ความรู้สึกโดดเดี่ยว (loneliness) อาการเริ่มต้นของอัลไซเมอร์?

ความรู้สึกโดดเดี่ยว (loneliness) อาการเริ่มต้นของอัลไซเมอร์?

            อาการเริ่มต้นของคนที่จะเป็นอัลไซเมอร์นั้นมีหลากหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นอาการตรงไปตรงมาอย่าง ความจำสั้น หลงลืมง่าย ขาดสมาธิ หรืออาการที่ไม่เกี่ยวกับความจำนัก เช่น หงุดหงิดง่าย ขี้โมโห ฯลฯ แต่เมื่อเร็ว ๆ นี้นักวิจัยเริ่มพบว่า อาการรู้สึกโดดเดี่ยวก็อาจเป็นอาการเริ่มต้นที่พบได้ในคนที่เริ่ม ๆ จะเป็นโรคอัลไซเมอร์

            นักวิจัยที่ศูนย์วิจัยและรักษาโรคอัลไซเมอร์เมืองบริกแฮมและโรงพยาบาลหญิงในเมืองบอสตัน ได้ร่วมกันวิจัยและสังเกตเห็นดังกล่าว

            นักวิจัยได้นำอาสาสมัครสูงวัยอายุเฉลี่ย 76.4 ปี จำนวน 79 รายมาร่วมการวิจัย อาสาสมัครเหล่านี้ยังคงมีความจำหรือการทำงานของสมองที่ปกติเมื่อเริ่มต้นการวิจัย

            ในจำนวนทั้งหมดนี้มี 22 ราย หรือร้อยละ 28 ตรวจพบระดับโปรตีนอมีลอยด์ (APOEε4: สารพันธุกรรมแสดงว่าเสี่ยงต่อการเป็นโรคอัลไซเมอร์) เป็นบวก ส่วนอีก 25 ราย หรือร้อยละ 32 ตรวจพบสารอมีลอยด์ในเนื้อสมอง (ด้วยวิธี Pittsburgh compound B-positron emission tomography: PiB-PET) ที่เหลือก็เป็นอาสาสมัครสูงอายุปกติ

            นักวิจัยให้อาสาสมัครเหล่านี้ตอบแบบสอบถามที่เรียกว่า three-item UCLA Loneliness Scale ถามอาสาสมัครทำนองนี้ “บ่อยแค่ไหนที่ท่านรู้สึกว่าขาดคนเป็นเพื่อน” “บ่อยแค่ไหนที่ท่านรู้สึกถูกทอดทิ้ง” “บ่อยแค่ไหนที่ท่านรู้สึกถูกแยกออกจากคนอื่น ๆ”

            คะแนนที่ให้ก็มี 4 ระดับ ตั้งแต่ไม่เคยเลย จนถึงบ่อย ๆ ยิ่งคะแนนเยอะหมายความว่ายิ่งโดดเดี่ยว

            คะแนนเฉลี่ยที่ได้คือ 5.3

            จากการวิเคราะห์ข้อมูล นักวิจัยพบว่าอาสาสมัครกลุ่มที่มีสารอมีลอยด์ในสมองให้คะแนนแบบสอบถามนี้สูงกว่าอาสาสมัครอื่น ๆ ถึง 7.5 เท่า

            ในอีกกลุ่มหนึ่งคือ พวกที่มีกรรมพันธ์ุของโรคอัลไซเมอร์ก็ให้คะแนนความโดดเดี่ยวสูงกว่ากลุ่มปกติเช่นกัน เพียงแต่ไม่สูงเท่ากลุ่มแรก

            นักวิจัยคิดว่า เป็นไปได้ที่ช่วงแรก ๆ ที่สมองเริ่มเสื่อมจากโรคอัลไซเมอร์จะมีการเสื่อมถอยอ่อน ๆ ในการรับรู้สังคมหรือความสุขที่ได้รับจากการมีสังคม นี่เป็นปัจจัยให้รู้สึกว่าโดดเดี่ยว

            ในทางกลับกัน การเข้าสังคมต้องใช้การทำงานในระดับละเอียดอ่อนของสมอง คนที่สมองเริ่มเสื่อม สมองทำงานระดับนี้ไม่ได้ดีก็จะรู้สึกไม่อยากเข้าสังคม ถอยห่างสังคมมากขึ้น ๆ ความโดดเดี่ยวก็ตามมา

            อันที่จริงก่อนหน้านี้มีการวิจัยที่ดูความสัมพันธ์ระหว่างประสบการณ์ทางสังคมกับความรู้สึกโดดเดี่ยวในโรคต่าง ๆ หลายโรคหลายภาวะ อาทิ โรคซึมเศร้า สมองเสื่อม หรือแม้แต่ในภาวะเสียชีวิตก่อนวัยอันควรในคนสูงอายุ นักวิจัยคณะนี้จึงเชื่อว่า ความรู้สึกโดดเดี่ยวอาจเป็นสาเหตุหนึ่งในการเป็นโรคอัลไซเมอร์

            นักวิจัยบอกว่า เป็นไปได้ที่ความรู้สึกโดดเดี่ยวหรือแปลกแยกจากสังคมอาจทำให้เกิดการสะสมของโปรตีนอมีลอยด์ หรือกลับกัน? นักวิจัยจึงวางแผนทำการวิจัยต่อยอดความสัมพันธ์ของ APOEε4 กับภาวะสมองเสื่อมว่า อะไรเป็นต้นเหตุ อะไรเป็นผลพวงตามมา

            งานวิจัยในมุมที่กล่าวข้างต้นกำลังเป็นที่สนใจครับว่า อะไรเกิดก่อน อะไรเกิดหลัง

            เพราะหากรอให้เกิดอาการชัดเจนก่อน นั่นหมายความว่า โรคหรือภาวะเสื่อมนั้นเกิดมานานนับ 10 ปีแล้ว การหาทางป้องกันหรือบรรเทาเป็นเรื่องยากหรือทำไม่ได้เลย

            นักวิจัยจึงหันมาสนใจสัญญาณเริ่มต้นแบบนี้มากขึ้น ๆ

            อารมณ์เปลี่ยนแปลงง่าย หงุดหงิดง่าย จะไม่ใช่อาการเดียวที่เราเริ่มคิดว่านั่นเป็นสัญญาณเบื้องต้นหรือภาวะสมองเสื่อมแล้ว

            ความรู้สึกโดดเดี่ยวจะเป็นอีกอาการหนึ่งที่จะถูกเฝ้าติดตาม!

            ความน่าสนใจอยู่ตรงที่อาการนี้ยังไม่ได้มีอยู่ในแบบประเมินใด ๆ ในทางการแพทย์จะให้เฝ้าติดตามว่า ผู้ป่วยอาจเริ่มมีภาวะสมองเสื่อมเหมือนอาการอารมณ์แปรปรวนง่าย

            ครับ คงต้องรออีกสักพัก รอผลการวิจัยยืนยันว่าเป็นจริงตามสมมติฐานข้างต้นหรือเปล่า

            ระหว่างนี้ เวลาผู้ป่วยสูงอายุบ่นว่ารู้สึกโดดเดี่ยว ความหมายมันคงอาจจะไม่ใช่การขาดสังคมก็ได้ เพราะมันอาจหมายถึงผู้ป่วยเริ่มมีสมองเสื่อมแล้วก็ได้