ภญ.ดร.ศิริรัตน์ ตันปิชาติ

ภญ.ดร.ศิริรัตน์ ตันปิชาติ นายกสมาคมเภสัชกรรมชุมชน (ประเทศไทย) หนึ่งพลังของหยดน้ำเล็ก ๆ ที่สร้างต้นไม้ให้เติบโตในชุมชน

            จากประสบการณ์ที่เคยทำงานในบริษัทยาข้ามชาติจนก้าวสู่ตำแหน่ง Product Manager กับการตัดสินใจลาออกเพื่อมาเปิดร้านยาของตนเอง ตลอดระยะเวลากว่า 16 ปีที่ ภญ.ดร.ศิริรัตน์ ตันปิชาติ หรือที่พี่น้องเพื่อนฝูงในแวดวงเภสัชกรคุ้นเคยในชื่อของ “พี่จู” เภสัชกรดีเด่นด้านเภสัชกรรมชุมชน ประจำปี พ.ศ. 2556 ได้นำความรู้และประสบการณ์ที่ได้ทั้งหมดมาพัฒนาระบบมาตรฐานในการบริการในร้านยา “กนก ฟาร์มา เชน” ทั้ง 4 สาขา ให้เป็นที่รู้จักและยอมรับทั้งจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน โดยเฉพาะคนในชุมชนที่สามารถพึ่งพาร้านยาได้เหมือนกับเป็นส่วนหนึ่งประจำครอบครัว (Family Pharmacist for Family Health) จากความสำเร็จที่ได้ทุ่มเทให้กับการทำงานมาโดยตลอด ณ วันนี้พี่จูพร้อมที่จะก้าวสู่อีกหนึ่งบทบาทในฐานะ “นายกสมาคมเภสัชกรรมชุมชน (ประเทศไทย)” ด้วยความตั้งใจมุ่งมั่นที่จะพัฒนาร้านยาทั้งหมดให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน เป็นที่ยอมรับในสังคมในหมู่ประชาชนและเป็นส่วนหนึ่งของระบบสาธารณสุข (Health Station)

            ภญ.ดร.ศิริรัตน์ ตันปิชาติ สำเร็จการศึกษาเภสัชศาสตรบัณฑิต จาก Centro Escolar University ประเทศฟิลิปปินส์ นอกจากนี้ในปี พ.ศ. 2542 สำเร็จการศึกษาหลักสูตรบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต (การเงินและการตลาด) มหาวิทยาลัยศรีปทุม และในระหว่างปฏิบัติงานในร้านยาได้ศึกษาต่อปริญญาเอก ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต (สาขาวิชาวิจัยเพื่อการพัฒนาสุขภาพ (นานาชาติ) วิทยาลัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในปี พ.ศ. 2555

