จับตาร่างพระราชบัญญัติฉบับใหม่ รอบครึ่งปี พ.ศ.2560

จับตาร่างพระราชบัญญัติฉบับใหม่ รอบครึ่งปี พ.ศ. 2560

 ภก.ปรุฬห์ รุจนธำรงค์

            ช่วงครึ่งปี พ.ศ. 2560 นี้มีร่างพระราชบัญญัติที่น่าจับตาหลายฉบับซึ่งอาจจะพิจารณาเป็นพระราชบัญญัติในอนาคตอันใกล้ อันจะมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงและควบคุมประเภทผลิตภัณฑ์ การวิจัยในมนุษย์ การแก้ไขระบบบริการสาธารณสุข โดยเฉพาะร่างพระราชบัญญัติผลิตภัณฑ์สมุนไพร พ.ศ. .... ซึ่งจะส่งผลให้ผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรมาอยู่ภายใต้การดูแลตามกฎหมายฉบับนี้ นอกจากนี้ยังมีร่างประมวลกฎหมายยาเสพติดซึ่งอาจมีแนวโน้มเปิดช่องให้ยาเสพติดให้โทษประเภท 5 เช่น กัญชาหรือพืชกระท่อม สามารถนำมาใช้เพื่อการบำบัดรักษาโรค หรือเพื่อประโยชน์ในการศึกษาวิจัย ด้านการวิจัยในมนุษย์ก็มีร่างพระราชบัญญัติการวิจัยในมนุษย์ พ.ศ. .... ซึ่งจะวางหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการวิจัยในมนุษย์ มีบทลงโทษทั้งทางปกครองและทางอาญาต่อผู้ฝ่าฝืน และร่างพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ซึ่งจะมีการแก้ไขในหลายประเด็น ทั้งด้านการบริหารจัดการและการใช้งบประมาณ

            ความคืบหน้าของร่างพระราชบัญญัติทั้ง 4 ฉบับ มีดังนี้

            1. ร่างพระราชบัญญัติผลิตภัณฑ์สมุนไพร พ.ศ. .... คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2560 ดังนี้1

            (1) อนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติผลิตภัณฑ์สมุนไพร พ.ศ. .... มีสาระสำคัญเป็นการกำหนดให้มีกฎหมายว่าด้วยผลิตภัณฑ์สมุนไพร เพื่อเป็นกลไกในการควบคุม กำกับ ดูแลเป็นการเฉพาะ สำหรับผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรที่เป็นยาแผนไทย ยาแผนโบราณ และผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรที่ใช้เพื่อการส่งเสริมสุขภาพ ตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้รับความเห็นของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และสำนักงานศาลยุติธรรม อาทิ พืชที่ใช้ในการแปรรูปหรือนำมาเป็นผลิตภัณฑ์สมุนไพรเป็นพืชอนุรักษ์ตามพระราชบัญญัติพันธุ์พืช พ.ศ. 2518 และที่แก้ไขเพิ่มเติม การนำเข้า ส่งออก หรือนำผ่านจะต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติดังกล่าว และพิจารณาเพิ่มความสำคัญกับข้อกำหนดเกี่ยวกับผลการตรวจวิเคราะห์เชื้อจุลินทรีย์ปนเปื้อน ผลการวิเคราะห์โลหะหนัก และสารเคมีกำจัดโรคแมลงศัตรูพืชตามมาตรฐานความปลอดภัย เพื่อให้ครอบคลุมทั้งวัตถุดิบและกระบวนการผลิตผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่อาจมีการปนเปื้อนของโลหะหนักหรือสารเคมีกำจัดโรคแมลงศัตรูพืชและเชื้อจุลินทรีย์ รวมทั้งควรมีหลักเกณฑ์ในการพิจารณาผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่ต้องอยู่ภายใต้บังคับตามร่างพระราชบัญญัตินี้หรือตามพระราชบัญญัติยา พ.ศ. 2510 เพื่อให้สามารถปฏิบัติตามกฎหมายได้อย่างถูกต้องและชัดเจนยิ่งขึ้นไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณา ก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป

            (2) รับทราบแผนในการจัดทำกฎหมายลำดับรองและกรอบระยะเวลาของร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ

            (3) ให้กระทรวงสาธารณสุขรับความเห็นของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเกี่ยวกับการนำแนวทางประชารัฐมาใช้ร่วมพัฒนาสมุนไพรในระดับพื้นที่ ได้แก่ การผลักดันให้มีการบรรจุแผนการพัฒนาสมุนไพรเข้าเป็นส่วนหนึ่งของแผนพัฒนาจังหวัด การกำหนดรูปแบบของการร่วมลงทุนพัฒนาสมุนไพร การสำรวจพื้นที่ที่มีศักยภาพในการเพาะปลูกสมุนไพร ส่งเสริม สนับสนุนการใช้สมุนไพรของหมอพื้นบ้าน ขยายช่องทางการใช้ประโยชน์สมุนไพร การเพิ่มมูลค่าและการตลาดไปพิจารณาดำเนินการด้วย

            ขณะเดียวกันนายกรัฐมนตรีมีข้อสั่งการเกี่ยวกับการสนับสนุนสมุนไพร โดยให้กระทรวงสาธารณสุขเป็นหน่วยงานหลักร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดการดำเนินการให้มีการนำสมุนไพรไปใช้ประโยชน์ในส่วนราชการให้เป็นรูปธรรมภายในปี พ.ศ. 2560 เพื่อสนับสนุนให้เศรษฐกิจของประเทศเกิดการพึ่งพาตนเอง ประหยัดงบประมาณ และเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกรและผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องนั้น ให้ส่วนราชการดำเนินการ นอกจากนี้ให้กระทรวงสาธารณสุขเร่งรัดดำเนินการส่งเสริมผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทยในปัจจุบันให้มีการพัฒนาคุณภาพให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศให้มากยิ่งขึ้น โดยให้เกิดผลเป็นรูปธรรมภายใน 3 เดือน รวมทั้งให้มีการพิจารณานำผลิตภัณฑ์ยาสมุนไพรของไทยมาใช้ประโยชน์สำหรับการรักษาพยาบาลของสถานพยาบาลต่าง ๆ ให้มากยิ่งขึ้นด้วย ด้านการเพาะปลูกให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์พิจารณาดำเนินการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการเพาะปลูกพืชของเกษตรกรให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ โดยส่งเสริมให้เกษตรกรเพาะปลูกพืชสมุนไพรให้มากยิ่งขึ้นเพื่อนำมาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ยาสมุนไพรต่อไป ด้านการส่งเสริมสมุนไพรให้ทุกส่วนราชการจัดให้มีตู้ยาสมุนไพรประจำทุกส่วนราชการเพื่อส่งเสริมการใช้ยาสมุนไพรให้แพร่หลาย2

            เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2560 กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกได้นำร่างพระราชบัญญัติผลิตภัณฑ์สมุนไพร พ.ศ. .... เผยแพร่รับฟังความเห็นผ่านทางเว็บไซต์ของกรม สามารถดูรายละเอียดได้ที่ https://goo.gl/mDk92X

            2. ร่างประมวลกฎหมายยาเสพติด สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดได้รับฟังความคิดเห็นต่อร่างประมวลกฎหมายยาเสพติด ระหว่างวันที่ 15-30 มิถุนายน พ.ศ. 2560 ซึ่งกำลังมีการรับฟังความเห็นใน 25 ประเด็น ดังนี้3

            (1) การจัดทำนโยบายและแผนระดับชาติ ว่าด้วยการป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติด

            (2) การกำหนดให้มีคณะกรรมการเพื่อเป็นกลไกการแก้ไขปัญหายาเสพติด จำนวน 4 คณะ ประกอบด้วย คณะกรรมการ ป.ป.ส. เพื่อทำหน้าที่ในการกำหนดนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยการป้องกัน ปราบปรามและแก้ไขปัญหายาเสพติด คณะกรรมการควบคุมยาเสพติดทำหน้าที่เกี่ยวกับการควบคุมและการขออนุญาตเกี่ยวกับยาเสพติด คณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินทำหน้าที่เกี่ยวกับการวินิจฉัยว่าทรัพย์สินของผู้ต้องหาเกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดหรือไม่ และคณะกรรมการบำบัดรักษาฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดทำหน้าที่เกี่ยวกับการบำบัดรักษาและกำกับ ติดตาม ดูแลช่วยเหลือผู้เสพยาเสพติด

