รู้ทัน โรคสมาธิสั้น ในเด็ก

รู้ทัน “โรคสมาธิสั้น” ในเด็ก

คุณพ่อคุณแม่หลายท่านสงสัยว่า ลูกของเราซน ไม่นิ่ง วู่วาม รอคอยไม่ค่อยได้ แบบนี้เป็นสมาธิสั้นหรือไม่ แล้วจะดูหรือสังเกตอย่างไรว่าลูกเป็นโรคสมาธิสั้น แล้วถ้าสงสัยจะไปพบใคร จะรักษาอย่างไร รักษาหายหรือไม่ มีคำถามเกิดขึ้นมากมายในใจของคุณพ่อคุณแม่ ดังนั้น การทำความเข้าใจเกี่ยวกับโรคสมาธิสั้นจึงเป็นสิ่งที่ดีที่สุด

พญ.ดลจรัส ทิพย์มโนสิงห์ กุมารแพทย์พัฒนาการและพฤติกรรม โรงพยาบาลปิยะเวท กล่าวว่า โรคสมาธิสั้น (Attention deficit/hyperactivity disorder: ADHD) คือ กลุ่มอาการที่เกิดขึ้นตั้งแต่วัยเด็ก โดยเกิดขึ้นก่อนอายุ 12 ปี เกิดจากความผิดปกติของสมอง ซึ่งมีผลกระทบต่อพฤติกรรม อารมณ์ การเรียน และการเข้าสังคมกับผู้อื่น กลุ่มอาการประกอบด้วย อาการซน อยู่ไม่นิ่ง (hyperactivity), อาการขาดสมาธิ (attention deficit) และอาการหุนหันพลันแล่น (impulsivity) โรคสมาธิสั้นเป็นโรคที่ก่อให้เกิดปัญหาพฤติกรรมและการเรียนในเด็กวัยเรียนมากที่สุด โดยพบประมาณร้อยละ 5 และจะมีอาการต่อเนื่องจนถึงวัยผู้ใหญ่ร้อยละ 50 อาการที่บ่งชี้หรือสงสัยว่าอาจมีโรคสมาธิสั้น คือ 1. อาการซน อยู่ไม่นิ่ง จะมีลักษณะซน ยุกยิก นั่งนิ่ง ๆ ไม่ค่อยได้ ต้องลุกเดินหรือขยับตัวไปมา จับโน่นนี่ มือเท้าไม่อยู่สุข ผาดโผน ชอบปีนป่าย เล่นแรง เล่นเสียงดัง พูดมาก แกล้งหรือแหย่เด็กคนอื่น ชวนเพื่อนคุย  2. อาการขาดสมาธิ วอกแวกง่าย ไม่จดจ่อในการทำงาน เหม่อลอย ทำงานช้า/ไม่เสร็จ ไม่รอบคอบ งานไม่เรียบร้อย ขี้ลืม เหมือนไม่ฟังเวลาพูดด้วย ทำของใช้ส่วนตัวหายบ่อย ๆ 3. หุนหันพลันแล่น ลักษณะใจร้อน วู่วาม ไม่ระวังตัว ไม่คิดก่อนทำหรือพูด พูดโพล่งโดยไม่ถูกกาลเทศะ พูดแทรกขณะที่ผู้อื่นพูดอยู่ รอคอยไม่ค่อยได้ อาการแสดงของโรคนี้แตกต่างกันตามอายุ ในช่วงวัยก่อนวัยเรียนมักพบอาการซนอยู่ไม่นิ่งและหุนหันพลันแล่นเป็นอาการหลัก ส่วนในเด็กวัยเรียน ปัญหามักเป็นปัญหาที่โรงเรียน เช่น ไม่ตั้งใจฟังในห้องเรียน ไม่ให้ความร่วมมือในการทำกิจกรรม ทำงานที่ได้รับมอบหมายไม่เสร็จ ไม่ถูกต้อง และมีปัญหาในการเข้าสังคม ในเด็กวัยรุ่นอาการซนไม่นิ่งจะค่อย ๆ ลดลง แต่จะพบว่าเด็กจะไม่สามารถทำงานให้เสร็จตามที่ได้รับมอบหมาย จัดระบบตัวเองไม่ได้ และไม่สามารถปฏิบัติตามกฎระเบียบได้

