ความคืบหน้าพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560

ความคืบหน้าพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560

ภก.ปรุฬห์ รุจนธำรงค์

            เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2560 ที่ผ่านมา เป็นวันที่พระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 มีผลใช้บังคับแล้ว ซึ่งกฎหมายฉบับนี้มีสาระสำคัญในการจัดซื้อจัดจ้างคือ ต้องมีความคุ้มค่า โปร่งใส มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ตรวจสอบได้ แต่มาตรการหลายอย่างตามพระราชบัญญัตินี้จะต้องมีกฎหมายลำดับรองรองรับ จนกระทั่งวันที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2560 ได้มีกฎกระทรวงอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัตินี้จำนวน 7 ฉบับ และระเบียบกระทรวงการคลังจำนวน 1 ฉบับ ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ดังนี้

            1. กฎกระทรวงกำหนดให้หน่วยงานอื่นเป็นหน่วยงานของรัฐตามพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ซึ่งให้ทุนหมุนเวียนที่มีสถานะเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายว่าด้วยการบริหารทุนหมุนเวียนเป็นหน่วยงานของรัฐตามพระราชบัญญัตินี้ (ดูรายละเอียดที่ http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2560/A/086/1.PDF)

            2. กฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับผู้ที่มีสิทธิขอขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการ พ.ศ. 2560 ซึ่งผู้ประกอบการในที่นี้หมายถึง ผู้ประกอบการงานก่อสร้างตามพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 มาตรา 51 หรือผู้ประกอบการพัสดุอื่นที่คณะกรรมการราคากลางประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษา ตามมาตรา 52 กฎกระทรวงฉบับนี้ยังได้กำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขเกี่ยวกับคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามการขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการก่อสร้างและอัตราค่าธรรมเนียมการขอขึ้นทะเบียน การเพิกถอนรายชื่อออกจากทะเบียน รวมทั้งหลักเกณฑ์และวิธีการอุทธรณ์ และการพิจารณาอุทธรณ์ในกรณีที่กรมบัญชีกลางไม่ขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการ (ดูรายละเอียดที่ http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2560/A/086/3.PDF)

         3. กฎกระทรวงกำหนดพัสดุที่รัฐต้องการส่งเสริมหรือสนับสนุนและกำหนดวิธีการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุโดยวิธีคัดเลือกและวิธีเฉพาะเจาะจง พ.ศ. 2560 กำหนดพัสดุที่รัฐต้องการส่งเสริมหรือสนับสนุน ได้แก่ พัสดุส่งเสริมและพัฒนาด้านการเกษตร พัสดุส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมและผู้ด้อยโอกาส พัสดุส่งเสริมการเรียนการสอน พัสดุส่งเสริมการวิจัยและการพัฒนาหรือการให้บริการทางการศึกษา พัสดุส่งเสริมนวัตกรรม พัสดุส่งเสริมสุขภาพและสาธารณสุข พัสดุส่งเสริมความมั่นคงด้านพลังงานและทรัพยากรธรรมชาติ (ดูรายละเอียดที่ http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2560/A/086/9.PDF)

            4. กฎกระทรวงกำหนดวงเงินการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุโดยวิธีเฉพาะเจาะจง วงเงินการจัดซื้อจัดจ้างที่ไม่ทำข้อตกลงเป็นหนังสือ และวงเงินการจัดซื้อจัดจ้างในการแต่งตั้งผู้ตรวจรับพัสดุ พ.ศ. 2560 กำหนดวงเงินครั้งหนึ่งไม่เกิน 500,000 บาท สำหรับในการจัดซื้อจัดจ้างโดยวิธีเฉพาะเจาะจงกรณีที่มีการผลิต จำหน่าย ก่อสร้าง หรือให้บริการทั่วไป กำหนดวงเงินครั้งหนึ่งไม่เกิน 500,000 บาท สำหรับงานจ้างที่ปรึกษาโดยวิธีเฉพาะเจาะจง งานจ้างที่มีที่ปรึกษาในงานที่จะจ้างนั้นจํานวนจํากัดและมีวงเงินค่าจ้างครั้งหนึ่งไม่เกิน 5,000,000 บาท งานจ้างออกแบบหรือควบคุมงานก่อสร้างที่มีวงเงินงบประมาณค่าก่อสร้างครั้งหนึ่งไม่เกิน 5,000,000 บาท ให้ใช้วิธีเฉพาะเจาะจง กำหนดวงเงินไม่เกิน 100,000 บาท สำหรับการจัดซื้อจัดจ้างมีวงเงินเล็กน้อยที่จะไม่ทําข้อตกลงเป็นหนังสือไว้ต่อกันก็ได้ แต่ต้องมีหลักฐานในการจัดซื้อจัดจ้างนั้น กรณีที่การจัดซื้อจัดจ้างมีวงเงินเล็กน้อยไม่เกิน 100,000 บาท จะแต่งตั้งบุคคลหนึ่งบุคคลใดเป็นผู้ตรวจรับพัสดุก็ได้ (ดูรายละเอียดที่ http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2560/A/086/20.PDF)

         5. กฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการขึ้นทะเบียนที่ปรึกษา พ.ศ. 2560 กำหนดประเภท คุณสมบัติและลักษณะต้องห้าม และหลักเกณฑ์การขึ้นทะเบียน อัตราค่าธรรมเนียมการขอขึ้นทะเบียน การประเมินผลการปฏิบัติงานของที่ปรึกษา การเปลี่ยนแปลงและเพิ่มเติมข้อมูลที่ปรึกษา การเพิกถอนและการยกเลิกการขึ้นทะเบียน รวมทั้งหลักเกณฑ์และวิธีการอุทธรณ์และการพิจารณาอุทธรณ์ ตลอดจนการแสดงข้อมูลการขึ้นทะเบียนที่ปรึกษาไว้ในฐานข้อมูลระบบเครือข่ายสารสนเทศและทะเบียนที่ปรึกษา (ดูรายละเอียดได้ที่ http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2560/A/086/22.PDF)

         6. กฎกระทรวงกำหนดอัตราค่าจ้างผู้ให้บริการงานจ้างออกแบบหรือควบคุมงานก่อสร้าง พ.ศ. 2560 กำหนดอัตราค่าจ้างสำหรับจ้างออกแบบหรือควบคุมงานก่อสร้าง (ดูรายละเอียดที่ http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2560/A/086/31.PDF)

         7. กฎกระทรวงกำหนดเรื่องการจัดซื้อจัดจ้างกับหน่วยงานของรัฐที่ใช้สิทธิอุทธรณ์ไม่ได้ พ.ศ. 2560 กำหนดกรณีอุทธรณ์ไม่ได้กรณีอื่นเพิ่มเติมจากที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ดังนี้ 1) คุณสมบัติของผู้ยื่นข้อเสนอรายอื่นที่เข้าร่วมการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุในครั้งนั้น โดยวิธีประกาศเชิญชวนทั่วไป ด้วยวิธีตลาดอิเล็กทรอนิกส์ และ 2) กรณีที่หน่วยงานของรัฐเปิดโอกาสให้มีการรับฟังความคิดเห็นร่างขอบเขตของงานหรือรายละเอียดคุณลักษณะเฉพาะของพัสดุจากผู้ประกอบการก่อนจะทำการจัดซื้อจัดจ้าง แต่ผู้ประกอบการซึ่งเป็นผู้ยื่นข้อเสนอในการจัดซื้อจัดจ้างในครั้งนั้นมิได้วิจารณ์หรือเสนอแนะร่างขอบเขตของงานหรือรายละเอียดคุณลักษณะเฉพาะของพัสดุ ผู้ประกอบการซึ่งเป็นผู้ยื่นข้อเสนอนั้นจะอุทธรณ์ในเรื่องขอบเขตของงานหรือรายละเอียดคุณลักษณะเฉพาะของพัสดุของหน่วยงานของรัฐนั้นมิได้ (ดูรายละเอียดที่ http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2560/A/086/33.PDF)

            8. ระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ประกอบด้วย

            หมวด 1 ข้อความทั่วไป ซึ่งกำหนดนิยาม การมีส่วนได้เสียในเรื่องที่ประชุมพิจารณา ผู้มีอำนาจและการมอบอำนาจ การดำเนินการด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ การจัดทำแผนการจัดซื้อจัดจ้าง การตรวจสอบผู้มีผลประโยชน์ร่วมกัน การจัดทำบันทึกรายงานผลการพิจารณาการจัดซื้อจัดจ้างแต่ละโครงการ

