เภสัชอาสาพาเลิกบุหรี่ อีกหนึ่งบทบาทของเภสัชกรในระบบสุขภาพในการดูแลประชาชน

เภสัชอาสา....พาเลิกบุหรี่  อีกหนึ่งบทบาทของเภสัชกรในระบบสุขภาพในการดูแลประชาชน

ด้วยความตระหนักในข้อเท็จจริงว่าประเทศไทยมีผู้สูบบุหรี่เป็นประจำ 10.4 ล้านคน (พ.ศ. 2557) หรือคิดเป็นจำนวนบุหรี่ที่ถูกสูบมากถึง 105.6 ล้านมวนต่อวัน และมีผู้เสียชีวิตจากโรคที่เกิดจากการสูบบุหรี่ปีละ 52,000 คน หรือ 142 คนต่อวัน ซึ่งในปี พ.ศ. 2546 ได้มีการวิจัยพบว่า ค่าใช้จ่ายในการรักษา 3 โรคหลักที่เป็นผลสืบเนื่องจากการสูบบุหรี่คือ มะเร็งปอด ถุงลมโป่งพอง และเส้นเลือดหัวใจตีบ เป็นจำนวนเงิน 46,800 ล้านบาทต่อปี ในขณะที่รายได้ของรัฐจากการเก็บภาษีสรรพสามิตบุหรี่มีจำนวนที่น้อยกว่า เพียงปีละ 43,207 ล้านบาท

            Theme วันงดสูบบุหรี่โลกในปี พ.ศ. 2548 มีว่า “Health Professionals on Tobacco Control” หรือภาษาไทยว่า “ทีมสุขภาพร่วมใจต้านภัยบุหรี่” ด้วย Theme นี้ ทางสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จึงจัดตั้งเครือข่ายวิชาชีพสุขภาพฯ ขึ้น รวมถึงเครือข่ายวิชาชีพเภสัชกรรมเพื่อควบคุมยาสูบ (คภยส.) ซึ่งได้เป็นภาคีร่วมทำกิจกรรมกับองค์กรหรือสมาคมวิชาชีพสุขภาพฯ ต่าง ๆ รวมถึงองค์กรทางด้านวิชาชีพเภสัชกรรม เช่น สมาคมเภสัชกรรมชุมชน สมาคมเภสัชกรรมโรงพยาบาล เป็นต้น โดยมี ภก.ดร.คทา บัณฑิตานุกูล อดีตโฆษกสภาเภสัชกรรม เป็นประธานเครือข่ายวิชาชีพเภสัชกรรมเพื่อควบคุมยาสูบ (คภยส.)  ได้รับการสนับสนุนเงินงบประมาณในการทำงานจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือที่เรียกขานกันทั่วไปว่า สสส. และได้รับการสนับสนุนทางเทคนิคจากมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่

ภก.ดร.คทา กล่าวถึงวัตถุประสงค์หลักของเครือข่ายวิชาชีพเภสัชกรรมเพื่อควบคุมยาสูบว่า ในช่วงแรก ๆ ที่เกิด คภยส. ผลงานแรกที่เราภูมิใจคือ ได้ร่วมกับเลขามูลนิธิรณรงค์ฯ (อาจารย์ประกิต วาทีสาธกกิจ) เข้าพบชี้แจงทำความเข้าใจกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เพื่อให้ยา NRT (Nicotine Replacement Therapy) ซึ่งเดิมเป็นยาช่วยเลิกบุหรี่ที่ต้องจ่ายเฉพาะในโรงพยาบาลเท่านั้น ให้สามารถจ่ายหรือจำหน่ายในร้านยาได้ เพื่อให้ผู้สูบบุหรี่สามารถเข้าถึงยาช่วยเลิกบุหรี่ได้ง่ายขึ้น ซึ่งจะเป็นการส่งเสริมการเลิกบุหรี่ได้มากขึ้น ซึ่งทาง อย. ก็สนับสนุนแนวคิดนี้และได้ปรับสถานะของNRT ให้สามารถจ่ายหรือจำหน่ายโดยเภสัชกรในร้านยาได้ ซึ่งเรื่องนี้ถือเป็นแรงกระเพื่อมที่สำคัญที่ทำให้เภสัชกรชุมชนให้ความสนใจเข้าอบรมเรื่องเทคนิคการเลิกบุหรี่และยาช่วยเลิกบุหรี่กันมาก จึงถือว่าเป็นเหตุการณ์ที่สำคัญ ในการทำโครงการของ คภยส. ในช่วงปี พ.ศ. 2550-2553 คือ การพัฒนาองค์ความรู้และส่งเสริมความสามารถและบทบาทของเภสัชกรในการควบคุมการบริโภคยาสูบโดยเน้นการให้บริการเลิกบุหรี่ เน้นเภสัชกรชุมชนและเภสัชกรโรงพยาบาล ให้สามารถให้บริการได้อย่างเต็มรูปแบบ (เทคนิค 5A) ซึ่งต่อมาโครงการนี้เป็นที่รู้จักของเครือข่ายยาสูบต่าง ๆ ในนาม “เภสัชอาสา...พาเลิกบุหรี่” เภสัชกรชุมชนมีการให้บริการเลิกบุหรี่ในร้านยาเพิ่มขึ้น เภสัชกรร้านยามีการสั่งยาช่วยเลิกบุหรี่เข้ามาให้บริการมากขึ้น และเริ่มให้บริการให้คำปรึกษาแนะนำทั้งแบบสั้น (brief advice) และเต็มรูปแบบ (comprehensive) แต่ก็ยังเป็นในลักษณะของจิตอาสา การให้บริการเลิกบุหรี่แบบเต็มรูปแบบต้องใช้เวลาในการให้บริการ ในครั้งแรกของการให้บริการต้องใช้เวลาพูดคุยให้คำแนะนำประมาณ 20 นาที โดยเฉพาะในช่วงแรก ๆ ร้านยายังมีทักษะน้อย บางครั้งก็ใช้เวลามากขึ้น และในกระบวนการยังมีการติดตามถึง 6เดือน ซึ่งจะตามเป็นช่วง ๆ และผู้สูบหลายรายก็เลิกไม่สำเร็จ ทำให้เภสัชกรท้อใจเลิกให้บริการ เป็นการให้บริการที่แตกต่างจากการให้บริการปรึกษาแนะนำในโรคเรื้อรังหรือเรื่องอื่น ๆ ที่ไม่ต้องเสียเวลามาก ซึ่งเภสัชกรชุมชนจะมีทักษะและประสบการณ์มากกว่า ดังนั้น ร้านที่ตั้งใจให้บริการเภสัชอาสาจริง ๆ จึงมีไม่มาก จะเห็นได้จากในช่วงปี พ.ศ. 2550-2553มีเภสัชกรร้านยาที่สนใจเข้าร่วมอบรมประมาณ 2,000 กว่าร้าน แต่ที่ให้บริการจริงมีอยู่ประมาณ 20-30% คือ ประมาณ 400-500 ร้าน ดังนั้น การเป็นเภสัชอาสาต้องการทั้งพลังใจ และการมีจิตวิญญาณของการให้บริการ

