4 ความเข้าใจผิด ๆ เกี่ยวกับไข้หวัดใหญ่ (Influenza)

4 ความเข้าใจผิด ๆ เกี่ยวกับไข้หวัดใหญ่ (Influenza)

อ.นพ.สันติ สิลัยรัตน์ คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช

            แม้โรคไข้หวัดใหญ่จะเป็นโรคที่เกิดขึ้นให้เห็นอยู่บ่อยครั้งและมาเป็นประจำทุกปี แต่ก็ยังคงมีความเข้าใจผิด ๆ เกี่ยวกับโรคนี้กันอยู่เสมอ ๆ และ 4 ความเข้าใจผิด ๆ ที่ควรรู้และทำความเข้าใจเกี่ยวกับไข้หวัดใหญ่ ได้แก่

         ความเข้าใจผิดข้อที่ 1: ไข้หวัดใหญ่ไม่ใช่โรคอันตราย แม้ว่าไข้หวัดใหญ่จะได้ขึ้นชื่อว่าเป็นโรค “หวัด” และโรคหวัดส่วนใหญ่มักจะมีอาการที่ไม่รุนแรงและสามารถหายได้เอง แต่ไข้หวัดใหญ่สามารถทำให้เกิดอาการได้หลากหลายตั้งแต่อาการเล็กน้อยจนถึงทำให้เสียชีวิตได้ ข้อมูลทางระบาดวิทยาบ่งชี้ว่าไข้หวัดใหญ่เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตของผู้ป่วยมากถึงกว่า 2 หมื่นรายต่อปี และทำให้ผู้ป่วยต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลอีกกว่า 2 แสนรายต่อปีเลยทีเดียว และนอกจากจะเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตโดยตรงแล้ว ยังมีความเกี่ยวข้องกับภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ที่เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตได้อีกด้วย เช่น การเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน หรือโรคหลอดเลือดสมอง เป็นต้น ปัจจัยที่มีผลต่อความรุนแรงของไข้หวัดใหญ่มีอยู่หลายปัจจัย ได้แก่ สายพันธุ์ของเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ที่กำลังมีการระบาดอยู่ในช่วงนั้น ปัจจัยอื่น ๆ ของผู้ป่วย เช่น โรคร่วมที่มี ประวัติการสัมผัสหรือเจ็บป่วยจากไข้หวัดใหญ่ก่อนหน้านี้ หรือภาวะสุขภาพโดยรวม เป็นต้น

         ความเข้าใจผิดข้อที่ 2: ไข้หวัดใหญ่ติดต่อจากคนที่กำลังมีอาการป่วย โรคไข้หวัดใหญ่เป็นโรคติดต่อที่มีการแพร่กระจายผ่านทางละอองฝอย (droplets) ในอากาศเมื่อผู้ป่วยมีอาการไอ จาม หรือแม้แต่การพูด ในบางครั้งสามารถติดต่อได้ผ่านการสัมผัสโดยตรงกับช่องปากหรือเยื่อบุทางเดินหายใจของผู้ป่วย เชื้อที่ผ่านเข้าไปยังทางเดินหายใจแล้วจะถูกสูดเข้าไปยังปอดและทำให้เกิดโรคขึ้นได้ การที่เชื้อมักจะมีการกระจายโดยผ่านการไอหรือจามจากผู้ป่วยที่มีอาการ ทำให้คนส่วนใหญ่เข้าใจว่าผู้ที่ป่วยแต่ไม่มีอาการจะไม่สามารถแพร่เชื้อได้ ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว แม้ในผู้ป่วยที่ไม่มีอาการก็สามารถเป็นสาเหตุของการแพร่กระจายเชื้อได้เช่นกัน โดยสามารถตรวจพบเชื้อในทางเดินหายใจของผู้ป่วยได้นานเป็นเวลาหลายวันก่อนที่จะเริ่มปรากฏอาการ โดยเชื้อจะมีการกระจายมากที่สุดประมาณ 2 วันก่อนเริ่มมีอาการ ดังนั้น จึงหมายความว่าคนส่วนใหญ่ที่ป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่ได้เริ่มทำให้เกิดการกระจายของเชื้อไปแล้วตั้งแต่ก่อนเริ่มปรากฏอาการ

         ความเข้าใจผิดข้อที่ 3: หากไม่เคยป่วยเป็นไข้หวัด แสดงว่ามีภูมิคุ้มกันและไม่ต้องฉีดวัคซีน ความเข้าใจผิดดังกล่าวนี้มีอยู่ 2 ประเด็นคือ ประเด็นที่ 1 การไม่เคยป่วยเป็นไข้หวัดไม่ได้หมายความว่ามีภูมิคุ้มกันแล้ว และยังคงสามารถติดเชื้อไปจนถึงทำให้เกิดอาการที่รุนแรงได้เหมือนคนทั่วไป ดังที่เราได้เห็นแล้วจากในช่วงปี ค.ศ. 2009 ที่ผ่านมาที่มีการระบาดของไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ H1N1 และทำให้เกิดการเจ็บป่วยและเสียชีวิตในผู้คนจำนวนมากแม้ในกลุ่มที่ไม่เคยเป็นไข้หวัดมาก่อน ส่วนประเด็นที่ 2 คือ การไม่มีอาการไม่ได้หมายความว่าไม่เกิดการติดเชื้อ การติดเชื้อในร่างกายแม้ไม่มีอาการก็สามารถส่งต่อหรือแพร่กระจายเชื้อไปหาผู้อื่นได้ ดังนั้น เมื่อเอ่ยถึงวัคซีน แม้ไม่เคยป่วยเป็นไข้หวัดก็ยังคงต้องได้รับวัคซีนเสมอ เพื่อป้องกันการติดเชื้อและความเจ็บป่วยในตัวเราเอง และการแพร่กระจายเชื้อไปสู่บุคคลอื่น

         ความเข้าใจผิดข้อที่ 4: ไม่มีวิธีไหนป้องกันไวรัสไข้หวัดใหญ่ได้ ในความเป็นจริงแล้วมีข้อมูลหลักฐานที่ชัดเจนที่แสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพของมาตรการต่าง ๆ ที่สามารถนำมาใช้ในการป้องกันการติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ได้ เช่น การล้างมือ วิธีการไอที่เหมาะสม การดูแลทางเดินหายใจที่ถูกต้อง และการหลีกเลี่ยงการสัมผัสหรือพบปะผู้คนในขณะที่เจ็บป่วย รวมไปถึงการให้วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ซึ่งล้วนแล้วแต่สามารถที่จะช่วยลดการแพร่กระจายได้ การให้วัคซีนจะสามารถช่วยลดการติดเชื้อลงได้มากถึง 40-60% ในขณะที่การรับประทานยาเพื่อป้องกันการติดเชื้อ (chemoprophylaxis) ด้วย oseltamivir หรือ inhaled zanamivir ก็สามารถลดการติดเชื้อลงได้เช่นกัน

            การมีความรู้ความเข้าใจว่า โรคไข้หวัดใหญ่นั้นอาจสร้างปัญหาได้มากกว่าที่คาดคิด และสามารถแพร่กระจายเชื้อไปได้มากแม้จะไม่มีอาการหรือไม่เคยเจ็บป่วยด้วยไข้หวัดมาก่อน จะช่วยทำให้มีการส่งเสริมการให้วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ให้มากขึ้น และช่วยทำให้การระบาดประจำฤดูกาลหรือการเจ็บป่วยในระหว่างปีลดน้อยลงได้มาก