สุขภาพดีในวัยทำงานด้วยการออกกำลังกาย

สุขภาพดีในวัยทำงานด้วยการออกกำลังกาย

ดร.นพ.เทพ เฉลิมชัย อายุรแพทย์

ใคร ๆ ก็อยากมีสุขภาพดีตลอด แต่เมื่อทั้งหญิงและชายวัยทำงานมีอายุเพิ่มมากขึ้น ร่างกายและจิตใจมักจะมีการเปลี่ยนแปลงไปจากปกติ ไม่ว่าจะเป็นด้านความแข็งแรงและความยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อที่ลดลง อวัยวะต่าง ๆ ก็เริ่มจะมีการเสื่อมสภาพลง อัตราการเผาผลาญพลังงานน้อยลง อาจทำให้อ้วนง่าย ฯลฯ เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วคนในวัยทำงานจึงควรหันมาดูแลสุขภาพตนเองด้วยการออกกำลังกายกันมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นด้วยการวิ่ง ปั่นจักรยาน โยคะ ว่ายน้ำ เต้นแอโรบิค และฟิตเนส เป็นต้น

การออกกำลังกายเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญของการมีสุขภาพที่ดี และเป็นเหมือนยาอายุวัฒนะที่ช่วยให้มีสุขภาพแข็งแรง กระฉับกระเฉง สดชื่น แจ่มใส มีสมาธิ เพิ่มพลังกาย พลังใจ พลังความคิด อีกทั้งช่วยลดความเสี่ยงการเกิดโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้ต้องคำนึงถึงความสม่ำเสมอของการออกกำลังกาย และต้องพยายามหลีกเลี่ยงท่าที่เสี่ยงต่อการบาดเจ็บของร่างกาย ชนิดของการออกกำลังกายแบ่งออกเป็น 2 แบบ คือ

  1. การออกกำลังกายแบบไม่ใช้ออกซิเจน (Anaerobic Exercise) มีประโยชน์เพื่อช่วยเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อเฉพาะส่วนที่ฝึก อาทิ การยกน้ำหนัก การฝึกของนักวิ่งระยะสั้น ซึ่งเหมาะกับผู้ที่ต้องการฝึกร่างกายเพื่อจุดประสงค์เฉพาะ เช่น นักกีฬา ผู้ที่ต้องการเล่นกล้าม หรือผู้ป่วยที่ต้องการฟื้นฟูความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ
  2. การออกกำลังกายที่ต้องใช้ออกซิเจน (Aerobic Exercise) เป็นการออกกำลังกายที่ฝึกความทนทานของปอดและหัวใจ เช่น การวิ่ง ว่ายน้ำ ปั่นจักรยาน ตีเทนนิส หรือเต้นแอโรบิค ทั้งหมดต้องทำอย่างต่อเนื่องนานอย่างน้อย 30 นาที โดยจะช่วยเพิ่มสมรรถภาพความทนทานของระบบหายใจ หัวใจและหลอดเลือด ช่วยลดน้ำหนัก ช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกันในร่างกาย ลดความเครียด เหมาะกับบุคคลทั่วไปและผู้ที่ต้องการลดความเครียด

การออกกำลังกายที่ดีและเหมาะกับวัยทำงานนั้น ได้แก่ การออกกำลังกายแบบแอโรบิค เป็นการออกกำลังกายอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 20-30 นาที เพื่อให้หัวใจบีบตัวเร็วกว่าปกติ 60-70% เช่น การเดินเร็ว ว่ายน้ำ ขี่จักรยาน หรือเต้นลีลาศ เป็นต้น เพื่อช่วยให้ระบบทางเดินหายใจและระบบไหลเวียนโลหิตทำงานได้ดีขึ้น ทำให้กล้ามเนื้อแข็งแรงขึ้นและทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยลดระดับน้ำตาลและไขมันในเลือด นอกจากนี้ยังช่วยทำให้อารมณ์ดี คลายเครียด มีสมาธิดีขึ้น ลดไขมันบริเวณหน้าท้อง เสริมความหนาแน่นของมวลกระดูก ลดไขมันคอเลสเตอรอล และสามารถเพิ่มความแข็งแรงของร่างกายโดยรวมได้ดีอีกด้วย

