ความหวังใหม่ในยาจิตเวช

ความหวังใหม่ในยาจิตเวช  

ผศ.ดร.นพ.ประกอบ ผู้วิบูลย์สุข                    

            ความจริงในวงการยาจิตเวชมีพัฒนาการมาเรื่อย ๆ นับตั้งแต่ค้นพบยาต้านโรคจิตขนานแรก (chlorpromazine) เมื่อช่วงปี ค.ศ. 1960

            ตอนนั้นเป็นที่ฮือฮามากเพราะเป็นก้าวสำคัญที่การรักษาคนไข้จิตเภทสามารถหลุดพ้นการจองจำในสถานบำบัดหรือทำอินซูลินช็อก มาสู่การอยู่บ้านร่วมกับครอบครัว

            แต่ยาต่างก็มีผลข้างเคียงของมัน จึงมีการพัฒนาเพื่อค้นหายาที่มีผลข้างเคียงน้อยลงเรื่อย ๆ จนล่าสุดมาถึงจุดที่เรามียาที่ได้ผลดีมาก ผลข้างเคียงไม่มากนัก (แม้จะยังคงมีอยู่ เช่น metabolic syndrome ฯลฯ)

            ทุกวันนี้ยาต้านโรคจิตสามารถบรรเทาอาการทางจิตกลุ่ม positive symptoms ได้ดี (เช่น อาการหงุดหงิด ก้าวร้าว การใช้กำลัง หวาดระแวง ประสาทหลอน) ยังคงเหลืออาการกลุ่ม negative symptoms ที่ดีขึ้นยังไม่มากนัก (เช่น การเก็บตัว การไม่มีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น การขาดทักษะทางสังคม การขาดความริเริ่ม การขาดแรงจูงใจทำสิ่งต่าง ๆ)

            อาการกลุ่มหลังนี้ทำให้ผู้ป่วยจิตเภทส่วนใหญ่มักอยู่กับบ้าน หลายคนไม่สามารถไปทำงานได้แม้จะเคยมีความสามารถหรือเคยทำได้มาก่อน

            มาถึงวันนี้เราใกล้จะมียาที่ทำให้ผู้ป่วยเหล่านี้กลับไปสู่ความเป็นคนปกติมากขึ้น และขณะเดียวกันผลข้างเคียงเรื่อง metabolic syndrome ก็น้อยลงด้วย

            เมื่อเดือนที่แล้วมีรายงานในวารสารจิตเวชที่สำคัญพบว่า เริ่มมีการค้นพบยาใหม่ที่ให้ผลดังกล่าว

            นับเป็นก้าวกระโดดสำคัญนับแต่เริ่มค้นพบยาต้านโรคจิตเลยครับ

            ยาที่ว่านี้ยังอยู่ในกระบวนการวิจัยขั้น phase 2b มีการทดลองในผู้ป่วยแล้ว แต่ในจำนวนที่ไม่มากนัก

            แต่ผลดีของมันทำให้เกิดความคาดหวัง

            ยานี้มีรหัสชื่อว่า MIN-101

            ยานี้ไม่ได้มีกลไกยับยั้งฤทธิ์สารสื่อประสาทโดปามีน (antidopaminergic mechanism) เหมือนอย่างยาต้านโรคจิตปัจจุบัน

            ยานี้มีกลไกเกี่ยวข้องกับการควบคุม dopamine และ glutamate ที่ผิดปกติไปผ่านทางรีเซปเตอร์ sigma-2 and 5-hydroxytryptamine 2A (5-HT2A)

            การทดลองยานี้ในขั้น phase 2a ได้ผลเป็นที่น่าพอใจ มีฤทธิ์ในการรักษาแตกต่างจากยาหลอกทางสถิติอย่างมีนัยสำคัญ นั่นเป็นการทดลองในผู้ป่วยแบบเฉียบพลัน (acute schizophrenia) ขณะนี้ได้มีการทดลองรักษาในผู้ป่วยเรื้อรังที่อาการคงที่ (stable schizophrenia) ได้ผลเป็นที่พอใจเช่นกัน โดยเฉพาะอาการกลุ่ม negative symptoms ที่ยาปัจจุบันยังไม่ไปถึงระดับที่อยากให้เป็น

            ในการวิจัยมีการประเมินหลากหลายแบบทดสอบ ไม่ว่าจะเป็น PANSS, Brief Negative Symptom Scale score, CGI Brief Assessment of Cognition in Schizophrenia (BACS) score, Calgary Depression Scale for Schizophrenia (CDSS) score หรือ Abnormal Involuntary Movement Scale (AIMS) ล้วนให้ผลที่เห็นว่าดีขึ้น

            ผลข้างเคียงของยาที่มีรายงาน อาทิ ปวดศีรษะ กังวล นอนไม่หลับ ไม่มีแรง คลื่นไส้ ง่วงซึม

            ศ.นพ.โรเจอร์ แมคอินไทร์ แห่งมหาวิทยาลัยโตรอนโต แคนาดา ยกย่องยาใหม่นี้ว่าน่าจะเป็นมาตรฐานใหม่ของยาต้านโรคจิต ซึ่งจนถึงวันนี้เรายังไม่เคยมี gold standard สำหรับอาการ negative symptoms มาก่อนเลย

            น่าตื่นเต้นครับ