ภญ.ตมิสา เดชอาคม

ภญ.ตมิสา เดชอาคม

ความภูมิใจในวิชาชีพ ยึดมั่นจรรยาบรรณ ให้บริการด้วยความรู้ ความเมตตา

จากประสบการณ์ที่เคยดูแลรับผิดชอบการบริบาลผู้ป่วยแผนกอายุรกรรม และได้มีโอกาสทำงานร่วมกับทีมสหวิชาชีพในการดูแลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง ที่แผนกผู้ป่วยใน โรงพยาบาลสุราษฎร์ธานี แต่ใครเลยจะคิดว่า ภญ.ตมิสา เดชอาคม หรือที่เพื่อน ๆ พี่ ๆ น้อง ๆ ในแวดวงเภสัชกรรมจะคุ้นเคยกันดีในชื่อของ “พี่ไหม” เภสัชกรดีเด่น สาขาเภสัชกรรมชุมชน ประจำปี พ.ศ. 2558 จัดโดยเภสัชกรรมสมาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ และเภสัชกรภาคใต้ดีเด่น สาขาเภสัชกรชุมชน ปี พ.ศ. 2558 จัดโดยกลุ่มเภสัชกรภาคใต้ กลับต้องมาประสบกับเหตุการณ์นี้ด้วยตนเอง

ในช่วงปี พ.ศ. 2549-2552 พี่ไหมต้องเข้ารับการรักษาและฟื้นฟูร่างกาย เนื่องจากการเจ็บป่วยจากโรค Antiphospholipid Syndrome (APS)(1), SLE และเป็นอัมพาต เนื่องจากเส้นเลือดสมองตีบ ทำให้ร่างกายไม่สามารถเคลื่อนไหวและสื่อสารกับผู้อื่นได้ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้อาจทำให้หลาย ๆ คนรู้สึกท้อแท้กับชีวิต แต่สำหรับ ภญ.ตมิสา แล้ว ถือว่า “การเป็นอัมพาต ไม่ได้ถือเป็นภาวะวิกฤติของชีวิต หากแต่เป็นโอกาสแห่งการเรียนรู้ด้วยตนเองครั้งยิ่งใหญ่” ซึ่งในตอนนั้น กำลังใจที่ได้จากตนเองและครอบครัวถือเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง ตลอดระยะเวลา 3 ปีเต็ม ที่ ภญ.ตมิสา ต้องใช้กำลังกาย กำลังใจ ความมุ่งมั่น ความมานะ อดทน ความพยายามฟื้นฟูสภาพร่างกายให้สามารถกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติ การเจ็บป่วยครั้งนี้ทำให้ ภญ.ตมิสา ได้เข้าใจสภาพจิตใจ และรับรู้ถึงความต้องการของผู้ป่วยมากขึ้น นอกจากนี้ขณะที่เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลยังพบว่า มีผู้ป่วยที่ต้องการความช่วยเหลืออีกมาก จึงตั้งใจว่าเมื่อช่วยเหลือตนเองได้และมีความสุขกับชีวิตแล้ว ก็มีความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะแบ่งปันความสุขนี้ให้แก่ผู้ป่วยรายอื่นด้วย โดยการนำความรู้และประสบการณ์ขณะเป็นผู้ป่วยมาเป็นแนวทางในการให้ความช่วยเหลือ และดูแลผู้ป่วยทั้งร่างกายและจิตใจให้ดียิ่งขึ้น

ภญ.ตมิสา สำเร็จการศึกษาปริญญาเภสัชศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อปี พ.ศ. 2542, วุฒิบัตรหลักสูตรนวัตกรรมการบริบาลเภสัชกรรมชุมชน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. 2556 ปัจจุบันกำลังศึกษาโครงการพัฒนาระบบยาและสุขภาพในระดับครอบครัวและชุมชน (FCPL: Family and Community Pharmacist Practice Learning) ซึ่งจัดโดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ร่วมกับ สภาเภสัชกรรม

สำหรับประสบการณ์การทำงาน ภญ.ตมิสา เริ่มรับราชการครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2542 ในตำแหน่งเภสัชกร 3 สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสุราษฎร์ธานี มีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบงานคุ้มครองผู้บริโภค ตรวจสถานประกอบการ ตรวจสอบเอกสารเพื่อขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์อาหารและยา ต่อมาในปี พ.ศ. 2543 ได้ย้ายมาเป็นเภสัชกร 4 ประจำแผนกผู้ป่วยใน โรงพยาบาลสุราษฎร์ธานี รับผิดชอบงานบริบาลผู้ป่วยอายุรกรรม และได้มีโอกาสทำงานร่วมกับทีมสหวิชาชีพในการดูแลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง จากนั้นในปี พ.ศ. 2544 ได้ผันตัวเองมารับใช้สังคม เป็นเภสัชกรชุมชนที่ร้านยาคุณภาพเฟื่องฟ้าเภสัช จ.สุราษฎร์ธานี โดยปฏิบัติงานในร้านยาเต็มเวลามาจนถึงปัจจุบัน ได้ตั้งใจพัฒนาร้านยาให้เป็นร้านยาคุณภาพ และผ่านการประเมินได้รับการรับรองให้เป็นร้านยาคุณภาพ รุ่นที่ 2 ในปี พ.ศ. 2547 โดยได้รับคำชมเชยจากทีมประเมินเรื่องการเตรียมความพร้อมดีมาก มีการจัดทำแฟ้มบันทึกข้อมูลผู้ป่วยที่มารับบริการเป็นประจำ มีการจัดกิจกรรมให้ความรู้แก่ประชาชนโดยทำแผ่นพับ จัดบอร์ดภายใน และด้านหน้าร้าน มีการประสานความร่วมมือและทำกิจกรรมกับอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านในชุมชน ซึ่งนอกจากจะทุ่มเทให้กับการบริการให้ร้านยาแล้ว อีกหนึ่งบทบาทของ ภญ.ตมิสา คือ การเป็นอาจารย์ (พิเศษ) ให้แก่คณะเภสัชศาสตร์ของมหาวิทยาลัยต่าง ๆ เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยศิลปากร มหาวิทยาลัยนเรศวร มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ มหาวิทยาลัยสยาม และมหาวิทยาลัยอื่น ๆ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2545 ต่อเนื่องทุกปีจวบจนถึงปัจจุบัน

ภญ.ตมิสา เล่าให้ฟังถึงการก้าวเข้าสู่ร้านยาคุณภาพว่า เป็นสิ่งที่ทำได้ไม่ยาก เนื่องจากเราเป็นเภสัชกรที่อยู่ประจำร้านยาตลอดเวลาอยู่แล้ว อีกทั้งเงื่อนไขในการเป็นร้านยาคุณภาพก็สอดคล้องกันกับสภาพแวดล้อมและการทำงานปกติในร้านยาอยู่แล้ว เพียงแต่มีสิ่งที่ต้องทำเพิ่มขึ้น เช่น การทำระเบียนประวัติผู้ป่วย การทำแนวทางการจ่ายยาที่เหมาะสม และการทำรายงานต่าง ๆ อีกเล็กน้อย แต่ทุกอย่างที่ทำก็เพื่อให้ร้านยาเราดีขึ้น อีกทั้งยังเป็นความภาคภูมิใจของเรา ที่เมื่อทำแล้วสามารถนำร้านยาเข้าสู่การรับรองคุณภาพระดับที่เป็นมาตรฐานระดับประเทศได้ รวมถึงเป็นที่รู้จักและเป็นที่ยอมรับของวิชาชีพอื่น ซึ่งหลังจากได้รับรองให้เป็นร้านยาคุณภาพแล้ว จึงได้ริเริ่มขยายงานด้านการให้ความรู้และบริการชุมชนมากขึ้น โดยรับเป็นวิทยากรให้ความรู้ด้านการส่งเสริมสุขภาพ การใช้ยา ผลิตภัณฑ์สุขภาพ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม รณรงค์การเลิกบุหรี่ ออกสื่อประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เรื่องความปลอดภัยด้านอาหารและยา และจัดกิจกรรมให้ความรู้ทั้งในร้านและนอกสถานที่ เช่น วัด โรงเรียน ชมรมดีเจวิทยุท้องถิ่น ร่วมกับชุมชน, กลุ่ม อสม.และศูนย์บริการสาธารณสุข ในโอกาสสำคัญ ๆ ของชุมชนอยู่เสมอ

“พี่ต้องการให้เกิดการเรียนรู้ไปพร้อมกับการทำงานจริง จึงได้จัดทำโครงการขึ้นหลายโครงการ ซึ่งโครงการเหล่านั้นก็ได้ช่วยส่งเสริมให้เกิดรูปแบบการใช้ยาที่เหมาะสมในชุมชน ทำให้เกิดการพัฒนาคุณภาพของระบบบริการสุขภาพโดยรวม เพื่อคุณภาพชีวิตและสุขภาพที่ดีขึ้นของประชาชน ใน 3 หัวข้อหลักคือ health promotion/health prevention/disease management เช่น โครงการให้บริการความรู้เรื่องการเสริมสร้างสุขภาพ และการป้องกันโรคต่าง ๆ เช่น การแนะนำการใช้ยาเม็ดคุมกำเนิด การใช้ยาคุมกำเนิดฉุกเฉิน, โครงการส่งเสริมการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างสมเหตุผล (Antibiotics Smart Use: ASU), โครงการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในคนไข้กลุ่มเสี่ยง เช่น การเลิกบุหรี่ การออกกำลังกาย พฤติกรรมการบริโภค, โครงการคุ้มครองผู้บริโภค การเฝ้าระวังโรค ผลิตภัณฑ์สิ่งแวดล้อมที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพและอื่น ๆ ที่สามารถให้ความรู้แก่ชุมชน เพื่อนำไปสู่การป้องกันโรคได้, โครงการคัดกรองเบาหวานและความดันโลหิตสูงในร้านยาชุมชน, โครงการดูแลผู้ป่วยโรคเรื้อรังต่อเนื่อง การทบทวนการใช้ยา การจัดการปัญหาการใช้ยาโดยเภสัชกรชุมชน (MTM), โครงการส่งเสริมสุขภาพ และป้องกันโรคในร้านยาคุณภาพ การทำ Home health care การติดตามและประเมินการเกิดปัญหาจากการใช้ยาของผู้ป่วยในระหว่างนัดของแพทย์เพื่อแก้ไขปัญหา หรือส่งต่อผู้ป่วยกลับไปพบแพทย์ก่อนกำหนดหากผู้ป่วยมีปัญหาจากการใช้ยาเกิดขึ้น”

