หัวใจเต้นผิดจังหวะ เร็วไป ช้าไป อันตรายถึงชีวิต

หัวใจเต้นผิดจังหวะ...เร็วไป ช้าไป อันตรายถึงชีวิต

            คุณเคยรู้สึกไหมว่าอยู่ดี ๆ ใจสั่น ใจหวิว มึนงง คล้ายจะเป็นลม เหนื่อยง่าย อยู่เฉย ๆ ก็เหนื่อย รู้สึกเพลีย ออกกำลังกายไม่ได้เหมือนเดิม นั่นอาจเป็นสัญญาณเตือนว่าหัวใจคุณกำลังเต้นผิดปกติอยู่ก็ได้ ด้วยสภาวะสังคมในยุคปัจจุบันที่ทุกคนใช้ชีวิตอยู่บนความเร่งรีบและความจำกัด ทำให้ผู้คนส่วนมากต้องประสบกับปัญหาทางด้านสุขภาพ หลายคนอาจมองเป็นเรื่องไกลตัว แต่ถ้าร่างกายเริ่มส่งสัญญาณดังกล่าวข้างต้น ขอบอกเลยว่าอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ เพราะ “การเต้นของหัวใจผิดปกติ” สามารถเกิดได้กับทุกเพศ ทุกวัย และทุกคน เราจึงควรหันมาใส่ใจกันก่อนที่จะสายเกินไป

         นพ.ไพศาล บุญศิริคำชัย อายุรแพทย์โรคหัวใจ สถาบันหัวใจเพอร์เฟคฮาร์ท โรงพยาบาลปิยะเวท กล่าวว่า หัวใจเป็นอวัยะหลักที่สำคัญส่วนหนึ่งของร่างกายซึ่งทำงานต่อเนื่องตลอดเวลา มีหน้าที่สูบฉีดเลือดไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ภายในร่างกาย ในการสูบฉีดเลือดของหัวใจนั้นจะเกิดการบีบตัวและคลายตัวของหัวใจ โดยอาศัยโครงสร้างของกล้ามเนื้อหัวใจ (Cardiac muscle) และระบบนำไฟฟ้า (Conduction system) ภายในหัวใจ สร้างและควบคุมจังหวะการเต้นของหัวใจ ซึ่งอัตราการเต้นของหัวใจของผู้ใหญ่ปกติจะอยู่ที่ 60-100 ครั้ง/นาที เต้นด้วยจังหวะที่สม่ำเสมอ การเต้นของหัวใจถูกกำหนดด้วยสัญญาณไฟฟ้าที่ส่งจากเนื้อเยื่อบริเวณหัวใจห้องบนขวา และส่งต่อไปยังห้องหัวใจที่เหลือ ซึ่งกลไกของหัวใจนี้ถูกควบคุมโดยกระแสไฟฟ้าหัวใจ หากเกิดการลัดวงจรในห้องหัวใจจะมีผลให้การสูบฉีดเลือดไปยังส่วนต่าง ๆ ของร่างกายเป็นไปอย่างไม่มีประสิทธิภาพ

            โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ (Cardiac arrhythmia) เกิดขึ้นได้กับผู้ป่วยทุกช่วงอายุ ขึ้นอยู่กับชนิดของหัวใจเต้นผิดจังหวะ ซึ่งอาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ ได้แก่ 1. กรรมพันธ์ุ ซึ่งเป็นความผิดปกติของวงจรไฟฟ้าหัวใจตั้งแต่กำเนิด 2. การเสื่อมสภาพของระบบไฟฟ้าหัวใจเมื่ออายุมากขึ้น 3. การรับประทานยารักษาโรคบางอย่างเป็นเวลานานติดต่อกัน 4. จากโรคต่าง ๆ เช่น ต่อมไทรอยด์ทำงานผิดปกติ โรคหลอดเลือดหัวใจตีบตัน ทั้งนี้อาการของโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะจะมีอาการใจสั่น มึนงง ใจหวิว วูบ ความดันโลหิตต่ำ หน้ามืด เจ็บหน้าอก อ่อนเพลีย ไม่มีแรง หมดสติ หรือหัวใจวาย ขึ้นอยู่กับอัตราการเต้นของหัวใจและพยาธิสภาพของหัวใจ การสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกายน้อยลง ทำให้อวัยวะขาดเลือด ยิ่งอวัยวะสำคัญอย่างสมองอาจส่งผลอันตรายทำให้เซลล์สมองตาย และเกิดความพิการหรือเสียชีวิตในที่สุด