            การที่ทาง คภยส. ให้ความสำคัญกับโครงการนี้ เนื่องจากในช่วงก่อนปี พ.ศ. 2548 การให้บริการเลิกบุหรี่ในระบบสถานบริการยังมีการทำกันไม่มาก และผู้สูบก็ยังไม่สนใจเข้ารับบริการเลิกบุหรี่ในโรงพยาบาล สาเหตุอาจเป็นเพราะยาช่วยเลิกบุหรี่สมัยนั้นเป็นยาที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ มีราคาสูงและไม่ได้อยู่ในสิทธิหลักประกันสุขภาพจึงเบิกไม่ได้ ผู้ที่ต้องการเลิกบุหรี่จึงต้องจ่ายค่ายาเอง ในช่วงนั้นทุกอย่างไม่เอื้อต่อผู้ต้องการเลิกสูบบุหรี่เลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเข้ารับบริการในโรงพยาบาลซึ่งการให้บริการเลิกบุหรี่มักจะสังกัดกับคลินิกจิตเวชหรือคลินิกยาเสพติด ทำให้บรรยากาศไม่เอื้อต่อการเลิกบุหรี่ การให้บริการคลินิกเลิกบุหรี่เริ่มให้บริการเข้มแข็งมากขึ้น หลังจากเครือข่ายวิชาชีพสุขภาพฯ โดยเครือข่ายวิชาชีพสุขภาพต่าง ๆ โดยเฉพาะเครือข่ายแพทย์ได้ริเริ่มจัดตั้งคลินิกฟ้าใสในสถานบริการต่าง ๆ สำหรับวิชาชีพเภสัชฯ ในช่วง 4-5 ปีแรกที่เราได้รับทุนจาก สสส. เราจะทำงานเรื่องเภสัชอาสาพาเลิกบุหรี่เป็นเรื่องหลัก ในส่วนของเภสัชกรโรงพยาบาล ทาง คภยส. ยังดำเนินกิจกรรมได้น้อย เนื่องจากเภสัชกรโรงพยาบาลเองมีงานประจำค่อนข้างมาก และหลายโรงพยาบาลไม่มียาช่วยเลิกบุหรี่ในบัญชียาของโรงพยาบาล ยกเว้นมีการเตรียมน้ำยาบ้วนปากที่ใช้ในการช่วยเลิกบุหรี่ให้แก่คลินิกเลิกบุหรี่ และการให้บริการเลิกบุหรี่ของคลินิกฟ้าใสมักจะเป็นระบบเบ็ดเสร็จในคลินิก คือจ่ายยาช่วยเลิกบุหรี่โดยไม่ต้องไปเบิกที่ห้องยา เนื่องจากเป็นยาที่ไม่เสียค่าใช้จ่าย ซึ่งมีบางโรงพยาบาลที่เภสัชกรได้มีโอกาสได้เข้าไปเกี่ยวข้อง ดังนั้น การขยายงานเภสัชกรโรงพยาบาลว่าด้วยเรื่องของการเลิกบุหรี่จึงทำได้ไม่มาก

            ในปี พ.ศ. 2556 ทางสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้เห็นผลงานเภสัชอาสาพาเลิกบุหรี่ และจากการสำรวจที่ผ่านมาพบว่า จำนวนคนสูบบุหรี่ที่เข้าไปสู่ในระบบโรงพยาบาลมีน้อย และโรงพยาบาลส่วนใหญ่จะดูแลเฉพาะผู้สูบบุหรี่ที่ป่วยแล้ว แต่ผู้สูบที่ยังไม่ป่วยและมีสุขภาพแข็งแรงที่ยังเดินสูบบุหรี่อยู่ในสังคม ในชุมชนมีอยู่มาก และตรงนี้ถ้าเภสัชกรร้านยาสามารถดูแลได้ดีก็จะสามารถช่วยผู้สูบบุหรี่ได้มาก จึงได้จัดสรรงบประมาณเพื่อสนับสนุนให้เภสัชกรอาสาร้านยาเพื่อให้การบริการขยายมากขึ้น โดยสนับสนุนผ่านสมาคมเภสัชกรรมชุมชน จึงมีการนำงบประมาณนั้นมาบริหารจัดการให้เป็นค่าตอบแทนแก่เภสัชกรผู้ให้บริการ และสนับสนุนค่ายาช่วยเลิกบุหรี่ฟรี ตรงนี้เป็นจุดที่ทำให้ร้านยาสนใจเริ่มเข้ามาให้บริการมากขึ้นและผู้สูบบุหรี่ก็สนใจเข้ารับบริการ โดยโครงการนี้เริ่มที่กรุงเทพมหานครก่อน จากนั้นจึงได้ขยายไปต่างจังหวัดซึ่งขยายไปประมาณ 20 จังหวัด สามารถให้บริการผู้เลิกบุหรี่ได้ประมาณ 1,200 กว่าคนในแต่ละปี ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด

สำหรับปี พ.ศ. 2559 ทาง สปสช. มีการเปลี่ยนแปลงนโยบาย ดังนั้น ทาง คภยส. จึงใช้งบของ สสส. และมีการปรับยุทธศาสตร์ทำงานในพื้นที่หรือจังหวัดที่ สสส. สนับสนุนงบจังหวัดปลอดบุหรี่ ให้มีการทำโครงการเภสัชอาสาเชื่อมโยงกับเครือข่ายต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการเลิกบุหรี่ และเพิ่มจำนวนผู้ที่เลิกบุหรี่สำเร็จ ดังนั้น ในแผนปี พ.ศ. 2559-2561 ที่เรากำลังจัดทำยุทธศาสตร์ใหม่ เราอาจจะเลือกทำงานกับองค์กรเครือข่ายต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนมากขึ้น เช่น มูลนิธิเพื่อนหญิง เนื่องจากทางมูลนิธิเพื่อนหญิงเองเป็นองค์กรที่เข้มแข็ง มีสมาชิกกระจายในทุกจังหวัดทั่วประเทศ และปัญหาหนึ่งของครอบครัวสมาชิกคือ การสูบบุหรี่ ดื่มเหล้า การพนัน และอาจไปถึงเรื่องยาเสพติดด้วย   

