วัคซีนอีสุกอีใส และวัคซีนงูสวัด แตกต่างกันอย่างไร

วัคซีนอีสุกอีใส และวัคซีนงูสวัด แตกต่างกันอย่างไร

อ.ภก.สิกขวัฒน์ นักร้อง คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต

            หลายท่านอาจจะเกิดความสงสัยว่า วัคซีนอีสุกอีใส และวัคซีนงูสวัด แตกต่างกันอย่างไร เพราะจากที่ได้เรียนและรู้กันมาตลอดว่า โรคอีสุกอีใส และโรคงูสวัด นั้นเกิดจากเชื้อไวรัสชนิดเดียวกันคือ ไวรัส varicella zoster โดยหากเกิดการติดเชื้อไวรัสชนิดนี้ในครั้งแรกจะทำให้เป็นโรคอีสุกอีใส หลังจากโรคหาย เชื้อไวรัสนี้จะยังคงอยู่ในร่างกายต่อไป จนเมื่อถึงระยะเวลาหลังการถูกกระตุ้นให้เกิดโรค เชื้อนี้จะกำเริบอีกครั้งเกิดเป็นโรคงูสวัด

            โรคอีสุกอีใสจะทำให้อาการเป็นไข้ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามลำตัว และจะเกิดตุ่มน้ำใสขึ้นทั่วร่างกาย ส่วนโรคงูสวัดอาจพบอาการเป็นไข้หรือไม่พบ แต่จะเกิดตุ่มน้ำใสขึ้นในเฉพาะบางที่เท่านั้น เช่น รอบเอว ทั้งนี้ เชื้อไวรัส varicella zoster ในบางรายอาจทำให้เกิดผลอย่างรุนแรงจนเป็นสาเหตุทำให้เสียชีวิตได้ โดยเฉพาะเด็กและผู้ใหญ่ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง ซึ่งมักจะเสียชีวิตจากโรคแทรกซ้อนอื่น เช่น การติดเชื้อแบคทีเรีย และเกิดอาการสมองอักเสบ นอกจากนี้ผู้ป่วยงูสวัดมักจะมีอาการปวดและทรมานจากการปวดเส้นประสาท(1-3)

            โดยอาการปวดเหตุเส้นประสาทที่เกิดจากเชื้อไวรัสงูสวัด(4) มี 2 กลุ่มอาการหลัก คือ

            กลุ่มที่ 1 อาการปวด/เจ็บ เกิดขณะที่ยังมีแผลของงูสวัด เรียกว่า herpetic neuralgia หรืออาการปวดที่นำมาก่อนจะมีตุ่มน้ำใสเกิดขึ้น ก็เรียกว่า herpetic neuralgia เช่นกัน

            กลุ่มที่ 2 แผล/ตุ่มจากโรคงูสวัดหายดีแล้วตั้งแต่ 3 เดือนขึ้นไป ถึงหลายปี แต่ยังมีอาการปวดบริเวณที่เคยเป็นแผลงูสวัดนั้น หรืออาการปวดช่วงแรกหายไปนานแล้ว แต่กลับมามีอาการปวดแบบเดิมอีกบริเวณที่เคยเป็นงูสวัดนั้น เรียกว่า postherpetic neuralgia

            ซึ่งอาการเหล่านี้สร้างความทุกข์ทรมานให้แก่ผู้ป่วยงูสวัดที่เป็นแล้วเป็นอีกเป็นอย่างมาก ดังนั้น โดยทั่วไปแล้วอาการแทรกซ้อนที่พบบ่อยที่สุดคือ อาการปวดเส้นประสาท (postherpetic neuralgia) สามารถพบได้ถึงร้อยละ 40-44 ภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ได้อีก เช่น การติดเชื้อแบคทีเรีย ตาอักเสบ แผลที่กระจกตา ภาวะแทรกซ้อนที่หู ขณะที่ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำมาก ๆ อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงมากกว่า และแพร่กระจายได้ เช่น สมองอักเสบ หรือปอดอักเสบ ซึ่งพบได้ไม่มากนัก

รูปที่ 1 อาการของผู้ป่วยงูสวัด(5)

            ปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันการติดเชื้อไวรัส varicella zoster อยู่ 2 ประเภท คือ วัคซีนป้องกันอีสุกอีใส และ วัคซีนป้องกันงูสวัด ถึงแม้วัคซีนทั้ง 2 ชนิดนี้จะป้องกันการติดเชื้อเดียวกัน แต่ไม่สามารถนำมาใช้แทนกันได้  จากประวัติความเป็นมาพบว่าวัคซีนป้องกันอีสุกอีใส (Varicella vaccine) ถูกนำมาใช้ครั้งแรกในปี ค.ศ. 1995 จะทำการฉีดเข็มแรกเมื่อเด็กอายุ 1 ปี และเข็มที่ 2 เมื่ออายุ 4-6 ปี ส่วนวัคซีนป้องกันงูสวัดได้รับการยอมรับให้ใช้ในสหรัฐอเมริกาเมื่อปี ค.ศ. 2006 ซึ่งผู้ที่ได้รับคำแนะนำให้ฉีดวัคซีนนี้ ได้แก่ ผู้สูงอายุที่มีอายุมากกว่า 60 ปีทั้งที่มีประวัติเคยเป็นอีสุกอีใสและไม่เคยเป็นอีสุกอีใส ในกรณีที่ผู้ป่วยเป็นงูสวัดแบบเป็น ๆ หาย ๆ ก็สามารถฉีดวัคซีนนี้ได้เพื่อป้องกันการเกิดงูสวัดในอนาคต แต่ต้องแน่ใจว่าไม่ได้มีอาการของงูสวัดในวันที่ได้รับวัคซีน วัคซีนนี้มีผลกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ 5 ปี จากการศึกษาพบว่าวัคซีนนี้ลดความเสี่ยงในการเกิดงูสวัดได้ร้อยละ 51 และลดความเสี่ยงในการเกิด postherpetic neuralgia ได้ร้อยละ 67 เมื่อเทียบกับผู้ที่เป็นงูสวัดแต่ไม่ได้รับวัคซีน สำหรับประเทศไทยทางราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทยได้ทำการแนะนำการฉีดวัคซีนป้องกันงูสวัดไว้เช่นเดียวกัน

ความแตกต่างของวัคซีนอีสุกอีใส และวัคซีนงูสวัด

ตารางที่ 1 ข้อมูลของวัคซีนอีสุกอีใส และวัคซีนงูสวัด (ภาพที่ 2)

ตารางที่ 2 ข้อแตกต่างในการฉีดวัคซีนอีสุกอีใส และงูสวัด (ภาพที่ 3)

ข้อห้ามในการให้วัคซีนป้องกันงูสวัด

  1. ผู้ที่แพ้เจลาติน หรือยานีโอมัยซิน หรือแพ้ส่วนประกอบต่าง ๆ ของวัคซีน
  2. ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่องจากสาเหตุต่าง ๆ เช่น ติดเชื้อ HIV หรือโรคที่มีผลกับระบบภูมิคุ้มกัน ผู้ที่ได้รับยากดภูมิคุ้มกัน ผู้ป่วยมะเร็งที่ได้รับการรักษาด้วยรังสี หรือผู้ป่วยมะเร็งเกี่ยวกับไขกระดูกหรือระบบน้ำเหลือง
  3. หญิงตั้งครรภ์ ผู้ที่ได้รับวัคซีนงูสวัดหากต้องการตั้งครรภ์ ควรห่างจากวันที่ได้รับวัคซีนอย่างน้อย 4 สัปดาห์

            วัคซีนนี้มีผลกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ 5 ปี จากการศึกษาพบว่าวัคซีนนี้ลดความเสี่ยงในการเกิดงูสวัดได้ร้อยละ 51 และลดความเสี่ยงในการเกิด postherpetic neuralgia ได้ร้อยละ 67 เมื่อเทียบกับผู้ที่เป็นงูสวัดแต่ไม่ได้รับวัคซีน

            จากข้อมูลข้างต้นทำให้เห็นได้ว่าวัคซีนงูสวัดจะมีประโยชน์สำหรับผู้ป่วยในแต่ละกรณีที่ไม่เหมือนกัน มีทั้งข้อมูลที่ยังไม่ทราบและข้อจำกัดต่าง ๆ ในการใช้ ดังนั้น ก่อนฉีดควรปรึกษาแพทย์หรือบุคลากรทางการแพทย์เพื่อพิจารณาในด้านต่าง ๆ ก่อน

เอกสารอ้างอิง

  1. กฤษณ์ ถิรพันธุ์เมธี. วัคซีนงูสวัด. http://www.pharmacy.mahidol.ac.th/th/knowledge/article/วัคซีนงูสวัด/
  2. ศิวัสว์ ผุลลาภิวัฒน์. วัคซีนงูสวัด. http://haamor.com/th/วัคซีนงูสวัด/
  3. วัคซีนอีสุกอีใส และวัคซีนงูสวัด. http://thaihealthlife.com/วัคซีนอีสุกอีใส/
  4. สมศักดิ์ เทียมเก่า. ปวดเหตุเส้นประสาทงูสวัด (Herpetic and postherpetic neuralgia). http://haamor.com/th/ปวดเหตุเส้นประสาทงูสวัด/
  5. งูสวัด 20 คำถามคาใจ โรคนี้เป็นอย่างไรได้รู้กัน. https://health.kapook.com/view131570.html