            พี่จูเล่าถึงประสบการณ์ในการทำงานให้ฟังว่า จากประสบการณ์ที่เคยทำงานในบริษัทยาข้ามชาติซึ่งเป็นระบบใหญ่ที่มีมาตรฐาน ทำให้มองเห็นประโยชน์ในการนำความรู้และประสบการณ์ทั้งหมดมาพัฒนาระบบมาตรฐานในการให้บริการในร้านยา ซึ่งการสร้างจุดแข็งให้แก่ร้านยา พี่จะต้องมีเป้าหมายในการทำร้านยาของตัวเองก่อนว่าจะทำร้านยาในเชิงธุรกิจ หรือเชิงพัฒนาต่อยอดอย่างไร ทั้งนี้พี่วางนโยบายหลัก ๆ ของร้านยาคือ ต้องเป็นร้านที่ดูแลประชาชนในชุมชน เพราะถ้าเราสามารถทำให้ประชาชนในพื้นที่มีความรู้สึกว่า ร้านยาเป็นของเขา หรือเพียงคำพูดที่ว่า “คุณห้ามย้าย หรือคุณห้ามเปลี่ยนไปที่ไหน คุณเป็นคนของพื้นที่นี้” ก็เป็นกำลังใจ และเป็นจุดแข็งของร้านยาในชุมชน และเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้ร้านยามีความยั่งยืนและพัฒนาไปได้เรื่อย ๆ นอกจากนี้ทางร้านยังเป็นแหล่งฝึกนักศึกษาเภสัชกรตั้งแต่ปีแรกของการเปิดร้าน โดยพี่จะสอนนักศึกษาเภสัชกรอยู่เสมอว่า คำว่า “อาชีพ กับ วิชาชีพ” คุณคิดว่าเภสัชกรจะเป็นแบบไหน ความแตกต่างของ 2 คำนี้อยู่ที่ว่า ถ้าเป็นอาชีพ แนวคิดกับระบบการทำงานจะเป็นแบบธุรกิจ แต่ถ้าเป็นคำว่าวิชาชีพ แนวคิดจะต้องคำนึงถึงจรรยาบรรณ จริยธรรมในวิชาชีพของเภสัชกร ดังนั้น การให้บริการวิชาชีพจะไม่มีการนำราคาของยามาต่อรองหรือมาเป็นเครื่องตัดสินในการบริการ ซึ่งทำให้ไม่มีคำตอบที่ดีที่สุด เนื่องจากหน้าที่ของเภสัชกร คุณต้องบริการสิ่งที่ถูกต้องและเหมาะสมกับคนไข้ที่เข้ามารับบริการ เพราะสิ่งที่คนไข้ต้องการนอกเหนือจากยา คือข้อมูลการใช้ยาที่ถูกต้องและปลอดภัยจากเภสัชกร ทั้งนี้เราต้องสอนคนไข้ให้รู้จักดูแลตัวเอง ด้วยเหตุผลที่บอกกับเขาว่าไม่มีใครสามารถดูแลเราได้ตลอด ณ วันนี้ พี่มีข้อพิสูจน์มากมายที่ยืนยันความเชื่อมั่นในการให้บริการและถือเป็นจุดแข็งของทางร้านคือ ความเชื่อมั่น เชื่อใจ และศรัทธา  การที่มีคนพูดชมเชยถึงร้านเราหนึ่งคน สามารถเป็นพลังที่บอกต่อ ๆ ไปได้มากมายโดยที่เราไม่ต้องไปทำอะไรมากมาย และทำให้พี่เข้าใจในคำที่ว่า “ทำไมน้ำหยดเล็ก ๆ ถึงทำให้ต้นไม้เติบโต และทำให้เราดำเนินชีวิตต่อไปได้”

            “ร้านเราต้องมีภาพที่ชัดเจนว่าเราจะฉายภาพอะไรให้ประชาชนเห็น ซึ่งประชาชนจะเป็นเสียงสะท้อนกลับมาสู่เรา โดยตลอดระยะเวลา 16 ปีที่เปิดร้านยาในพื้นที่นี้ พี่พบว่าประชาชนเป็นคนมาบอกกับเราเองว่าเขาต้องการอะไร พี่ก็จะค้นหาจากสิ่งที่เขาต้องการ สิ่งนี้เป็นสิ่งหนึ่งที่ได้มาจากประสบการณ์ในการทำงานในภาคธุรกิจยาที่มีมาตรฐาน ทำให้เราเรียนรู้และรับรู้ได้เร็วกว่าคนอื่น รวมถึงการรับมือกับปัญหา ว่าเราควรจะมีวิธีการแก้ปัญหาอย่างไร ยกตัวอย่างเช่น ที่ร้านมีเภสัชกรหลายคน ดังนั้น พี่ต้องกำหนดมาตรฐานในการให้คำปรึกษาของเภสัชกรแต่ละคน ด้วยเหตุนี้พี่จึงจัดทำเอกสารประกอบการจ่ายยาที่ใช้อธิบายผู้ป่วยในแต่ละโรคเบื้องต้นให้เหมือนกัน การซักประวัติ รูปแบบการจัดยา การนำเสนอ การพูด การให้คำปรึกษาด้านสุขภาพและยาที่มีมาตรฐานแบบเดียวกันของเภสัชกรทุกคนที่ปฏิบัติงาน เพื่อให้คนที่มารับบริการที่ร้านได้ความรู้สึกที่ดีที่ได้รับบริการจากเภสัชกรของร้านยาเรา โดยไม่ต้องรับบริการแต่เฉพาะกับพี่เท่านั้น เนื่องจากทุกคนมีมาตรฐานเดียวกันหมด มีความมุ่งมั่นที่เป้าหมายเดียวกันนั่นเอง”

