การพ่นยาในเด็กแบบต่าง ๆ ควรรู้อะไรบ้าง

การพ่นยาในเด็กแบบต่าง ๆ ควรรู้อะไร

อ.ภก.สิกขวัฒน์ นักร้อง คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต

            ในปัจจุบันผู้ป่วยเด็ก โดยเฉพาะเด็กเล็กมักจะมีการป่วยเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ ซึ่งส่วนใหญ่มักจะมีอาการหอบร่วมด้วย โดยเฉพาะเด็กเล็กที่เคยติดเชื้อ RSV มาก่อน ทำให้กุมารแพทย์ต้องรักษาด้วยการพ่นยาร่วมกับการบริหารยาในรูปแบบอื่น ๆ ด้วย ซึ่งการรักษาด้วยการใช้ยาพ่นโดยทางฝอยละออง หรือ aerosol therapy(1) มีจุดเด่นคือ ยาจะเข้าไปสู่อวัยวะที่เกิดพยาธิสภาพโดยตรง (หลอดลมและปอด) ซึ่งจะทำให้ตัวยาสัมผัสโดยตรงกับตัวรับ (receptor) และออกฤทธิ์ได้เร็ว นอกจากนั้นยังมีผลข้างเคียงจากการใช้ยาน้อยกว่าการบริหารยาโดยวิธีรับประทานหรือฉีด ยาที่ใช้รักษาหลอดลมอุดกั้นที่บริหารโดยทางฝอยละออง ได้แก่ ยาขยายหลอดลม beta-2 agonist และ anticholinergic ยาลดการอักเสบ corticosteroid, cromolyn sodium และ nedocromil นอกจากนี้การพ่นยายังมีวัตถุประสงค์อื่นร่วมด้วยอีก เช่น ช่วยให้เสมหะที่อยู่ในหลอดลมอ่อนตัวเหลวขึ้นจนสามารถขจัดออกมาได้ง่ายขึ้น ดังนั้น การพ่นยาอย่างถูกต้องจะช่วยให้การดูแลผู้ป่วยมีประสิทธิภาพ

รูปที่ 1 MDI vs. DPI vs. Nebulizer(2)

รูปแบบของยาพ่นฝอยละอองบำบัดในเด็ก(1,3)

  • วิธีพ่นยาฝอยละอองแบบก๊าซผ่านผิวน้ำ (Jet nebulizer หรือ Small volume nebulizer: SVN)

            เป็นการพ่นยาโดยใช้เครื่องพ่นที่ผลิตแรงอัดอากาศเพื่อทำฝอยละอองขนาดเล็กที่จะไหลไปตามก๊าซเข้าสู่ทางเดินหายใจ นิยมให้แบบครั้งคราว ส่วนใหญ่เป็นการให้ในปริมาณยาที่น้อย วิธีนี้ใช้รักษาโรคระบบทางเดินหายใจในรายที่ไม่ต้องอาศัยความร่วมมือจากเด็ก เป็นวิธีที่นิยมใช้มากที่สุดในเด็กที่กำลังมีอาการหอบ เนื่องจากสามารถให้ออกซิเจนไปพร้อมการพ่นฝอยละอองยาได้

         ข้อดี การพ่นยาชนิดนี้ใช้ง่าย สะดวก ใช้ได้ทุกกลุ่มอายุ สามารถให้ออกซิเจนแก่เด็กขณะพ่นยาได้ ให้ยาได้หลายชนิดร่วมกัน และมีส่วนผสมที่เป็นน้ำเกลือ (Normal saline) ช่วยให้ความชุ่มชื้นแก่ทางเดินหายใจ

         ข้อเสีย การพ่นยาชนิดนี้มีราคาแพง เครื่องพ่นยาหรือถังออกซิเจนมีขนาดใหญ่ ขนย้ายไม่สะดวก ใช้เวลาในการพ่นนานประมาณ 10-15 นาที และมีโอกาสติดเชื้อจากการปนเปื้อนมากกว่าวิธีอื่น

  • วิธีพ่นยาฝอยละอองแบบต่อเนื่อง (Continuous nebulization therapy)

            เป็นการพ่นยาโดยฝอยละอองขนาดเล็กจะไหลตามก๊าซเข้าไปในทางเดินหายใจของเด็กอย่างต่อเนื่อง ซึ่งวิธีนี้มักใช้ในเด็กที่มีอาการหอบขั้นรุนแรง โดยจะใช้เฉพาะในโรงพยาบาล

         ข้อดี การพ่นยาชนิดนี้สามารถให้ยาขนาดสูงต่อเนื่อง เด็กได้พักผ่อนไม่ต้องถูกปลุกมาพ่นยา

         ข้อเสีย การปรับอัตราความเร็วของการให้ยาอย่างเหมาะสมยุ่งยากกว่า

  • วิธีพ่นยาฝอยละอองด้วยคลื่นความถี่สูง (Ultrasonic nebulizer)(3-5)

            เป็นเครื่องผลิตฝอยละอองโดยอาศัยกระแสไฟฟ้าผ่านตัวนำ ทำให้เกิดคลื่นเสียงความถี่สูง เมื่อมากระทบของเหลวทำให้เกิดเป็นฝอยละอองขนาด 1-6 ไมครอน ผ่านเข้าไปในทางเดินหายใจของเด็กได้ ซึ่งวิธีนี้ส่วนใหญ่จะใช้สำหรับการให้น้ำเกลือหรือน้ำเพื่อช่วยให้เสมหะอ่อนตัวและเพิ่มการระบายเสมหะให้ดีขึ้น เหมาะสำหรับเด็กที่เสมหะเหนียวมากและประสิทธิภาพในการไอน้อย หรือในรายที่ไม่สามารถเคาะปอดและดูดเสมหะได้

รูปที่ 2 The Ultrasonic Wave Nebulizer

         ข้อดี การพ่นยาชนิดนี้สามารถให้ในเด็กที่ไม่ร่วมมือได้ ไม่ต้องใช้เทคนิคยุ่งยากในการสูดยา ไม่ต้องกลั้นหายใจ ให้ยาได้รวดเร็วและปริมาณมาก สามารถผสมยาได้หลายอย่าง ไม่มีเสียงดังรบกวนจากเครื่อง

            ข้อเสีย การพ่นยาชนิดนี้ใช้เวลานานในการสูดยาแต่ละครั้งประมาณ 5-10 นาที ไม่สามารถใช้กับยาที่มีความหนืดสูง เช่น ยาปฏิชีวนะบางชนิด ราคาแพง และมีโอกาสเสี่ยงต่อการติดเชื้อจากการปนเปื้อนในระบบง่าย

  • วิธีพ่นยาฝอยละอองด้วยเอ็มดีไอ (Metered dose inhaler: MDI)(3)

            เป็นวิธีที่นิยมใช้กันมากที่สุด โดยใช้ก๊าซเป็นตัวขับเคลื่อนในการกดพ่นยาจากกระบอกยา ซึ่งจะเหมาะสมกับการพ่นยาขยายหลอดลม ยาสเตียรอยด์ และเหมาะสำหรับเด็กที่มีอาการเหนื่อยด้วย

         ข้อดี การพ่นยาวิธีนี้สะดวก ประหยัดเวลา ใช้เวลาน้อยในการพ่นยาและไม่ต้องเตรียมยา เครื่องมือดูแลรักษาง่าย โอกาสติดเชื้อปนเปื้อนน้อย ราคาถูกกว่า

         ข้อเสีย การพ่นยาวิธีนี้จำเป็นต้องใช้เทคนิคที่ถูกต้องในการใช้ยา อาจมีการตกค้างของยาในช่องปากและลำคอ และอุปกรณ์ไม่มีตัวเลขบอกปริมาณยาที่เหลือ