            หมวด 2 การซื้อหรือจ้าง ซึ่งกล่าวถึงกระบวนการซื้อหรือจ้าง เช่น การจัดทำร่างขอบเขตของงานหรือรายละเอียดคุณลักษณะเฉพาะของพัสดุหรือรูปแบบรายการ รายงานขอซื้อหรือขอจ้าง คณะกรรมการซื้อหรือจ้าง วิธีการซื้อหรือจ้าง (วิธีประกาศเชิญชวนทั่วไป วิธีคัดเลือก วิธีเฉพาะเจาะจง) การจ้างออกแบบรวมก่อสร้าง เกณฑ์การพิจารณาคัดเลือกข้อเสนอ อำนาจในการสั่งซื้อหรือสั่งจ้าง การจ่ายเงินล่วงหน้า การเช่า การแลกเปลี่ยน

            หมวด 3 การจ้างที่ปรึกษา ซึ่งกล่าวถึงกระบวนการจ้างที่ปรึกษา เช่น การจัดทำร่างขอบเขตของงานจ้างที่ปรึกษา รายงานขอจ้างที่ปรึกษา คณะกรรมการดำเนินงานจ้างที่ปรึกษา วิธีการจ้างที่ปรึกษา เกณฑ์การพิจารณาคัดเลือกข้อเสนอ อำนาจในการสั่งจ้างงานจ้างที่ปรึกษา ค่าจ้างที่ปรึกษา ค่าจ้างล่วงหน้า

            หมวด 4 งานจ้างออกแบบหรือควบคุมงานก่อสร้าง ซึ่งกล่าวถึงกระบวนการจ้างออกแบบหรือควบคุมงานก่อสร้าง เช่น การจัดทำร่างขอบเขตของงานจ้างออกแบบหรือควบคุมงานก่อสร้าง รายงานขอจ้างออกแบบหรือควบคุมงานก่อสร้าง คณะกรรมการดำเนินงานจ้างออกแบบหรือควบคุมงานก่อสร้าง วิธีการจ้างออกแบบหรือควบคุมงานก่อสร้าง อำนาจในการสั่งจ้างงานจ้างออกแบบหรือควบคุมงานก่อสร้าง

            หมวด 5 การทำสัญญาและหลักประกัน ซึ่งกล่าวถึงหลักประกันการเสนอราคา หลักประกันสัญญา หลักประกันการรับเงินล่วงหน้า หลักประกันผลงาน

            หมวด 6 การบริหารสัญญาและการตรวจรับพัสดุ เช่น หน้าที่ของคณะกรรมการตรวจรับพัสดุในงานซื้อหรืองานจ้าง คณะกรรมการตรวจรับพัสดุในงานจ้างก่อสร้าง ผู้ควบคุมงาน คณะกรรมการตรวจรับพัสดุในงานจ้างที่ปรึกษา คณะกรรมการตรวจรับพัสดุในงานจ้างออกแบบหรือควบคุมงานก่อสร้าง การดำเนินการเกี่ยวกับค่าปรับ การบอกเลิกสัญญา การพบความชำรุดบกพร่อง การคิดค่าเสียหาย

            หมวด 7 การประเมินผลการปฏิบัติงานของผู้ประกอบการ เช่น หน่วยงานของรัฐจะต้องกำหนดไว้ในประกาศและเอกสารเชิญชวนเพื่อให้ผู้ประกอบการที่จะเข้ายื่นข้อเสนอกับหน่วยงานของรัฐทราบเงื่อนไขการประเมินผลการปฏิบัติงานดังกล่าวด้วย การประเมินผลการปฏิบัติงานของผู้ประกอบการให้ดำเนินการผ่านทางระบบจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐด้วยอิเล็กทรอนิกส์ตามวิธีการที่กรมบัญชีกลางกำหนด

            หมวด 8 การทิ้งงาน กล่าวถึงการลงโทษให้เป็นผู้ทิ้งงาน การเพิกถอนการเป็นผู้ทิ้งงาน

            หมวด 9 การบริหารพัสดุ กล่าวถึงการเก็บ การบันทึก การเบิกจ่าย การยืม การบำรุงรักษา การตรวจสอบ การจำหน่ายพัสดุ

