ดร.ภญ.ฐนิตา ทวีธรรมเจริญ

ดร.ภญ.ฐนิตา ทวีธรรมเจริญ

ทุกอย่างในชีวิตเราสามารถเรียนรู้ได้ ทำให้ดีที่สุดแล้วเราจะภูมิใจในสิ่งที่ทำ

แรงบันดาลใจสำคัญที่ทำให้ ดร.ภญ.ฐนิตา ทวีธรรมเจริญ เปลี่ยนบทบาทการทำงานจากเภสัชกรโรงพยาบาลมาทำงานในฐานะผู้พัฒนาและผลักดันงานด้านนโยบายสุขภาพของโรงพยาบาล เพราะต้องการเห็นการใช้ทรัพยากรสุขภาพอย่างคุ้มค่า หลังจากที่จบการศึกษาด้าน Social and Pharmacy Administration ก็ได้นำความรู้ที่ได้จากการเรียนและประสบการณ์ที่ได้จากการทำงานมากว่า 10 ปี รวมกับความกล้าที่จะเปลี่ยนแปลงความเคยชินในการทำงานที่ทำอยู่เป็น 10 ปี เพื่อมาเรียนรู้ไปกับการทำงานในบทบาทใหม่ที่เชื่อว่าเป็นหนทางที่ทำให้ได้ทำประโยชน์กับส่วนรวมได้มากขึ้น และสามารถใช้ความรู้ที่มีอยู่ได้มากกว่าบทบาทเดิม ดร.ภญ.ฐนิตา บอกว่าชีวิตคือการเรียนรู้ และเราสามารถเรียนรู้ได้จากการทำงานจริง 

ดร.ภญ.ฐนิตา สำเร็จการศึกษาเภสัชศาสตรบัณฑิต จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อปี พ.ศ. 2544 จากนั้นศึกษาต่อระดับปริญญาโท คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร และปริญญาเอก คณะเภสัชศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในสาขาเภสัชศาสตร์สังคมและบริหาร (นานาชาติ) (Social and Pharmacy Administration) ปัจจุบันเป็นหนึ่งในกำลังสำคัญของหน่วยวิจัยเพื่อขับเคลื่อนนโยบายสุขภาพ (Siriraj Health Policy Unit: SiHP) ซึ่งเป็นหน่วยงานใหม่ที่ก่อตั้งขึ้นในคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล เพื่อแลกเปลี่ยนต่อยอดองค์ความรู้และงานวิจัยทางเวชปฏิบัติให้เกิดการผลักดันและก่อประโยชน์สู่ประชาชนในวงกว้าง รวมทั้งพัฒนาระบบสุขภาพให้เป็นธรรม มีประสิทธิภาพ และยั่งยืน โดยหลักการใช้ทรัพยากรสุขภาพอย่างคุ้มค่ามาพัฒนาและวิจัยงานเกี่ยวกับเทคโนโลยีทางการแพทย์ เพื่อนำไปสู่การตัดสินใจเชิงนโยบายบนฐานความรู้หรือข้อมูลทางวิชาการ รวมถึงเพื่อให้โรงพยาบาลศิริราชซึ่งถือเป็นจักรกลสมองที่สำคัญหนึ่งของประเทศมีส่วนร่วมในกระบวนการพัฒนาระบบและนโยบายสุขภาพอย่างยั่งยืน  

            สำหรับสาเหตุที่ตัดสินใจมาทำงานที่หน่วยวิจัยเพื่อขับเคลื่อนนโยบายสุขภาพนั้น ดร.ภญ.ฐนิตา เล่าว่า สืบเนื่องจากคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลเป็นสถาบันการแพทย์ที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย มีส่วนร่วมในการดูแลผู้ป่วยทั้งระดับปฐมภูมิจนถึงตติยภูมิ การเป็นโรงเรียนผลิตแพทย์ที่ได้รับความเชื่อถือ มีผลงานวิจัยนวัตกรรมทั้งเชิงลึกและกว้างอย่างต่อเนื่อง และเป็นที่ยอมรับทั้งในแวดวงสาธารณสุข การแพทย์ และประชาชนทั่วไป จนได้ชื่อว่าเป็นโรงพยาบาลของแผ่นดิน การดำเนินการต่าง ๆ ของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล รวมถึงผลการวิจัยและการนำเทคโนโลยีมาใช้จึงกลายเป็นส่วนหนึ่งของการเป็นต้นแบบการบริการสุขภาพในด้านการวินิจฉัย และดูแลรักษาผู้ป่วย