ในส่วนการวินิจฉัยโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะทำได้ด้วยวิธีการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (EKG) แต่บางครั้งก็ไม่สามารถตรวจได้ด้วยวิธีนี้ เนื่องจากความผิดปกติจะเกิดขึ้นในช่วงสั้น ๆ และหายไป ผู้ป่วยยังไม่มีอาการ แพทย์อาจต้องใช้เครื่องมืออื่น ๆ เพื่อช่วยในการวินิจฉัย ซึ่งในปัจจุบันมีเทคโนโลยีการตรวจติดตามภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ โดยเครื่องโฮลเตอร์ (Holter monitor) ซึ่งเป็นแผ่นขั้วไฟฟ้าที่ติดผิวหนังบริเวณหน้าอกต่อกับสายที่เชื่อมกับเครื่องที่บันทึกการเต้นของหัวใจที่มีขนาดเล็ก ตรวจติดตามอาการตลอดเวลาที่ทำกิจวัตรประจำวัน ประมาณ 24-48 ชั่วโมง แพทย์จะนำผลที่บันทึกได้มาทำการวิเคราะห์คลื่นไฟฟ้าหัวใจ เพื่อวินิจฉัยและติดตามการรักษา รวมทั้งประเมินประสิทธิภาพการรักษาภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะต่อไป ในบางรายที่อาการเกิดขึ้นไม่บ่อย เช่น หลาย ๆ เดือนครั้ง อาจจำเป็นต้องใช้วิธีการผ่าตัดฝังเครื่องบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจใต้ผิวหนัง (Implantable loop recorder) เครื่องจะตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจตลอดเวลาและจะบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจที่ผิดปกติ หรือผู้ป่วยและญาติสามารถกดสวิตช์จากรีโมตที่พกติดตัวให้เครื่องทำการบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจขณะมีอาการได้ โดยเครื่องมีแบตเตอรี่ในตัวสามารถทำงานได้นานถึง 1 ปี

         นพ.ไพศาล กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการรักษาโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะนั้น แพทย์จะพิจารณาจากสาเหตุ อาการ ความรุนแรงของโรค เพื่อที่จะหาวิธีการรักษาได้อย่างเหมาะสมในผู้ป่วยแต่ละราย แต่ในผู้ป่วยบางรายที่ทราบแน่ชัดว่ามีสาเหตุมาจากคลื่นไฟฟ้าหัวใจลัดวงจร การวิเคราะห์ระบบไฟฟ้าหัวใจ (Electrophysiology study) จะช่วยนำไปสู่การวินิจฉัยขั้นสุดท้าย โดยจะเป็นการใส่สายสวนขนาดเล็กเข้าไปยังตำแหน่งต่าง ๆ ภายในหัวใจ ร่วมกับการใช้เครื่องเอกซเรย์ในการเลือกตำแหน่งที่ถูกต้อง โดยปลายของแต่ละสายจะมีความสามารถในการบันทึกคลื่นไฟฟ้าที่เกิดขึ้นภายในหัวใจ ทำให้ทราบว่ามีจุดกำเนิดผิดปกติหรือการนำไฟฟ้าลัดวงจรเกิดขึ้นในหัวใจหรือไม่ หากพบว่ามีจุดกำเนิดไฟฟ้าหรือวงจรที่ผิดปกติ แพทย์อาจใช้คลื่นไฟฟ้าความถี่สูงจี้ผนังหัวใจในส่วนที่มีวงจรที่ผิดปกติโดยผ่านทางสายดังกล่าว ทำให้วงจรไฟฟ้าของผู้ป่วยกลับมาปกติและผู้ป่วยมีโอกาสหายขาดได้

            ถึงแม้โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะจะไม่สามารถป้องกันได้ แต่เราสามารถหลีกเลี่ยงโรคนี้ได้ด้วยการหมั่นดูแลสุขภาพของตัวเองอยู่เสมอ ด้วยการหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยง เช่น บุหรี่ หรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่จะเข้าไปกระตุ้นการทำงานของหัวใจ ทำจิตใจให้สบาย ไม่เครียด ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอเป็นประจำ เลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ควบคุมน้ำหนักให้พอดีกับรูปร่าง และที่สำคัญที่สุดคือ เมื่อพบว่ามีความผิดปกติควรเข้ารับคำปรึกษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทันที ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์และตรวจเช็กสุขภาพเป็นประจำทุกปี เท่านี้ก็สามารถทำให้ห่างไกลจากโรคได้แล้ว