Vitamin B12

Vitamin B12

            จากข่าวการฉีดวิตามิน B12 เพื่อช่วยเพิ่มระดับพลังงาน ลดความตึงเครียด ช่วยลดน้ำหนัก และช่วยทำให้ผิวและผมมีสุขภาพดีได้ กลายมาเป็นแฟชั่นสุขภาพสุดฮิตของเหล่าดาราฮอลลีวูดชั้นนำหลายคน แม้แต่มาดอนนาเองก็ยังยกย่องในสรรพคุณของการฉีดวิตามิน B12 เช่นเดียวกับ จัสติน ทิมเบอร์เลค, ลินเซย์ โลฮาน และเคที่ เพอร์รี่ ทั้งนี้ วิคตอเรีย เบคแฮม ก็ยังเคยฉีดวิตามิน B12 ในระหว่างการตั้งครรภ์ เพื่อรักษาให้หุ่นยังคงความงดงามอยู่ได้มิเสื่อมคลาย ในขณะที่เชลซี แฮนด์เลอร์ ยังเปรียบการฉีดวิตามิน B12 ว่าเหมือนการรับประทานยาบำรุงชั้นดี(1)

วิตามิน B12 (COBALAMINS)(2)

            วิตามิน B12 เป็นกลุ่มของสารที่มีโคบอลต์ (Co) เป็นองค์ประกอบ ที่สำคัญที่สุด cyanocobalamin และ hydroxocobalamin วิตามิน B12 เป็นวิตามินเพียงตัวเดียวที่มีแร่ธาตุเป็นส่วนประกอบ และเป็นวิตามินที่มีโครงสร้างซับซ้อน ขนาดโมเลกุลใหญ่ที่สุด โดย cyanocobalamin มีน้ำหนักโมเลกุล 1,355.4 ส่วน hydroxocobalamin มีน้ำหนักโมเลกุล 1,346.4

ประวัติ(2)

Combe ได้รายงานเป็นครั้งแรกเกี่ยวกับผู้ป่วยที่เป็นโรคโลหิตจาง pernicious anemia และอธิบายถึงความสัมพันธ์ของโรคกับความผิดปกติของทางเดินอาหารในปี ค.ศ. 1824 ต่อมาในปี ค.ศ. 1855 Combe และ Addison ได้ระบุอาการทางคลินิกของ pernicious anemia

ในปี ค.ศ. 1925 Whipple และ Tobscheit-Fobbins ได้ค้นพบว่า การให้อาหารที่มีตับจะทำให้สุนัขหายจากโรคโลหิตจาง ปีต่อมา Minot และ Murphy พบว่า การให้อาหารที่มีตับดิบมากสามารถรักษาผู้ป่วย pernicious anemia ได้ ทำให้จำนวนเม็ดเลือดแดงเพิ่มระดับเป็นปกติ เขาอธิบายว่า ตับมี active principle(s) หรือ “antipernicious anemia factor” และ Castle เสนอว่ามี 2 ปัจจัยที่ทำให้เกิดหรือควบคุม pernicious anemia ได้ เขาเรียกมันว่า “extrinsic factor” ในอาหาร และ “intrinsic factor” ในกระเพาะอาหาร ต่อมาในปี ค.ศ. 1930 ก็พบว่า การให้สาร extrinsic factor และ intrinsic factor ในอาหารช่วยรักษาโรค pernicious anemia ได้

ในปี ค.ศ. 1934 Whipple, Minot และ Murphy ได้รับรางวัลโนเบลสาขาการแพทย์ จากผลงานในการรักษา pernicious anemia โดยใช้ cobalamins ในปี ค.ศ. 1944 Castle ได้แสดงให้เห็นว่ามี intrinsic factor ในตับสัตว์ที่สามารถรักษาโรคโลหิตจางได้

ในปี ค.ศ. 1948 นักวิจัย 2 กลุ่มจากสหรัฐอเมริกา คือ Rickes กับคณะ และ Smith กับ Parker จากอังกฤษ ต่างก็สามารถตกผลึกสีแดงของ cobalamins ได้ Smith และ Parker ได้ตั้งชื่อของ factor ดังกล่าวว่า cobalamins (วิตามิน B12) และในปีเดียวกันนี้ West ได้แสดงให้เห็นว่า การฉีดวิตามิน B12 สามารถรักษาโรค pernicious anemia ได้ผลดีมาก จากนั้นมีการใช้กันอย่างแพร่หลาย

ในปี ค.ศ. 1949 Pierce และคณะ ได้แยกผลึกวิตามิน B12 ได้ 2 รูปแบบคือ cyanocobalamin และ hydroxocobalamin ทั้ง 2 แบบสามารถรักษาโรค pernicious anemia ได้ผลดีเท่ากัน ในปี ค.ศ. 1955 Hodgkin และคณะ ได้ค้นพบโครงสร้างโมเลกุลของ cyanocobalamin โดยใช้ X-ray crystallography ต่อมาคณะของ Eschenmoser และคณะของ Woodward ต่างก็สังเคราะห์วิตามิน B12 ได้อย่างสมบูรณ์ในปี ค.ศ. 1973

