ภญ.เพลินตา สิริมานุวัฒน์

ภญ.เพลินตา สิริมานุวัฒน์
ทำงานแบบหัวหน้าพาทำ มีการมอบหมายงานที่ชัดเจน

            วิชาชีพเภสัชกรรมโรงพยาบาลต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรับผิดชอบ ทุ่มเท เสียสละ มีความซื่อสัตย์สุจริต ใฝ่ศึกษาหาความรู้ใหม่ ๆ ให้ก้าวทันกับวิวัฒนาการอยู่เสมอ เพื่อนำองค์ความรู้เหล่านั้นไปใช้ในการปฏิบัติงาน ส่งผลให้ผู้ป่วยสามารถใช้ยาได้อย่างถูกต้อง ปลอดภัย ถือเป็นหัวใจที่สำคัญที่สุดที่ ภญ.เพลินตา สิริมานุวัฒน์ หัวหน้ากลุ่มงานเภสัชกรรม โรงพยาบาลตากสิน ยึดถือปฏิบัติมาโดยตลอด ด้วยความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาบทบาทวิชาชีพเภสัชกรรมในโรงพยาบาลให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น จนเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางทั้งในระดับผู้ร่วมงาน หัวหน้ากลุ่มงาน ผู้บริหาร รวมไปถึงผู้บริหารในสำนักการแพทย์ สมควรแก่รางวัลที่ได้รับในฐานะ “เภสัชกรดีเด่น พ.ศ. 2559 ด้านบริหารจัดการงานเภสัชกรรม จากสมาคมเภสัชกรรมโรงพยาบาล (ประเทศไทย)”

         ภญ.เพลินตา สิริมานุวัฒน์ สำเร็จการศึกษาปริญญาตรีจากคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในปี พ.ศ. 2529 จากนั้นจึงเข้าทำงานครั้งแรกที่โรงพยาบาลตากสิน เมื่อวันที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2529 เริ่มจากปฏิบัติงานที่ส่วนงานคลังยาของโรงพยาบาล ซึ่งขณะนั้นยังไม่ได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการ ไม่มีเงินเดือนในระบบ เริ่มทำงานตอนนั้นยังคงแต่งเครื่องแบบชุดนักศึกษา และได้รับเงินค่าจ้างจากมูลนิธิโรงพยาบาลตากสิน ต่อมาได้บรรจุเข้ารับราชการตำแหน่งเภสัชกรระดับ 3 เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2529 เงินเดือนครั้งแรก 2,905 บาท ในระหว่างที่ปฏิบัติงานในส่วนงานคลังยาได้ศึกษาเพิ่มเติมด้านสาธารณสุข สำเร็จการศึกษาปริญญาตรีสาธารณสุขศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช มีโอกาสร่วมทำงานทั้งในส่วนของงานด้านคลินิก ด้านการผลิตยา ตลอดจนงานด้านการบริการจ่ายยาผู้ป่วย จนกระทั่งดำรงตำแหน่งรักษาการในตำแหน่งหัวหน้ากลุ่มงานเภสัชกรรม และในปี พ.ศ. 2545 หัวหน้ากลุ่มงานเภสัชกรรมเกษียณอายุราชการ จึงได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งหัวหน้ากลุ่มงานเภสัชกรรม ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง เภสัชกรชำนาญการพิเศษ (ด้านเภสัชกรรมคลินิก) หัวหน้ากลุ่มงานเภสัชกรรม โรงพยาบาลตากสิน กรุงเทพมหานคร