               ขั้นตอนของการออกกำลังกายเพื่อให้มีสุขภาพดี หลีกเลี่ยงการบาดเจ็บ แบ่งออกเป็น 3 ช่วงหลักดังนี้

  1. ช่วงอบอุ่นร่างกาย จะใช้เวลาประมาณ 5-10 นาที ด้วยการบริหารกายและการยืดเหยียดกล้ามเนื้อ
  2. ช่วงออกกำลังกาย จะใช้เวลาประมาณ 10-40 นาที เป็นการออกกำลังกายเพื่อสร้างความอดทนของระบบไหลเวียนโลหิต หัวใจ หรือความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ
  3. ช่วงผ่อนคลายร่างกาย จะใช้เวลาประมาณ 5-10 นาที โดยการบริหารกายและยืดเหยียดกล้ามเนื้อ

สำหรับการเลือกประเภทหรือชนิดของการออกกำลังกายที่เหมาะสมนั้นขึ้นอยู่กับความสะดวก ความชอบ ความง่ายต่อการเข้าถึง รวมถึงข้อจำกัดด้านสุขภาพของแต่ละคน เช่น ผู้ที่มีปัญหาโรคข้อเข่าเสื่อมไม่แนะนำให้ออกกำลังกายแบบที่มีการกระแทกน้ำหนักอย่างรุนแรง แต่เน้นในเรื่องความยืดหยุ่นและการทรงตัว เช่น โยคะ การรำมวยจีน ชี่กง หรือไทเก็ก เป็นต้น เพื่อลดความเสี่ยงที่อาจจะเกิดจากการกระแทก และลดโอกาสการบาดเจ็บกับข้อเข่าหรือกล้ามเนื้อส่วนต่าง ๆ สำหรับผู้ที่มีโรคประจำตัวบางโรค เช่น โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง ควรมีการเตรียมตัวและเลือกวิธีการออกกำลังกายอย่างเหมาะสม โดยเริ่มในปริมาณน้อย ๆ ก่อน จากนั้นค่อย ๆ เพิ่มระยะเวลาให้มากขึ้นตามสมรรถภาพของร่างกาย

หลังการออกกำลังกายควรดื่มน้ำและรับประทานอาหารที่เป็นประโยชน์อย่างเพียงพอ เพราะอาหารเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยฟื้นฟูการทำงานของร่างกาย ไม่ควรออกกำลังกายเพื่อการลดน้ำหนัก นอกจากการรับประทานอาหารให้หลากหลายครบ 5 หมู่แล้ว อาจเลือกรับประทานอาหารเสริมเพื่อสุขภาพร่วมด้วย เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการออกกำลังกายและช่วยฟื้นฟูร่างกายได้ดียิ่งขึ้น โดยเฉพาะอาหารฟังก์ชัน เช่น ซุปไก่สกัดที่มีรายงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ระบุว่า ช่วยให้ร่างกายเร่งกำจัดของเสียจำพวกแอมโมเนียและแลคเตทที่เกิดขึ้นระหว่างการออกกำลังกาย และเป็นสาเหตุของอาการกล้ามเนื้อล้าและตะคริวได้เร็วขึ้น โดยทำให้กล้ามเนื้อหายล้าได้เร็วภายในระยะเวลาเพียง 1 ชั่วโมง อีกทั้งซุปไก่สกัดยังช่วยกระตุ้นประสิทธิภาพการเผาผลาญอาหารให้เป็นพลังงานตั้งแต่ 15 นาทีแรกหลังดื่ม จึงช่วยทำให้รู้สึกกระปรี้กระเปร่าและลดความเหนื่อยล้าของร่างกายลง นอกจากนี้ซุปไก่สกัดยังมีส่วนช่วยส่งเสริมการทำงานของสมอง ช่วยให้ประสิทธิภาพการทำงานของสมองเพิ่มขึ้น เพิ่มการไหลเวียนของออกซิเจนในสมอง ทำให้มีสมาธิ ช่วยในการจดจำ และเพิ่มความสามารถในการเรียนรู้อีกด้วย

