผิดฐานติดสินบนเจ้าพนักงานตามมาตรา 144 ทันทีที่เอ่ยปากยื่นข้อเสนอ แม้ว่าจะยังไม่ส่งเงินให้ก็ตาม… และถ้าตำรวจที่รับเงินเราแล้วปล่อยเราไป ตำรวจก็จะมีความผิดฐานเรียกรับสินบนเช่นกัน

จึงเห็นได้ว่า ความผิดมาตรานี้จะผิดสำเร็จทันทีเมื่อมีการเรียก รับ หรือยอมจะรับ แม้อีกฝ่ายจะไม่ยอมให้ก็ตาม ดูที่เจตนาพิเศษขณะที่กระทำ

เรื่องนี้ที่เป็นข่าวน่าจะเป็นอุทาหรณ์อย่างดีว่า ไม่ควรติดสินบน (ยัดเงิน) ทุกกรณี ยิ่งในกรณีความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรเป็นความผิดเพียงเล็กน้อยมาก เราไปชำระค่าปรับก็จบแล้ว การติดสินบนเพียงเล็กน้อยอาจเป็นการเอาพิมเสนไปแลกกับเกลือ ยิ่งคนที่อยู่ในสายวิชาชีพอย่างเช่น ทนายความ อาจทำให้หมดอนาคตในวิชาชีพไปเลย เหตุการณ์ลักษณะนี้เทียบเคียงได้กับร้านขายยาหรือโรงงานยา ในกรณีที่เจ้าหน้าที่จากกองอาหารและยา หรือสาธารณสุขจังหวัดมาตรวจ หากผู้ประกอบการมีการกระทำผิดตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องก็ควรที่จะปรับปรุงแก้ไข พร้อมทั้งยอมเสียค่าปรับตามกฎหมายบัญญัติ ห้ามมิให้เสนอผลประโยชน์ใด ๆ ให้แก่เจ้าพนักงานผู้ปฏิบัติการอย่างเด็ดขาด มิฉะนั้น อาจเกิดดังเช่นอุทาหรณ์ดังกล่าวข้างต้น ยกตัวอย่างกรณีการแขวนป้ายของเภสัชกรที่เป็น New Normal อย่างทุกวันนี้ หากทางราชการเอาจริงอย่างกรมตำรวจขึ้นมา อาจทำให้เจ้าของร้านขายยาติดคุก เภสัชกรที่แขวนป้ายก็อาจหมดอนาคตในสายวิชาชีพ

หมายเหตุ: ลักษณะของสินบนมี 3 ลักษณะคือ การให้ การขอให้ หรือการรับว่าจะให้ “การให้” อาจจะเกิดจากพนักงานมาเรียกเงินก็ให้ไป; หรือเจ้าพนักงานไม่ได้มาเรียก แต่ผู้ให้ไปบอกเจ้าพนักงานว่าถ้าช่วยจะให้เงิน ก็เรียกว่า “ขอให้”; หรือเจ้าพนักงานมาบอกว่าจะทำคำสั่งไม่ฟ้องถ้าให้เงิน และจำเลยก็ตกลงด้วยตามนั้น ถือว่า “รับว่าจะให้”

ในข้อบังคับเรื่องจรรยาบรรณของวิชาชีพด้านสาธารณสุข ได้มีข้อบังคับในหมวดทั่วไปเพียงว่า “ผู้ประกอบวิชาชีพ...ย่อมดำรงตนให้สมควรในสังคมโดยธรรมและเคารพต่อกฎหมายของบ้านเมือง; ผู้ประกอบวิชาชีพ...ย่อมไม่ประพฤติหรือกระทำการใด ๆ อันเป็นเหตุให้เสื่อมเสียเกียรติศักดิ์แห่งวิชาชีพ...” ข้อน่าพิจารณาคือ คำว่า “โดยธรรม” และ “เกียรติศักดิ์แห่งวิชาชีพ” น่าจะเป็นเรื่องที่ป้องปรามมิให้บุคลากรด้านสาธารณสุขเข้าไปเกี่ยวข้องกับเรื่องติดสินบนได้ ซึ่งคงจะต้องเจาะลึกและตีความให้กระจ่างต่อไป