  • วิธีพ่นยาฝอยละอองแบบแห้ง (Dry powder inhaler: DPI)(2,3)

            เป็นการใช้ยาสูดชนิดผงที่ต้องใช้แรงในการสูดอนุภาคยาที่เป็นผงด้วยอัตราเร็วสูง เพื่อให้อนุภาคเหล่านี้หลุดจากกันจนเป็นฝอยละอองยา ผ่านแผงกั้นขนาดเล็ก ๆ หรือช่องที่ขดอยู่เพื่อให้อนุภาคของยามีขนาดพอเหมาะ ซึ่งจะเหมาะสมกับเด็กโตที่สามารถสูดหายใจเข้าได้แรงพอ ไม่ควรใช้ในเด็กที่ป่วยหนัก ไม่มีแรงสูด

         ข้อดี การพ่นยาวิธีนี้ใช้เวลาน้อยในการพ่นยา ไม่ต้องใช้เทคนิคยุ่งยากในการสูดยา มีขนาดเล็กจึงพกพาสะดวก มีตัวเลขบอกจำนวนยาที่เหลืออยู่ และราคาถูก

         ข้อเสีย การพ่นยาวิธีนี้ต้องใช้แรงสูดมาก และมีโอกาสที่ยาจะตกค้างที่บริเวณช่องปากและลำคอ

หลักการเลือกใช้ยาพ่นในเด็ก

            แพทย์จะพิจารณาตามความเหมาะสมของเด็กแต่ละคน โดยทั่วไปจะพิจารณาอายุของเด็ก ความรุนแรงของโรค รวมถึงสามารถหาซื้อได้ง่าย ราคาไม่แพง ยามีประสิทธิภาพดี พกพาง่าย การทำความสะอาดอุปกรณ์การพ่นยาไม่ยุ่งยาก อุปกรณ์ทนทาน ใช้งานได้นาน ในกรณีที่ต้องใช้ยาพ่นฝอยละอองหลายชนิดร่วมกันแพทย์จะพิจารณาเลือกใช้ยาพ่นที่ใช้เทคนิคเดียวกันเพื่อป้องกันความสับสนในการใช้

            จากที่กล่าวมาข้างต้น การพ่นยาหรือการบำบัดรักษาด้วยยาฝอยละอองในเด็กเป็นวิธีบริหารยาและให้ยาที่สำคัญในการรักษาผู้ป่วยที่มีโรคระบบทางเดินหายใจ ซึ่งต้องเลือกวิธีพ่นยาซึ่งมีหลายรูปแบบให้เหมาะสมกับวัย สุขภาพ และโรคของเด็ก จึงควรรู้วิธีการพ่นยาอย่างถูกวิธี รวมทั้งดูแลอุปกรณ์พ่นยาอย่างถูกต้อง เพื่อให้การรักษาได้ผลมากที่สุด

เอกสารอ้างอิง

1.  วิภา รีชัยพิชิตกุล. การใช้ยาฝอยละอองในการรักษาภาวะหลอดลมอุดกั้น. http://www.smj.ejnal.com/e-journal/showdetail/?show_detail=T&art_id=564

2.  Inhalation Dosage Form Selection: MDI vs. DPI vs. Nebulizer. http://www.inhalationreport.com/2010/07/21/inhalation-dosage-form-selection-mdi-vs-dpi-vs-nebulizer/

3.  พัชมน อ้นโต. วิธีพ่นยาในเด็ก (How to give breathing treatment to a child). http://haamor.com/th/วิธีพ่นยาในเด็ก/

4.  วรพนิต ศุกระแพทย์. วิธีพ่นยาฝอยละอองด้วยคลื่นความถี่ในเด็ก. http://www.bnc.ac.th/knowledge/wp-content/uploads/2016/02/การพ่นยาฝอยละอองด้วยคลื่นความถี่สูง.pdf

5.  What are Nebulizers and How do they Work?. http://omnisurge.co.za/what-are-nebulizers-and-how-do-they-work/