ผู้ป่วยโรคไตอาจตายเร็วขึ้นหากปัสสาวะไร้แอมโมเนีย

ผู้ป่วยโรคไตอาจตายเร็วขึ้นหากปัสสาวะไร้แอมโมเนีย

            Medscape Medical News: เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปแล้วว่าผู้ป่วยที่เป็นโรคไตเสื่อมนั้นมีโอกาสเสียชีวิตจากภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ที่ตามมาได้มากกว่าคนทั่วไป แต่การศึกษาล่าสุดโดย Kalani L Raphael และคณะจาก University of Utah พบว่าผู้ป่วยโรคไตที่มีความสามารถในการขับสารแอมโมเนียทางปัสสาวะ (urine ammonium excretion) น้อยลงยิ่งมีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตและต้องได้รับการรักษาด้วยการล้างไตมากกว่าผู้ป่วยโรคไตกลุ่มอื่นอย่างชัดเจน

            การศึกษาดังกล่าวเป็นการศึกษาชื่อ the African American Study of Kidney Disease and Hypertension ที่รวบรวมข้อมูลจากอาสาสมัคร 1,044 คน เพื่อค้นหาความสำคัญของการขับสารแอมโมเนียออกทางปัสสาวะกับผลทางคลินิกในระยะยาว รวมถึงความสัมพันธ์กับการเกิดภาวะเลือดเป็นกรด (acidosis) ของผู้ป่วย โดยวัดระดับสารแอมโมเนียในปัสสาวะและนำค่าที่ได้มาแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม (tertiles) จากน้อยไปมาก ซึ่งจากผลการศึกษาพบว่าในผู้ป่วยที่มีการขับสารแอมโมเนียออกมาทางปัสสาวะต่ำสุดมีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตและการเกิดเป็นโรคไตวายระยะสุดท้าย (end-stage renal disease: ESRD) มากกว่ากลุ่มที่มีการขับสารแอมโมเนียได้เป็นปกติถึง 46% ส่วนในกลุ่มที่มีการขับสารแอมโมเนียทางปัสสาวะได้ปานกลางมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคคิดเป็น 14% นอกจากนี้ยังพบอีกด้วยว่าผู้ป่วยที่มีการขับสารแอมโมเนียทางปัสสาวะได้น้อยยังมีความเสี่ยงต่อการเกิดมีภาวะเลือดเป็นกรดเพิ่มขึ้นภายใน 1 ปีอย่างมีนัยสำคัญ

Dr.Raphael กล่าวว่า การขับสารแอมโมเนียทางปัสสาวะเป็นกลไกที่สำคัญในการควบคุมปริมาณ serum bicarbonate ในเลือด ดังนั้น การขับสารแอมโมเนียที่ลดลงจึงบ่งถึงความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะเลือดเป็นกรด และการวัดปริมาณสารแอมโมเนียในปัสสาวะเป็นข้อมูลบ่งชี้ความสามารถในการจัดการสมดุลความเป็นกรดด่างในเลือดที่ชัดเจนและดีกว่าการตรวจวัดปริมาณ bicarbonate ในเลือด ซึ่งน่าจะมีการนำไปใช้ตรวจวัดในทางปฏิบัติต่อไป