ทั้งนี้ผลงานที่มีคุณูปการต่อวิชาชีพเภสัชกรรม เช่น การพัฒนารูปแบบการปฏิบัติงานของเภสัชกรชุมชนในร้านยา ให้เป็นการทำงานเชิงรุกและเชิงรับ ให้เป็นที่ยอมรับของประชาชนและวิชาชีพอื่น ส่งเสริมให้มีการขยายขอบข่ายในการบริการให้ครอบคลุมการดูแลผู้ป่วยต่อเนื่องในระดับบุคคล ครอบครัว และชุมชนอย่างเป็นระบบ, ส่งเสริมเภสัชกรชุมชนให้มีการทำงานเชื่อมต่อกับระบบประกันสุขภาพแห่งชาติมากยิ่งขึ้น เช่น โครงการร้านยาร่วมใจให้บริการ ให้ความรู้ คัดกรองความเสี่ยงโรคเรื้อรัง, พัฒนารูปแบบการบริบาลเภสัชกรรมชุมชน โดยการเยี่ยมบ้าน จัดทำรายการใช้ยาพร้อมกับการติดตามดูแลอย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกันปัญหาจากการใช้ยาในชุมชน ร่วมกับหน่วยงานราชการ และทีมสหวิชาชีพ, พัฒนารูปแบบกิจกรรมการฝึกปฏิบัติงานของนักศึกษาเภสัชศาสตร์ในร้านยา ให้มีการทำงาน ประสานงานร่วมกับชุมชนและบุคลากรสาธารณสุขอื่น ๆ มากขึ้น เพื่อให้เข้าใจบทบาทหน้าที่ ส่งเสริมภาพลักษณ์ บทบาทการเป็นวิชาชีพเภสัชกรรมให้เป็นที่ยอมรับของสังคม และสร้างเสริมการเรียนรู้จากการทำงานจริง การแก้ปัญหาด้วยประสบการณ์

ภญ.ตมิสา กล่าวถึงหัวใจสำคัญของการเป็นเภสัชกรชุมชนให้ฟังว่า หัวใจของการเป็นเภสัชกรร้านยาในชุมชนคือ มีความตั้งใจที่จะพัฒนางานต่อไปอย่างต่อเนื่องไม่หยุดยั้ง ยึดมั่นจรรยาบรรณของวิชาชีพ ให้บริการด้วยความรู้ ความเมตตา เอาใจใส่ต่อผู้มารับบริการด้วยความเต็มใจ รวมถึงเป็นตัวอย่างที่ดีในการปฏิบัติตน ตามจรรยาบรรณ มีความศรัทธาในวิชาชีพ ดำรงชีวิตด้วยความพอเพียง ละเว้นอบายมุขสิ่งเสพติด มีวินัยในตนเอง ปฏิบัติงานด้วยความมุ่งมั่นอุตสาหะ และมีความตั้งใจพัฒนาการบริการเภสัชกรรมในร้านยาอย่างสม่ำเสมอ

            ท้ายสุดนี้ ภญ.ตมิสา ได้ฝากคำแนะนำถึงเพื่อน ๆ พี่ ๆ น้อง ๆ เภสัชกรทุกคนว่า ถ้าเราอยากให้เภสัชกรร้านยาได้รับความยอมรับจากสังคมและเพื่อนร่วมวิชาชีพ เราก็ควรแสดงให้สังคมและเพื่อนร่วมวิชาชีพได้เห็นถึงศักยภาพและความสามารถของเรา ซึ่งการได้มานั้นไม่ใช่เรื่องง่าย หากแต่ต้องแลกมาด้วยความพยายาม อดทน มุ่งมั่น พัฒนาศักยภาพ ทักษะของเราอย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่ทำตามกระแสเพียงชั่วครั้งชั่วคราว ไม่ใช่ทำเพียงเพื่อให้ถูกต้องตามกฎหมาย อย่ากลัวที่จะเปลี่ยนแปลง ควรริเริ่มทำสิ่งใหม่ ๆ เพื่อสร้างคุณค่า เภสัชกรร้านยาจะต้องให้ความช่วยเหลือกัน ช่วยกันคิด สนับสนุน มีความสามัคคีกัน เรียนรู้จากประสบการณ์ ยอมรับที่จะปรับตัว และแก้ไขในสิ่งที่ผิดพลาด ยึดมั่นในจริยธรรม และต้องมีความภูมิใจในวิชาชีพเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด ซึ่งที่กล่าวมาทั้งหมดนี้จะเป็นแรงผลักดันนำพาพวกเราไปสู่เป้าหมายที่ตั้งใจไว้ได้ในที่สุด