เจลห้ามเลือด สำคัญไฉน

เจลห้ามเลือด สำคัญไฉน

            การเกิดแผลกับการเสียเลือดนั้นเป็นเรื่องปกติคู่กันมาตลอดเวลา ดังนั้น ร่างกายจึงมีระบบกลไกในการห้ามเลือดโดยธรรมชาติไม่ว่ามนุษย์หรือสัตว์ การห้ามเลือดเป็นกระบวนการทางชีวเคมีที่สำคัญของร่างกายเพื่อควบคุมให้เลือดคงสภาพเป็นของเหลวไหลเวียนเป็นปกติอยู่ภายในหลอดเลือด และเปลี่ยนสภาพเป็นลิ่มเลือดเพื่อให้เลือดหยุดเมื่อมีการทำลายของหลอดเลือด ทั้งนี้จะต้องอาศัยความสมดุลระหว่าง 2 กระบวนการสำคัญ ได้แก่ กระบวนการแข็งเป็นลิ่มของเลือด และกระบวนการสลายลิ่มเลือด การควบคุมการไหลเวียนเลือดให้เป็นปกตินั้น ประกอบด้วยระบบการทำงานที่สำคัญดังต่อไปนี้คือ ระบบหลอดเลือดและการซ่อมแซมในตำแหน่งที่ได้รับอันตราย ระบบเกล็ดเลือด การสร้างลิ่มเลือดและระบบควบคุม การสลายลิ่มเลือดและระบบควบคุม กระบวนการเหล่านี้ต้องทำงานร่วมกันเป็นระบบจึงจะมีประสิทธิภาพ และต้องอยู่ในภาวะสมดุล ถ้าเกิดการเสียสมดุลจะทำให้เกิดความผิดปกติ เช่น ถ้าเกิดการเสียสมดุลของการทำงานของระบบห้ามเลือดก็จะทำให้มีภาวะเลือดออกง่ายผิดปกติ หรือมีภาวะการแข็งตัวของเลือดในหลอดเลือดได้(1,2)

            หากระบบกลไกในการห้ามเลือดยังไม่สามารถกระทำได้ทันท่วงที การเสียเลือดที่มากเกินไปก็จะทำให้เกิดอันตรายขึ้นได้ ดังนั้น จึงได้มีการพัฒนาการห้ามเลือดด้วยวิธีต่าง ๆ รวมถึงเทคโนโลยีต่าง ๆ มาใช้เพื่อช่วยห้ามเลือดให้มีประสิทธิภาพและปลอดภัย

รูปที่ 1 กลไกการห้ามเลือดของร่างกาย(1)

            ในการห้ามเลือดเฉพาะที่โดยการใช้สารเร่งการเกิดลิ่มเลือดเฉพาะที่กับผู้ป่วยที่มีเกล็ดเลือดตํ่าโดยไม่ทราบสาเหตุแบบเรื้อรังนั้น ได้มีการใช้สารและเทคโนโลยีมาช่วยในการห้ามเลือด โดยเฉพาะทางทันตกรรม(3) ได้แก่

  • เจลโฟม (gel foam) เป็นก้อนเจลาติน ใช้ใส่ลงไปในแผลถอนฟัน ทำหน้าที่เป็นโครงให้เกิดลิ่มเลือดได้ง่าย และเจลโฟมจะถูกดูดซึมสลายไปใน 4-6 สัปดาห์
  • เซอร์จิเซล (surgicel) เป็นสารพวกออกซิไดซ์ เซลลูโลส (oxidized cellulose) ซึ่งจะรวมตัวกับฮีโมโกลบิน (hemoglobin) เมื่อใส่ลงในแผลทำให้เกิดลิ่มเลือดเทียมขึ้น และจะถูกดูดซึมสลายไปหมดใน 6 สัปดาห์
  • ธรอมบิน (thrombin) ทำหน้าที่เปลี่ยนไฟบริโนเจน (fibrinogen) ไปเป็นไฟบริน (fibrin) ใช้ใส่ลงในแผลหรือผสมกับเจลโฟมใส่ลงในแผล
  • กาวไฟบริน (fibrin glue) ผลิตจากส่วนประกอบของเลือด ประกอบด้วยไฟบริโนเจนและธรอมบิน ผสมกันเป็นไฟบรินใส่ลงในแผล
  • ไมโครคริสตัลไลน์ คอลลาเจน (micro-crystalline collagen; Avitene) จะทำให้เกิดร่างแหไฟบริน (fibrillar mesh) ซึ่งเกล็ดเลือดจะมาเกาะติดได้ง่าย ทำให้กระบวนการสร้างลิ่มเลือดเกิดได้เร็วขึ้น

            สำหรับในกรณีแผลที่ใหญ่และมีการเสียเลือดมากนั้นก็ได้มีการศึกษาคิดค้นเจลสำหรับห้ามเลือดมาใช้กับสัตว์และพัฒนาสู่คน เช่น งานวิจัยของนักศึกษาภาควิชาเทคนิคการแพทย์ของ New York University หรือ NYU ประสบความสำเร็จในการผลิตเจลสำหรับรักษาแผลที่สามารถห้ามเลือดได้ในเวลาเพียงไม่กี่วินาที ชื่อ Veti-Gel โดยใช้หลักการ Extracellular Matrix หรือ ECM ซึ่งเป็นการใช้โครงสร้างโพลิเมอร์ของพืชไปทำปฏิกิริยากับเซลล์ผิวหนังที่หายไป เสมือนว่าตัวยาดังกล่าวคือเซลล์ผิวหนังที่เกิดใหม่ โดยวิธีการใช้ยาดังกล่าวเริ่มจากการทาเจลลงไปบนแผลสดทันที โดยตัวยาจะไปทำปฏิกิริยากับเซลล์ผิวหนังทันที โดยสารประกอบ ECM จะเป็นตัวกลางประสานบริเวณผิวหนังที่ขาดหายไป ทำให้เลือดหยุดไหล และยังช่วยซ่อมแซมเซลล์ใหม่ทันที ทำให้ผู้ใช้ยาตัวนี้รู้สึกว่าตัวยาเป็นส่วนหนึ่งของผิวหนังถึงแม้ตัวยาจะอุดอยู่ก็ตาม โดยนักวิจัยของ NYU ได้ทดลองยาชนิดนี้กับหนูทดลองที่มีแผล รวมทั้งตัวอย่างชิ้นเนื้อของสัตว์ที่เป็นแผล พบว่ายา Veti-Gel สามารถหยุดการไหลของเลือดได้ในเวลาเพียง 5 วินาทีเท่านั้น    ซึ่งเจลนี้สามารถใช้ได้กับแผลปากเปิดเพื่อหยุดเลือดภายใน 20 วินาที รูปลักษณ์ภายนอกของ Veti-Gel” เหมือนปลาสเตอร์เหลวในตลาด แต่มีคุณสมบัติในการรักษาแผลดีเยี่ยม และใช้ได้ทั้งผิวหนังและอวัยวะ ซึ่งหลักการสร้าง “เจลโพลิเมอร์” เป็นการดึงเซลล์จากผนังของ “เซลล์พืช” ที่จะสร้างตัวให้มีหน้าตาเหมือนกับสิ่งที่เราใส่มันลงไป เช่น ใส่ไปบนผิวหนังมันก็จะสร้างตัวให้เหมือนโครงสร้างผิวหนัง อย่างไรก็ตาม ยา Veti-Gel ยังคงอยู่ในขั้นตอนการทดลองในกลุ่มตัวอย่างเพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาออกใบอนุญาตจากองค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา หรือ US FDA โดยทีมนักวิจัยหวังว่า Veti-Gel จะสามารถใช้เป็นยาสามัญประจำบ้าน รวมทั้งเป็นยาที่ช่วยปฐมพยาบาลให้แก่หน่วยกู้ภัย หรือทหารในสนามรบในอนาคต(4,5)

รูปที่ 2 Veti-Gel ที่ใช้ในการห้ามเลือด(6)

อีกทั้งในปัจจุบันยังมีผลิตภัณฑ์สำหรับสัตว์เลี้ยงเพื่อใช้ในการห้ามเลือดออกมาจำหน่าย เช่น Veterinary Formula Clinical Care-Superclot Synergylab U.S.A โดยมีส่วนประกอบของ Ferric sulfate, Aluminum sulfate, Lidocaine hydrochloride, Benzethonium chloride USP. ซึ่งช่วยในการห้ามเลือดสำหรับสุนัข แมว เป็นต้น

ในปัจจุบันยังมีการพัฒนาใช้สารสกัดจากพืชหรือจากธรรมชาติเพื่อนำมาใช้ห้ามเลือดซึ่งกำลังอยู่ในขั้นตอนการศึกษาวิจัยอีกหลายชนิด ซึ่งอนาคตสารและผลิตภัณฑ์จากสารเหล่านี้จะเป็นสิ่งสำคัญในการห้ามเลือดและการกู้ภัยต่าง ๆ ในอนาคต

เอกสารอ้างอิง

  1. การตรวจนับความสมบูรณ์ของเลือด ตอนที่ 2. http://thainurseclub.blogspot.com/2013/10/blog-post_4017.html
  2. ระบบการแข็งตัวของเลือด. http://www.bangkokhealth.com/index.php/health/health-system/blood/1570-ระบบการแข็งตัวของเลือด.html
  3. https://www.facebook.com/Thaiendodontics/
  4. “เจลโพลิเมอร์” จากพืช ห้ามเลือดได้ผลชะงัด. https://kasetmodern.wordpress.com/2014/12/09/vetigel/
  5. นักศึกษา NYU คิดค้นเจลห้ามเลือด. http://news.voicetv.co.th/technology/65203.html
  6. https://cresilon.com/index.php/vetigel/