ควบคุมความเครียด

ควบคุมความเครียด          

            ฉบับแรกของปีขอเริ่มต้นด้วยเรื่องที่จะทำให้ชีวิตมีความสุขขึ้น ลดความเครียดลงครับ

            คำว่า เครียด เป็นคำที่เราได้ยินได้ฟังรวมทั้งรู้สึกเองออกบ่อย ๆ มันเป็นเหมือนอะไรมา ๆ ไป ๆ ในชีวิตเราตลอดปี

            เครียดงานรุม เครียดที่ผิดหวังไม่ได้ดังใจ เครียดเสียเงินเสียทอง เครียดชักหน้าไม่ถึงหลัง เครียดเจ็บป่วย ฯลฯ

            ที่จริงเราก็รู้ดีว่า ความเครียดทำให้เราหงุดหงิดง่าย เครียดทำให้เราอ่อนล้า ไม่ผ่อนคลาย แต่อะไรเล่าที่จะทำให้เราลดความเครียดลงได้

            นักวิชาการแนะนำไว้อย่างนี้ครับ

            มันต้องเริ่มต้นขั้นแรกด้วยการรู้ก่อนว่าเราเริ่มเครียด โดยดูว่ามีอาการต่อไปนี้บ้างหรือไม่

  • มีปัญหาการนอนหรือเหนื่อยล้ามาก
  • ไม่มีความอยากอาหารหรือรับประทานมากเกินไป
  • รู้สึกเศร้า อารมณ์แปรปรวน ร้องไห้ง่าย
  • ดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป
  • หงุดหงิดง่าย
  • ปวดศีรษะ ปวดนั่นปวดนี่

สถาบันสุขภาพแห่งชาติของอังกฤษรายงานว่า มีแนวทางลดความเครียดหลายต่อหลายอย่าง อาทิ เรียนรู้วิธีผ่อนคลาย ออกกำลังกายเป็นประจำ ทำการจัดสรรเวลาให้เหมาะสม

ส่วนราชวิทยาลัยจิตแพทย์ของสหราชอาณาจักรแนะนำให้พูดคุยกับเพื่อนหรือครอบครัว พูดเล่าระบายความรู้สึกของเรา ย่อยปัญหาที่เกิดกับเราให้เป็นปัญหาเล็ก ๆ เพราะมันจะแก้ง่ายขึ้น และที่ลืมไม่ได้คือ การดูแลสุขภาพกายด้วย หรือง่าย ๆ แค่รับประทานอาหารให้เป็นเวลาเพื่อป้องกันภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำเกินไป แค่นี้ก็ลดปัจจัยกระทบต่อสุขภาพกายและสุขภาพใจได้แล้ว

หรือไม่ก็ลองสำรวจการดื่มแอลกอฮอล์ หรือการสูบบุหรี่ของเรา เพราะสิ่งเหล่านี้เรามักควบคุมไม่ได้เมื่ออยู่ในภาวะเครียด ผู้เชี่ยวชาญเน้นจริง ๆ เรื่องการออกกำลังกายครับ เพราะนอกจากทำให้ร่างกายแข็งแรง สดชื่นแจ่มใสแล้ว ยังเป็นการระบายอารมณ์คั่งค้างออกไปแบบไม่รู้ตัวด้วย

อีกอย่างหนึ่งที่จะช่วยคือ การจดบันทึกอารมณ์เครียดหรือกดดัน และสังเกตว่าอะไรเป็นตัวกระตุ้นให้มันเกิด

ในกรณีที่คนคนนั้นมีอาการเครียดเรื้อรังแต่ยังไม่มีแนวทางที่จะจัดการกับมัน แบบนี้คงต้องพึ่งแพทย์หรือนักบำบัดแล้ว

ที่อังกฤษ คุณแอนดรู คินเดอร์ (Andrew Kinder) ผู้เชี่ยวชาญการให้คำปรึกษาแห่งสมาคมการให้คำปรึกษาและจิตบำบัดบอกว่า การพบนักบำบัดจะช่วยให้โฟกัสจุดปัญหาได้ง่ายขึ้นและย่นระยะเวลาในการแก้ปัญหา หรือการทำ cognitive behavioral therapy (CBT) ก็เป็นการบำบัดที่ช่วยได้มาก

พยายามนำจิตใจออกจากอะไรที่ทำจนกลายเป็นอัตโนมัติ อย่างแปรงฟัน แต่งหน้าในตอนเช้า ลองเอาสมาธิหรือจิตใจมาจดจ่อกับสิ่งที่กำลังทำอยู่ ณ วินาทีนั้น ๆ จดจ่ออยู่กับการแปรงขึ้นหรือแปรงลง จดจ่ออยู่กับการปัดแป้ง ปัดหนาปัดบาง แบบนี้จะนำใจเรากลับมาไม่ให้ล่องลอยฟุ้งซ่านไปนู่นไปนี่ ซึ่งส่วนมากแล้วก็มักจะไปข้องแวะหรือตกหลุมอยู่กับเรื่องความกังวลและความเครียด

และท้ายที่สุด การใช้เทคนิควิธีแก้ปัญหา (problem-solving techniques) กับการฝึกมีทัศนคติมองอะไรในแง่บวก (positive mental attitude) ก็ช่วยได้อย่างมาก