            หมวด 10 การร้องเรียน กล่าวถึงวิธีการดำเนินการร้องเรียนหน่วยงานของรัฐมิได้ปฏิบัติให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎหมายว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ กฎกระทรวง ระเบียบ หรือประกาศที่ออกตามความในกฎหมายว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ

            ดูรายละเอียดระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ได้ที่ http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2560/E/210/1.PDF)

การจัดซื้อยาและเวชภัณฑ์

            หากยาหรือเวชภัณฑ์นั้นเข้าข่าย “พัสดุส่งเสริมสุขภาพและสาธารณสุข” ซึ่งเป็นพัสดุที่รัฐต้องการส่งเสริมหรือสนับสนุน ตามกฎกระทรวงกำหนดพัสดุที่รัฐต้องการส่งเสริมหรือสนับสนุนและกำหนดวิธีการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุโดยวิธีคัดเลือกและวิธีเฉพาะเจาะจง พ.ศ. 2560 ดังรายการต่อไปนี้

            (1) ยาตามชื่อสามัญ (generic name) ในบัญชียาหลักแห่งชาติ ให้ราชการส่วนกลางและราชการส่วนภูมิภาคจัดซื้อพัสดุโดยวิธีเฉพาะเจาะจงจากองค์การเภสัชกรรมหรือสภากาชาดไทย โดยจัดซื้อยาดังกล่าวไม่น้อยกว่าร้อยละ 60 เว้นแต่ราชการส่วนกลางและราชการส่วนภูมิภาคในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ให้ใช้เงินงบประมาณจัดซื้อยาดังกล่าวไม่น้อยกว่าร้อยละ 80

            (2) ยาที่อยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติหรือเวชภัณฑ์ ซึ่งองค์การเภสัชกรรมหรือสภากาชาดไทยได้ผลิตออกจำหน่ายแล้ว ให้หน่วยงานของรัฐจัดซื้อพัสดุโดยวิธีเฉพาะเจาะจงจากองค์การเภสัชกรรมหรือสภากาชาดไทย เว้นแต่ราชการส่วนกลางและราชการส่วนภูมิภาคในสังกัดกระทรวงกลาโหมให้จัดซื้อจากโรงงานเภสัชกรรมทหาร ทั้งนี้ราคายาหรือเวชภัณฑ์ที่หน่วยงานดังกล่าวจำหน่ายต้องไม่สูงกว่าราคากลางที่คณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติกำหนด

            (3) ยาที่อยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติหรือเวชภัณฑ์ ซึ่งองค์การเภสัชกรรมหรือโรงงานเภสัชกรรมทหารมิได้เป็นผู้ผลิตแต่มีจำหน่าย ให้ราชการส่วนกลางและราชการส่วนภูมิภาคจัดซื้อพัสดุโดยวิธีคัดเลือก โดยจะจัดซื้อจากองค์การเภสัชกรรม โรงงานเภสัชกรรมทหาร หรือผู้ขายรายใดก็ได้ แต่ต้องแจ้งองค์การเภสัชกรรมและโรงงานเภสัชกรรมทหารทราบด้วยทุกครั้ง เว้นแต่ในกรณีที่พัสดุมีราคาไม่สูงกว่าราคากลางที่คณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติกำหนด ให้ราชการส่วนกลางและราชการส่วนภูมิภาคจัดซื้อโดยวิธีเฉพาะเจาะจงจากองค์การเภสัชกรรมหรือโรงงานเภสัชกรรมทหาร

            (4) ยาและเวชภัณฑ์ที่ได้ขึ้นบัญชีนวัตกรรมไทย ให้หน่วยงานของรัฐจัดซื้อพัสดุโดยวิธีเฉพาะเจาะจง โดยต้องจัดซื้อไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 ของงบประมาณเพื่อจัดซื้อพัสดุดังกล่าว

            (5) วัคซีนโรคตับอักเสบบี และผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ที่สภากาชาดไทยผลิตเอง และไม่อยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ ให้ราชการส่วนกลาง ราชการส่วนภูมิภาค และรัฐวิสาหกิจจัดซื้อพัสดุโดยวิธีเฉพาะเจาะจงจากสภากาชาดไทย

เอกสารอ้างอิง

            หนังสือกระทรวงการคลัง ด่วนที่สุดที่ กค 0405.2/12508 ถึงเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ลงวันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2560 เรื่อง ร่างกฎกระทรวงออกตามความในพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560