5 โรคในเด็กที่ผู้ปกครองควรใส่ใจลูกหลาน ก่อนจะเกินแก้ไข

5 โรคในเด็กที่ผู้ปกครองควรใส่ใจลูกหลาน...ก่อนจะเกินแก้ไข

            ร่างกายของมนุษย์ทั้งภายนอกและภายในจะมีการเจริญเติบโตขึ้นตามวัย คุณพ่อคุณแม่ทุกคนก็อยากให้ลูกที่เกิดมานั้นมีสุขภาพที่แข็งแรง แต่กระนั้นก็ยังมีโรคภัยที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้แม้จะดูแลดีเพียงใดก็ตาม รวมทั้งบางภาวะที่เกิดความผิดปกติในการสร้างอวัยวะของตัวอ่อนตั้งแต่คุณแม่ตั้งครรภ์ วันนี้เราจะมาบอกเล่าความผิดปกติ 5 โรคที่มักจะพบในเด็กแรกเกิดไปจนถึงเด็กก่อนวัยเรียนให้คุณผู้ปกครองทุกท่านได้ทราบกัน เพื่อสังเกตและเฝ้าระวังบุตรหลานให้เติบโตอย่างมีสุขภาพที่แข็งแรง

พญ.ลั่นทม ตันวิเชียร กุมารศัลยศาสตร์ ศูนย์กุมารเวชกรุงเทพ โรงพยาบาลกรุงเทพ กล่าวว่า โรคที่สามารถตรวจพบได้ตั้งแต่ในเด็กแรกเกิดมีหลายโรคที่หายเองได้ด้วยการดูแลเอาใจใส่ของคุณพ่อคุณแม่ และบางโรคที่จำเป็นต้องพึ่งการรักษาทั้งการใช้ยาไปจนถึงการผ่าตัดศัลยกรรม แต่มี 5 โรคที่น่าเป็นห่วง ต้องให้คุณพ่อคุณแม่หมั่นสังเกตอาการ เมื่อพบว่าบุตรหลานของท่านมีอาการที่น่าสงสัยควรพามาพบแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยและรักษาที่เหมาะสมและเกิดผลดีต่อลูกน้อย

         1. โรคไส้เลื่อน (Hernia) เป็นภาวะที่ลำไส้หรืออวัยวะใดก็ตามที่อยู่ในช่องท้องเกิดการเคลื่อนตัวออกจากตำแหน่งที่อยู่เดิมผ่านรูหรือดันตัวผ่านบริเวณกล้ามเนื้อหรือพังผืดที่เกิดความอ่อนแอ สูญเสียความแข็งแรง ไปอยู่ยังอีกตำแหน่งหนึ่ง และมักทำให้เห็นเป็นก้อนตุงตรงบริเวณใดบริเวณหนึ่งของผนังหน้าท้อง โดยอวัยวะที่เกิดไส้เลื่อนได้บ่อยคือ ลำไส้เล็ก ไส้เลื่อนเป็นภาวะที่พบได้บ่อยในคนทุกวัย ทุกเชื้อชาติ และมีอยู่ด้วยกันหลายชนิด ส่วนใหญ่มักมีความผิดปกติมาแต่กำเนิด มีส่วนน้อยอาจเกิดขึ้นภายหลังการผ่าตัดช่องท้อง สาเหตุของไส้เลื่อนโดยส่วนใหญ่มักเกิดจากผนังหน้าท้องบางจุดมีความอ่อนแอหรือหย่อนยานผิดปกติ ทำให้ลำไส้ที่อยู่ข้างใต้ไหลเคลื่อนเข้าไปอยู่ในบริเวณนั้น ๆ ทำให้เห็นเป็นก้อนตุง แต่สามารถทำการรักษาได้โดยการผ่าตัดซึ่งไม่น่ากลัวอย่างที่คิด และการผ่าตัดนี้ไม่ได้ผ่าเข้าไปภายในช่องท้อง เพียงแต่ผ่าตัดซ่อมแซมผนังหน้าท้องที่เป็นปัญหาเท่านั้น ใช้เวลาผ่าตัด 30-45 นาที และทางโรงพยาบาลก็จะให้กลับบ้านได้เลยในวันเดียวกัน เมื่อเด็กฟื้นจากการดมยาสลบและตื่นได้ดี ไม่มีภาวะแทรกซ้อน ยกเว้นเด็กที่มีอายุน้อยมาก เช่น เด็กคลอดก่อนกำหนด หรือเด็กมีโรคประจำตัวบางอย่าง เช่น โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด โรคไต ในเด็กจะพบเป็นชนิดไส้เลื่อนที่ขาหนีบ ซึ่งพบได้ทั้งในเด็กชายและเด็กหญิง

