จุลินทรีย์ในร่างกายอาจเป็นสาเหตุในอีกหลาย ๆ โรค ชนิดที่เราไม่ได้คิดถึงมาก่อน

จุลินทรีย์ในร่างกายอาจเป็นสาเหตุในอีกหลาย ๆ โรค ชนิดที่เราไม่ได้คิดถึงมาก่อน   

            จุลินทรีย์ในร่างกายของเราอาจเป็นสาเหตุในหลาย ๆ โรค ชนิดที่เราไม่ได้คิดถึงมาก่อนก็ได้นะครับ

            เรื่องนี้เริ่มต้นจากนักวิจัยค้นพบว่า แม้ในคนปกติที่สุขภาพดีก็มีแบคทีเรียอยู่ในกระแสโลหิต! และอาจเป็นต้นเหตุของโรคสมองขาดเลือด (stroke) โรคหัวใจขาดเลือด หรือแม้แต่โรคอัลไซเมอร์ เบาหวาน และข้ออักเสบ (arthritis)

            เรื่องการมีแบคทีเรียในเลือดเป็นสิ่งที่เราไม่เคยคิดกันมาก่อน และเราก็เชื่อกันหนักแน่นมานมนานว่า คนสุขภาพดีต้องไม่มีเชื้อจุลินทรีย์อย่างแบคทีเรียล่องลอยอยู่ในระบบไหลเวียนโลหิตเช่นนี้

            ตอนนี้นักวิจัยเริ่มคิดใหม่แล้วครับว่า แบคทีเรียเหล่านี้เป็นต้นเหตุแห่งกระบวนการอักเสบในร่างกายหลาย ๆ โรค

            พอบอกว่าเป็นกระบวนการอักเสบ ฟัง ๆ ดูก็ไม่น่ากลัว ก็แค่อักเสบ แล้วไงหรือ

            หลายท่านอาจไม่ทราบว่า โรคสำคัญ ๆ ทั้งหลายของมนุษย์เราเกี่ยวข้องอย่างมากกับกระบวนการอักเสบนะครับ

            ลองยกตัวอย่างให้เห็นภาพนะครับ โรคที่มีกระบวนการอักเสบเกี่ยวข้อง เช่น โรคอัลไซเมอร์ โรคหัวใจ โรคพาร์กินสัน โรคเบาหวาน ฯลฯ

            ดักกลาส เคล (Douglas Kell) แห่งมหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์ ประเทศอังกฤษ และรีเซีย พรีทอเรียส (Resia Pretorius) แห่งมหาวิทยาลัยพรีทอเรีย แอฟริกาใต้ ได้ร่วมกันวิจัยพบว่า ในทุก ๆ หนึ่งมิลลิลิตรของเลือดจะมีแบคทีเรียราว ๆ 1,000 ตัว!

            ที่ในอดีตเราไม่พบแบคทีเรียในเลือดคนเราก็เพราะเราใช้วิธีเพาะเชื้อ แต่ทั้ง 2 ท่านใช้วิธีตรวจดีเอ็นเอ (DNA sequencing) ซึ่งละเอียดแม่นยำกว่ามากครับ

            แบคทีเรียเหล่านี้ปกติมันก็อยู่สงบ ๆ ไม่ก่อให้เกิดปัญหาอะไร แต่มันพร้อมจะก่อเรื่องถ้ามีธาตุเหล็กในเลือดระดับหนึ่ง สิ่งที่มันทำคือ เริ่มหลั่งสารน้ำตาล lipopolysaccharides (LPS) ซึ่งสารนี้แหละที่ระบบภูมิคุ้มกันของมนุษย์เราตรวจจับได้ และเริ่มกระบวนการอักเสบ

