อาการแพ้อาหารทะเลกับการใช้สารทึบรังสี

อาการแพ้อาหารทะเลกับการใช้สารทึบรังสี

       ผู้ป่วยหลายคนที่เข้ารับการตรวจถ่ายภาพทางรังสีอาจเคยถูกถามคำถามเกี่ยวกับสารทึบรังสี (contrast media) ว่าเคยมีอาการแพ้สารทึบรังสีบ้างหรือไม่ หรือแม้แต่ประวัติเกี่ยวกับอาการแพ้อาหารทะเล เนื่องจากเกรงว่าอาจเกิดอาการแพ้ขึ้นเมื่อมีสารทึบรังสีฉีดเข้าหลอดเลือดในระหว่างการตรวจ อาการแพ้อาหารทะเลเกี่ยวข้องกับการแพ้สารทึบรังสีหรือไม่ จำเป็นต้องทำการตรวจหรือปฏิบัติตัวเพิ่มเติมหรือไม่ มาไขข้อข้องใจกัน

         อาการแพ้สารทึบรังสีเป็นอาการหนึ่งที่พบได้ในผู้ป่วยที่มีการใช้สารทึบรังสีในระหว่างการตรวจทางรังสีวิทยา สารทึบรังสีที่มีใช้กันอยู่ในปัจจุบันนั้นเป็นสารในกลุ่มของ tri-iodine benzoic acid ซึ่งมีไอโอดีนอยู่ ผู้ป่วยบางรายที่ใช้สารทึบรังสีอาจมีอาการแพ้เกิดขึ้นได้ แต่กลไกของการทำให้เกิดอาการแพ้สารทึบรังสีเหล่านี้นั้นยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด (เรียกว่า idiosyncratic reaction) และไม่จำเป็นจะต้องเกิดขึ้นทุกครั้งที่มีการใช้ หลายคนเชื่อว่าอาการแพ้ที่เกิดขึ้นนี้มาจากการที่สารไอโอดีนที่ฉีดเข้าร่างกายนั้นจับกับโปรตีนบางชนิดในร่างกาย แล้วทำให้โปรตีนนั้นก่อให้เกิดปฏิกิริยาภูมิแพ้ตามมา อย่างไรก็ตาม ยังไม่ได้มีหลักฐานที่สามารถพิสูจน์ได้ว่า ไอโอดีนนั้นสามารถทำให้เกิดปฏิกิริยาภูมิแพ้ขึ้นอย่างที่ตั้งสมมติฐานไว้

         ผู้ที่มีประวัติแพ้อาหารทะเลอาจมีอาการต่าง ๆ ปรากฏขึ้นภายใน 2 ชั่วโมงหลังได้รับสารที่แพ้เข้าไปหลังจากรับประทานอาหารทะเล อาการเหล่านี้ได้แก่ อาการคัน ผื่นบวมแดง (urticaria), อาการบวมในช่องปาก ช่องคอ หรือตา (angioedema), หลอดลมหดเกร็ง (bronchospasm), คัดจมูก คลื่นไส้ อาเจียน หรือความดันโลหิตต่ำได้ สารที่ก่อปฏิกิริยาการแพ้ (antigen) ในอาหารทะเลเหล่านี้ ส่วนใหญ่มักเป็นโปรตีนที่อยู่ในเนื้อกุ้งหรือปลา เช่น โปรตีน tropomyosin เป็นต้น เนื่องจากตามธรรมชาติแล้ว ระบบภูมิคุ้มกันของมนุษย์เราจะทำหน้าที่ในการตรวจสอบ ดักจับ และกำจัดสารแปลกปลอมที่ผ่านเข้ามาในร่างกาย ซึ่งมักจะเป็นสารจำพวกโปรตีน หรือเป็นเซลล์ของสิ่งมีชีวิตอื่น แต่ไม่จับสารที่มีขนาดเล็ก ๆ หรือเป็นลักษณะแร่ธาตุ ดังนั้น สารไอโอดีนซึ่งมีคุณสมบัติเป็นแร่ธาตุจึงไม่พบหลักฐานว่าจะทำให้เกิดอาการแพ้ในลักษณะแบบเดียวกัน

         ในแง่ของความเชื่อมโยงระหว่างประวัติการแพ้อาหารทะเลกับอาการแพ้สารทึบรังสีนั้น จากการทบทวนทางสถิติในผู้ป่วยจำนวน 112,003 รายที่เข้ารับการตรวจและฉีดสารทึบรังสี พบว่าโอกาสในการเกิดอาการแพ้สารทึบรังสีในผู้ป่วยที่มีอาการแพ้อาหารทะเลนั้น ไม่ได้มากกว่าผู้ป่วยที่มีประวัติอาการแพ้อาหารชนิดอื่น เช่น ไข่ นม หรือช็อกโกแลตเลย และยังพบอีกด้วยว่า แม้ผู้ป่วยจะมีประวัติอาการแพ้อาหารทะเลอยู่ก่อน กว่า 85% ก็สามารถใช้สารทึบรังสีในการตรวจได้โดยไม่เกิดปฏิกิริยาภูมิแพ้เกิดขึ้นเลย และถึงแม้จะเกิดปฏิกิริยาขึ้น ลักษณะอาการก็ไม่จำเป็นต้องเหมือนกับในระหว่างที่เกิดอาการแพ้อาหารทะเล

         จะเห็นได้ว่าความเชื่อเกี่ยวกับอาการแพ้สารทึบรังสีว่า น่าจะเกิดจากการแพ้สารไอโอดีนที่อยู่ในสารทึบรังสีนั้น ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกันชัดเจนอย่างที่เราเคยเข้าใจ ดังนั้น ผู้ป่วยที่มีประวัติอาการแพ้อาหารทะเลสามารถเข้ารับการตรวจและฉีดสารทึบรังสีได้อย่างปลอดภัย และไม่จำเป็นต้องเข้ารับการทดสอบอาการแพ้ก่อนทำการตรวจ ส่วนผู้ป่วยที่มีประวัติอาการแพ้สารทึบรังสีอย่างชัดเจนนั้น อาจต้องให้ความระมัดระวังในการใช้สารทึบรังสีให้มากขึ้น เนื่องจากอาจเกิดปฏิกิริยาขึ้นได้ แต่ไม่จำเป็นต้องถือเป็นข้อห้ามของการใช้สารทึบรังสี