            (3) การกำหนดให้คณะกรรมการ ป.ป.ส. มีอำนาจกำหนดเขตพื้นที่หนึ่งพื้นที่ใดเป็นพื้นที่เพื่อทดลองเพาะปลูกพืชเสพติดหรือทดลอง ทดสอบผลิตยาเสพติดหรือให้เสพหรือครอบครองยาเสพติดตามประเภท ชนิดและปริมาณที่กำหนด ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ในการศึกษา วิจัย การป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติดและลดอันตรายจากยาเสพติด โดยให้อยู่ภายใต้การควบคุมตามพระราชกฤษฎีกา

            (4) การกำหนดให้สามารถอนุญาตให้เสพยาเสพติดให้โทษประเภท 5 เช่น กัญชาหรือพืชกระท่อม เพื่อการบำบัดรักษาโรค หรือเพื่อประโยชน์ในการศึกษาวิจัย

            (5) การปรับปรุงอัตราโทษในคดียาเสพติดที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน โดยการกำหนดให้มีอัตราโทษที่มีความแตกต่างกันตามพฤติการณ์และระดับความร้ายแรงของการกระทำความผิด

            (6) การคงกำหนดโทษประหารชีวิตในคดียาเสพติด ในกรณีที่ผู้กระทำความผิดเป็นผู้ผลิต นายทุนหรือผู้ค้ายาเสพติดรายใหญ่

            (7) การคงกำหนดโทษประหารชีวิตในคดียาเสพติด ในกรณีที่ผู้กระทำความผิดเป็นผู้ผลิต นายทุนหรือผู้ค้ายาเสพติดรายใหญ่

            (8) การกำหนดให้การไม่ปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับการอนุญาต เช่น การที่ผู้ได้รับอนุญาตให้จำหน่ายยาเสพติดให้โทษประเภท 3 เช่น ร้านขายยาไม่จัดให้มีป้ายเพื่อแสดงว่าเป็นสถานที่จำหน่ายยาเสพติดให้โทษประเภท 3 ไม่เป็นความผิดทางอาญาที่มีโทษจำคุก แต่กำหนดให้เป็นความผิดทางปกครองที่มีโทษเป็นการตักเตือน การสั่งพักใช้หรือเพิกถอนใบอนุญาตแทน

            (9) การกำหนดโทษสำหรับนิติบุคคล หากนิติบุคคลนั้นมีส่วนร่วมกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด

            (10) การกำหนดให้ในกรณีที่พนักงานสอบสวนส่งสำนวนให้พนักงานอัยการแล้ว หากพนักงานอัยการเห็นควรแจ้งข้อหาสมคบหรือสนับสนุนหรือช่วยเหลือเพิ่มเติมกับผู้ต้องหา ให้พนักงานอัยการมีอำนาจอนุมัติให้พนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาฐานสมคบหรือฐานสนับสนุนหรือช่วยเหลือแก่ผู้ต้องหา เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินคดี

            (11) การกำหนดให้เจ้าพนักงาน ป.ป.ส. หรือพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจที่ได้รับอนุญาตจากเลขาธิการ ป.ป.ส. หรือผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ หรือผู้ได้รับมอบหมายแล้วแต่กรณีมีอำนาจในการใช้เครื่องมือสื่อสาร หรือเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ เพื่อสะกดรอยติดตามผู้ต้องสงสัยว่ากระทำความผิดหรือจะกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการสืบสวนรวบรวมพยานหลักฐานดำเนินคดีแก่ผู้กระทำความผิด

            (12) การกำหนดให้การกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดเป็นความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ เพื่อให้สามารถดำเนินการปิดกั้นการเข้าถึงข้อมูลเว็บไซต์

            (13) การกำหนดให้การกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดเป็นความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ เพื่อให้สามารถดำเนินการปิดกั้นการเข้าถึงข้อมูลเว็บไซต์

            (14) การกำหนดให้คณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินมีอำนาจมอบหมายให้คณะอนุกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินทำหน้าที่วินิจฉัยว่าทรัพย์สินผู้ต้องหาเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดแทนคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินได้