            พี่จูเล่าถึงประสบการณ์การเปิดร้านยาให้ฟังต่อว่า การประกอบวิชาชีพเภสัชกรในร้านยา ถ้าเป็นเจ้าของธุรกิจก็เหมือนกับเราตัวคนเดียว (stand alone) พี่จึงเห็นความสำคัญของการรวมกันเป็นเครือข่าย (Network) มาก ทั้งนี้จุดที่จะพลิกผันหรือจะพัฒนาอะไรต่าง ๆ เราต้องการพลังจากร้านยาที่มีทิศทางในทางเดียวกันในการร่วมพัฒนาวิชาชีพ นอกจากนี้พี่ยังมีโอกาสได้รับการสนับสนุนการทำโครงการพิเศษจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เขต 13 โดยการลงพื้นที่ออกไปเยี่ยมบ้านผู้ป่วยในชุมชนเขตกรุงเทพฯ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2552 ซึ่งทาง สปสช. เล็งเห็นความสำคัญของบทบาทเภสัชกรชุมชนของร้านยา จึงให้เราเสนอโครงการเภสัชกรชุมชนเยี่ยมบ้าน โดยเสนอในนามสมาคมเภสัชกรรมชุมชน (ประเทศไทย) เพื่อจะดึงร้านยาที่มีเภสัชกรชุมชนที่มีจิตอาสาทุก ๆ แห่งเข้ามาร่วมในการดูแลผู้ป่วยที่มีการใช้ยารักษาโรคเรื้อรังในชุมชนทั่วกรุงเทพฯ นอกจากนั้นพี่ยังมีความสนใจพัฒนาร้านยาให้มีรูปแบบงานบริการด้านชุมชนที่หลากหลาย เพื่อตอบสนองกับภาครัฐที่มีทิศทางในการดูแลประชาชนในระดับปฐมภูมิ รวมถึงพี่ยังร่วมมือกับทางโรงเรียน สถานีตำรวจในพื้นที่ ตลอดจนประสานกับหน่วยงานของราชการ เช่น สำนักงานอนามัย สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และสมาคมวิชาชีพต่าง ๆ เพื่อให้ร้านยาเป็นศูนย์กลางด้านข้อมูลในพื้นที่ที่เกี่ยวข้องกับการใช้ยาและสุขภาพที่ชัดเจน เป็นเสมือนกับที่ปรึกษาด้านสุขภาพชุมชน

            สำหรับบทบาทในฐานะนายกสมาคมเภสัชกรรมชุมชน (ประเทศไทย) พี่จูกล่าวว่า การรับตำแหน่งนี้จะมีวาระ 3 ปี จากประสบการณ์ที่เคยช่วยงานสมาคมเภสัชกรรมชุมชน (ประเทศไทย) มาตลอดระยะเวลากว่า 10 ปี พี่คิดว่าทิศทางที่เราดำเนินการมาถูกทางแล้ว เนื่องจากร้านยาแต่ละร้านมีความมุ่งมั่นพัฒนาเพื่อการประกอบอาชีพของแต่ละคน หากมีการทำงานร่วมกันที่พร้อมจัดทำมาตรฐานการบริการของวิชาชีพเภสัชกรรมชุมชนให้ชัดเจน จะเป็นจุดหนึ่งที่จะนำพาให้เราประสบความสำเร็จโดยประชาชน และสาขาวิชาชีพอื่นยอมรับ พี่มีความสนใจในการนำพาให้ร้านยาเข้าสู่มาตรฐานเดียวกันและทำให้ร้านยาเป็นที่ยอมรับของทุก ๆ ฝ่าย ยกตัวอย่างเช่น ภาพที่อยากเห็นคือ ร้านยาเป็นหน่วยบริการหนึ่งในระบบสาธารณสุขของหลักประกันสุขภาพ ด้านภาคการศึกษา พี่มองว่าร้านยาเป็นแหล่งของการเรียนรู้ เป็นแหล่งข้อมูลความรู้ทางวิชาการที่เราสามารถนำกรณีศึกษาของผู้ป่วย หรือปัญหาที่เกิดจากร้านยามาศึกษาเรียนรู้ซึ่งสามารถนำไปถึงงานวิจัยระดับชุมชน  การพัฒนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ปัญหาเชิงสังคมที่เกี่ยวข้องกับภาคประชาชน ปัญหาในการเข้าถึงข้อมูลโรคต่าง ๆ เนื่องจากเราพบว่าประชาชนที่มีปัญหาจะสามารถเข้าถึงเราได้และสื่อสารกับเราได้ง่ายกว่า ด้วยเหตุนี้พี่จึงพยายามผลักดันให้ร้านยาเข้าร่วมเป็นเครือข่ายกับหน่วยงาน NGO หรือเครือข่ายสุขภาพอื่น ๆ ของประเทศไทย โดยพี่จะนำพาสมาชิกของสมาคมเภสัชกรรมชุมชน (ประเทศไทย) ให้มีโอกาสที่จะช่วยเหลือประชาชนในทุก ๆ ด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อมูลทางด้านยา และเรื่องสุขภาพอื่น ๆ ซึ่งพี่คิดว่าถ้าเรานำพาสมาชิกของเราไปสู่จุดนั้นได้ เราจะได้รับการยอมรับจากสังคมและประชาชน ซึ่งจะเป็นความยั่งยืนของร้านยา เนื่องจากพี่มองว่าร้านยาในอนาคตจะต้องเป็นส่วนหนึ่งของระบบสาธารณสุข คือจะต้องมีการเชื่อมต่อกับระบบประกันสุขภาพให้ได้ เพราะร้านยาเป็นจุดที่เข้าถึงข้อมูลยาและข้อมูลโรค มุมมองอนาคตร้านยาเป็นศูนย์ข้อมูล (Health Information Center) และเป็นศูนย์เฝ้าระวังในระดับชุมชน และร้านยาจะเป็นจุดเข้าถึงสุขภาพ (Health Station) ที่จะเป็นคนแจ้งข้อมูลต่าง ๆ ด้านสุขภาพจากชุมชน เช่น ขณะนี้มีไข้เลือดออกระบาด รวมถึงเป็นผู้ส่งกลับข้อมูลนี้ไปให้แก่หน่วยงานที่รับผิดชอบได้อย่างรวดเร็ว โดยหน่วยงานภาครัฐที่รับผิดชอบสามารถส่งข้อมูลกลับมาที่ร้านยา ทั้งนี้พี่มองว่าร้านยาสามารถเป็นศูนย์กลางหน่วยหนึ่งที่สำคัญมากของระบบสาธารณสุข โดยสร้างพันธมิตรร้านยาเข้ามามีส่วนร่วมโดยนำเภสัชกรเข้าสู่คุณภาพมาตรฐานของร้านยานั้น ก็ยิ่งจะทำให้ประชาชนมีความปลอดภัย มาตรฐานสุขภาพดีขึ้น ดังนั้น ในการนำพาสมาคมเภสัชกรรมชุมชน (ประเทศไทย) จะเป็นการช่วยสมาชิกให้มีมุมมองในการทำงานเพิ่มขึ้น ทำมาตรฐานในการดูแลประชาชนให้สูงมากยิ่งขึ้นด้วย 

            “ตอนนี้พี่มองว่าในการขับเคลื่อนให้ร้านยามีมาตรฐานมากขึ้นหรือการจัดการที่ดีนั้น พี่ทำคนเดียวไม่ได้ พี่จะร่วมพูดคุยกับสภาวิชาชีพ ได้แก่ สภาเภสัชกรรม คุยกับภาครัฐ ซึ่งทุกกระบวนการของการเดิน พี่จะไม่ได้ทำงานเพียงลำพัง พี่ใช้วิธีสร้างเครือข่าย โดยพี่ก็เห็นความสำคัญของการสร้างความเข้มแข็งของเครือข่ายภาคประชาชน นอกจากนี้การพัฒนาศักยภาพความรู้เภสัชกรชุมชน ทั้งด้านวิชาการและด้านสังคมนั้นสำคัญ พี่จึงให้ความสนใจเรื่องการวางระบบ การฝึกอบรม เพื่อให้สมาชิกของเรามีองค์ความรู้มากขึ้น ซึ่งพี่จะทำระบบการจัดการเข้าถึง โดยจัดให้มีการรวมกลุ่มและแยกกลุ่มตามความสนใจและความเหมาะสมเพื่อตอบโจทย์ของสมาชิก อันนี้จะเป็นทิศทางหนึ่งว่าถ้าเขามีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ มีการพูดคุยกันจากกลุ่มที่พัฒนาแล้ว จะทำให้เกิดแรงบันดาลใจอยากทำและอยากช่วยทำให้ร้านยามีมาตรฐานมากขึ้น และจะเป็นตัวช่วยที่ทำให้ประสบความสำเร็จ”

            สุดท้ายนี้ พี่จูยังกล่าวถึงประโยชน์ที่ได้รับจากการรวมกลุ่มทำกิจกรรมของเภสัชกรว่า มีความสำคัญมาก เพราะการคิดคนเดียว เข้าใจคนเดียว อาจมีการพลาดโอกาสบางเรื่องไป จริง ๆ แล้วถ้ามีการรวมกลุ่มมาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน โดยมีผู้รู้เป็นคนให้คำแนะนำจะทำให้เขาลดโอกาสในความผิดพลาดเพิ่มขึ้น การมีเครือข่ายและมีสมาคมวิชาชีพคอยช่วยเหลือสนับสนุนจะทำให้เขามีโอกาสที่จะเลือกได้ว่าเขาอยากทำอะไร ตรงนี้จะทำให้ร้านยาเข้มแข็งและอยู่ได้ในอนาคต เพราะร้านยาหลายร้านอยากจะทำอะไรที่ดี ๆ เพื่อการให้บริการผู้ป่วย เพียงแต่ว่ายังขาดคนชี้นำ ขาดคนชี้ทาง บอกวิธีการ รวมถึงสนับสนุนสร้างความมั่นใจเพื่อนำเขาไปสู่ความสำเร็จ ตรงนี้พี่มองว่าเป็นหัวใจสำคัญ ซึ่งพี่จะให้การสนับสนุนสร้างความมั่นใจให้แก่สมาชิกทุกคนตลอด เนื่องจากร้านยาไม่ใช่การทำงานเกี่ยวกับธุรกิจอย่างเดียว แต่เป็นการพัฒนาเชิงวิชาชีพทำให้มีการเรียนรู้และการยอมรับ เพราะนั่นคือความยั่งยืนของร้านยา นอกจากนี้พี่ยังอยากได้มุมมองสะท้อนของประชาชนกลับมาที่ร้านยาด้วยเช่นกัน ซึ่งพี่เองก็ตั้งใจว่าในปีที่ 2 ของการดำรงตำแหน่งนายกสมาคมเภสัชกรรมชุมชน (ประเทศไทย) พี่จะจัดให้ความรู้แก่ประชาชน และให้ประชาชนสะท้อนกลับมาว่าร้านยาแบบใดที่ประชาชนต้องการ