            นักวิจัยทั้ง 2 ท่านสงสัยว่า LPS อาจเป็นสาเหตุแห่งการแข็งตัวของเลือด (clotting) ที่ผิดปกติ เขาจึงนำแบคทีเรียพวกนี้มาผสมกับไฟบริโนเจน ซึ่งเป็นโปรตีนขนาดเล็กที่อยู่ในเลือดและมีหน้าที่ทำให้เลือดแข็งตัวเป็นลิ่มเลือด ปรากฏว่า LPS เปลี่ยนแปลงไฟบริโนเจนให้แปรสภาพกลายเป็นลิ่มเลือดที่หน้าตาคล้ายลิ่มเลือดที่เราพบในคนเป็นโรคหัวใจขาดเลือด (heart attack), ภาวะสมองขาดเลือด (stroke) รวมทั้งโรคเส้นเลือดดำอุดตัน (deep vein thrombosis)

            ทั้ง 2 ท่าน กล่าวว่า ในการวิจัยกระบวนการอักเสบที่เกิดขึ้นนั้น เขาพบแผ่นหนา ๆ ของไฟบริน (matted denser fibrin structure) ซึ่งปกติมันอยู่ในรูปร่างเป็นเส้น ๆ แบบสปาเกตตี (spaghetti structure)

            และเพียงแค่ 1 โมเลกุลของ LPS ก็สามารถผสมกับไฟบริโนเจนนับล้านแปรสภาพกลายเป็นลิ่มเลือดที่ผิดปกติได้

            นั่นหมายความว่า LPS เป็นตัวปฏิกิริยา!

            LPS ดัดแปลงรูปร่างไฟบริโนเจนและเพิ่มจำนวนจาก 1 เป็น 2 และเป็นล้าน ๆ แบบที่เราพบใน prion proteins ที่เจอในโรคสมองเสื่อมอัลไซเมอร์

            เมื่อ LPS สามารถกระตุ้นระบบภูมิต้านทานให้เกิดการอักเสบได้ มันเพิ่มไฟบริโนเจนได้ มันก็เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดลิ่มเลือดได้ และความที่มันทำให้รูปร่างไฟบริโนเจนเปลี่ยนแปลงผิดปกติไป มันจึงทนต่อการถูกทำลายด้วยเอนไซม์ ท้ายที่สุดก็ก่อให้เกิดโรคทั้งหลายที่กล่าวไป

            โรคต่าง ๆ ที่เกิดเพราะกระบวนการอักเสบที่เกินเลยไป ไม่ว่าโรคอัลไซเมอร์หรือโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์นั้น เกี่ยวข้องกับการมีระดับของธาตุเหล็กที่มากกว่าปกติ ซึ่งโดยปกติแล้วร่างกายคนเราพยายามปรับระดับของธาตุเหล็กไม่ให้มากเกินไป เพื่อไม่ให้แบคทีเรียในเลือดเจริญเติบโต ให้มันอยู่สงบ ๆ ไม่ก่อปัญหา

            นักวิจัยทั้ง 2 ท่าน เชื่อว่าแบคทีเรียในเลือดเป็นสาเหตุของอีกหลาย ๆ โรคที่เราไม่ได้คิดถึงมาก่อน และนักวิจัยท่านอื่น ๆ ก็ร่วมเส้นทางทำการวิจัยเพิ่มเติม อย่างเมื่อต้นปีนี้ก็มีการทดลองพบว่า การฉีดแบคทีเรียแบบนี้เข้าไปในสมองหนูทดลองทำให้สมองหนูสร้างโปรตีนอะมีลอยด์ (ที่ทำให้เกิดสมองเสื่อมชนิดอัลไซเมอร์) ได้เพียงชั่วเวลาแค่ข้ามคืน

            ครับ เรื่องนี้ยังเป็นแค่ระยะเบื้องต้น ยังคงต้องมีการวิจัยเพิ่มเติมอีกมาก และหากเป็นดังสมมุติฐานนี้ ในอนาคตเราอาจจะมีการรักษาใหม่ ๆ สำหรับโรคที่ยังรักษาให้หายไม่ได้เหล่านี้ครับ