การวินิจฉัยโรคนี้ โดยอาศัยประวัติที่ละเอียดในทุกด้านและลักษณะอาการ จากการพูดคุยสอบถามคุณพ่อคุณแม่ ตัวของน้องเอง และรวบรวมข้อมูลจากคุณครูในประเด็นต่าง ๆ เช่น ลักษณะพฤติกรรมที่บ้านและในห้องเรียน การเลี้ยงดู ประวัติพัฒนาการ ผลการเรียน เพื่อน รวมถึงการตรวจร่างกาย ส่วนการตรวจอื่น ๆ เช่น การตรวจวัดระดับเชาวน์ปัญญา การตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง ส่งตรวจเฉพาะรายที่มีความจำเป็นเท่านั้น

            การรักษามีทั้งการปรับพฤติกรรมในห้องเรียน เช่น ให้นั่งหน้าชั้น นั่งใกล้เด็กเรียบร้อย ไกลประตู-หน้าต่าง ชมเชยเมื่อทำดี เมื่อหมดสมาธิให้เปลี่ยนอิริยาบถ เป็นต้น และการปรับพฤติกรรมที่บ้าน โดยคุณพ่อคุณแม่ฝึกวิธีการจัดการกับลูกได้อย่างเหมาะสม เช่น จัดตารางเวลาให้ชัดเจน นั่งประกบเวลาทำการบ้าน ลดเวลาดูโทรทัศน์และเล่นเกมคอมพิวเตอร์ ควบคุมอารมณ์ตนเอง เป็นตัวอย่างที่ดีให้ลูก จัดหาที่สงบนั่งทำการบ้าน เป็นต้น อีกวิธีการรักษานั่นคือ การรักษาด้วยยา ซึ่งยาที่ใช้มักเป็นกลุ่มที่ออกฤทธิ์กระตุ้นซึ่งเป็นยาที่ใช้ได้ผลดี ยาเหล่านี้เป็นยาที่ปลอดภัย มีผลข้างเคียงน้อย และมีประสิทธิภาพในการรักษาสูง โดยจะช่วยให้เด็กมีสมาธิดีขึ้น ซนน้อยลง ดูสงบลง อีกทั้งมีความสามารถในการควบคุมตัวเองได้ดีขึ้น และอาจช่วยให้ผลการเรียนดีขึ้น

            เป้าหมายในการรักษาเพื่อเพิ่มผลสัมฤทธิ์ในด้านต่าง ๆ ที่บกพร่อง ไม่ว่าจะเป็นด้านการเรียน ความสัมพันธ์กับเพื่อนหรือคนรอบข้างดีขึ้น เพิ่มความรู้สึกดีต่อตนเอง รู้สึกมีคุณค่าในตัวเองเพิ่มขึ้น การรักษาเด็กซนสมาธิสั้นที่มีประสิทธิภาพดีที่สุดคือ การผสมผสานการรักษาหลาย ๆ ด้านเข้าด้วยกัน ที่สำคัญต้องไม่ลืมที่จะค้นหาด้านดีและสนับสนุนอย่างเต็มที่ น้องต้องการความช่วยเหลือจากคนรอบข้างซึ่งต้องอาศัยความเข้าใจ การยอมรับ การเห็นคุณค่าในตัวของน้อง คุณพ่อคุณแม่จะเห็นว่าคนที่จะช่วยเหลือโรคนี้ได้มากที่สุดก็คือ ตัวคุณพ่อคุณแม่นั่นเอง