การรักษาด้วยยาขับปัสสาวะในห้องฉุกเฉิน ลดโอกาสการเสียชีวิตในผู้ป่วยหัวใจวาย

การรักษาด้วยยาขับปัสสาวะในห้องฉุกเฉิน ลดโอกาสการเสียชีวิตในผู้ป่วยหัวใจวาย

            Medscape Medical News: การศึกษาแบบ observational study ในประเทศญี่ปุ่นชื่อ REALITY-AHF ในกลุ่มผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจวายอย่างเฉียบพลัน (acute heart failure: AHF) พบข้อมูลที่น่าสนใจว่า การให้การรักษาด้วยยาขับปัสสาวะชนิดฉีดภายใน 1 ชั่วโมงหลังเข้ามาที่ห้องฉุกเฉินสามารถลดอัตราการเสียชีวิตลงได้อย่างมีนัยสำคัญ

            Dr.Yuya Matsue จาก Kameda Medical Center และคณะผู้วิจัยในประเทศญี่ปุ่น กล่าวว่า แผนกฉุกเฉินเป็นแผนกที่มีความสำคัญและมีบทบาทอย่างมากสำหรับการรักษาผู้ป่วย AHF และเนื่องจากกลุ่มยาขับปัสสาวะชนิด loop diureticsโดยเฉพาะยา furosemide ชนิดฉีดเป็นยาที่มีบทบาทในการรักษาผู้ป่วยกลุ่มนี้ Dr.Matsue และคณะจึงทำการศึกษาแบบ perspective study เพื่อหาความสัมพันธ์ระหว่างการใช้ยา furosemide ชนิดฉีดในห้องฉุกเฉิน กับผลของการรักษาภาวะ AHF ในผู้ป่วยจำนวน 1,291 ราย โดยจับเวลาตั้งแต่ผู้ป่วยมาถึงห้องฉุกเฉินจนถึงเวลาที่ได้รับยา (door-to-furosemide: D2F) แล้วแยกเป็น 2 กลุ่มคือ กลุ่มที่ได้รับยาเร็วภายใน 1 ชั่วโมง และกลุ่มที่ได้รับยาช้ากว่านั้น ซึ่งผลการศึกษาพบว่าผู้ป่วย AHF มี D2F เป็นค่ามัธยฐาน (median) 90 นาที โดยมีผู้ป่วยที่ได้รับยาภายใน 1 ชั่วโมง คิดเป็น 37.3% ที่เหลือได้รับการรักษาหลังจากนั้น ผู้ป่วยที่ได้รับยาเร็วมีอัตราการเสียชีวิตในโรงพยาบาลน้อยกว่ากลุ่มที่ได้รับยาช้ากว่าอย่างมีนัยสำคัญ ทางสถิติ (2.3% เทียบกับ 6.0%, p = 0.002)

ผู้วิจัยกล่าวว่าผลการศึกษานี้แสดงให้เห็นว่า ในผู้ป่วยที่มีภาวะ AHF การได้รับการรักษาด้วยยาขับปัสสาวะทันทีที่มาถึงห้องฉุกเฉินจะสามารถช่วยลดอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยลงได้