กฎหมายใหม่เกี่ยวกับเครื่องสำอาง ตอนที่ 3

กฎหมายใหม่เกี่ยวกับเครื่องสำอาง ตอนที่ 3

            ครั้งนี้จะกล่าวถึงในประเด็นข้อห้ามเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง ซึ่งจะมีข้อกำหนดเกี่ยวกับคุณภาพและความปลอดภัยของวัตถุที่ใช้ในการผลิตเครื่องสำอาง ข้อกำหนดเกี่ยวกับการใช้ภาชนะบรรจุเครื่องสำอาง มาตรการที่เกี่ยวกับฉลาก ตลอดจนมาตรการอื่น ๆ เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งมีประเด็นดังต่อไปนี้

13. เครื่องสำอางต้องห้ามในประเทศไทยมีลักษณะอย่างไร

            พระราชบัญญัติเครื่องสำอาง พ.ศ. 2558 กำหนดห้ามมิให้ผู้ใดผลิตเพื่อขาย นำเข้าเพื่อขาย รับจ้างผลิต หรือขายเครื่องสำอาง ไว้ในมาตรา 27 และมาตรา 32 หลายรายการ โดยมีข้อกำหนดดังนี้ คือ

            ห้ามมิให้ผู้ใดผลิตเพื่อขาย นำเข้าเพื่อขาย รับจ้างผลิต หรือขายเครื่องสำอาง[1]

         1. เครื่องสำอางที่ไม่ปลอดภัยในการใช้ เป็นเครื่องสำอางที่มีลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้

                        (1) เครื่องสำอางที่ผลิตหรือใช้ภาชนะบรรจุไม่ถูกสุขลักษณะอันอาจเป็นอันตรายต่อผู้ใช้

                        (2) เครื่องสำอางที่มีสารอันสลายตัวได้รวมอยู่ด้วย และอาจทำให้เกิดเป็นพิษอันเป็นอันตรายต่อผู้ใช้[2]

                        (3) เครื่องสำอางที่มีสิ่งที่อาจเป็นอันตรายต่อผู้ใช้เจือปนอยู่ด้วย[3]               (4) เครื่องสำอางที่มีวัตถุที่ห้ามใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตเครื่องสำอาง[4]

            รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขโดยคำแนะนำของคณะกรรมการเครื่องสำอาง มีอำนาจประกาศกำหนดชื่อวัตถุที่ห้ามใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตเครื่องสำอาง ตามพระราชบัญญัติเครื่องสำอาง พ.ศ. 2558 มาตรา 6(2) แต่ในขณะเดียวกันก็มีอำนาจประกาศชื่อ ปริมาณ และเงื่อนไขของวัตถุที่อาจใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตเครื่องสำอาง ตามพระราชบัญญัติเครื่องสำอาง พ.ศ. 2558 มาตรา 6(3)[5]

[1]      [1] พระราชบัญญัติเครื่องสำอาง พ.ศ. 2558 มาตรา 27

[2]      [2] เครื่องสำอางที่ไม่ปลอดภัยในการใช้ เนื่องจากผลิตหรือใช้ภาชนะบรรจุไม่ถูกสุขลักษณะอันอาจเป็นอันตรายต่อผู้ใช้ หรือมีสารอันสลายตัวได้รวมอยู่ด้วยและอาจทำให้เกิดเป็นพิษอันเป็นอันตรายต่อผู้ใช้ กรณีผู้ใดผลิตเพื่อขาย นำเข้าเพื่อขาย หรือรับจ้างผลิต ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามพระราชบัญญัติเครื่องสำอาง พ.ศ. 2558 มาตรา 72 วรรคหนึ่ง กรณีผู้ใดขายต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามมาตรา 72 วรรคสอง

[3]        [3] ผู้ใดผลิตเพื่อขาย นำเข้าเพื่อขาย หรือรับจ้างผลิต ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามพระราชบัญญัติเครื่องสำอาง พ.ศ. 2558 มาตรา 73 วรรคหนึ่ง กรณีผู้ใดขายต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามมาตรา 73 วรรคสอง

[4]        [4] ผู้ใดผลิตเพื่อขาย นำเข้าเพื่อขาย หรือรับจ้างผลิต ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามพระราชบัญญัติเครื่องสำอาง พ.ศ. 2558 มาตรา 74 วรรคหนึ่ง กรณีผู้ใดขายต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 300,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามมาตรา 74 วรรคสอง

[5]         [5] เมื่อมีการประกาศกำหนดให้วัตถุใดอาจใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตเครื่องสำอางตามมาตรา 6(3) ให้ถือว่าการใช้วัตถุดังกล่าวในเครื่องสำอางได้รับการยกเว้นไม่อยู่ภายใต้บังคับแห่งกฎหมายว่าด้วยยา กฎหมายว่าด้วยอาหาร กฎหมายว่าด้วยวัตถุอันตราย และกฎหมายว่าด้วยเครื่องมือแพทย์หรือกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง กรณีวัตถุใดที่มีการกำหนดเป็นวัตถุที่อาจใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตเครื่องสำอางได้ตามมาตรา 6(3) ถ้าต่อมาได้มีการประกาศให้วัตถุนั้นเป็นวัตถุที่ห้ามใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตเครื่องสำอางตามมาตรา 6(2) ประกาศดังกล่าวจะใช้บังคับได้ เมื่อพ้นกำหนด 180 วันนับแต่วันที่ประกาศ เว้นแต่กรณีที่จะเป็นอันตรายร้ายแรงต่อผู้ใช้ จะมีการกำหนดให้ใช้บังคับโดยทันทีหรือมีการกำหนดให้ใช้บังคับน้อยกว่าระยะเวลาดังกล่าวก็ได้ ตามพระราชบัญญัติเครื่องสำอาง พ.ศ. 2558 มาตรา 34

 

รายละเอียดเพิ่มเติม คลิกที่นี่