            อย่างไรก็ตาม ความก้าวหน้าทันสมัยของเทคโนโลยีใหม่ที่ใช้ในการดูแลรักษาผู้ป่วยมักมีค่าใช้จ่ายสูง ซึ่งอาจไม่คุ้มค่าในการใช้กับประชากรทั้งหมดหรือทั้งระบบสุขภาพ ดังนั้น การทำงานในด้านการวิจัยเพื่อหาคำตอบว่าอะไรคุ้มค่าจะมีส่วนสำคัญที่ช่วยประกอบการตัดสินใจในการดูแลรักษาผู้ป่วย ช่วยชี้นำการนำไปใช้อย่างมีประสิทธิผลและมีความคุ้มค่า การวิจัยและขับเคลื่อนนโยบายสุขภาพนั้นมีขอบเขตกว้าง เป็นเรื่องใหม่ของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ที่ต้องมีการประสานงาน ส่งเสริมให้ความรู้ แนะนำ เป็นต้นแบบในการดำเนินการ เป็นการเพิ่มบทบาทของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ในเชิงกว้างด้านสาธารณสุขซึ่งในต่างประเทศนั้น  มหาวิทยาลัยหรือโรงเรียนแพทย์จะเป็นกำลังสำคัญของการทำงานด้านนี้ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลจึงจำเป็นต้องมีบุคลากรและหน่วยงานที่จะมาสนับสนุนให้มีการดำเนินการได้อย่างยั่งยืน จึงได้ตอบรับคำชวนของท่านคณบดีในยุคนั้นคือ ศ.คลินิก นพ.อุดม คชินทร เพื่อทำงานด้านนี้