จุดเริ่มต้นจากคลังยา มาสู่การพัฒนาเปิดงานบริการจ่ายยาผู้ป่วยใน-ผู้ป่วยนอก

            สมัยที่ ภญ.เพลินตา เริ่มต้นการทำงานในปี พ.ศ. 2529 ระบบการจ่ายยาสำหรับผู้ป่วยในโรงพยาบาลตอนนั้นเรามีห้องจ่ายยาเพียงห้องเดียวให้การบริการทั้งผู้ป่วยในและผู้ป่วยนอก ค่อนข้างวุ่นวาย ขาดความคล่องตัว อีกทั้งการจ่ายยาสำหรับผู้ป่วยในและผู้ป่วยนอกมีความแตกต่างกัน เนื่องจากผู้ป่วยนอกส่วนใหญ่จะเป็นโรคเรื้อรังซึ่งมีความจำเป็นต้องจ่ายยาจำนวนมาก ซึ่งจะต่างจากผู้ป่วยในที่จะมีทั้งยา เวชภัณฑ์ และน้ำเกลือ เข้ามาร่วมด้วย เราจึงมีแนวคิดว่า “ในเมื่อกลุ่มเป้าหมายของผู้ป่วยนั้นมีความต้องการยาและเวชภัณฑ์ที่แตกต่างกัน ดังนั้น เราควรแยกห้องจ่ายยาออกจากกันให้ชัดเจน” ผู้ป่วยนอกต้องให้บริการอย่างรวดเร็ว เป็นกลุ่มที่เภสัชกรต้องมีปฏิสัมพันธ์โดยตรงกับผู้ป่วย เภสัชกรมีหน้าที่ให้ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับยาที่ถูกต้องและเหมาะสมกับผู้ป่วย ให้คำแนะนำการใช้ยาโดยตรงเพื่อความมั่นใจว่ายาเหล่านั้นได้จ่ายถูกคน ถูกโรค ถูกขนาด ถูกเวลา และถูกวิธี ในส่วนของผู้ป่วยในซึ่งนอนรักษาตัวในโรงพยาบาล การปฏิบัติงานในช่วงแรก ๆ นั้น เราอาศัยห้องจ่ายยาฉุกเฉินซึ่งเปิดบริการเฉพาะเวลากลางคืนมาเปิดเป็นห้องจ่ายยาสำหรับผู้ป่วยใน ส่งผลให้ระบบการจ่ายยาและเวชภัณฑ์มีความคล่องตัวมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงให้เกิดความทันสมัยมากยิ่งขึ้นเรื่อยมา จนมีการนำเอาระบบคอมพิวเตอร์เข้ามาประยุกต์ใช้สำหรับห้องจ่ายยาผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยในของโรงพยาบาลตั้งแต่ปี พ.ศ. 2534 และในปี พ.ศ. 2548 ได้มีการส่งเภสัชกรคลินิกขึ้นไปประจำบนหอผู้ป่วยเพื่อติดตามดูแล ค้นหาปัญหา และแก้ไขปัญหาการใช้ยาให้ผู้ป่วยในจนถึงปัจจุบัน

เพิ่มประสิทธิภาพระบบยาของโรงพยาบาล ส่งเสริมบทบาทวิชาชีพเภสัชกรรมในโรงพยาบาล

            นอกจากจะเป็นผู้บุกเบิกงานด้านบริการจ่ายยาผู้ป่วยในเป็นคนแรกของโรงพยาบาลแล้ว ตลอดระยะเวลากว่า 30 ปีของการรับราชการ และ 15 ปีที่ดำรงตำแหน่งหัวหน้ากลุ่มงานเภสัชกรรม ดูแลระบบยาของโรงพยาบาล ภญ.เพลินตา ถือเป็นหลักให้แก่น้อง ๆ กลุ่มงานเภสัชกรรมในการขับเคลื่อนงาน พัฒนาศักยภาพและความเจริญก้าวหน้าในวิชาชีพเภสัชกรรม โดยอาศัยความร่วมมือ ร่วมใจในการปฏิบัติงานของบุคลากรจากกลุ่มงานเภสัชกรรมจนเกิดผลงานที่ดี เป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางทั้งในระดับผู้ร่วมงาน หัวหน้ากลุ่มงาน ผู้บริหาร ตลอดจนผู้บริหารในสำนักการแพทย์ สำหรับผลงานที่น่าสนใจคือ ระบบการพัฒนาและรับรองคุณภาพของโรงพยาบาล ซึ่งเป็นกลไกกระตุ้นและส่งเสริมให้โรงพยาบาลมีการพัฒนาคุณภาพอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง โดยเริ่มทำตั้งแต่ระบบคุณภาพมาตรฐาน ISO (International Organization for Standardization) และต่อมาดำเนินการตามมาตรฐาน HA (Hospital Accreditation) เพื่อเป็นการรับรองว่าโรงพยาบาลของเรามีการจัดระบบงานที่ดี เอื้อต่อการให้บริการได้อย่างมีคุณภาพและปลอดภัย โดยเรามีความมุ่งมั่นที่จะทำงานให้มีคุณภาพตามมาตรฐานวิชาชีพเภสัชกรรมโรงพยาบาลและมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง มีการเปลี่ยนแปลง มีการตรวจสอบและทบทวนอย่างสม่ำเสมอ จนคณะกรรมการตัดสินพิจารณาข้อมูลซึ่งมาจากผู้ประเมินภายนอก (External Surveyor) คือสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล รวมทั้งองค์กรวิชาชีพซึ่งมีการประเมินเพื่อพิจารณารับรองคุณภาพโรงพยาบาล และการประเมินซ้ำหลังการรับรองคุณภาพโรงพยาบาล ให้การรับรองว่าโรงพยาบาลตากสินสามารถปฏิบัติตามข้อกำหนดในมาตรฐานได้อย่างครบถ้วน บริการส่วนใหญ่อยู่ในระดับดี ไม่มีความเสี่ยงที่ชัดเจน ตลอดจนได้รับการยกย่องชื่นชมว่า กลุ่มงานเภสัชกรรม โรงพยาบาลตากสิน เป็นกลุ่มงานที่มีศักยภาพในการพัฒนาระบบยาของโรงพยาบาล