            (15) การกำหนดให้ในกรณีที่ศาลมีคำสั่งให้ริบทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดของจำเลยแล้ว แต่หากไม่สามารถบังคับคดีแก่ทรัพย์สินนั้นได้ ให้บังคับคดีเอาแก่ทรัพย์สินอื่นของจำเลยหรือผู้ถูกตรวจสอบได้ แต่ต้องไม่เกินมูลค่าของทรัพย์สินนั้น

            (16) การกำหนดให้ทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดของผู้ต้องหาหรือจำเลย เมื่อศาลได้มีคำสั่งให้ริบแล้ว ให้ทรัพย์สินนั้นตกเป็นของกองทุนป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติด เพื่อใช้ประโยชน์ในการป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติด

            (17) การกำหนดให้ผู้เสพยาเสพติดที่สมัครใจและเข้ารับการบำบัดรักษาจนครบถ้วนตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดแล้ว พ้นจากความผิดฐานเสพยาเสพติด

            (18) การกำหนดให้ในกรณีที่เจ้าพนักงาน ป.ป.ส. หรือพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจเมื่อตรวจพบผู้เสพยาเสพติด ให้เจ้าพนักงานสอบถามผู้นั้นว่าจะยินยอมเข้ารับการบำบัดรักษาหรือไม่ หากผู้นั้นยินยอมก็ให้เจ้าพนักงานส่งตัวผู้นั้นไปยังสถานพยาบาลยาเสพติดหรือศูนย์คัดกรองเพื่อเข้ารับการบำบัดรักษาโดยไม่มีการดำเนินคดีกับผู้นั้น แต่หากไม่ยินยอมก็ให้แจ้งไปยังพนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อไป

            (19) การกำหนดให้การดำเนินคดีกับผู้เสพ จะมีการนำมาตรการอื่นแทนการดำเนินคดีอาญา หรือมาตรการอื่นแทนการลงโทษมาใช้บังคับ

            (20) การกำหนดให้เจ้าพนักงาน ป.ป.ส. หรือพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจมีอำนาจตรวจหาสารเสพติดในปัสสาวะ

            (21) การกำหนดให้เจ้าพนักงาน ป.ป.ส. หรือพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจมีอำนาจให้ผู้เสพอยู่ในความดูแลได้เป็นเวลาไม่เกิน 24 ชั่วโมง ก่อนส่งไปยังศูนย์คัดกรองหรือสถานพยาบาลเพื่อให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการตรวจสอบชื่อ อาชีพ ที่อยู่ ประวัติ รายได้ และพฤติการณ์อื่นของผู้นั้น

            (22) การกำหนดให้มีคณะกรรมการบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดที่อยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงสาธารณสุข เพื่อทำหน้าที่กำหนดนโยบายหรือมาตรการเกี่ยวกับการบำบัดรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพทางสังคมแก่ผู้เสพยาเสพติด รวมถึงมีอำนาจในการกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในส่วนที่เกี่ยวข้อง

            (23) การกำหนดให้มีคณะอนุกรรมการบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติดในทุกจังหวัด เพื่อควบคุมและกำกับดูแลการดำเนินงานเกี่ยวกับการบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดในระดับพื้นที่

            (24) การกำหนดให้มีคณะอนุกรรมการฟื้นฟูสภาพทางสังคมและดูแลช่วยเหลือผู้ติดยาเสพติดในทุกจังหวัด เพื่อสนับสนุน กำกับ ติดตาม ดูแล เกี่ยวกับการฟื้นฟูสภาพทางสังคมและดูแลช่วยเหลือผู้ติดยาเสพติดและผู้ผ่านการบำบัดรักษา

            (25) การกำหนดให้กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข และกรุงเทพมหานคร เป็นผู้รับผิดชอบในการติดตาม ดูแล ให้คำปรึกษา แนะนำ ให้ความช่วยเหลือ และสงเคราะห์แก่ผู้เข้ารับการบำบัดรักษา