         2. โรคหลอดอาหารอุดตันโดยสมบูรณ์แต่กำเนิด (Esophageal atresia) เป็นสาเหตุหนึ่งของภาวะหายใจลำบากในทารก โดยมีอาการตั้งแต่ระยะแรกคลอดซึ่งส่วนใหญ่จะเริ่มจากอาการไม่รุนแรง เช่น หายใจเร็ว มีเสียงครืดคราดในลำคอ มีน้ำลายออกมากตลอดเวลา และสำลักน้ำหรือนมตั้งแต่ครั้งแรกที่เริ่มรับประทาน ซึ่งอาจนำไปสู่ภาวะปอดบวมซึ่งเป็นภาวะแทรกซ้อนที่สำคัญและเพิ่มความเสี่ยง รวมทั้งระยะเวลาในการรักษาที่มากขึ้น ทารกกลุ่มนี้ แพทย์สามารถวินิจฉัยตั้งแต่แรกคลอด หรือก่อนคลอด ผลการรักษาจึงขึ้นอยู่กับความรวดเร็วในการวินิจฉัย เช่น การตรวจอัลตราซาวนด์ช่องท้องของทารกในครรภ์ พบว่าทารกที่ตรวจไม่พบ stomach bubble ในขณะที่มารดามีน้ำคร่ำมากจะมีความสัมพันธ์กับภาวะหลอดอาหารอุดตันสูงถึง 30-70% หรือการวินิจฉัยภายหลังคลอดทารกแรกเกิดที่มารดามีประวัติมีน้ำคร่ำมากในระหว่างตั้งครรภ์ควรได้รับการติดตามดูอาการอย่างใกล้ชิด เพื่อสังเกตอาการที่บ่งบอกถึงภาวะทางเดินอาหารอุดตัน โดยเฉพาะสภาพของทางเดินหายใจ เช่น การเกิดปอดอักเสบและความรุนแรงของปอดอักเสบ รวมทั้งความรุนแรงของภาวะความพิการร่วมที่พบด้วย แล้วจะผ่าตัดรักษาความพิการของหลอดอาหารอุดตันนี้ทันทีในทารกที่พร้อมในช่วงสัปดาห์แรกเกิด (1-7 วันแรก)   

         3. โรคลำไส้กลืนกัน (Intussusception) คือภาวะที่ลำไส้ส่วนต้นมุดเข้าสู่โพรงของลำไส้ส่วนที่อยู่ถัดไปทางด้านปลาย เป็นภาวะฉุกเฉินที่ต้องได้รับการรักษาอย่างถูกต้องและรวดเร็ว เพราะถ้าลำไส้กลืนกันอยู่เป็นเวลานานจะเกิดภาวะลำไส้ขาดเลือดจนเกิดการเน่า ลำไส้แตกทะลุ และเยื่อบุช่องท้องอักเสบ รวมทั้งติดเชื้อในกระแสเลือดและอาจจะเสียชีวิตได้ เด็กวัย 3 เดือน-2 ปี เป็นวัยที่เสี่ยงที่สุด จะเป็นชนิดกลืนกันแบบมีการมุดตัวของลำไส้เล็กส่วนปลายเข้าสู่โพรงลำไส้ใหญ่ส่วนต้น ileocolic type วิธีสังเกตว่าเด็กมีภาวะสำไส้กลืนกันหรือไม่ คุณพ่อคุณแม่ควรสังเกตจากลูกมีอาการปวดท้อง กระสับกระส่าย มือเท้าเกร็ง และร้องไห้เป็นพัก ๆ ประมาณ 15-30 นาที ก็เริ่มร้องอีก เวลาที่ร้องไห้ลูกจะงอเข่าขึ้นทั้งสองข้าง  Colicky pain ยังมีอาการท้องอืดและอาเจียน ช่วงแรกมักจะเป็นนมหรืออาหารที่ลูกรับประทานเข้าไป แต่ระยะหลังจะมีสีเหลืองหรือเขียวของน้ำดีปนออกมา อุจจาระมีเลือดคล้ำ ๆ ปนเมือก และเด็กบางคนอาจจะมีอาการซึมหรือชักร่วมด้วย การรักษาโรคลำไส้กลืนกันมี 2 วิธี วิธีแรกคือ การดันลำไส้ส่วนที่ถูกกลืนให้ออกมาจากลำไส้ส่วนที่กลืนกันอยู่โดยการใช้แรงดันผ่านทางทวารหนักซึ่งอาจจะใช้การสวนลำไส้ใหญ่ด้วยสารของเหลวที่เป็นสารทึบรังสี barium หรือใช้ก๊าซเป็นตัวดัน ถ้ากระบวนการสวนลำไส้ใหญ่สามารถดันลำไส้ที่กลืนกันออกได้สำเร็จก็ไม่จำเป็นจะต้องผ่าตัด ผู้ป่วยส่วนใหญ่สามารถรับประทานอาหารได้ภายใน 1-2 วัน วิธีที่สองคือ การผ่าตัดเปิดช่องท้อง ในการผ่าตัดนั้นศัลยแพทย์จะใช้มือบีบดันให้ลำไส้ส่วนที่กลืนกันคลายตัวออกจากกัน มีเพียงผู้ป่วยส่วนน้อยที่มีการเน่าหรือมีการแตกทะลุของลำไส้แล้ว ซึ่งในกรณีเช่นนี้จำเป็นจะต้องตัดลำไส้ส่วนที่เน่าตายออกและทำการต่อลำไส้ส่วนที่ดีเข้าหากัน กลุ่มนี้จะรุนแรง และให้การดูแลรักษาแบบกลุ่มลำไส้อุดตัน นอนในโรงพยาบาลนาน และมีอาการแทรกซ้อนที่รุนแรงกว่า

         4. โรคลำไส้อุดตันในเด็กแรกเกิด (Gut obstruction) ภาวะลำไส้อุดตันเป็นภาวะที่กระเพาะอาหารหรือสำไส้เกิดการอุดตัน ทำให้อาหารผ่านลงไปไม่ได้ ถือเป็นภาวะร้ายแรง หากไม่ได้รับการรักษาในเวลาที่เหมาะสมมักมีอันตรายถึงชีวิตได้ สาเหตุหลักของการเกิดภาวะลำไส้อุดตันในเด็กแรกเกิดนั้น เกิดจากความผิดปกติของโครงสร้างในระบบทางเดินอาหารตลอดแนว ตั้งแต่กระเพาะอาหารจนถึงลำไส้ใหญ่ เช่น กระเพาะอาหารส่วนปลายตีบตันโดยกำเนิด Infantile hypertrophic pyloric stenosis มักพบในช่วงอายุ 2-8 สัปดาห์, Volvulus, Malrotation จะเป็นจากตำแหน่งของระบบทางเดินอาหารวางตัวผิดที่ ทำให้เกิดการบิดและพันกันของลำไส้เล็ก ทำให้ไม่สามารถนำอุจจาระเคลื่อนลงสู่รูทวารหนัก พบได้ทุกช่วงอายุ การสังเกตอาการ 1. ลูกอาเจียนพุ่งเกือบทุกครั้งที่รับประทานนม บางครั้งอาจมีการอาเจียนเป็นน้ำดีปนร่วมด้วย ซึ่งขึ้นกับตำแหน่งของการอุดตันคือ เกิดการอุดตันที่ลำไส้เล็ก มักมีอาการปวดบิดเกร็งเป็นพัก ๆ บริเวณรอบ ๆ สะดือ และอาเจียนพุ่งรุนแรงติด ๆ กัน มักมีเศษอาหารหรือน้ำดีออกมา เกิดการอุดตันที่ลำไส้ใหญ่ มักไม่มีอาการอาเจียนหรือมีเพียงเล็กน้อย ไม่ผายลม มีอาการท้องอืด ซึ่งอาจไม่ชัดเจนในระยะแรก แต่ต่อมาจะค่อย ๆ มีมากขึ้น 2. ในช่วงแรกเกิดไม่ถ่ายขี้เทาหรือมีความผิดปกติในการถ่ายขี้เทา ไม่ว่าจะเป็นถ่ายขี้เทาช้ากว่าปกติหรือปริมาณน้อยและสีซีดกว่าปกติ 3. ไม่ค่อยถ่ายหรือผายลมเหมือนเด็กปกติ ท้องอืด ซึ่งอาการมักเกิดขึ้นให้เห็นผิดสังเกตประมาณ 2-3 วัน 4. เลี้ยงไม่โต น้ำหนักตัวขึ้นไม่ดีหรือลดลง อาการข้างต้นนี้ถ้าเป็นอยู่หลายวันเด็กมักมีภาวะขาดน้ำและอาจมีภาวะช็อก (เหงื่อออก ตัวเย็น กระสับกระส่าย ชีพจรเบาเร็ว ความดันตก ปัสสาวะออกน้อย) ซึ่งถ้าไม่ได้รับการรักษาเด็กจะมีภาวะขาดน้ำ ซึมชัก และเสียชีวิตได้ การรักษา หากสงสัยให้รีบนำลูกน้อยส่งโรงพยาบาลโดยด่วน ต้องทำการตรวจร่างกาย ทำการเอกซเรย์และทำการผ่าตัด การรักษาโดยมากมักต้องทำการผ่าตัดเพื่อแก้ไขความผิดปกติ ซึ่งต้องอยู่ในความดูแลของกุมารศัลยแพทย์และกุมารแพทย์ร่วมกัน