            “รู้สึกประทับใจและภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนระบบยา พัฒนาศักยภาพและความเจริญก้าวหน้าในวิชาชีพเภสัชกรรม ได้เห็นความเจริญก้าวหน้าในวิชาชีพ ได้รับการยอมรับจากทุกระดับจากทุกฝ่าย ไม่เหมือนกับในอดีตที่เภสัชกรซึ่งเป็นคนกลุ่มน้อยที่ไม่ค่อยมีใครคิดถึงเวลาที่จะทำอะไร ซึ่งจะแตกต่างจากปัจจุบันเมื่อมีการประชุมหรือมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น ทุกคนจะนึกถึงเภสัชกร และถามว่าเภสัชกรอยู่ไหน เรามีความรู้สึกว่าเขาไม่ลืมเรา เรามีบทบาท สร้างสรรค์ผลงาน มีการเปลี่ยนแปลงพัฒนาสิ่งดี ๆ ให้แก่โรงพยาบาล”

หัวใจสำคัญของการเป็นเภสัชกรโรงพยาบาล

            ภญ.เพลินตา ยังกล่าวถึงหัวใจสำคัญของการเป็นเภสัชกรโรงพยาบาลให้ฟังว่า วิชาชีพเภสัชกรรม เป็นวิชาชีพที่มีการเรียนรู้ในทุกด้านที่เกี่ยวข้องกับยาทั้งการเตรียมยา การผลิตยา การคัดเลือกยา การวิเคราะห์ยา การควบคุม จัดเก็บและประกันคุณภาพยา อีกทั้งการจ่ายยาตามใบสั่งของแพทย์ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ให้คำแนะนำการใช้ยา ติดตามผลและการตอบสนองต่อยาของผู้ป่วย ค้นหาปัญหาและแก้ไขปัญหาการใช้ยาร่วมกับทีมสหวิชาชีพ จำเป็นต้องทำงานเป็นทีมด้วยความรับผิดชอบ ใฝ่ศึกษาหาความรู้ และมีความซื่อสัตย์ คือหัวใจสำคัญของการเป็นเภสัชกรโรงพยาบาล โดยเฉพาะการทำงานเป็นทีมด้วยความรับผิดชอบนั้นถือว่าเป็นอันดับหนึ่งของการทำงานในโรงพยาบาล เนื่องจากเราไม่สามารถดูแลผู้ป่วยคนหนึ่งได้ลำพังเพียงคนเดียว แต่ต้องอาศัยการทำงานเป็นทีมร่วมกันระหว่างแพทย์ พยาบาล และบุคลากรของเรา เพื่อให้การรักษาผู้ป่วยด้วยยานั้นเกิดประสิทธิภาพ ประสิทธิผล และสามารถสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่ผู้ป่วยได้ รวมถึงการใฝ่ศึกษาหาความรู้ มีความขยันหมั่นเพียรเพิ่มพูนองค์ความรู้ใหม่ ๆ ให้ทันกับวิวัฒนาการ สามารถแก้ไขปัญหา มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ในการพัฒนาวิชาชีพด้านเภสัชศาสตร์เพื่อนำองค์ความรู้มาปรับใช้กับผู้ป่วยให้ได้รับความปลอดภัยสูงสุด และส่วนสุดท้ายที่สำคัญคือ มีคุณธรรม ความซื่อสัตย์ เนื่องจากเภสัชกรนั้นอยู่ใกล้กับทรัพย์สิน ยา และเวชภัณฑ์ต่าง ๆ ที่มีมูลค่าสูง ดังนั้น เราจึงต้องมีความซื่อสัตย์สุจริต ไม่โลภเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตน

            นอกจากนี้ ภญ.เพลินตา ยังกล่าวถึงหลักในการบริหารงาน บริหารคน ให้ฟังด้วยว่า ต้องทำอย่างสมดุลควบคู่ไปด้วยกัน โดยตัวเราต้องเป็นแบบอย่างที่ดีทั้งการบริหารงานและบริหารคนภายในกลุ่มงานเภสัชกรรมของโรงพยาบาล ทั้งนี้พี่เน้นการทำงานแบบ “หัวหน้าพาทำ” เพื่อสร้างกระบวนการเรียนรู้ พัฒนาคุณภาพภายในหน่วยงานซึ่งสมาชิกทุกคนได้มีส่วนร่วมในการเสนอความคิดและลงมือปฏิบัติงาน อันเป็นพื้นฐานสำคัญในการพัฒนาทักษะการทำงานเป็นทีม สำหรับการบริหารงานนั้นไม่สามารถลงมือทำทุกอย่างได้เพียงคนเดียว การทำงานจะให้ประสบความสำเร็จนั้นต้องมีศิลปะในการสื่อสาร โน้มน้าว จูงใจ ประสานงานร่วมกับบุคคลอื่น ๆ ได้ดี ที่สำคัญอีกประการคือ “การมอบหมายงานที่ชัดเจน” ตามตำแหน่งงาน หน้าที่รับผิดชอบ ความเหมาะสม และสอดคล้องกับความสามารถของบุคลากร เช่น งานผลิตยา งานบริการจ่ายยาผู้ป่วยใน-ผู้ป่วยนอก งานจัดซื้อ งานคลัง งานบริบาลทางเภสัชกรรม เมื่อมีการมอบหมายงาน เราเองก็ต้องมอบอำนาจในการจัดการงานนั้น ๆ ให้เขาด้วย ส่วนตัวพี่เองจะคอยเป็นที่ปรึกษา ช่วยแก้ไขปัญหา ประสานงาน และติดตามผลการทำงาน สำหรับกลุ่มงานเภสัชกรรม โรงพยาบาลตากสิน จะมีการประชุมร่วมกันของเภสัชกรในทุก ๆ เดือนเพื่อเป็นเวทีในการติดตามงาน ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน แก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างการปฏิบัติงาน ทำให้เกิดการพัฒนาคุณภาพการบริหารงานและการบริหารคนอย่างต่อเนื่อง

            สุดท้ายนี้ ภญ.เพลินตา ได้ให้คำแนะนำถึงน้อง ๆ เภสัชกรรุ่นใหม่ ๆ ว่า ตอนเป็นนักศึกษานั้นสิ่งที่ได้รับส่วนใหญ่คือ ความรู้ทางวิชาการ เมื่อก้าวเข้าสู่การทำงาน เราจึงต้องพยายามนำความรู้ที่ได้เล่าเรียนมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับผู้ป่วย ดังนั้น สิ่งที่พี่อยากจะฝากถึงน้อง ๆ อันดับแรก เมื่อตอนที่เรายังเป็นนักศึกษาฝึกงานซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เรามีโอกาสเก็บสะสมประสบการณ์ ต้องหมั่นเรียนรู้ สังเกต สอบถาม เพราะจะสามารถนำประสบการณ์ส่วนนั้นไปประยุกต์ใช้ร่วมกับความรู้ทางวิชาการที่ได้เรียนมาในการทำงานจริงเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน อันดับที่สอง การปรับตัวและการอยู่ร่วมกับผู้อื่นเป็นสิ่งสำคัญ เพราะวิชาชีพ เภสัชกรรมต้องมีการปฏิสัมพันธ์ทั้งกับผู้ป่วยและเพื่อนร่วมงานหลากหลายสาขาวิชาชีพ นอกจากนี้สิ่งสำคัญที่โรงพยาบาลและทุกหน่วยงานอยากจะได้จากน้องเภสัชกรรุ่นใหม่คือ ความรับผิดชอบ การมีน้ำใจ และความอดทน