ออกกำลังกายและคุมอาหารอย่างจริงจังช่วยผู้ป่วยเบาหวานลดยาได้

ออกกำลังกายและคุมอาหารอย่างจริงจังช่วยผู้ป่วยเบาหวานลดยาได้

            Medscape Medical News: ข้อมูลจากการศึกษาล่าสุดโดย Mathias Ried-Larson และคณะจาก University of Copenhagen ประเทศเดนมาร์ก เกี่ยวกับผลของการใช้โปรแกรมการออกกำลังกายและการคุมอาหารอย่างจริงจังในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 พบว่านอกจากจะช่วยทำให้สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ดีขึ้นแล้ว ยังทำให้ผู้ป่วยบางรายสามารถลดหรือหยุดยาเบาหวานลงได้อีกด้วย

            การศึกษานี้นำอาสาสมัครที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นเบาหวานชนิดที่ 2 มาแล้วไม่เกิน 10 ปี จำนวน 98 ราย มาสุ่มในอัตราส่วน 2:1 ให้ออกกำลังกายและคุมอาหารอย่างจริงจังร่วมกับการรักษามาตรฐาน (64 ราย) เทียบกับการรักษามาตรฐาน (32 ราย) โดยการออกกำลังกายในโปรแกรมนี้ประกอบด้วยการฝึกออกกำลังกายแบบ aerobic training สัปดาห์ละ 5-6 ครั้ง แต่ละครั้งนาน 30-60 นาที และมีการฝึกออกกำลังกายแบบ resistance training 2-3 ครั้งต่อสัปดาห์ ร่วมไปกับการควบคุมอาหารเพื่อควบคุมให้มีค่าดัชนีมวลกาย (body mass index) ไม่เกิน 25 kg/m2 ส่วนการรักษามาตรฐานประกอบด้วยการให้คำปรึกษาแนะนำและการให้ยาลดน้ำตาลในเลือดปรับขนาดตามระดับน้ำตาล ผลการศึกษาพบว่าผู้ป่วยเบาหวานที่เข้ารับการฝึกออกกำลังกายและคุมอาหารอย่างจริงจังสามารถคุมระดับน้ำตาลในเลือดที่วัดโดยค่า HbA1c ลงได้ดีกว่ากลุ่มที่ได้รับการรักษามาตรฐาน และจากจำนวนผู้ป่วยทั้งหมดในกลุ่ม ร้อยละ 73.5 สามารถลดการใช้ยาลดน้ำตาลในเลือดลงได้ เทียบกับกลุ่มที่ได้รับการรักษามาตรฐานที่สามารถลดยาลงได้ร้อยละ 26.4 คิดเป็น number needed to treat เท่ากับ 2.1 อาการข้างเคียงที่เกิดขึ้นในกลุ่มผู้ที่เข้าร่วมการฝึกออกกำลังกาย ได้แก่ อาการปวดตามกล้ามเนื้อหรือกระดูก และอาการไม่สุขสบายต่าง ๆ ซึ่งพบจำนวน 14 ครั้ง และการมีระดับน้ำตาลในเลือดต่ำเล็กน้อยซึ่งพบจำนวน 8 ครั้ง

            ผู้วิจัยกล่าวว่า แม้ว่าการศึกษานี้จะไม่เห็นความแตกต่างทางสถิติที่ชัดเจน แต่ผลการศึกษาที่ออกมาก็พบแนวโน้มว่าการฝึกออกกำลังกายในผู้ป่วยกลุ่มนี้มีประโยชน์และควรได้รับการสนับสนุนในผู้ป่วยเบาหวานทุกราย