หุ่นยนต์จ่ายยาอัตโนมัติแบบครบวงจร นวัตกรรมใหม่ในการก้าวสู่ศิริราช 4.0

หุ่นยนต์จ่ายยาอัตโนมัติแบบครบวงจร นวัตกรรมใหม่ในการก้าวสู่ศิริราช 4.0

กลุ่มงานด้านสาธารณสุขเป็นหนึ่งในองค์ประกอบแนวคิดเรื่องไทยแลนด์ 4.0 ของรัฐบาล ทั้งในแง่การพัฒนาอุตสาหกรรมบริการด้านการแพทย์ นวัตกรรมและเครื่องมือทางการแพทย์ เพื่อเป็นอุตสาหกรรมใหม่ในอนาคต และในแง่การนำเทคโนโลยีมาช่วยในการให้บริการสาธารณสุขแก่ประชาชน โดยการก้าวสู่ Smart Health หรือ Smart Hospital จำเป็นที่จะต้องได้รับความร่วมมือจากหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ทั้งนี้คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล โรงเรียนแพทย์แห่งแรกที่ใหญ่และเก่าแก่ที่สุดของประเทศไทยที่มีปณิธานมุ่งมั่นในการให้บริการทางการแพทย์และสาธารณสุข และค้นคว้าวิจัยเพื่อสร้างและพัฒนาองค์ความรู้และวิทยาการอย่างต่อเนื่อง โดยยึดประโยชน์สุขของประชาชนทุกระดับเป็นจุดมุ่งหมายสูงสุด และเพื่อก้าวสู่การเป็นศิริราช 4.0 คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมมือกับศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์(องค์การมหาชน) หรือ TCELS สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (ฟีโบ้) และบริษัท สุพรีม ไฮทีร่า จำกัด พัฒนาระบบหุ่นยนต์จ่ายยาอัตโนมัติแบบครบวงจร โดยจะมีการติดตั้งและใช้งานที่โรงพยาบาลศิริราชเป็นแห่งแรก และจัดเป็นการดำเนินการของคนไทยในการคิดค้นและพัฒนาเพื่อใช้แก้ปัญหาให้คนไทย โดยคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เล็งเห็นถึงประโยชน์ของหุ่นยนต์และระบบจ่ายยาดังกล่าว ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งในการนำนวัตกรรมมาพัฒนาเพื่อก้าวสู่การเป็นศิริราช 4.0 และช่วยผลักดันแนวทาง Smart Hospital ในประเทศไทยให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม

.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า หลังจากที่รัฐบาลประกาศแผนพัฒนาดิจิตอลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือไทยแลนด์ 4.0 โดยการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิตอลในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน นวัตกรรม ข้อมูล รวมถึงทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งมุ่งหวังให้เกิดการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนนั้น หลาย ๆ ภาคส่วนก็ได้พยายามสร้างสรรค์ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งในเชิงนโยบายและบริบทต่าง ๆ ทั้งนี้โรงพยาบาลศิริราชเองก็ได้ตระหนักถึงความสำคัญของนโยบายไทยแลนด์ 4.0 และได้ปรับระบบการบริการหลาย ๆ อย่าง เพื่อก้าวสู่การเป็น ศิริราช 4.0 เช่นกัน และความร่วมมือที่เกิดขึ้นในวันนี้ ในภาพรวมจะทำให้โรงพยาบาลศิริราชเกิดระบบบริหารและจัดการยาแบบอัตโนมัติสำหรับผู้ป่วย โดยเน้นไปที่บริบทของประเทศไทย อีกทั้งเป็นการช่วยเพิ่มศักยภาพของเภสัชกรที่กำลังขาดแคลนอยู่ได้ และโครงการติดตั้งและพัฒนาระบบหุ่นยนต์จ่ายยาอัตโนมัติแบบครบวงจร ก็จะเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาตามนโยบายดังกล่าวเช่นกัน เนื่องจากโรงพยาบาลศิริราชให้บริการผู้ป่วยนอก 8,000-10,000 ครั้งต่อวัน ผู้ป่วยแต่ละคนจะรับยามากกว่า 1 ตัว และซับซ้อนมากขึ้น อีกทั้งยังมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นทำให้อาจมีความเสี่ยงเกิดขึ้นด้วย ทั้งนี้โรงพยาบาลศิริราชตระหนักในเรื่องความปลอดภัยของผู้ป่วยเสมอ จึงได้มีการร่วมมือกับองค์กรรัฐและเอกชนศึกษาและพัฒนาในการนำหุ่นยนต์จ่ายยาอัตโนมัติแบบครบวงจรมาใช้ ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการตอบโจทย์เกี่ยวกับความปลอดภัยของผู้ป่วยมากขึ้น และเชื่อว่าเมื่อไหร่ที่ระบบนี้สามารถใช้แก้ปัญหาที่โรงพยาบาลศิริราชได้ก็จะใช้แก้ปัญหาที่โรงพยาบาลอื่น ๆ ได้เช่นเดียวกัน เพราะที่นี่ค่อนข้างซับซ้อนที่สุด ที่สำคัญการร่วมมือกันครั้งนี้นับเป็นสิ่งที่คนไทยร่วมกันคิด ร่วมกันทำเพื่อแก้ปัญหาและเกิดประโยชน์แก่คนไทย