วิตามิน B12 มีความคงตัวได้ดีที่สุดที่ pH 4-7 และทนต่อความร้อนได้ถึง 120 °C ถูกทำลายโดยสารออกซิไดซ์ สารรีดิวซ์ และแสงแดด เมื่อถูกแสง cyanocobalamin จะสลายตัวให้ cyanide และ hydroxocabalamin

วิตามิน B12 ช่วยการสังเคราะห์กรดนิวคลีอิก โปรตีน และไขมัน รักษาสภาพของเยื่อหุ้มเซลล์/ปลอกประสาท (myelin sheath) ดังนั้น การขาดวิตามิน B12 ทำให้เกิดโรคโลหิตจางชนิดเม็ดเลือดแดงมีขนาดใหญ่กว่าปกติ (megaloblastic anemia) เนื่องจากเซลล์ต้นกำเนิดของเม็ดเลือดแดงในไขกระดูกจำนวนหนึ่งตาย และเซลล์จำนวนหนึ่งที่ออกมาในเลือดมีรูปร่างใหญ่ขึ้น เซลล์ผิดปกติมีนิวเคลียสอยู่ในเซลล์ ทำให้เซลล์เกาะกันเป็นกระจุก ๆ เกิดพยาธิสภาพที่เรียกว่า megalocytosis ระดับเกล็ดเลือดลดลง ม้ามโต และมีอาการทางระบบประสาทร่วม เช่น ประสาทหลอน การเจริญเติบโตชะงัก กล้ามเนื้ออ่อนแรง หายใจลำบาก ลิ้นอักเสบ

ประโยชน์ของวิตามิน B12(3)

  • ในไขกระดูก วิตามิน B12 จะมีหน้าที่เป็นโคเอนไซม์ช่วยในการเร่งปฏิกิริยาการสังเคราะห์ DNA (Deoxyribonucleic Acid) เพราะถ้าไม่มีการสังเคราะห์ DNA เซลล์สร้างเม็ดเลือดแดงจะไม่เกิดการแบ่งเซลล์แต่จะขยายใหญ่ขึ้น กลายเป็นเซลล์สร้างเม็ดเลือดแดงขนาดใหญ่ (Megaloblast) และจะถูกส่งเข้าสู่กระแสโลหิตแทนที่จะเป็นเม็ดเลือดแดงที่ปกติ ดังนั้น จึงมีความจำเป็นสำหรับสร้างเม็ดโลหิตแดง
  • เป็นสิ่งจำเป็นในการเมตาบอลิซึม (metabolism) ของโปรตีน ไขมัน และคาร์โบไฮเดรต ช่วยทำให้เหล็กทำงานได้ดีขึ้นในร่างกาย
  • ช่วยการสังเคราะห์เมไทโอนีน (methionine) และโคลีน (choline) ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญในการที่ช่วยป้องกันการสะสมไขมันในตับ (lipotropic factors)
  • มีฤทธิ์กระตุ้นการเจริญเติบโตในเด็ก Underdeveloped และ Undernourished เด็กพวกนี้มักขาดวิตามิน B12 และวิตามินอย่างอื่นด้วย เมื่อให้วิตามิน B12 จะเพิ่มความอยากอาหาร รับประทานอาหารได้มากขึ้น แต่ในเด็กที่เจริญเติบโตเป็นปกติไม่ขาดวิตามินนี้ การให้วิตามิน B12 จะไม่มีผล
  • ช่วยในการนำวิตามิน A ไปไว้ที่ตามเนื้อหนังของร่างกาย โดยการช่วยการดูดซึมแคโรทีน และการเปลี่ยนแคโรทีนเป็นวิตามิน A
  • มีหน้าที่เผาผลาญกรดไขมัน ซึ่งช่วยในการรักษาสภาพของชั้นห่อเส้นประสาท (Myelin sheath)
  • ทำหน้าที่เก็บพลังงานในกล้ามเนื้อ ช่วยให้มีความกระชุ่มกระชวย กระปรี้กระเปร่า
  • ทำหน้าที่ละลายพิษของสารไซยาไนด์ (cyanide) เป็นยาพิษอย่างแรง อาจพบในอาหารและบุหรี่

 

แหล่งที่พบ

สามารถพบในตับ ไต เนื้อ เนื้อหมู ปลาเค็ม ปลาหมึก น้ำปลา เนื้อแกะ ปลาเนื้อขาว หอย ไข่ นม เนย เนยแข็ง โยเกิร์ต รำข้าว ข้าวซ้อมมือ ถั่วเมล็ดแห้ง ถั่วหมัก (ถั่วเน่า) เต้าเจี้ยว ซีอิ๊ว และผักใบสีเขียวแก่ แต่มีมากในไต กล้าม เนื้อสัตว์ ปลา และอาหารพวกนม เนย และเป็นที่น่าสังเกตว่า วิตามินชนิดนี้จะพบในสัตว์มากกว่าในพืช

ผลของการขาดวิตามิน B12(3-5)

  • เกิดโรคโลหิตจางชนิดร้ายแรงที่เรียกว่า pernicious anemia เนื่องจากการขาดปัจจัยภายในน้ำย่อยจากกระเพาะอาหาร ทำให้มีการอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร เหนื่อยง่าย ความจำเสื่อม อารมณ์เปลี่ยนแปลงทำให้ทำสมาธิได้ยาก มีอาการมึนงง เดินไม่ถนัด เจ็บจี๊ด ๆ ตามผิวหนัง และเสียความสมดุลของร่างกาย
  • เป็นเหตุให้ไขกระดูกไม่สามารถผลิตเม็ดเลือดแดงให้เจริญเต็มที่ได้ เม็ดเลือดแดงนี้จึงไม่ถูกแบ่งตัว จะมีขนาดใหญ่เรียกว่า เมกะโลบลาสต์ (Megaloblast) และจะถูกปล่อยเข้ามาสู่กระแสโลหิตจึงทำให้ความสามารถในการนำฮีโมโกลบินไปตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกายได้ลดลง ทำให้เกิดโรคโลหิตจางชนิด pernicious ซึ่งมีอาการคือ ผิวหนังมีสีเหลืองอ่อน ๆ คลื่นไส้ หายใจขัดข้อง ท้องอืด น้ำหนักลด ลิ้นอักเสบ มีความผิดปกติของระบบประสาทและเดินไม่ตรง เป็นต้น
  • หากปล่อยปละละเลย ไม่รักษา อาจนำไปสู่ประสาทและสมองเสียหาย จนบางครั้งอาจทำให้วินิจฉัยสับสนกับกลุ่มอาการต่าง ๆ เช่น อัลไซเมอร์, multiple sclerosis, bipolar disorder, autism, มะเร็งบางชนิด(4)

 

สาเหตุที่ทำให้ขาดวิตามิน B12(4-5)

เนื่องจากกระบวนการดูดซึม กระบวนการย่อย และกระบวนการแปรสภาพให้เป็น methylcobalamin นั้นซับซ้อนพอสมควร จึงมักเกิดความผิดพลาด ผิดเพี้ยนขึ้นได้มากมาย เช่น การรับประทานแต่อาหารมังสวิรัติ มีความผิดเพี้ยนของ MTHFR gene ภาวะโลหิตจางชนิด pernicious การแพ้ภูมิตนเอง เช่น Graves’ disease และ SLE ลำไส้อักเสบเรื้อรังจาก Crohn's disease, Celiac disease การดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป ภาวะสมดุลจุลินทรีย์ในลำไส้บกพร่อง และกรดในกระเพาะอาหารบกพร่องอันเนื่องจากรับประทานยาลดกรดต่อเนื่อง

ดังนั้น จากที่กล่าวมา วิตามิน B12 จึงมีความสำคัญต่อการทำงานของระบบประสาท สมอง และยังเป็นวิตามินที่จำเป็นในการสร้างเซลล์เม็ดเลือดแดงปกติ นอกจากนี้ร่างกายของเรายังใช้วิตามิน B12 ในการเผาผลาญการสังเคราะห์กรดไขมัน และการผลิตพลังงาน อีกทั้งการขาดวิตามิน B12 ยังเป็นสาเหตุของโรคโลหิตจาง และก่อให้เกิดอาการหดหู่ มือเท้าชา อ่อนเพลีย เซื่องซึม ปวดศีรษะ หูอื้อ เป็นแผลในปาก ตาพร่ามัว และมีการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ คนรับประทานมังสวิรัติและผู้สูงอายุมีความเสี่ยงต่อการขาดวิตามิน B12 โดยประมาณ 40% ของคนที่อายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป มีระดับของการขาดวิตามิน B12 เพราะร่างกายเริ่มเสื่อมสภาพต่อการดูดซึมวิตามินชนิดนี้ ซึ่งเป็นวิตามินที่เราไม่สามารถหาได้ง่ายจากพืชผักใบเขียว หรือแสงแดดจากดวงอาทิตย์(1) สำหรับการบริโภควิตามิน B12 เพื่อประการใดนั้น ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรเพื่อให้ได้ข้อมูลและวิธีการใช้ที่ถูกต้อง เนื่องจากรูปแบบรับประทานอาจไม่ได้ผลกับผู้ป่วยหรือผู้ใช้บางกลุ่ม

เอกสารอ้างอิง

  1. ฉีดวิตามิน B12 เทรนด์ใหม่ดาราฮอลลีวูด?. http://health.kapook.com/view78973.html
  2. ประวัติคุณสมบัติวิตามิน B12. http://www.hotel-de-verbier.com/vitamin-history.php
  3. Vitamin B12. https://sites.google.com/site/vitaminforhealth/home/water-soluble-vitamins/vitamin-b12
  4. รอบรู้...รู้รอบ...เกี่ยวกับวิตามินB12. https://th-th.facebook.com/benjaromhospital/posts/734687379890237
  5. วิระพล ภิมาลย์. เภสัชกรรมบำบัดในผู้ป่วยที่มีภาวะโลหิตจาง. http://www.kpi.msu.ac.th/upload/ag_tor_ref_byval/ag_16_in_1.2.4_876(2555).pdf