ผลดีที่ได้รับอีกด้านหนึ่งคือ การลงไปทำงานในจังหวัดปลอดบุหรี่ ทำให้ผู้ใหญ่ในจังหวัด เช่น แพทย์ใหญ่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด หรือผู้อำนวยการ สปสช.เขต รับรู้ถึงบทบาทของเภสัชอาสาว่ามีความสำคัญในการสนับสนุนความเข้มแข็งของจังหวัดในการให้บริการเลิกบุหรี่ ถึงกับให้เภสัชกรสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (เภสัช สสจ.) ให้ความสำคัญในการพัฒนาศักยภาพร้านยาและสนับสนุนให้เข้าโครงการฯ มากขึ้น สิ่งนี้ถือเป็นนิมิตหมายที่ดีที่ร้านยาเภสัชกรชุมชนมีบทบาทที่ภาครัฐให้การสนับสนุน เพราะถึงแม้ว่าโรงพยาบาลจะมีคลินิกฟ้าใสในการให้บริการช่วยเลิกบุหรี่ก็ตาม แต่ก็ทำเฉพาะผู้ป่วยที่มารับบริการที่โรงพยาบาลซึ่งก็ยังมีการให้บริการที่จำกัดอยู่ ซึ่งต่างจากร้านยาเพราะอยู่ในแหล่งชุมชนสาธารณะ สังคมรับรู้ ผู้สูบบุหรี่เข้าถึงง่าย และสะดวกในการรับบริการ ตรงจุดนี้ผมถือว่าเป็นการเปิดประตู ซึ่งจะนำไปสู่การให้บริการที่เป็นวิชาชีพมากขึ้น และเป็นบันไดหนึ่งขั้นในการนำไปสู่การทำโครงการในการดูแลสุขภาพชุมชนมากขึ้น เช่น การคัดกรอง ให้บริการติดตาม ดูแลผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่ไม่ติดต่อ (non-communicable disease NCD)

“การทำงานนี้แม้จะเป็นการเสียเวลา และค่าตอบแทนที่ได้ก็น้อยมาก แต่ทุกคนก็มีเป้าหมายตรงกันว่า ต้องทำให้สังคมรับรู้ ต้องทำให้เพื่อนร่วมวิชาชีพต่าง ๆ มองเห็นว่าเภสัชกรร้านยามีคุณภาพ เมื่อตรงนี้ทุกฝ่ายมองเห็น ผมคิดว่าเราสามารถขยายงานเภสัชกรชุมชนออกไปสู่บริการสุขภาพอื่น ๆ ได้”

            ส่วนวัตถุประสงค์อื่น ๆ เราพยายามจะกำหนดตามยุทธศาสตร์ขององค์การอนามัยโลก เช่น มุ่งเน้นพัฒนาให้มีการบูรณาการเนื้อหาเรื่องการควบคุมการบริโภคยาสูบ และเทคนิคการเลิกบุหรี่ เป็นส่วนหนึ่งของการเรียนการสอนในหลักสูตรเภสัชศาสตร์ของทุกสถาบัน และผลักดันให้เป็นหนึ่งในเกณฑ์ความรู้ความสามารถทางวิชาชีพของสภาเภสัชกรรม การสนับสนุนให้องค์กรนักศึกษามีทัศนคติ เข้าใจ และตระหนักถึงบทบาทวิชาชีพเภสัชกรรมในการควบคุมยาสูบและการให้บริการเลิกบุหรี่ สนับสนุนงานวิจัยด้านยาหรือสมุนไพรที่ใช้ในการเลิกบุหรี่เพื่อลดค่าใช้จ่ายในการใช้ยาช่วยเลิกบุหรี่ และอื่น ๆ 

