จุลินทรีย์ (microbiome) ในลำไส้กับสุขภาพจิต

จุลินทรีย์ (microbiome) ในลำไส้กับสุขภาพจิต

ผศ.ดร.นพ.ประกอบ ผู้วิบูลย์สุข

             ในขณะนี้เรื่อง microbiome กำลังเป็นที่สนใจศึกษากันมากขึ้นว่า จุลินทรีย์จำนวนมหาศาลที่อยู่ในลำไส้ของคนเรา (microbiome) มีส่วนเกี่ยวข้องกับสุขภาพจิตหรือโรคทางจิตเวชหรือไม่ อย่างไร

            จุลินทรีย์ในลำไส้ของเราเนี่ยนะ มีส่วนเกี่ยวข้องกับอารมณ์ความนึกคิดของมนุษย์?

            มีครับ และกำลังมีรายงานการวิจัยมากขึ้น ๆ ที่ยืนยันว่า เจ้าจุลินทรีย์ 37-100 ล้านล้านตัวในลำไส้เรานั้นมีผลต่ออารมณ์และสมองของคนเรา

            ในอดีตเราคิดกันว่า ระบบที่ควบคุมเกี่ยวกับเรื่องอารมณ์ความรู้สึกของคนเรา หรือที่มีชื่อเรียกว่า HPA axis (hypothalamic-pituitary-adrenal axis) นั้นถูกปรับเปลี่ยนได้จากวิถีการใช้ชีวิต หรือไลฟ์สไตล์ (lifestyle) ของคนเรา เช่น การที่ปล่อยให้มีภาวะเครียดเรื้อรัง (และ/หรือ) ร่วมกับการมีกรรมพันธุ์ที่มีแนวโน้มจะป่วยทางจิตเป็นสาเหตุใหญ่ของการเป็นโรคทางจิตเวช ไม่ว่าจะเป็นโรคซึมเศร้าหรือโรคอารมณ์แปรปรวน นอกจากนั้นเราก็ยังเชื่อกันว่า การอักเสบในระบบประสาท (neuroinflammation) ก่อให้เกิด cytokines ต่าง ๆ ที่ส่งผลต่อเนื่องเป็นลูกโซ่ให้สมองทำงานผิดเพี้ยนไปจนกลายมาเป็นอาการทางจิตเวชหลายต่อหลายอย่าง

            แต่จริง ๆ แล้ว ไม่ใช่แค่ 2-3 สาเหตุที่กล่าวข้างต้นหรอกครับ จุลินทรีย์ในร่างกายคนเราก็มีส่วนด้วย และไม่ใช่แค่ต่ออารมณ์หรือความรู้สึกนะครับ จุลินทรีย์ในทางเดินอาหารของคนเรายังมีส่วนสำคัญต่อระบบภูมิคุ้มกัน (immune system) ด้วย เพราะมันมีการสื่อสารกับ HPA axis ของคนเรา

            การสื่อสารที่จุลินทรีย์ในลำไส้ของคนเรามีต่อสมองของเรานั้น มีอยู่ 3 ทางคือ ทางฮอร์โมน ทางระบบภูมิคุ้มกัน และทางการสื่อสารโดยตรงไปยังสมอง จุลินทรีย์บางสายพันธุ์สามารถหลั่งสารสื่อประสาท (neurotransmitters) ที่มีอยู่ในตัวมันออกมาภายนอกเพื่อสื่อสารกับสมองของคนเราผ่านเส้นประสาทเวกัส (vagus nerve) ได้

            การศึกษาในสัตว์ทดลองหลายงานวิจัยพบว่า เราสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของหนูได้ง่าย ๆ โดยเพียงแค่เปลี่ยนจุลินทรีย์ที่มีอยู่ในทางเดินอาหารของหนูทดลองเท่านั้น การปรับเปลี่ยนจุลินทรีย์ก็ทำง่าย ๆ ได้หลายวิธี เช่น การให้ยาปฏิชีวนะ (antibiotics) การให้เชื้อจุลินทรีย์ที่มีชีวิต (probiotics) การให้สาร prebiotics (ส่วนของอาหารที่ไม่ถูกย่อยในทางเดินอาหาร ซึ่งมีผลทําให้กระตุ้นการเจริญของแบคทีเรียบางชนิดในลําไส้ใหญ่) หรือแม้กระทั่งการตัดเปลี่ยนอุจจาระ (fecal transplants)

            การวิจัยในคนหลายชิ้นพบว่า การได้รับ probiotics มีส่วนช่วยลดการคิดในทางลบ (negative thinking) ในคนเรา ช่วยลดอาการวิตกกังวลในคนไข้มะเร็ง และที่น่าแปลกใจคือ มีการวิจัยเล็ก ๆ อันหนึ่งพบว่า การให้ probiotics ในเด็กทารกช่วยลดอัตราการเป็นออทิสซึม (autism) และโรคสมาธิสั้น (ADHD: attention deficit and hyperactive disorder) ได้ด้วย

            ในขณะนี้นักวิจัยกำลังศึกษาสายพันธุ์หนึ่งของจุลินทรีย์ที่เรียกกันว่า “psychobiotics” เพื่อว่าในอนาคตเราอาจใช้มันในการรักษาโรคทางจิตเวช

            แล้วข้อมูลที่ยืนยันกันแล้วในปัจจุบันที่เป็นประโยชน์เอาไปใช้ได้ล่ะ

            เรารู้แล้วว่า การนอนหลับไม่ดี การรับประทานอาหารไม่ดี ภาวะเครียดเรื้อรัง รวมทั้งการดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไปมีผลกระทบต่อจุลินทรีย์ในลำไส้ของเรา (microbiome) ผลของมันเกิดค่อนข้างจะทันทีด้วยนะครับ อาทิ เราสามารถลดจำนวนจุลินทรีย์ลงร้อยละ 40 ภายในเวลา 10-14 วันด้วยการแค่รับประทานอาหารที่ผ่านกระบวนการมาก ๆ (highly processed food)

            สาเหตุนี้เชื่อกันว่าเป็นคำอธิบายว่าทำไมคนที่รับประทานอาหารแบบวัฒนธรรมเดิม ๆ (traditional whole-foods) มักมีอารมณ์ที่เย็นหรือสงบกว่า รวมทั้งเป็นโรคทางจิตเวชน้อยกว่าคนที่รับประทานอาหารแบบตะวันตกที่ผ่านกระบวนการปรุงแต่งมาก

            ดังนั้น ในท้ายที่สุดนี้ การหลีกเลี่ยงอาหารปรุงแต่งและการนอนหลับให้เพียงพอจึงเป็นคำแนะนำที่มีหลักฐานยืนยันและเชื่อถือได้ว่าจะให้คุณประโยชน์กับสุขภาพจิตของคนเราครับ