            3. ร่างพระราชบัญญัติการวิจัยในมนุษย์ พ.ศ. .... ร่างพระราชบัญญัตินี้คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติหลักการเมื่อวันที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2558 ขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติรับฟังความเห็นร่างพระราชบัญญัตินี้ผ่านทางเว็บไซต์4 และเชิญผู้เกี่ยวข้องเข้าร่วมการประชุมรับฟังความคิดเห็นต่อร่างพระราชบัญญัติการวิจัยในมนุษย์ ในวันที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2560 ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าร่างกฎหมายฉบับนี้ไม่ได้มีความเข้าใจเรื่องการวิจัยในมนุษย์อย่างเพียงพอ ไม่ครอบคลุมอาสาสมัครวิจัยตามหลักสากล และอาจจะเป็นปัญหาและอุปสรรคต่อการวิจัยของประเทศอีกด้วย

            4. ร่างพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... มีการรับฟังความเห็นทางเว็บไซต์ www.lawamendment.go.th ระหว่างวันที่ 2-18 มิถุนายน พ.ศ. 2560 และมีเวทีประชาพิจารณ์ใน 4 ภาค ซึ่งจะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2560 โดยมีประเด็นประชาพิจารณ์จำนวน 14 ประเด็นหลัก ดังนี้5

            (1) การจ่ายเงินให้กับหน่วยงาน/องค์กรที่ไม่มีสิทธิได้รับตามกฎหมาย

            (2) กรอบการใช้เงินกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

            (3) การจ่ายเงินโดยตรงแก่บุคคล ไม่จ่ายผ่านหน่วยบริการตามกฎหมายกำหนด

            (4) เงินเหมาจ่ายรายหัวกับเงินที่ได้จากผลงานบริการให้รับเข้าเป็นรายได้ของหน่วยบริการ เป็นค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องและจำเป็น และใช้ตามระเบียบเงินบำรุงฯ ได้

            (5) นิยาม “บริการสาธารณสุข” คือ บริการด้านการแพทย์และสาธารณสุขซึ่งให้แก่บุคคล

            (6) เงินช่วยเหลือเบื้องต้นแก่ผู้ให้บริการ ครอบคลุมทุกสิทธิ

            (7) เงินช่วยเหลือเบื้องต้นแก่ผู้รับบริการ ครอบคลุมทุกสิทธิ และยกเลิกการไล่เบี้ย

            (8) การจัดระบบหลักประกันสุขภาพให้ครอบคลุมทุกคนที่อยู่บนแผ่นดินไทย

(9) การร่วมจ่ายค่าบริการ

            (10) การจัดซื้อร่วมยา เวชภัณฑ์ อุปกรณ์ทางการแพทย์

            (11) องค์ประกอบ จำนวน อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

            (12) องค์ประกอบ จำนวน อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุข

            (13) แยกเงินค่าใช้จ่ายของหน่วยบริการในส่วนเงินเดือนและค่าตอบแทนบุคลากรส่วนที่จ่ายจากเงินงบประมาณของหน่วยบริการภาครัฐออกจากงบเหมาจ่ายรายหัวของกองทุนฯ

            (14) การใช้จ่ายเงินบริหารของ สปสช. ไม่ต้องส่งคืนคลังเพื่อความคล่องตัว และการปรับปรุงคุณสมบัติของเลขาธิการ สปสช.

เอกสารอ้างอิง

1.        สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (2560). มติคณะรัฐมนตรี วันที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2560 เรื่อง ร่างพระราชบัญญัติผลิตภัณฑ์สมุนไพร พ.ศ. ....

2.        สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (2560). ข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี. หนังสือด่วนที่สุดที่ นร 0505/ว 8 ลงวันที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2560

3.        สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (2560). ป.ป.ส. ขอเชิญทุกท่านร่วมแสดงความคิดเห็นต่อร่างประมวลกฎหมายยาเสพติด [ออนไลน์]. สืบค้นจาก https://goo.gl/ZU683m (วันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2560)

4.        สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (2560). การรับฟังความคิดเห็นร่างพระราชบัญญัติการวิจัยในคน พ.ศ. .... [ออนไลน์]. สืบค้นจาก  http://www.nrct.go.th/NewsSection/tabid/78/ctl/ArticleView/mid/388/articleId/2289/---.aspx#.WU4LDuuGPIV (วันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2560)

5.        Hocus (2560). เปิดประชาพิจารณ์ กฎหมายบัตรทอง 3 รูปแบบ 2-18 มิ.ย.นี้ [ออนไลน์]. สืบค้นจาก https://www.hfocus.org/content/2017/06/14031 (วันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2560)