อาการทางจิตเวชกับโรคมะเร็ง

อาการทางจิตเวชกับโรคมะเร็ง 
ผศ.ดร.นพ.ประกอบ ผู้วิบูลย์สุข

            มีการสังเกตกันมานานแล้วว่า ก่อนคนไข้หลายรายจะได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็ง คนไข้เหล่านี้มักจะมีอาการทางด้านจิตเวชนำมาก่อน อาทิ เครียด ซึมเศร้า นอนไม่หลับ เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย ไม่มีแรง ไม่ค่อยสบายในจิตใจ ฯลฯ

            อาการเหล่านี้มีความสัมพันธ์กับโรคมะเร็งหรือไม่ ว่าเป็นต้นเหตุหรือเป็นผลของมัน ก็ยังเป็นที่สงสัยและพิสูจน์กันได้ยาก มีนักวิจัยหลายกลุ่มสนใจศึกษาและหนึ่งในนั้นคือ การวิจัยที่กำลังจะนำมาเล่าสู่กันฟังครับ

            คุณหมอดงเฮา ลู (Donghao Lu) แห่งสถาบันคาโรลินสกา สต็อกโฮล์ม ประเทศสวีเดน (Karolinska Institute, Stockholm, Sweden) หัวหน้าคณะวิจัยทำการศึกษาไว้ดังนี้ครับ คุณหมอเก็บข้อมูลคนที่เกิดในสวีเดนและใช้ชีวิตอยู่ในประเทศนี้ระหว่างปี ค.ศ. 1990-2010 มาศึกษา พบว่าในจำนวนนี้มีคนที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคมะเร็ง 326,404 คน นำมาเปรียบเทียบกับอีกกลุ่มหนึ่งที่มีปัจจัยต่าง ๆ ทัดเทียมกันแต่ไม่เป็นมะเร็ง เฝ้าติดตามข้อมูลคนเหล่านี้ก่อนได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็ง 2 ปี และติดตามต่อไปอีก 10 ปี แล้วนำมาวิเคราะห์ (ดูรายละเอียดได้จาก online April 28, 2016, JAMA Oncology)

            ในจำนวนคนที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งทั้งหมดพบว่า มีอาการทางด้านจิตเวชนำมาก่อน 3,355 คน ส่วนอีก 10,296 คนมีอาการทางจิตเวชหลังการวินิจฉัย ข้อมูลนี้เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มคนที่ไม่เป็นมะเร็งพบว่า อัตราการมีอาการทางจิตเวชสูงกว่าปกติประมาณ 10% และแน่นอนอาการทางจิตเวชจะชุกหลังได้รับการวินิจฉัยภายใน 1 สัปดาห์ แล้วจากนั้นจะลดลงอย่างรวดเร็วเมื่อเวลาผ่านไป แต่ก็ยังคงมีอัตราที่สูงกว่าประชากรปกติทั่วไป

            คุณหมอดงเฮา สังเกตว่า ในกลุ่มที่เป็นมะเร็งจะมีการใช้ยาจิตเวชเพิ่มกว่าปกติในช่วง 1 เดือนก่อนได้รับการวินิจฉัย และอัตราการใช้ยาจิตเวชยังคงสูงกว่าคนทั่วไปโดยเฉพาะอย่างยิ่งสูงสุดตอน 3 เดือนหลังการวินิจฉัย แต่ภาพรวมของการใช้ยาจิตเวชจะค่อย ๆ ลดลง (แม้จะยังสูงกว่าคนทั่วไปอยู่ดี) จนหลังการวินิจฉัยได้แล้ว 2 ปี

            คุณหมอดงเฮา กล่าวว่า ไม่ได้แปลกใจที่พบข้อมูลการใช้ยาจิตเวชเป็นเช่นนี้ เพราะหลาย ๆ การวิจัยก่อนหน้านี้ก็ได้ผลเช่นเดียวกัน คุณหมอบอกว่า อาการทางอารมณ์อย่างเช่น ซึมเศร้าหรือเครียดอาจเป็นผลมาจากการพยายามตรวจวิเคราะห์ว่าเป็นโรคมะเร็งหรือไม่ กระบวนการตรวจอาจเป็นต้นเหตุของความกดดันทางอารมณ์ คุณหมอพบว่า ไม่ว่าจะในคนที่เป็นมะเร็งที่ยังไม่กระจายหรือมะเร็งที่กระจายแล้ว ความเครียด/อารมณ์แปรปรวนไม่แตกต่างกันมากนัก แต่ที่แน่ ๆ กระบวนการของการพยายามตรวจพิสูจน์ว่าเป็นมะเร็งหรือไม่ นำมาซึ่งความเครียดอย่างมากแก่คนไข้ และยังส่งผลต่อคุณภาพชีวิตด้วย

            ในอีกฟากฝั่งหนึ่งของโลก ดร.คาเรน ไซร์จาลา (Karen Syrjala) แห่งศูนย์โรคมะเร็งเฟรด ฮัชชินสัน (Fred Hutchinson Cancer Research Center) วอชิงตัน สหรัฐอเมริกา กล่าวว่า ผลการวิจัยชิ้นนี้สะท้อนสิ่งที่ ดร.คาเรน พบในคนไข้ของเธอเอง ดร.คาเรน บอกว่าคนไข้หลายรายรู้สึกได้ดีก่อนตรวจพบมะเร็งว่า มีอะไรบางอย่างเกิดขึ้นในร่างกายของเขา ไม่ว่าจะเป็นความเหนื่อยล้า หรือผลพวงของการอักเสบภายในร่างกาย สิ่งเหล่านี้ส่งผลให้มีการเปลี่ยนแปลงในอารมณ์/ความเครียดให้ผู้ป่วยรับรู้และรู้สึกได้ ดร.คาเรน ก็ไม่แปลกใจที่คนไข้จะมีความผิดปกติทางอารมณ์ต่อเนื่องยาวนานภายหลังทราบว่าเป็นมะเร็ง เพราะการเป็นมะเร็งเปลี่ยนแปลงชีวิตคนคนนั้นอย่างชนิดหน้ามือเป็นหลังมือ

            ดร.คาเรน กล่าวอีกว่า การเป็นมะเร็งทำให้รูปลักษณ์ของคนไข้เปลี่ยนไปและเป็นที่ ๆ คนอื่น ๆ เห็นได้ง่าย แต่ความแปรปรวนทางอารมณ์เป็นสิ่งที่มองเห็นได้ยาก มันละเอียดอ่อนลึกซึ้งและซ่อนอยู่ภายใน แต่มันเป็นเรื่องใหญ่ และสำหรับ ดร.คาเรน แล้ว การมีจิตใจที่เข้มแข็งจะช่วยปรับตัวปรับใจรับกับการเปลี่ยนแปลงทางสรีระได้ดียิ่งขึ้น

            ครับ ความเครียด ความเศร้า จะเป็นต้นเหตุของมะเร็งหรือไม่ คงยากที่จะยืนยัน แต่ถ้าไม่เครียด ไม่เศร้า จะเป็นหรือไม่เป็นมะเร็ง คุณภาพชีวิตน่าจะดีกว่ากันมากนะครับ