            อย่างไรก็ตาม นอกจากกลุ่มวิชาชีพเภสัชกรที่เข้ามามีส่วนร่วมในการรณรงค์ช่วยเหลือคนไทยให้ปลอดจากบุหรี่แล้ว ในส่วนของกระทรวงสาธารณสุขเอง โดย นพ.อำนวย กาจีนะ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมของหน่วยบริการให้คำปรึกษาการเลิกบุหรี่กว่า 500 แห่งทั่วประเทศ รองรับมาตรการของกระทรวงการคลังที่มีการปรับขึ้นภาษีบุหรี่ซิกาแรตที่ขายในประเทศ ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559 ที่ผ่านมาว่า จากมาตรการขึ้นภาษีบุหรี่ซิกาแรตในช่วงเวลาที่ผ่านมา ส่งผลสำคัญทําให้อัตราการสูบบุหรี่ของประชากรไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยข้อมูลจากสํานักควบคุมการบริโภคยาสูบพบว่า ในปี พ.ศ. 2534 อัตราการบริโภคยาสูบในกลุ่มนี้สูงร้อยละ 32 ซึ่งข้อมูลล่าสุดในปี พ.ศ. 2557 อัตราการบริโภคยาสูบลดลงเหลือเพียงร้อยละ 20.7 หรือคิดเป็น 11.36 ล้านคน โดยในจำนวนนี้เป็นเยาวชนในช่วงอายุ 15-24 ปี ซึ่งเป็นนักสูบหน้าใหม่มากถึง 1.4 ล้านคน ทั้งนี้การลดลงของอัตราการบริโภคยาสูบมีความสัมพันธ์กับการเพิ่มขึ้นของอัตราภาษีและราคาบุหรี่อย่างเห็นได้ชัด ในส่วนการเข้าถึงบุหรี่ของเยาวชนนั้นพบว่า ส่วนใหญ่ซื้อมาสูบแบบเป็นมวน/แบ่งมวนขาย ร้อยละ 68.25 รองลงมา ได้แก่ การซื้อเป็นซอง ร้อยละ 31.46 เมื่อพิจารณาการเข้าถึงบุหรี่ในมิติของแหล่งซื้อ ผลการสำรวจยังพบว่า เยาวชนกลุ่มนี้ส่วนใหญ่ซื้อบุหรี่มาสูบจากร้านค้าใกล้บ้าน/ที่พักอาศัย หรือที่เรียกทั่วไปว่าร้านขายของชำ ร้อยละ91.00 รองลงมา ได้แก่ ร้านค้าใกล้สถานศึกษา/ที่ทำงาน ร้อยละ 2.98 และร้านสะดวกซื้อ ร้อยละ 2.65

“มาตรการการปรับขึ้นภาษีดังกล่าวส่งผลดีต่อการควบคุมการบริโภคยาสูบโดยเฉพาะนักสูบหน้าใหม่ และนักสูบกลุ่มเยาวชนในประเทศไทย ซึ่งมาตรการการขึ้นภาษีบุหรี่นี้ องค์การอนามัยโลกได้กําหนดให้เป็นมาตรการสำคัญที่มีประสิทธิภาพสูงในการดําเนินงานเพื่อควบคุมการบริโภคยาสูบ เช่นเดียวกับการห้ามโฆษณาและการส่งเสริมการขายบุหรี่ ทั้งนี้ในส่วนบทบาทของกระทรวงสาธารณสุข ได้มีการปรับมาตรการเพื่อรองรับการขึ้นภาษีบุหรี่ โดยมีการดำเนินการที่สำคัญดังนี้ 1. สนับสนุนหน่วยบริการสาธารณสุข ในการจัดบริการให้คำปรึกษาการเลิกบุหรี่กว่า 500 แห่งทั่วประเทศ และนอกจากนี้ประชาชนที่ไม่สะดวกไปใช้บริการจากหน่วยบริการสาธารณสุขยังสามารถเข้าถึงบริการให้คำปรึกษาการเลิกบุหรี่ทางโทรศัพท์โดยไม่เสียค่าโทรศัพท์ ของศูนย์บริการเลิกบุหรี่ทางโทรศัพท์แห่งชาติ (ศบช.) หรือ Quitline 1600 2. กรมควบคุมโรคดำเนินการร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ในการผลักดันให้โรงเรียนในสังกัด สพฐ. เป็นโรงเรียนปลอดบุหรี่ 100% ภายในปี พ.ศ. 2561 นี้”