เภสัชกรหญิงผู้ซึ่งตัดสินใจเปลี่ยนเส้นทางชีวิตการทำงานจากผู้ทำงานอยู่เบื้องหลังการพัฒนาสูตรตำรับและผลิตยาของโรงพยาบาลศิริราช มาสู่การบุกเบิกพัฒนางานประจำสู่งานวิจัยทั้งด้านการบริหารทรัพยากรทางสุขภาพอย่างคุ้มค่า การนำ Lean มาให้ฝ่ายเภสัชกรรมได้รู้จักและประยุกต์ใช้ มาสู่เส้นทางอีกเส้นหนึ่งในด้านการวิจัยและขับเคลื่อนนโยบายสุขภาพซึ่งเป็นการทำงานในบทบาทที่กว้างขึ้น ทำให้มีแง่มุมในการทำงานที่หลากหลายจากประสบการณ์ในอดีตซึ่งเป็นผลดีให้การทำงานในปัจจุบันสามารถเชื่อมต่อการทำงานจริงกับนโยบายสุขภาพที่เกิดขึ้นให้สามารถดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมได้ ดร.ภญ.ฐนิตา เล่าถึงความรู้สึกในตอนนั้นให้ฟังว่า สมัยที่ย้ายจากฝ่ายเภสัชกรรมมาทำงานที่นี่ ต้องยอมรับว่าเป็นสิ่งที่แปลกใหม่มากสำหรับเรา และต้องกล้าที่จะเปลี่ยนแปลงเพราะเราไม่รู้ว่าอนาคตเส้นทางนี้จะเป็นอย่างไร อีกทั้งหลาย ๆ คนมองว่างานนี้ไม่ใช่งานของเภสัชกร แต่ในความเป็นจริงงานด้านนโยบายสุขภาพก็คืองานที่บุคลากรสาธารณสุขทุกวิชาชีพควรเข้ามามีส่วนร่วมกันคิด ร่วมกันทำ นอกจากนี้ช่วงที่ศึกษาต่อปริญญาโท มีโอกาสได้เรียนกับ ผศ.ดร.ภญ.รุ่งเพ็ชร สกุลบำรุงศิลป์ คณบดีคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในปัจจุบัน แล้วเกิดความประทับใจในแนวคิดของอาจารย์ และอาจารย์ได้ให้คำแนะนำว่า ถ้าสนใจความรู้ในด้านนี้น่าจะมาเรียนต่อในระดับปริญญาเอก อีกทั้งในช่วงที่เป็นกองบรรณาธิการวารสารศิริราชประชาสัมพันธ์ ทางอาจารย์ผู้ใหญ่ที่คณะได้ให้การสนับสนุน และสอบถามถึงเหตุผลในการศึกษาต่อระดับปริญญาเอกว่าเมื่อเรียนแล้วจะนำมาใช้ประโยชน์กับโรงพยาบาลศิริราชอย่างไร ซึ่งในตอนนั้นเรื่องการใช้ยาอย่างสมเหตุสมผลยังถือเป็นประเด็นใหม่ที่ยังไม่ค่อยมีการพูดถึงและทำกัน รวมถึงที่โรงพยาบาลศิริราชก็ยังไม่เคยมีการประเมินการใช้ยาอย่างสมเหตุสมผลแบบจริงจัง การที่เราไปศึกษาต่อระดับปริญญาเอกจะช่วยให้เราสามารถนำความรู้ที่เรียนมาช่วยวิเคราะห์ หรือช่วยในการประเมินเพื่อนำไปสู่การใช้ยาที่เหมาะสมมากขึ้น ผลสุดท้ายที่ได้รับก็จะช่วยลดค่าใช้จ่ายให้แก่ทางโรงพยาบาล ท่านผู้อำนวยการขณะนั้นคือ ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลคนปัจจุบัน ท่านจึงสนับสนุนและอนุญาตให้เรียนต่อ