อย่างไรก็ตาม การออกกำลังกายเพื่อสร้างเสริมสุขภาพจะต้องทำอย่างสม่ำเสมออย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 ครั้ง ครั้งละประมาณ 30 นาที ที่สำคัญควรอบอุ่นร่างกายทุกครั้งก่อนออกกำลังกาย โดยการยืดเหยียดกล้ามเนื้อเพื่อป้องกันการฉีกขาดของกล้ามเนื้อ และเมื่อออกกำลังกายเสร็จควรผ่อนคลายกล้ามเนื้อด้วยการเดิน หรือสะบัดแขน-ขาเบา ๆ เพราะถ้าออกกำลังกายแล้วหยุดทันทีอาจทำให้เลือดไปคั่งอยู่ที่ปลายเท้าและอวัยวะภายในทำให้เลือดกลับสู่หัวใจน้อยลง เกิดอาการเป็นลมหรือวูบได้ง่าย ส่วนผู้ที่มีโรคประจำตัวหรือมีอาการผิดปกติขณะออกกำลังกาย เช่น หน้ามืด แน่นหน้าอก วิงเวียน หอบเหนื่อย ใจสั่น ควรปรึกษาแพทย์ก่อนออกกำลังกาย

ขอเพียงมีความมุ่งมั่นตั้งใจจริงและสนุกกับการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ไม่ว่าจะอายุเท่าใด คุณก็จะมีสุขภาพดี สมองฟิตและร่างกายเฟิร์ม พร้อมที่จะลุยงานได้เต็มที่อย่างมีความสุขและสุขภาพดีอยู่เสมออีกด้วย

เอกสารอ้างอิง

  • Azhar M.Z. and Syed M. (2003). “Effect of Taking Chicken Essence on Stress and Cognition of Human Volunteers”. Mal J Nut; 9(1):19-29.
  • Chan L., et al. (2016). Effectiveness of Essence of Chicken in Improving Cognitive Function in Young People Under Work-Related Stress: A Randomized Double-Blind Trial; Medicine (Baltimore). 95(19):e3640.
  • Gaitanos G.C., Williams C., Boobis L.H., & Brooks S. (1993). Human muscle metabolism during intermittent maximal exercise. J Appl Physiol; 75:712-719.
  • Geissler C., Garrow C., and Boroumand-Naini M. (1989). Large acute thermic response to chicken essence in humans. Nutr Rep Int; 39:547-556.
  • Hsin-I Lo, et al. (2005). Effects of postexercise supplementation of chicken essence on the elimination of exercise-induced plasma lactate and ammonia. Chin J Physiol; 48(4):187-192.
  • Sahlin K. (1986). Muscle fatigue and lactic acid accumulation. Acta Physiol Scand Suppl. 556:83-91.
  • Surenkok O., Kin-Isler A., Aytar A., and Gultekin Z. (2008). Effect of Trunk-Muscle Fatigue and Lactic Acid Accumulation on Balance in Healthy Subjects. Journal of Sport Rehabilitation. 17:1-8.
  • Wilkinson D.J., Smeeton N.J., and Watt P.W. (2010). Ammonia metabolism, the brain and fatigue; revisiting the link. Prog.Neurobiol.doi:10.1016/j.pneurobio.2010.01.012.
  • คุณัตว์ พิธพรชัย (2553). เทคนิคการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ. เอกสารประกอบการบรรยายโครงการ การเสริมสร้างพลังสุขภาพ. 23 มีนาคม พ.ศ. 2553 ณ ห้องราชาวดี ชั้น 4 โรงแรมทีเค พาเลซ กรุงเทพฯ.
  • ช่อทิพย์ บรมธนรัตน์. รักษ์สุขภาพ รักการออกกำลังกาย. สืบค้นคืนวันที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2559 จากเว็บไซต์ http://www.stou.ac.th/Schools/Shs/booklet/book56_3/health.html