ผู้ติดเชื้อเอชไอวีมีความเสี่ยงเป็นโรคหัวใจล้มเหลว

ผู้ติดเชื้อเอชไอวีมีความเสี่ยงเป็นโรคหัวใจล้มเหลว

         Heartwire from Medscape: แม้ว่าการรักษาด้วยยาต้านไวรัส (antiretroviral therapy: ART) สำหรับผู้ติดเชื้อเอชไอวีจะช่วยทำให้ผู้ป่วยโรคนี้มีภาวะแทรกซ้อนในแง่ของการติดเชื้อที่ลดลง และสามารถดำรงชีวิตได้อย่างปกติสุขได้นานขึ้น แต่จากข้อมูลการศึกษาล่าสุดโดย Dr.Matthew S Freiberg และคณะผู้วิจัยจาก Vanderbilt University รัฐ Tennessee กลับพบว่าผู้ติดเชื้อเหล่านี้มีความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจและภาวะหัวใจล้มเหลวทั้งชนิดที่มีการบีบตัวของหัวใจลดลงและปกติ (low and preserved-ejection fraction) มากขึ้นกว่าคนทั่วไป

            ข้อมูลดังกล่าวมาจากการศึกษาชื่อ Veterans Aging Cohort study ซึ่งมีอาสาสมัครในการศึกษาเกือบ 1 แสนคน โดยมีข้อมูลเปรียบเทียบการเกิดโรคหัวใจในกลุ่มผู้ที่ติดเชื้อและไม่ติดเชื้อเอชไอวี พบว่าผู้ที่มีการติดเชื้อเอชไอวีจะมีโอกาสเสี่ยงที่จะเกิดภาวะหัวใจล้มเหลวโดยมีการบีบตัวของหัวใจเป็นปกติ (heart failure with preserved-ejection fraction: HFpEF) คือมีค่า left ventricular ejection fraction (LVEF) มากกว่า 50% ได้มากกว่าผู้ที่ไม่ติดเชื้อถึง 21% และมีโอกาสเกิดภาวะหัวใจล้มเหลวที่มีแรงบีบตัวของหัวใจค่อนข้างต่ำ (LVEF 40-49%) หรือ (LVEF < 40%) มากกว่าถึง 37% และ 61% ตามลำดับ และจากข้อมูลพบว่าความเสี่ยงนี้ไม่ได้สัมพันธ์กับระดับของภูมิคุ้มกันที่ลดลง ซึ่งแสดงว่าอาจมีปัจจัยอื่นที่มีความสัมพันธ์และเกี่ยวข้องกับการเกิดโรค เช่น ในแง่ของกระบวนการอักเสบที่เกิดขึ้นในร่างกาย เนื่องจากมีหลักฐานพบว่ากลุ่มผู้ป่วยที่มีโรคหัวใจจะมีปริมาณของสารสื่อการอักเสบ (inflammatory mediators) ชนิดต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้นกว่ากลุ่มที่ไม่มีโรคหัวใจ และมีความเป็นไปได้ว่าการให้การรักษาโดยมุ่งเน้นทำให้กระบวนการอักเสบที่เกิดขึ้นเหล่านี้น่าจะให้ผลดีในแง่ของการป้องกันการเกิดโรคหัวใจและภาวะหัวใจล้มเหลวในผู้ป่วยกลุ่มนี้ได้