สำหรับการป้องกันการเข้าถึงบุหรี่ของเยาวชน และลดจำนวนเยาวชนที่จะเสพติดบุหรี่ เครือข่ายยุวทัศน์ กรุงเทพมหานคร ร่วมกับ มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ ร่วมกันจัดทำโครงการ “Gen Z Gen STRONG : ไม่สูบ” ขึ้น ทั้งนี้ นายพชรพรรษ์ ประจวบลาภ ประธานเครือข่ายยุวทัศน์ กรุงเทพมหานคร กล่าวว่า Generation Z คือ คนที่อายุ 7-20 ปีในขณะนี้ พวกเราเติบโตมาพร้อมเทคโนโลยีในการสื่อสารและเข้าถึงข้อมูล เราตระหนักดีว่าความอิสระในการเข้าถึงข้อมูลมีทั้งข้อดีและข้อเสียต่อการเลือกใช้ชีวิต แต่สิ่งหนึ่งที่พวกเรารู้และเห็นตรงกันคือ มีข้อมูลมากมายที่ใคร ๆ ก็ค้นได้จากอินเตอร์เน็ตว่าบุหรี่ไม่ดีอย่างไร ผมไม่เคยค้นเจอประโยชน์ของบุหรี่เลยแม้แต่ครั้งเดียว พวกเราจึงเลือกที่จะไม่เข้าไปข้องเกี่ยวกับบุหรี่และยาเสพติด และเพื่อแสดงพลังของ Gen Z เราจึงร่วมกันทำโครงการ “Gen Z Gen STRONG : ไม่สูบ” ขึ้น “เราอยากเห็น Gen Z ปลอดจากบุหรี่ครับ เราหวังว่าสังคมจะช่วยกันส่งเสริมและสนับสนุนโครงการนี้ครับ” 

นางสาวบังอร ฤทธิภักดี กรรมการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวว่า จากการสำรวจโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่าคนไทยที่ติดบุหรี่กว่าครึ่งเริ่มสูบบุหรี่ก่อนอายุ 19 ปี เมื่อมีการเริ่มสูบและติดแล้ว มีเพียงร้อยละ 27 เท่านั้นที่สามารถเลิกได้ ส่วนอีกร้อยละ 73 จะติดไปตลอดชีวิต ดังนั้น หากเราสามารถช่วยกันป้องกันเด็กอายุต่ำกว่า 19 ปี ไม่ให้เริ่มสูบบุหรี่ ก็จะช่วยหยุดการเติมนักสูบบุหรี่หน้าใหม่เข้าสู่วงจรการสูบ การป่วย และการตายจากบุหรี่ ยิ่งกว่านั้นหากเยาวชนตกเป็นทาสของการเสพติดบุหรี่แล้ว ก็จะเป็นด่านแรกของการก้าวไปสู่สิ่งเสพติดและอบายมุขที่ร้ายแรงชนิดอื่น ๆ ด้วย “เป็นเรื่องที่น่าดีใจที่วัยรุ่นในวันนี้ได้ลุกขึ้นมาบอกสังคมว่าไม่เลือกบุหรี่ และไม่เอาบุหรี่มาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ในขณะที่บริษัทบุหรี่จ้องเจาะกลุ่มเป้าหมายวัยรุ่นตาเป็นมัน เพราะรู้ดีว่าลูกค้าของเขาที่ติดบุหรี่แล้ว ล้วนเริ่มสูบตอนเป็นวัยรุ่นเกือบทั้งสิ้น ดิฉันเชื่อว่า หากสังคมทุกภาคส่วนช่วยกันคนละไม้คนละมือ มีการสร้างปัจจัยเอื้อ ทั้งมาตรการทางสังคมและมาตรการทางกฎหมาย เพื่อป้องกันเด็ก Gen Z จากการเสพติดบุหรี่ ก็จะช่วยสร้างคนรุ่นใหม่ที่มีคุณภาพชีวิตที่ดี และในระยะยาวก็จะสามารถลดอัตราการสูบบุหรี่ของคนไทยลงได้”