         ดร.ศิรศักดิ์ เทพาคำ รองผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (TCELS) เปิดเผยว่า ด้วยพันธกิจของ TCELS ที่จะส่งเสริมและสนับสนุน การสร้างองค์ความรู้ การวิจัยและพัฒนาต่อยอดให้เกิดผลิตภัณฑ์ บริการ และนวัตกรรมด้านชีววิทยาศาสตร์ เพื่อสร้างมูลค่าเชิงพาณิชย์และอุตสาหกรรม เมื่อทางบริษัท สุพรีม ไฮทีร่า จำกัด ได้นำความคิดในการพัฒนาระบบหุ่นยนต์จ่ายยาอัตโนมัติมานำเสนอกับ TCELS ซึ่งเรามองเห็นว่าความคิดนี้ ถ้าสามารถต่อยอดในการสร้างแนวความคิดนี้ให้เกิดขึ้นจริงจะเป็นประโยชน์ด้านสาธารณสุขในภาพรวมได้อย่างแน่นอน เราจึงติดต่อไปยังสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (ฟีโบ้) เพื่อพัฒนาจากไอเดียมาเป็นหุ่นยนต์จ่ายยาอัตโนมัติ โดยมีส่วนร่วมในการพัฒนาโปรแกรมในช่วงเริ่มต้นการสร้างหุ่นยนต์ B-Hive 1 จนประสบผลสำเร็จ และหลังจากโรงพยาบาลศิริราชได้ตอบรับแนวคิดในการนำหุ่นยนต์จ่ายยามาใช้ในโรงพยาบาล  TCELS ก็ได้ร่วมศึกษา พัฒนาและวิจัยร่วมกับโรงพยาบาลศิริราช ฟีโบ้ และบริษัท สุพรีม ไฮทีร่า จำกัด จนเกิดความร่วมมือในการพัฒนาจากหุ่นยนต์จ่ายยาอัตโนมัติให้เกิดเป็นระบบหุ่นยนต์จ่ายยาอัตโนมัติแบบครบวงจร ซึ่งหลังจากนี้ TCELS จะคอยช่วยประสานงานในส่วนอื่น ๆ เพื่อให้ความร่วมมือที่เกิดขึ้นบรรลุผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม

รศ.ดร.สยาม เจริญเสียง ผู้อำนวยการสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (ฟีโบ้) เปิดเผยว่า ฟีโบ้ ใช้เวลากว่า 2 ปีในการสร้างหุ่นยนต์จ่ายยาอัตโนมัติ ซึ่งเบื้องต้นเราได้สร้างหุ่นยนต์ต้นแบบ B-Hive 1 ขึ้นสำเร็จในปี พ.ศ. 2558 ที่ผ่านมา นับเป็นความภาคภูมิใจของนักวิจัยไทยที่สามารถพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อตอบโจทย์ที่มาจากเอกชน อุตสาหกรรมหรือสังคมอย่างแท้จริง โดยเราได้ต่อยอดจากการสร้างหุ่นยนต์ต้นแบบมาสู่การสร้าง “ระบบหุ่นยนต์จ่ายยาอัตโนมัติแบบครบวงจร” ซึ่งจะนำมาติดตั้งและใช้งานในโรงพยาบาลศิริราชเป็นแห่งแรก เพื่อทดสอบและพัฒนาให้เกิดการใช้งานที่สมบูรณ์ได้อย่างแท้จริง ทั้งนี้ตลอดระยะเวลากว่า 3 ปีที่ผ่านมา สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (ฟีโบ้) และบริษัท สุพรีม ไฮทีร่า จำกัด ได้ร่วมกันศึกษา แก้ไข และพัฒนาหุ่นยนต์จ่ายยาเพื่อสร้างประโยชน์ด้านความรวดเร็วในการให้บริการผู้ป่วย ลดระยะเวลาในการรอคอย ลดความผิดพลาด และลดภาระงานของเจ้าหน้าที่ โดยมีศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (TCELS) ให้การสนับสนุนในส่วนของการพัฒนาในเบื้องต้นและประสานงานด้านอื่น ๆ

         นายกำธร กาญจนวตี กรรมการผู้จัดการ บริษัท สุพรีม ไฮทีร่า จำกัด เปิดเผยถึงแนวคิดว่า จากประสบการณ์ในการทำงานในวงการเครื่องมือแพทย์กว่า 35 ปี บริษัทฯ ได้เล็งเห็นว่า การใช้หุ่นยนต์มาเป็นส่วนหนึ่งในการให้บริการของโรงพยาบาลน่าจะสามารถลดระยะเวลาในการรอคอยและลดความผิดพลาดจากการทำงานของมนุษย์ได้ จึงได้นำไอเดียในการสร้างหุ่นยนต์จ่ายยาอัตโนมัติมานำเสนอ TCELS ซึ่งจากจุดนี้ทำให้เราได้ร่วมกับ สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (ฟีโบ้) ในการสร้างระบบหุ่นยนต์จ่ายยาอัตโนมัติแบบครบวงจร ด้วยฝีมือนักพัฒนาและนักวิจัยของไทยได้สำเร็จเป็นครั้งแรกในประเทศไทย

ทั้งนี้การส่งเสริมการผลิตเครื่องมือแพทย์ที่ทันสมัยโดยฝีมือคนไทยที่มีมาตรฐานสามารถแข่งขันได้ในตลาดโลกจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากนักวิจัยและผู้เชี่ยวชาญต่าง ๆ เพื่อทำให้เกิดขึ้นได้จริง ต้องขอขอบคุณหน่วยงานต่าง ๆ ทั้ง TCELS ฟีโบ้ และโรงพยาบาลศิริราช ที่ทำให้เกิดความร่วมมือในครั้งนี้เกิดขึ้น

การลงนามบันทึกความเข้าใจ 4 องค์กร สู่ศิริราช 4.0 ระหว่างคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล, ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (TCELS), สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (ฟีโบ้) และบริษัท สุพรีม ไฮทีร่า จำกัด จะทำให้เกิดความร่วมมือในระดับนโยบาย และเป็นก้าวแรกของการผลักดันให้เกิด Smart Hospital ขึ้นในโรงพยาบาลศิริราช ทั้งนี้ภายใต้การลงนามบันทึกความเข้าใจดังกล่าวจึงเกิด “โครงการติดตั้งและพัฒนาระบบหุ่นยนต์จ่ายยาอัตโนมัติแบบครบวงจร” ขึ้น ซึ่งจะมีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างโรงพยาบาลศิริราช และบริษัท สุพรีม ไฮทีร่า จำกัด ในการติดตั้งและพัฒนาระบบหุ่นยนต์จ่ายยาอัตโนมัติแบบครบวงจรร่วมกัน

ผศ.นพ.วิศิษฎ์ วามวาณิชย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศิริราช เปิดเผยว่า ปัจจุบันโรงพยาบาลศิริราชมีผู้ป่วยที่เข้ามารับการบริการจากโรงพยาบาลเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก โครงการติดตั้งและพัฒนาระบบหุ่นยนต์จ่ายยาอัตโนมัติแบบครบวงจรจะเป็นก้าวใหม่ของโรงพยาบาลที่จะนำเทคโนโลยีมาช่วยลดปัญหาด้านต่าง ๆ และเป็นการอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ป่วย เพื่อให้โรงพยาบาลศิริราชสามารถให้บริการผู้ป่วยที่เข้ามารับการรักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งหลังจากการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการติดตั้งและพัฒนาระบบหุ่นยนต์จ่ายยาอัตโนมัติแบบครบวงจร ระหว่างโรงพยาบาลศิริราช และบริษัท สุพรีม ไฮทีร่า จำกัด แล้วก็จะมีการริเริ่มดำเนินการในส่วนของการก่อสร้างและติดตั้งระบบ รวมถึงการทดสอบการทำงานอย่างเต็มรูปแบบซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 6-8 เดือน และจะเปิดใช้งานได้จริงช่วงประมาณปลายปี พ.ศ. 2560 โดยหุ่นยนต์จ่ายยานี้สามารถรับใบสั่งยาโดยตรงจากแพทย์ผู้รักษา ผ่านระบบคอมพิวเตอร์ และจัดยาประเภทต่าง ๆ ด้วยความถูกต้องรวดเร็ว ทำให้ 95% ของใบสั่งยามีระยะเวลาการจัดยาไม่เกิน 15 นาที แม้ในช่วงเร่งด่วนและจัดยาส่งไปยังเภสัชกรผ่านระบบสายพานลำเลียงได้อย่างครบวงจร

นโยบายไทยแลนด์ 4.0 จะนำมาซึ่งความร่วมมือจากทั้งในส่วนของภาครัฐ ภาคการศึกษา และเอกชน ในรูปแบบประชารัฐ ทั้งนี้เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทยให้ก้าวทันโลกได้อย่างแท้จริง