สวก.ร่วมกับ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล และองค์การเภสัชกรรม ขับเคลื่อนการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรอย่างครบวงจร เพื่อก้าวสู่ประเทศไทย 4.0

สวก.ร่วมกับ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล และองค์การเภสัชกรรม
ขับเคลื่อนการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรอย่างครบวงจร เพื่อก้าวสู่ประเทศไทย 4.0

            สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. จัดพิธีลงนามข้อตกลงความร่วมมือ 3 ฝ่าย ร่วมกับ มหาวิทยาลัยมหิดล โดยคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล และองค์การเภสัชกรรม เรื่อง “การวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรและผลักดันงานวิจัยไปสู่การใช้ประโยชน์อย่างแท้จริง” พร้อมจัดเวทีเสวนาเรื่อง “ความพร้อมในการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านการจัดการห่วงโซ่ผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรให้ครบวงจร ก้าวสู่ประเทศไทย 4.0” ณ ห้องราชา 1 อาคาร 2 โรงแรมปรินซ์ พาเลซ กรุงเทพฯ

         ..สุกัญญา ธีระกูรณ์เลิศ กรรมการบริหารสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร เผยว่า แผนแม่บทว่าด้วยการพัฒนาสมุนไพรแห่งชาติ พ.ศ. 2560-2564 ทำให้วงการสมุนไพรไทยมีการตื่นตัวมากขึ้น ถือเป็นการส่งเสริมการพัฒนาสมุนไพรไทยให้เป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ ซึ่งประเทศไทยมีความได้เปรียบในความหลากหลายทางชีวภาพ สามารถผลิตวัตถุดิบสมุนไพรได้หลายชนิด อีกทั้งความสามารถของนักวิจัยไทยก็ไม่ด้อยกว่าประเทศอื่น ซึ่งจากการเปิดเผยข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุขว่า สมุนไพรมีมูลค่าการใช้และการส่งออกวัตถุดิบมากกว่า 2.4 หมื่นล้านบาท/ปี
            นางพรรณพิมล ชัญญานุวัตร ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร กล่าวว่า การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อบูรณาการการทำงานระหว่างหน่วยงานภาครัฐ สถาบันการศึกษา และภาคเอกชน ในการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านการจัดการห่วงโซ่ผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรให้ครบวงจร โดยทั้ง 3 หน่วยงานจะร่วมกัน 1. ส่งเสริม สนับสนุนและพัฒนางานวิจัย กำกับติดตาม ประเมินผลงานวิจัยและผลกระทบ ทั้งในด้านวิชาการ เศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม  2. ส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนาบุคลากรให้มีองค์ความรู้และทักษะด้านการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์จากสมุนไพร  3. สนับสนุน ผลักดันให้เกิดการนำผลงานวิจัยหรือผลิตภัณฑ์จากงานวิจัยไปสู่การใช้ประโยชน์ทั้งเชิงพาณิชย์ เชิงนโยบาย และเชิงสาธารณะ  4. ส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผลสูงสุด โดยความร่วมมือนี้ก่อให้เกิดโครงการวิจัยนำร่องเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรจำนวน 10 ผลิตภัณฑ์ โดยมีเป้าหมายในระยะ 5 ปี

         .ดร.นพ.ประเสริฐ เอื้อวรากุล รองคณบดีฝ่ายวิจัย คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า งานบริบาลทางการแพทย์ งานบริการสุขภาพ และเทคโนโลยีการแพทย์ เป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่สำคัญของประเทศในยุทธศาสตร์ Thailand 4.0 โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยาและผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรในการพัฒนาต้นแบบระบบการวิจัยแบบครบวงจรบนพื้นฐานของหลักเกณฑ์และวิธีการที่ดี 4 ด้าน คือ การเพาะปลูกและเก็บเกี่ยวที่ดี การผลิตที่ดี การวิจัยระดับห้องปฏิบัติการที่ดี และการวิจัยระดับคลินิกที่ดี โดยจะทำให้ห่วงโซ่การพัฒนายาและผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรสามารถพัฒนาต่อยอดงานวิจัย และผลักดันให้เกิดการเพิ่มมูลค่า ซึ่งความร่วมมือของทั้ง 3 ฝ่ายจะสามารถขับเคลื่อนผลิตภัณฑ์และยาจากสมุนไพรที่อยู่ในแต่ละช่วงของห่วงโซ่ผลิตภัณฑ์ไปสู่ระดับอุตสาหกรรมและการลงทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล

         ภญ.อภิชชา โยธาประเสริฐ ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ องค์การเภสัชกรรม กล่าวว่า องค์การเภสัชกรรมเป็นหน่วยงานที่มีความพร้อมในการผลิตเภสัชภัณฑ์ ยาแผนปัจจุบันและผลิตภัณฑ์สมุนไพร มีบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญด้านการวิจัยพัฒนาสูตรตำรับ การควบคุมคุณภาพของวัตถุดิบ สารสกัด และผลิตภัณฑ์จากสมุนไพร ตลอดจนเครื่องมือการผลิตที่ทันสมัยและได้รับมาตรฐาน GMP อีกทั้งมีศูนย์ศึกษาชีวสมมูลที่มีมาตรฐานห้องปฏิบัติการที่ดี GLP และพร้อมยกระดับสู่มาตรฐานระดับสากล จึงนับว่าเป็นโอกาสดีที่ทั้ง 3 หน่วยงานได้ร่วมประสานความร่วมมือทางวิชาการ และความพร้อมของแต่ละองค์กรด้านการวิจัยและพัฒนาเภสัชภัณฑ์ยาจากสมุนไพรไทย เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนา “ยาใหม่” และการร่วมมือจะก่อให้เกิดการสร้างเครือข่ายการวิจัยและพัฒนาเพื่อก่อให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนและประเทศชาติเป็นอย่างมาก