วงจรของคอร์รัปชัน

วันที่ 9 ธันวาคม ของทุกปี ถือเป็นวันต่อต้านคอร์รัปชันสากล (Transparency International: TI ก่อตั้งเมื่อปี ค.ศ. 1993) โดยองค์กรความโปร่งใสสากลได้ระบุถึงกรณีต่าง ๆ ที่จะสามารถเกิดขึ้นในการคอร์รัปชัน ดังนี้

- การคอร์รัปชันขนาดใหญ่ (Grand corruption) เป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่ระดับสูงเพื่อบิดเบือนนโยบายหรือใช้อำนาจรัฐในทางมิชอบ เพื่อให้ผู้นำหรือผู้บริหารประเทศได้รับผลประโยชน์จากการใช้ทรัพยากรของชาติ

- การคอร์รัปชันขนาดเล็ก (Petty corruption) เป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่ระดับกลางและระดับล่างต่อประชาชนทั่วไป โดยการใช้อำนาจที่ได้รับมอบหมายในทางมิชอบ

- การติดสินบน (Bribery) เป็นการเสนอการให้ หรือสัญญาว่าจะให้ผลประโยชน์ ทั้งในรูปของเงิน สิ่งของ และสิ่งตอบแทนต่าง ๆ เพื่อเป็นแรงจูงใจให้เกิดการทำผิดกฎหมายหรือศีลธรรมอันดี

- การยักยอก (Embezzlement) คือ การที่พนักงานหรือเจ้าหน้าที่ในองค์กรนำเงินหรือสิ่งของที่ได้รับมอบหมายให้ใช้ในราชการมาใช้เพื่อประโยชน์ส่วนตนหรือเพื่อกิจกรรมอื่นที่ไม่เกี่ยวข้อง

- การอุปถัมภ์ (Patronage) เป็นรูปแบบหนึ่งของการเล่นพรรคเล่นพวก ด้วยการคัดเลือกบุคคลจากสายสัมพันธ์ทางการเมือง (Connection) เพื่อเข้ามาทำงานหรือเพื่อให้รับผลประโยชน์ โดยไม่คำนึงถึงคุณสมบัติและความเหมาะสม

- การเลือกที่รักมักที่ชัง (Nepotism) เป็นรูปแบบหนึ่งของการเล่นพรรคเล่นพวก โดยเจ้าหน้าที่จะใช้อำนาจที่มี ในการให้ผลประโยชน์หรือให้หน้าที่การงานแก่เพื่อน ครอบครัวหรือบุคคลใกล้ชิด โดยไม่คำนึงถึงคุณสมบัติและความเหมาะสม

- ผลประโยชน์ทับซ้อน (Conflict of interest) คือการขัดกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนตัว กับผลประโยชน์ส่วนรวม

กล่าวโดยสรุปได้ว่า คอร์รัปชัน คือ การกระทำเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ที่มิควร มิชอบ ได้แก่ การเบียดบังทรัพย์ของทางราชการมาเป็นของตน หรือใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบ เช่นเดียวกับการบอกว่าจะให้/รับทรัพย์สินและประโยชน์แก่เจ้าพนักงานและเจ้าหน้าที่ โดยครอบคลุมทุกอาชีพ หน้าที่ ทั้งในส่วนกลางและในท้องถิ่น หรือราชการและเอกชน ส่วนสาเหตุของการคอร์รัปชันในหน้าที่มีหลายประการ แต่ที่พบได้บ่อยที่สุดในหน่วยงาน สถาบัน และองค์กร ทั้งภาครัฐและเอกชน ได้แก่

1. คนในสังคม (ส่วนใหญ่) ยกย่องความร่ำรวย จึงเป็นแรงจูงใจในการแสวงหาเงินทอง

2. ค่านิยมแบบนิยมพวกพ้องและเครือญาติ ความสัมพันธ์ในเชิงผลประโยชน์

3. ระบบอุปถัมภ์หรือความสัมพันธ์ระหว่างผู้อุปถัมภ์สร้างลูกน้องไว้ช่วยเหลือตนในเรื่องต่าง ๆ

4. ระบบการควบคุมและตรวจสอบที่ขาดประสิทธิภาพ

5. การแข่งขันอย่างเข้มข้นเพื่อช่วงชิงตำแหน่งและผลประโยชน์ในหน่วยงาน องค์กร และการเมืองภาครัฐ

ปัจจุบันการคอร์รัปชันในหน้าที่มีหลายรูปแบบ โดยมีให้เห็นตั้งแต่ การซื้อ การจัดจ้าง; การเบิกค่าเบี้ย ค่าพาหนะ; ค่ารักษาพยาบาลที่ไม่เป็นจริงทั้งเพื่อตนเองหรือเพื่อพวกพ้อง; รวมถึงการซื้อสิทธิขายเสียง เป็นต้น

(คัดแปลงจากบทความ : คอร์รัปชัน (การทุจริตที่ต้องห้าม); นิพล แสงศรี)

ในวงการสาธารณสุขก็ได้ติดเชื้อการให้สินบนมาด้วยเช่นกัน โดยที่บุคลากรด้านสาธารณสุขนี้ยังไม่มีวัคซีนป้องกันได้เลย ในหน่วยงานสาธารณสุขของรัฐเคยเกิดเหตุการณ์ทุจริตยาในระดับรัฐมนตรีมาแล้ว ยิ่งการแพทย์ การสาธารณสุขก้าวเข้าสู่ระบบเชิงพาณิชย์แล้วอย่างทุกวันนี้ มีการซื้อขายหุ้นของโรงพยาบาลเอกชนในตลาดหลักทรัพย์จำนวนมาก เชื้อติดสินบนนี้ยิ่งแพร่กระจายได้เร็วและกว้างขวางมากขึ้น การคอร์รัปชันขนาดเล็กน้อย (petty corruption) โดยการให้เงินแก่เจ้าหน้าที่เพียงเล็กน้อยเพื่อดำเนินการบางอย่างให้แก่ผู้จ่ายเงิน หรือการคอร์รัปชันขนาดใหญ่ (big corruption) ซึ่งเจ้าหน้าที่ระดับสูงนิยมใช้ในรูปแบบของสินบนเพื่อโครงการใหญ่ ๆ เช่น ห้าง บริษัทต่าง ๆ และยังรวมถึงการให้ของขวัญ (gift) ถือเป็นการคอร์รัปชันอีกประเภทหนึ่ง (ทางราชการมีข้อกำหนดไว้ว่า การให้ของขวัญแก่เจ้าพนักงานหรือข้าราชการนั้น จะให้และรับกันเกินกว่า 3,000 บาทไม่ได้) รวมถึงการให้ตอบแทนในรูปแบบอื่น ๆ เช่น การเชิญไปรับประทานอาหาร การจัดสัมมนา การประชุมวิชาการทั้งในและต่างประเทศ โดยบริษัทเจ้าของผลิตภัณฑ์สินค้าเป็นผู้รับภาระค่าใช้จ่ายให้ กิจกรรมเหล่านี้ล้วนแฝงไว้ด้วยวัตถุประสงค์เพื่อพยายามสร้างความสัมพันธ์อันใกล้ชิด อันนำไปสู่ผลประโยชน์ทางธุรกิจของผู้ให้ทั้งสิ้น

ท้ายนี้ ขอนำคำกล่าวของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ พระบิดาแห่งกฎหมายไทย (โอรสองค์ที่ 14 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นต้นราชสกุล รพีพัฒน์) ที่พระองค์ได้กล่าวไว้ว่า

เอ็งกินเหล้า เมายา ไม่ว่าหรอก แต่อย่าออก นอกทางไป ให้เสียผล

จงอย่ากิน สินบาท คาดสินบน เรามันชน ชั้นปัญญา ตุลาการ