            ดร.ภญ.ฐนิตา กล่าวต่อว่า ในช่วงเรียนปริญญาเอกแบบเรียนไปทำงานไป หัวหน้าฝ่ายได้มอบหมายงานใหม่คือ ด้าน DUE (Drug Use Evaluation) ซึ่งเป็นการประเมินการใช้ยาแบบเต็มรูปแบบครั้งแรกของโรงพยาบาลศิริราช โดยมี ศ.นพ.วิษณุ ธรรมลิขิตกุล หัวหน้าสาขาโรคติดเชื้อในขณะนั้นเป็นหัวหน้าทีมคณะทำงาน การเข้ามาทำ DUE แม้จะเป็นงานที่เราไม่เคยทำ ไม่เคยมีองค์ความรู้ในการทำเลย แต่ก็พยายามเรียนรู้และพยายามทำแม้ว่าในตอนแรกคิดว่าเรียนจบแล้วค่อยมาทำ แต่ในเมื่อถูกมอบหมายให้ทำแม้ในเวลาเรียนที่หนักแล้ว ยังต้องทำงานควบคู่ไป และยังต้องมาทำงานใหม่ที่ยากและหนักอีก แต่ก็พยายามและยิ่งทำให้เรามีแรงผลักดันว่าเราต้องทำได้ ช่วงนั้นก็ทำให้เรามีโอกาสที่จะได้เห็นข้อมูล สถิติ ปริมาณการใช้ยา ค่าใช้จ่ายของยาที่เกิดขึ้นในโรงพยาบาลจริง ๆ ทำให้ทราบว่ามียาอะไรที่มีมูลค่าการใช้สูง อีกทั้งยังมีโอกาสได้ทำการวิจัยเรื่องการประเมินความคุ้มค่าของการใช้ยาฉีดในผู้ป่วยโรคไต ถือเป็นการทำเรื่องการประเมินความคุ้มค่าที่เกี่ยวกับยาเป็นครั้งแรก และภายหลังจากจบการศึกษาปริญญาเอก หัวหน้าฝ่ายได้ให้เปลี่ยนงานจากสายการผลิต ให้มาดูแลงานด้านนี้โดยตรง ตั้งเป็นหน่วยงานใหม่คือ งานพัฒนาและบริหารข้อมูลของฝ่ายเภสัชกรรม ดูแลรับผิดชอบในหน่วยบริหารทรัพยากรสุขภาพ จากนั้น 3 ปี ก็ได้มาทำงานที่หน่วยวิจัยเพื่อขับเคลื่อนนโยบายสุขภาพ (SiHP) ซึ่งเป็นหน่วยงานใหม่จนถึงปัจจุบัน           ดร.ภญ.ฐนิตา เล่าถึงประสบการณ์ที่ได้รับจากการทำงานตรงนี้ว่า ทำให้เราเห็นสิ่งที่กว้างขึ้นนอกเหนือจากการดูแลในเรื่องเกี่ยวกับยา ทำให้เรารู้ว่าบทบาทของเภสัชกรไม่ได้มีอยู่เพียงแค่สิ่งที่เราเคยรับรู้มา เราได้เห็นบทบาทของเภสัชกรในมุมอื่น ยกตัวอย่างเช่น ในเรื่องของสิทธิประโยชน์ เภสัชกรคือผู้อยู่เบื้องหลังในเรื่องของนโยบายสุขภาพ เช่น การวิจัยเพื่อให้ได้หลักฐานประกอบการคัดเลือกเทคโนโลยีเข้ามาในชุดสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ โดยพวกเขาเหล่านี้มีส่วนร่วมในการช่วยผลักดันสิทธิประโยชน์ในหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า แต่ไม่มีใครเคยรู้ สิ่งนี้ก็ถือเป็นบทบาทหนึ่งของเภสัชกร เป็นสิ่งที่เราก็อยากจะให้เภสัชกรด้วยกันมีความเข้าใจและเปิดกว้างมากขึ้น เพราะจริง ๆ แล้วงานพวกนี้ก็เป็นงานของเภสัชกรและบุคลากรการแพทย์ควรร่วมมือกันทำ เป็นองค์ความรู้ที่เราเรียนมา โดยเฉพาะในเรื่องของการประเมินความคุ้มค่าที่สามารถนำมาใช้ประเมินสิ่งต่าง ๆ ที่เรียกว่าเทคโนโลยีทางการแพทย์ได้ทั้งหมด เนื่องจากเทคโนโลยีทางการแพทย์ประกอบไปด้วยยา เครื่องมือแพทย์ รวมถึงอะไรอื่น ๆ ทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับทางการแพทย์ ไมใช่เฉพาะประเมินได้แต่เฉพาะเรื่องยาเท่านั้น หรือแม้กระทั่งในเรื่องของยา เมื่อเราทำการประเมินก็ต้องมีแพทย์เข้ามามีส่วนร่วมด้วย เภสัชกรจึงมีบทบาทหน้าที่ในการดูแลสุขภาพของประชาชนด้วยเช่นกัน เพราะไม่เช่นนั้นแล้วในวงการสาธารณสุขทำไมจะต้องมีแพทย์ พยาบาล เภสัชกร ทันตแพทย์ เทคนิคการแพทย์ กายภาพบำบัด เนื่องจากทุกอย่างไม่สามารถเบ็ดเสร็จได้ด้วยวิชาชีพใดวิชาชีพหนึ่งเท่านั้น ดังนั้น ในการทำงานจึงต้องทำงานร่วมกันเป็นสหสาขาวิชาชีพ ทุกคนที่บอกว่าอยู่ในวงการสาธารณสุข เราก็ควรจะมีบทบาทในสิ่งที่เป็นวงการสาธารณสุขร่วมกัน เมื่อกล่าวถึงเป้าหมายการทำงานด้านการประเมินความคุ้มค่าก็อยากจะทำให้ในโรงพยาบาลมีการประเมินความคุ้มค่าของเทคโนโลยีที่มีมูลค่าสูงก่อนที่จะมีการตัดสินใจซื้ออะไร เนื่องจากจะช่วยลดค่าใช้จ่ายของโรงพยาบาลได้มาก ซึ่งในปัจจุบันเราไม่สามารถทำการประเมินได้ทั้งหมด เนื่องจากไม่มีกำลังคนในการทำ จึงทำได้เฉพาะบางโครงการ และในส่วนของงานภายนอก เราอยากผลักดันงานบางอย่าง เช่น งานวิจัยบางเรื่องที่โรงพยาบาลศิริราชทำแล้วสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ทั่วประเทศ หรือบางครั้งมีโจทย์วิจัยที่มาจากภายนอกที่เราอยากร่วมทำกับหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อให้ผลที่ออกมาเป็นภาพรวมของประเทศจริง ๆ 