            ดร.ศรัณญา เบญจกุล อาจารย์คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยข้อมูลการสำรวจสถานการณ์การบริโภคยาสูบของประชากรไทยในช่วง 24 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ. 2534-2558) พบว่า จำนวนผู้สูบบุหรี่ลดลงจาก 12.2 ล้านคนในปี พ.ศ. 2534 เป็น 10.9 ล้านคนในปี พ.ศ. 2558 ในจำนวนนี้พบว่าเป็น Gen Z ที่มีอายุ 15-18 ปี 3.1 แสนคน ซึ่งหากเราช่วยกันปกป้อง Gen Z จากการเริ่มสูบบุหรี่ได้สำเร็จ ก็จะสามารถลดนักสูบหน้าใหม่ได้ถึงร้อยละ 90

นายจิระวัฒน์ อยู่สะบาย นิติกรจากสำนักควบคุมการบริโภคยาสูบ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การป้องกันนักสูบหน้าใหม่เป็นมาตรการที่สำคัญยิ่ง แต่ทว่ากฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมยาสูบของประเทศไทย ได้แก่ พระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2535 และพระราชบัญญัติคุ้มครองสุขภาพของผู้ไม่สูบบุหรี่ พ.ศ. 2535 นั้นใช้มากว่า 20 ปีแล้ว ล้าสมัยและมีช่องโหว่ที่ทำให้ธุรกิจยาสูบใช้เป็นเครื่องมือในการขยายธุรกิจมาโดยตลอด เพราะธุรกิจยาสูบต้องการล่าลูกค้าใหม่มาทดแทนผู้ใหญ่ที่สูบบุหรี่จนป่วยและตาย หรือเลิกสูบ ดังนั้น พระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบฉบับใหม่จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง เพราะมีมาตรการในการปกป้องเด็กจากการเข้าถึงบุหรี่ เช่น การห้ามแยกซองบุหรี่ขายเป็นรายมวน ทั้งนี้จากการสำรวจที่ผ่านมาพบว่า ร้อยละ 88 ของเด็กอายุระหว่าง 15-17 ปีที่สูบบุหรี่ ซื้อบุหรี่จากการแบ่งขายเป็นมวน ๆ 

            ด้าน ดร.แดเนียล เคอร์เทสซ์ ผู้แทนองค์การอนามัยโลก ประจำประเทศไทย เปิดเผยคำขวัญวันงดสูบบุหรี่โลก วันที่ 31 พฤษภาคม ประจำปีนี้ว่า “ซองบุหรี่แบบเรียบ ลดภัยเงียบ ลดโรค” เพราะซองบุหรี่แบบเรียบเป็นมาตรการสำคัญที่จะลดความดึงดูดของซองบุหรี่ ป้องกันการใช้ซองบุหรี่เป็นสื่อโฆษณา หรือสื่อความหมายผิด ๆ แต่ในทางกลับกัน ซองบุหรี่แบบเรียบทำให้เห็นภาพคำเตือนเด่นชัดขึ้น โดยซองบุหรี่แบบเรียบหมายถึงซองบุหรี่ที่นอกเหนือจากภาพคำเตือนพิษภัยยาสูบแล้ว อนุญาตให้พิมพ์ชื่อยี่ห้อบุหรี่แต่ละยี่ห้อเป็นตัวอักษร ห้ามพิมพ์ลวดลายสีสันและเครื่องหมายการค้า โดยประเทศออสเตรเลียได้ใช้ซองบุหรี่แบบเรียบตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555 ขณะที่ประเทศอังกฤษและไอร์แลนด์ กฎหมายซองบุหรี่แบบเรียบเริ่มใช้เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ทั้งนี้สหภาพยุโรปหรืออียู ได้ประกาศว่าสมาชิกทั้ง 28 ประเทศสามารถออกกฎหมายนี้ได้ ไม่ได้เป็นการลิดรอนสิทธิในการใช้เครื่องหมายการค้าหรือชื่อยี่ห้อ และไม่เป็นการขัดต่อกฎหมายการค้าระหว่างประเทศ ผลการบังคับใช้กฎหมายซองบุหรี่แบบเรียบของออสเตรเลียพบว่า อัตราการสูบบุหรี่ของเยาวชนลดลง ทำให้ผู้สูบบุหรี่อยากเลิกสูบมากขึ้น  สังเกตเห็นภาพคำเตือนบนซองบุหรี่เด่นชัดขึ้น ไม่พบความยุ่งยากของร้านค้าปลีกในการหยิบหรือให้บริการลูกค้า และไม่พบว่ามีบุหรี่ปลอมหนีภาษีเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด