PrEP กับ PEP

ภก.สิกขวัฒน์ นักร้อง คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต

PrEP กับ PEP         

            จากการที่สภากาชาดไทยแถลงข่าวโครงการลดการติดเอดส์ในกลุ่มชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชายและสาวประเภทสอง โดยการให้ยาต้านไวรัสเอดส์ก่อนการสัมผัสเชื้อ หรือ “PrEP” เพื่อถวายเป็นพระกุศลแด่พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ เนื่องในโอกาสที่ทรงเจริญพระชันษาครบ 5 รอบ ในปี พ.ศ. 2560 ซึ่งหลังจากนั้นจะพบว่าตามโรงพยาบาลและคลินิกต่าง ๆ ได้มีการรณรงค์ในเรื่องของ PrEP กับ PEP กันมากขึ้น มีการทำโปสเตอร์และเอกสารให้ความรู้ในเรื่องนี้กันมากขึ้น ในบทความนี้จึงขอกล่าวถึงข้อมูลเกี่ยวกับ PrEP กับ PEP เพื่อประกอบการพิจารณาตัดสินใจเลือกใช้เพื่อความปลอดภัย โดยปกติแล้วยาคู่นี้ใช้ในกลุ่มเสี่ยงที่อาจมีโอกาสติดเชื้อ HIV ได้ เช่น กลุ่มสาวประเภทสอง กลุ่มชายรักชาย บุคลากรทางการแพทย์ที่เสี่ยงกับการสัมผัสกับผู้ป่วย HIV เช่น แพทย์ พยาบาล นักเทคนิคการแพทย์ เป็นต้น รวมไปถึงผู้ที่ถูกทำร้าย โดนข่มขืน ผู้ที่พลาดหรือประมาทจากการมีเพศสัมพันธ์ และผู้ที่มีคู่ชีวิตติดเชื้อมาแล้ว เป็นต้น โดยยาทั้ง 2 กลุ่มนี้จะมีวิธีการใช้ที่ต่างกัน

            PrEP เป็นยาต้านเชื้อไวรัส HIV ที่ใช้ในผู้ที่มีความเสี่ยงสูงในการติดเชื้อ เป็นยาที่มีประสิทธิภาพสูงหากใช้ตามคำแนะนำ โดยลดโอกาสในการติดเชื้อจากการมีเพศสัมพันธ์ได้ร้อยละ 90 และจากการใช้เข็มฉีดยาได้มากกว่าร้อยละ 70 อย่างไรก็ดี ประสิทธิภาพจะลดลงถ้าไม่ได้มีการใช้ยาอย่างต่อเนื่อง  PrEP เป็นการให้ยา 2 ตัวร่วมกันก่อนการสัมผัสเชื้อคือ ยาทีโนโฟเวียร์ (TDF) ให้ร่วมกับเอ็มทริซิตาบีน (FTC) สามารถป้องกันการติดเชื้อ HIV ได้ร้อยละ 92 ถ้ารับประทานสม่ำเสมอทุกวัน

            กลไกของยา PrEP จะไปสะสมอยู่ในเม็ดเลือดขาวในเลือดและเนื้อเยื่อต่าง ๆ ของร่างกาย รวมทั้งอวัยวะที่เป็นช่องทางเข้าของเชื้อ HIV เช่น ช่องคลอด ปากมดลูก ปากทวารหนัก เยื่อบุอวัยวะสืบพันธุ์ชาย ฯลฯ และเมื่อเชื้อ HIV เข้าไปในร่างกายในช่องทางดังกล่าว เชื้อก็จะถูกยาที่สะสมอยู่ก่อนยับยั้งไม่ให้แบ่งตัว จึงสามารถป้องกันการติดเชื้อได้ และก่อนจะเริ่มรับประทาน PrEP ต้องตรวจเลือดให้แน่ใจก่อนว่าไม่ได้ติดเชื้อมาก่อน และต้องตรวจหาการทำงานของไตโดยไม่จำเป็นต้องรับประทานตลอดชีวิต รับประทานเฉพาะช่วงชีวิตที่คิดว่าจะมีพฤติกรรมเสี่ยง ซึ่งจะรับประทานทุกวัน วันละ 1 เม็ด ซึ่งหากเป็นผู้ที่มีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนักต้องรับประทานติดต่อกัน 7 วัน จึงจะทำให้ยามาสะสมอยู่ที่ทวารหนักที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อมากกว่าการมีเพศสัมพันธ์ทางช่องคลอด 10-30 เท่า ส่วนผู้มีเพศสัมพันธ์ทางช่องคลอดต้องรับประทาน 3 สัปดาห์ จึงจะมียาสะสมที่ช่องคลอด

