กรมวิทย์ฯ จัดทำตำรามาตรฐานยาสมุนไพร เพิ่มความเชื่อมั่นคุณภาพสมุนไพรไทย

กรมวิทย์ฯ จัดทำตำรามาตรฐานยาสมุนไพร เพิ่มความเชื่อมั่นคุณภาพสมุนไพรไทย     

กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข จัดทำตำรามาตรฐานยาสมุนไพร ฉบับปี พ.ศ. 2559 เพื่อสนองพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เพื่อใช้เป็นตำรายาอ้างอิงทางกฎหมายสำหรับผู้ประกอบการในการขึ้นทะเบียนตำรับยา และการควบคุมคุณภาพยาสมุนไพรให้ได้มาตรฐานสากลทั้งการผลิตยาเพื่อใช้ในประเทศ และเพิ่มมูลค่าการส่งออก

Thai Herbal Pharmacopoeia 2016 เป็นตำรามาตรฐานยาสมุนไพรไทย มีจำนวน 659 หน้า จัดพิมพ์ในปี พ.ศ. 2559 ซึ่งประกอบด้วยข้อกำหนดมาตรฐานของยาสมุนไพรจำนวน 62 โมโนกราฟ (monograph) และภาคผนวกที่เกี่ยวข้องพร้อมภาพต้นไม้ ภาพตัดขวาง TLC โครมาโตแกรม โดยตำรายานี้เป็นฉบับรวมเล่มโดยรวมโมโนกราฟที่มีใน THP volume I, II, III, IV และ Supplements จำนวน 49 โมโนกราฟ และเพิ่มเติมโมโนกราฟใหม่จำนวน 13 โมโนกราฟ ได้แก่ โกฐเชียง โกฐสอ ขิง เนื้อในฝักคูน หม่อน เถาวัลย์เปรียง สารสกัดแห้งเถาวัลย์เปรียง พริกขี้หนู ยาเจลพริก หอม กระเจี๊ยบแดง มะระขี้นก และ Capsicum oleoresin รวม 62 โมโนกราฟ ทั้งนี้ THP 2016 ได้จัดทำขึ้นเนื่องในโอกาสพิเศษเพื่อถวายความอาลัยแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระผู้เสด็จสู่สวรรคาลัย และน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้

ผู้สนใจในกรณีที่เป็นหน่วยงานรัฐให้ทำหนังสือถึงผู้อำนวยการสำนักยาและวัตถุเสพติด กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดยให้แจ้งวัตถุประสงค์ในการนำไปใช้

ถ้ามีข้อสงสัยโปรดติดต่อกลุ่มจัดทำตำรายาของประเทศไทย โทรศัพท์ 0-2951-0000 ต่อ 99120 หรือติดต่อที่ QR code นี้

            นพ.สุขุม กาญจนพิมาย อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า ปัจจุบันมีการนำระบบการแพทย์ทางเลือกมาผสมผสานเพื่อเป็นทางเลือกในการบำบัดโรคสำหรับคนไทย ทำให้แนวโน้มการใช้ยาสมุนไพรตามภูมิปัญญาไทยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว คิดเป็นมูลค่าราวปีละ 14,000 ล้านบาท แต่บุคลากรทางการแพทย์และประชาชนส่วนใหญ่ยังขาดความมั่นใจในคุณภาพและความปลอดภัยของยาสมุนไพรที่มีจำหน่ายในท้องตลาด หรือผลิตในโรงพยาบาล เนื่องจากยาสมุนไพรส่วนใหญ่นำวัตถุดิบจากธรรมชาติมาผลิตจึงมีโอกาสที่จะมีสิ่งปนเปื้อน โดยเฉพาะโลหะหนัก เช่น สารหนู ตะกั่วและแคดเมียม สารเคมีกำจัดศัตรูพืช รวมถึงความชื้นที่ทำให้เกิดเชื้อรา และสารอะฟลาทอกซิน ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งได้ นอกจากนี้ตำรายาต่างประเทศส่วนใหญ่ยังไม่มีการกำหนดมาตรฐานสมุนไพรที่มีการปลูกเฉพาะในประเทศไทย 

            กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้ริเริ่มพัฒนาและจัดทำตำรามาตรฐานยาสมุนไพร (Thai Herbal Pharmacopoeia/THP) ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2532 โดยตำรายาดังกล่าวประกอบด้วยข้อกำหนดมาตรฐานทั้งทางด้านเภสัชพฤกษศาสตร์ เภสัชเวท และทางด้านเคมี-ฟิสิกส์ อีกทั้งข้อมูลด้านความปลอดภัย ขนาดการใช้ยาเบื้องต้น และการเก็บรักษาของยาสมุนไพรที่พบในประเทศ

         นพ.สุขุม กล่าวเพิ่มเติมว่า เพื่อเป็นการแสดงความรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ และแสดงความอาลัยแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จึงทำการจัดพิมพ์ Thai Herbal Pharmacopoeia 2016 ซึ่งเป็นฉบับรวมเล่ม โดยได้รวมตำรามาตรฐานยาสมุนไพรไทย (Thai Herbal Pharmacopoeia/THP) ที่ได้จัดพิมพ์ตั้งแต่ฉบับที่ 1-4 และฉบับเพิ่มเติม 2 เล่ม รวม 49 ตำรายา (monograph) ตลอดจนมาตรฐานยาสมุนไพรที่จัดทำขึ้นใหม่เพิ่มอีก 13 ตำรายา รวมทั้งสิ้น 62 ตำรายา ทั้งหมดเป็นยาสมุนไพรที่ใช้มากในประเทศไทย เช่น ขมิ้นชันและยาแคปซูลขมิ้นชัน ฟ้าทะลายโจรและยาแคปซูลฟ้าทะลายโจร เถาวัลย์เปรียงและสารสกัดเถาวัลย์เปรียงแห้ง ชาชงชุมเห็ดเทศ เป็นต้น

 

“ตำรายานี้จะเป็นตำรายาอ้างอิงทางกฎหมายสำหรับผู้ประกอบการในการขึ้นทะเบียนตำรับยา การควบคุมคุณภาพยาสมุนไพรให้ได้มาตรฐานสากลทั้งการผลิตยาเพื่อใช้ในประเทศและเพิ่มมูลค่าการส่งออก อีกทั้งจะเป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องในการควบคุมคุณภาพยาสมุนไพรในประเทศให้ได้มาตรฐานสากล ป้องกันการปลอมปนยาสมุนไพรที่พบมากในปัจจุบันซึ่งจะทำให้เกิดความเชื่อมั่นแก่บุคลากรทางการแพทย์และประชาชนผู้บริโภคให้ได้รับความปลอดภัยจากการใช้ยาดังกล่าว รวมทั้งเป็นการลดการนำเข้ายาแผนปัจจุบันจากต่างประเทศ และเพิ่มการพึ่งพาตนเอง ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลปัจจุบัน อีกทั้งเป็นการดำเนินตามรอยเบื้องพระยุคลบาทในเรื่องหลักเศรษฐกิจพอเพียง” นพ.สุขุม กล่าวทิ้งท้าย