ไขมันดีใช่จะดีเสมอไป

ไขมันดีใช่จะดีเสมอไป

ผศ.ดร.นพ.ประกอบ ผู้วิบูลย์สุข

             เป็นสามัญสำนึกมาสักพักแล้วครับ ที่คนเราเข้าใจว่า การมีระดับไขมันดี (HDL) ในเลือดสูง ๆ เป็นสิ่งที่ดี ช่วยลดความเสี่ยงที่จะเป็นโรคหัวใจต่ำลง แต่ความเชื่อนี้อาจไม่จริงเสมอไป

            เรามักได้ยินเสมอ ๆ เวลาไปหาหมอ หมอมักแนะนำให้รับประทานปลา น้ำมันมะกอก หรือพวก nut ทั้งหลายเพื่อสร้างไขมันดีเอาไว้ลดความเสี่ยงในการเป็นโรคเส้นเลือดหัวใจตีบตัน

            คงต้องลองมาดูการวิจัยจากอังกฤษเรื่องนี้กัน ความเชื่ออันนี้จะได้มีข้อยกเว้น

            ต้นเรื่องของการวิจัยครั้งนี้มาจากว่า หลัง ๆ มามีรายงานการวิจัยมากมายขึ้นที่พบว่า แม้ในคนที่มีระดับไขมันดี หรือ HDL สูง ๆ ก็เป็นโรคเส้นเลือดหัวใจตีบได้บ่อย นักวิจัยเลยสงสัยว่า ทำไม? หรือว่า ความเชื่อนี้ไม่ได้เป็นจริง

            แล้วสิ่งที่ค้นพบใหม่คือ...

            ในบางคนที่มียีนตัวหนึ่งซึ่งกลายพันธุ์ ทำให้คนคนนั้นสามารถสร้างไขมันดี (HDL) ได้เยอะ แต่เป็น HDL ที่ไม่ได้ประโยชน์

            ยีนที่ว่านี้มีชื่อว่า SCARB1 ซึ่งพบได้ในอัตรา 1 คนต่อประชากร 1,700 คน

            คนที่มียีนนี้ แม้จะมีระดับไขมัน HDL สูง แต่ก็มีความเสี่ยงในการเป็นโรคเส้นเลือดหัวใจตีบตันได้ไม่แพ้คนที่สูบบุหรี่

            เพราะไขมัน HDL ของคนกลุ่มนี้ไม่สามารถนำไขมันในเลือดผ่านตับเพื่อให้เกิดกระบวนการเปลี่ยนแปลงได้

            ศาสตราจารย์อดัม บัทเตอร์เวอร์ท (Adam Butterworth) แห่งมหาวิทยาลัยเคมบริจด์ หนึ่งในคณะผู้วิจัยบอกว่า การวิจัยครั้งนี้นับเป็นการวิจัยแรก ๆ ที่ยืนยันว่าคนที่มีไขมันดีสูงไม่ได้ช่วยป้องกันโรคหัวใจเสมอไป

            ศาสตราจารย์อดัม ยังบอกอีกว่า ทุกวันนี้บริษัทยาพยายามอย่างยิ่งที่จะค้นคว้าหายาที่จะเพิ่มระดับ HDL โดยรวม ในเวลาเดียวกันก็ลด LDL เพื่อเอาไว้ป้องกันโรคหัวใจ แต่เอาเข้าจริง ๆ แล้ว ยาเหล่านั้นอาจไม่ได้ประโยชน์ก็ได้

            เพราะอันที่จริงแล้ว ไม่ใช่ระดับ HDL ที่เป็นตัวบ่งชี้ความเสี่ยงโรคหัวใจครับ ศาสตราจารย์อดัม บอกว่าขนาดที่แตกต่างกันของ HDL ต่างหากที่เป็นปัจจัยสำคัญ เพราะมันจะบอกประสิทธิภาพในการส่งผ่านไขมันเข้าสู่ตับเพื่อผ่านกระบวนการต่อ ๆ ไป!

            และตรงจุดนี้แหละครับ ที่ควรจะเป็นเป้าหมายของการวิจัยที่จะให้ประโยชน์ในอนาคต

            แต่อย่างไรก็ตามนะครับ ณ ขณะนี้การพยายามเพิ่มระดับ HDL ยังคงเป็นสิ่งที่แนะนำให้ทำอยู่ แม้ว่าในอนาคตนักวิจัยอาจแนะนำให้ตรวจหายีนตัวดังกล่าวด้วย เพื่อว่าจะได้ไม่หลงแต่จะเพิ่มระดับ HDL ตะบี้ตะบัน

            คุณหมอทิม ชิโค (Tim Chico) ผู้เชี่ยวชาญโรคหัวใจแห่งมหาวิทยาลัยเชฟฟิลด์ (University of  Sheffield) เสริมว่า ผลของการวิจัยชิ้นนี้มีความสำคัญ และอย่าไปมองไขมันเพียงว่ามีไขมันดีกับไขมันเลว มันไม่ได้ง่าย ๆ แบบนั้น

            ศาสตราจารย์อดัม เน้นย้ำการออกกำลังกายเพื่อเพิ่มระดับ HDL ลดความเสี่ยงโรคหัวใจ และยังกล่าวอีกว่า การออกกำลังกายที่ช่วยเพิ่มระดับไขมัน HDL อาจไม่ใช่คำอธิบายผลป้องกันโรคหัวใจ ความเป็นจริงลึก ๆ มันสลับซับซ้อนกว่านี้ ดังนั้น การทำความเข้าใจเรื่องไขมันกับความเสี่ยงเป็นโรคหัวใจนั้นซับซ้อนมาก เราคงต้องรู้จักมันให้ลึกซึ้งกว่านี้

            ศาสตราจารย์ปีเตอร์ ไวส์เบิร์ก (Peter Weissberg) ผู้อำนวยการฝ่ายแพทย์ของสถาบันโรคหัวใจอังกฤษ (British Heart Foundation) กล่าวยืนยันเช่นกันว่า ผลการวิจัยนี้มีความสำคัญเพราะเปิดช่องสูง การทำความเข้าใจความสัมพันธ์ของไขมันในเลือดกับการเป็นโรคเส้นเลือดหัวใจ ศาสตราจารย์ปีเตอร์ ยังบอกต่ออีกว่า ผลการวิจัยชิ้นนี้ชี้แนะว่า วิธีที่ร่างกายจัดการกับ HDL นั้นมีความสำคัญ และเป็นตัวบ่งชี้โรคหัวใจมากกว่าระดับของไขมัน HDL และเพียงแค่เข้าใจชีววิทยาของไขมัน HDL-C เราก็อาจพัฒนาการรักษาใหม่ ๆ เพื่อป้องกันโรคหัวใจได้