            ส่วนผลข้างเคียงของยา PrEP เกิดขึ้นได้เล็กน้อยต่อไตและกระดูก แต่หากเทียบกับความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ HIV แล้วถือว่าคุ้มค่ากว่า

            PrEP มีไว้สำหรับ

  • ผู้ที่มีความเสี่ยงสูงต่อการได้รับเชื้อ HIV
  • ผู้ที่อยากเพิ่มการป้องกันต่อการติดเชื้อ HIV
  • ใช้ร่วมกับถุงยางอนามัยเพื่อเพิ่มการป้องกันจากเชื้อ HIV

            ข้อจำกัดของ PrEP คือ

  • PrEP ไม่สามารถปกป้องคนกลุ่มเสี่ยงจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้
  • PrEP ไม่สามารถปกป้องคนกลุ่มเสี่ยงได้ถ้าคุณไม่รับประทานยาตามที่กำหนด
  • PrEP ไม่สามารถฆ่าเชื้อ HIV หรือเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้
  • PrEP มีผลข้างเคียงเพียงเล็กน้อยเมื่อใช้ในระยะเวลาสั้น ๆ และผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นก็มักจะหายไปเองในไม่กี่วัน
  • จากการวิจัย iPrEX OLE study พบว่า การรับประทานยา PrEP 4-7 เม็ดต่อสัปดาห์ (1 เม็ดต่อวัน) สามารถให้การป้องกัน HIV จากการมีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนักได้ที่ 86-99%

            ผู้ที่รับประทานยา PrEP จะสามารถหยุดยาได้เมื่อผู้ที่รับประทานยามีความเสี่ยงในการติดเชื้อน้อยลง และการไม่รับประทานยาทุกวันหรือลืมรับประทานยาอยู่เสมอ ความไม่ต่อเนื่องของการรับประทานยาดังกล่าวจะทำให้ PrEP นั้นไม่มีประสิทธิภาพ ดังนั้น จึงควรใช้การป้องกันด้วยวิธีอื่นจะดีกว่าได้รับผลข้างเคียงจากการใช้ยาจนมีผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน

            PEP ย่อมาจาก Post-Exposure Prophylaxis คือ ยาต้านไวรัสที่จ่ายให้สำหรับผู้ไม่ติดเชื้อ HIV ที่เพิ่งมีการเสี่ยง/สัมผัสเชื้อ HIV มา เนื่องจาก PEP ใช้สำหรับผู้ที่ยังไม่ติดเชื้อ HIV ในการป้องกันการติดเชื้อหลังมีการเสี่ยงเท่านั้น ก่อนเริ่มรับประทานยานี้จึงต้องตรวจเลือดหา HIV ทุกคน

            PEP เป็นยาต้านรีโทรไวรัส (Antiretroviral medicines = ART) ใช้เพื่อป้องกันการติดเชื้อภายหลังจากที่มีการสัมผัสเชื้อแล้ว หากใช้ทันทีจะสามารถลดความเสี่ยงในการติดเชื้อได้ถึงร้อยละ 80 สำหรับการใช้ PEP ควรใช้ในกรณีฉุกเฉินเท่านั้น เพราะใน PEP จะมีตัวยาและขนาดยา (Doses) ที่สูงกว่าที่มีใน PrEP และต้องรับประทานภายใน 72 ชั่วโมงหลังการสัมผัสกับเชื้อ HIV เนื่องจากมีงานวิจัยพบว่า การรับประทาน PEP หลัง 72 ชั่วโมง จะให้ผลได้น้อย หรือไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อได้เลย