         ดร.ภญ.ฐนิตา ยังกล่าวถึงมุมมองในการแก้ปัญหาเมื่อยามท้อแท้ว่า ให้เราบอกตัวเองว่า ทุกอย่างในชีวิตเราสามารถเรียนรู้ได้ ทำให้ดีที่สุดแล้วเราจะภูมิใจในสิ่งที่ทำ ยอมรับว่ากว่าจะมาถึงจุดนี้ต้องผ่านปัญหาและกระแสต่อต้านมาก บางครั้งก็รู้สึกท้อ แต่เราพยายามมองว่าถ้าเราทำดี ความดีจะต้องปรากฏในวันใดวันหนึ่ง พยายามให้กำลังใจกับตัวเอง อย่างน้อยใครไม่เห็นก็ตามแต่เราเห็น และก็รู้ว่าทำอะไร อยู่ ณ ตรงจุดไหน ที่สามารถทำประโยชน์ให้แก่ส่วนรวมได้ และได้ใช้วิชาความรู้ที่เรียนมามากที่สุด เพราะเราไม่สามารถไปเปลี่ยนความคิดของทุกคน หรืออธิบายให้ทุกคนเห็นว่าเราทำอะไรอยู่ เรารู้ตัวเองดีที่สุด แค่เราตอบตัวเองได้ว่าสิ่งที่เราทำเป็นการทำประโยชน์ให้แก่โรงพยาบาลและประเทศชาติได้  

สุดท้ายนี้ ดร.ภญ.ฐนิตา กล่าวถึงความสุขที่ได้จากการทำงานว่า ความสุขที่ได้ส่วนหนึ่งเป็นผลที่ได้จากการทำวิจัย หรือให้คำปรึกษา และสุดท้ายเมื่องานสำเร็จได้มีการนำกลับมาใช้จริง ๆ มีคนเห็นประโยชน์ ไม่ใช่เป็นงานวิจัยที่อยู่บนหิ้ง แต่เป็นงานวิจัยที่นำกลับมาใช้ เป็นความภูมิใจว่าสิ่งที่เราทำเป็นประโยชน์จริง แม้ว่าจะไม่มีคนรู้ แต่เราก็รู้อยู่แก่ใจว่าเรามีส่วนทำให้เกิดขึ้นมา และลดค่าใช้จ่ายได้มากมาย ซึ่งเป็นประโยชน์ทั้งกับโรงพยาบาลและประเทศ ถือเป็นสิ่งที่ให้ประโยชน์ต่อส่วนรวม เธอได้ให้แนวคิดในการทำงานว่า หากเราทำงานในสิ่งที่ตนสามารถนำความรู้ที่มี ไม่ว่าจะจากการเรียนหรือจากการทำงานมาประยุกต์ใช้ แล้วทำออกมาให้ดีที่สุด ไม่ว่าผ่านไปอีกกี่ปี เราก็ยังได้รับรู้หรือได้เห็นสิ่งที่เราทำอยู่ แม้ไม่มีคนรู้ว่าเบื้องหลังสิ่งนั้นมาจากผลงานของเรา แต่เราก็จะรู้สึกภูมิใจในทุกครั้งที่นึกถึง