            5. โรคติดเชื้อของระบบทางเดินปัสสาวะในเด็ก (Urinary tract infection for children) เด็กที่เป็นโรคนี้จะมีอาการไข้ ร้องกวนหรือมีอาการปวดท้องเวลาปัสสาวะ ปัสสาวะมีกลิ่นเหม็น สีแดงหรือขุ่น ปัสสาวะบ่อย ไม่สุด บางรายมาด้วยอาการเบื่ออาหาร อาเจียน ถ่ายเหลว เมื่อตรวจร่างกายไม่พบความผิดปกติที่ชัดเจนจะทำการเก็บปัสสาวะเพื่อส่งตรวจโดยการดูด้วยกล้องจุลทรรศน์นับจำนวนเม็ดเลือดขาว และส่งเพาะเชื้อเพื่อทราบชนิดของการติดเชื้อ หากพบว่ามีความผิดปกติจะทำการรักษาโดยการให้ยาปฏิชีวนะ และหากเป็นเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบทุกรายที่มีการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะควรได้รับการตรวจเพิ่มเติมของระบบทางเดินปัสสาวะโดยอัลตราซาวนด์และอื่น ๆ เพื่อดูความผิดปกติทางด้านรูปร่างของไต ท่อไต และกระเพาะปัสสาวะ เนื่องจากภาวะปัสสาวะไหลย้อนกลับเป็นภาวะที่ทำให้ผู้ป่วยติดเชื้อซ้ำ ๆ จนเป็นอันตรายต่อไตในระยะยาวได้ ผู้ปกครองควรพาลูกมาพบแพทย์หากสงสัยว่าลูกเป็นโรคทางเดินปัสสาวะอักเสบ เพื่อให้ได้รับการวินิจฉัยและรักษาอย่างเหมาะสม ไม่ควรซื้อยาปฏิชีวนะให้ลูกรับประทานเอง การรักษา ปัญหาส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย จึงจำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะในการรักษาการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ ซึ่งแพทย์จะเลือกชนิดและขนาดของยา รวมทั้งวิธีการให้ยาให้เหมาะสมกับสภาวะการติดเชื้อที่เป็นอยู่ ซึ่งอาจเป็นการให้ยาฉีดหรือยาชนิดรับประทาน ส่วนใหญ่ในรายที่มีการติดเชื้อรุนแรงมักจะมีไข้สูงและมีอาการอาเจียน ปวดท้องร่วมด้วย ก็จะเป็นยาฉีดและเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลจะเหมาะสมกว่า แต่ในรายที่อาการไม่มาก และสามารถรับประทานยาได้ก็อาจเลือกเป็นยาชนิดรับประทานได้ ผู้ปกครองควรให้ลูกดื่มน้ำมาก ๆ และปัสสาวะบ่อย ๆ เพื่อช่วยขับเชื้อโรคออกจากร่างกาย ให้ยาลดไข้ เช็ดตัว และการรักษาประคับประคองตามอาการ เช่น ให้รับประทานอาหารทีละน้อย ให้บ่อย ๆ ในรายที่มีปัญหาคลื่นไส้ อาเจียน เด็กกลุ่มนี้จะมีสาเหตุจากความผิดปกติของโครงสร้างภายในของระบบทางเดินปัสสาวะซึ่งต้องตรวจหาสาเหตุหลังจากรักษาอาการติดเชื้อหายดี มิเช่นนั้นจะเกิดการติดเชื้อได้อีกซ้ำซากจนเกิดอันตรายและเป็นแผลที่ไตนำไปสู่ไตวายเรื้อรังได้