            ทั้งนี้การรับประทาน PEP ยิ่งเร็วยิ่งให้ผลดี (Every hour counts) และต้องรับประทานวันละ 1-2 ครั้ง เป็นเวลา 28 วันติดต่อกันจึงจะได้ผลดี หากผู้ที่เสี่ยงเป็นผู้ที่ยังไม่เคยติดเชื้อหรือไม่รู้ว่าตัวเองติดเชื้อหรือไม่ ควรรีบติดต่อแพทย์ทันทีภายใน 72 ชั่วโมงหลังเกิดเหตุการณ์ที่เสี่ยง เช่น

  • อาจได้รับเชื้อระหว่างการมีเพศสัมพันธ์ เช่น ถุงยางอนามัยแตกหรือรั่ว
  • มีการใช้เข็มร่วมกับผู้อื่น
  • ถูกทำร้ายข่มขืน

            แม้ PEP จะมีประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อแต่ก็ไม่สามารถป้องกันได้ทั้งหมด ดังนั้น จึงควรหาวิธีอื่นร่วมด้วย เช่น การใช้ถุงยางอนามัยเพื่อไม่ให้มีการติดเชื้ออีก และเพื่อลดความเสี่ยงในการแพร่เชื้อไปยังผู้อื่นหากปรากฏว่ามีการติดเชื้อระหว่างการรักษาด้วย PEP

ตารางที่ 1 การเปรียบเทียบระหว่าง PrEP กับ PEP (ภาพที่ 1)           

            ในการใช้ทั้ง 2 รูปแบบนั้นต้องรับประทานต่อเนื่องจนกว่าจะแน่ใจว่าไม่มีพฤติกรรมเสี่ยงแล้ว และต้องตรวจหาการติดเชื้อทุก 3 เดือน ทั้งนี้คนที่รับประทาน PrEP ยังต้องใช้ถุงยางอนามัยและเข็มฉีดยาที่สะอาดในการป้องกันร่วมด้วย

            จากข้อมูลข้างต้นจะเห็นว่า ทั้ง PrEP กับ PEP ถึงแม้ว่าจะสามารถป้องกันการติดเชื้อ HIV ได้ แต่ก็ยังไม่ 100% ดังนั้น จึงแนะนำว่าอย่าได้มีพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อจะเป็นการดีที่สุด แต่ถ้าเลี่ยงไม่ได้ก็ควรเลือกใช้วิธีดังได้กล่าวมาแล้วที่เหมาะสมต่อไป

เอกสารอ้างอิง

  1. สิ่งที่คุณต้องรู้เกี่ยวกับเพร็พ (PrEP). http://www.silomclinic.in.th/file/infographic/02-2016/
  2. วันทนีย์ โลหะประกิตกุล. “เพร็พ” และ “เป็ป” ก็ต้านเอดส์เหมือนกัน (ตอนที่ 1). http://haamor.com/th/เพร็พและเป็ปก็ต้านเอดส์เหมือนกัน-1/
  3. วันทนีย์ โลหะประกิตกุล. “เพร็พ” และ “เป็ป” ก็ต้านเอดส์เหมือนกัน (ตอนที่ 2). http://haamor.com/th/เพร็พและเป็ปก็ต้านเอดส์เหมือนกัน-2/
  4. วันทนีย์ โลหะประกิตกุล. “เพร็พ” และ “เป็ป” ก็ต้านเอดส์เหมือนกัน (ตอนที่ 3 และตอนจบ). http://haamor.com/th/เพร็พและเป็ปก็ต้านเอดส์เหมือนกัน-3/
  5. Post-exposure prophylaxis to prevent HIV infection. http://www.who.int/hiv/topics/prophylaxis/info/en/