แนวทางใหม่ล่าสุดเพื่อการเลิกบุหรี่ที่ได้ผล

แนวทางใหม่ล่าสุดเพื่อการเลิกบุหรี่ที่ได้ผล

         ปัญหาการติดบุหรี่เป็นปัญหาสำคัญที่เกิดขึ้นทั่วโลก แม้แต่ในประเทศสหรัฐอเมริกาซึ่งประมาณการไว้ว่ามีประชากรในวัยผู้ใหญ่ที่สูบบุหรี่อยู่มากถึง 42.1 ล้านคน (คิดเป็นร้อยละ 18 ของประชากรทั้งหมด) ซึ่งการสูบบุหรี่เป็นสาเหตุที่สำคัญของโรคต่าง ๆ หลายโรคที่สามารถป้องกันได้ เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรของประชากรมากถึง 480,000 รายต่อปี และเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตในผู้ป่วย 1 รายในทุก ๆ 5 ราย

ด้วยเหตุนี้องค์กร U.S. Preventive Services Task Force (USPSTF) ประเทศสหรัฐอเมริกา จึงทำการเผยแพร่แนวทางปฏิบัติใหม่ตีพิมพ์ในวารสาร Annals of Internal Medicine เพื่อช่วยผู้ที่สูบบุหรี่ให้สามารถหยุดและเลิกบุหรี่ให้ได้ผลมากขึ้น โดยเป็นแนวทางที่ได้รับการปรับปรุงใหม่จากแนวทางเดิมที่เคยเผยแพร่ไปแล้วในปี ค.ศ. 2009 ซึ่งในช่วงเวลาที่ผ่านมาได้มีผลการศึกษาวิจัยและหลักฐานใหม่ ๆ ที่สามารถสรุปออกมาเป็นแนวทางในการปฏิบัติได้ดังต่อไปนี้คือ

  1. แพทย์หรือผู้ดูแลผู้สูบบุหรี่ ควรสอบถามผู้มารับบริการเกี่ยวกับพฤติกรรมการสูบบุหรี่ทุกราย และหากพบว่ามีการสูบบุหรี่ควรให้คำแนะนำและเสนอแนวทางในการเลิกบุหรี่ โดยอ้างอิงจากข้อมูลหลักฐานทางการศึิกษาวิจัยที่พบว่าเป็นวิธีการที่ได้ผลเพื่อช่วยให้สามารถเลิกบุหรี่ได้
  2. การเลิกบุหรี่โดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม (behavioral therapy) และการใช้ยาช่วยเลิกบุหรี่ที่ได้รับการรับรองแล้วโดย FDA ของสหรัฐอเมริกา หรือการรักษาด้วยการให้นิโคตินทดแทน (nicotine replacement therapy) ได้ผลดีในการเลิกบุหรี่ใกล้เคียงกัน แต่การใช้ทั้ง 2 วิธีเสริมกันเป็นวิธีการที่ได้ประสิทธิภาพสูงที่สุด ซึ่งควรนำไปใช้เพื่อแนะนำและชักชวนผู้ป่วยให้เลิกบุหรี่ในผู้สูบบุหรี่ทุกราย
  3. สำหรับหญิงตั้งครรภ์ที่สูบบุหรี่ ควรเลือกการเลิกบุหรี่ด้วยวิธีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมก่อนเป็นขั้นแรก เนื่องจากในปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลการวิจัยที่เพียงพอเกี่ยวกับการใช้ยาช่วยเลิกบุหรี่ หรือ nicotine replacement therapy ในผู้สูบบุหรี่กลุ่มนี้ ซึ่งจำเป็นต้องรอคอยข้อมูลการศึกษาเพิ่มเติมต่อไปก่อน
  4. สำหรับผู้ที่สูบบุหรี่ที่ได้รับคำแนะนำเกี่ยวกับการเลิกบุหรี่แล้ว ควรมีการส่งต่อเพื่อให้มีการติดตามความสำเร็จในการเลิกบุหรี่อย่างใกล้ชิดและเป็นระบบ ซึ่งในปัจจุบันมีองค์กรและหน่วยงานหลายหน่วยงานที่รับดูแลผู้ที่มีความประสงค์ที่จะเลิกบุหรี่ และบางแห่งมีการสนับสนุนยาช่วยอดบุหรี่ในระยะแรกให้โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายด้วย ซึ่งเป็นทางเลือกหนึ่งที่อาจช่วยทำให้ผู้ที่สูบบุหรี่สามารถเลิกบุหรี่ได้ง่ายขึ้น
  5. สำหรับการใช้บุหรี่ไฟฟ้า (eletronic nicotine delivery system หรือ e-cigarette) ในการช่วยเลิกบุหรี่ ข้อมูลที่ผ่านมาบ่งชี้ว่าอาจจะสามารถนำมาใช้ได้ แต่ปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลการศึกษาที่มีหลักฐานชัดเจนเพียงพอว่าสามารถช่วยทำให้การเลิกบุหรี่มีโอกาสสำเร็จมากขึ้นจริง

            Elyse R Park จากสถาบัน Tobacco Research and Treatment Center ของ Massachusetts General Hospital กล่าวว่า แม้ในปัจจุบันข้อมูลเกี่ยวกับการใช้ e-cigarette นั้นจะยังไม่ชัดเจน แต่เนื่องจากมีการนำเอามาใช้มากขึ้นเรื่อย ๆ ผู้สูบบุหรี่จึงมักจะได้รับทราบข้อมูลเกี่ยวกับการใช้ e-cigarette จากแหล่งต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้น ดังนั้น จึงเป็นสิ่งหนึ่งที่แพทย์ผู้ดูแลควรทำความรู้จักและรับทราบข้อมูลเกี่ยวกับทางเลือกนี้เอาไว้ด้วย และสำหรับในรายที่มีความตั้งใจในการเลิกบุหรี่จริง การใช้ e-cigarette ก็อาจเป็นทางเลือกหนึ่งที่เสนอให้แก่ผู้สูบบุหรี่ได้ ทั้งนี้ต้องมีการให้คำปรึกษาและติดตามการใช้ e-cigarette อย่างใกล้ชิด เนื่องจากถือว่าเป็นการใช้ nicotine เช่นเดียวกันกับการรักษาแบบ nicotine replacement therapy อื่น ๆ