Oral bisphosphonate ใช้ได้ดีและปลอดภัยในการรักษาภาวะกระดูกพรุนในผู้ป่วยไตเสื่อม

Oral bisphosphonate ใช้ได้ดีและปลอดภัยในการรักษาภาวะกระดูกพรุนในผู้ป่วยไตเสื่อม

            Medscape Medical News: ปัญหาโรคกระดูกพรุนและการมีมวลกระดูกที่ลดลงในผู้ป่วยไตเสื่อมเป็นปัญหาที่พบได้บ่อยและมีความสำคัญ และในปัจจุบันมียาที่สามารถนำมาใช้ในการรักษาหลายชนิด รวมถึงยาในกลุ่ม oral bisphosphonates อย่างไรก็ตาม แม้จะมีข้อมูลที่ชัดเจนแล้วว่ายาในกลุ่ม oral bisphosphonate นั้นมีประสิทธิภาพดีสำหรับการใช้รักษาโรคกระดูกพรุนในกลุ่มผู้ป่วยโรคไตเสื่อม แต่แพทย์จำนวนไม่น้อยก็ยังคงหลีกเลี่ยงที่จะใช้ยาในกลุ่มนี้อยู่เนื่องจากเป็นกังวลในแง่ของความปลอดภัย และเพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริงดังกล่าว Daniel Prieto-Alhambra และคณะผู้วิจัยจาก University of Oxford ประเทศอังกฤษ จึงได้รวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับการใช้ยาในกลุ่มนี้ในผู้ป่วยที่มีโรคไตเสื่อมระดับปานกลางถึงรุนแรง ซึ่งผลพบว่าในกลุ่มผู้ป่วยที่เป็นโรคไตเสื่อมระยะ 3B การใช้ยากลุ่ม oral bisphosphonate สามารถทำให้ความหนาแน่นของกระดูก (bone-mineral density: BMD) ที่ทำการวัดด้วยวิธี DXA บริเวณสะโพกเพิ่มขึ้นได้ถึง 0.59% ต่อปี ในขณะที่กลุ่มผู้ป่วยที่ไม่ได้ใช้ยามีการสูญเสียมวลกระดูกออกไปคิดเป็น 1.98% ต่อปี และเมื่อทำการวิเคราะห์โดยตัดปัจจัยรบกวนอื่น ๆ เช่น อายุ เพศ ดัชนีมวลกาย (body mass index: BMI) ระดับการทำงานของไตวัดด้วย eGFR ประวัติการมีกระดูกหัก และโรคร่วมอื่น ๆ ออกไปแล้ว ยังพบความแตกต่างเฉลี่ยเท่ากับ 2.44% โดยพบประโยชน์ชัดเจนในกลุ่มผู้ป่วยที่ใช้ยา นอกจากนี้เมื่อทำการวิเคราะห์เกี่ยวกับโอกาสในการเสียชีวิตจากสาเหตุใด ๆ ของผู้ป่วยโรคไตเสื่อมระยะ 3B ที่มีการใช้หรือไม่ใช้ยาในกลุ่ม oral bisphosphonate เปรียบเทียบกัน ก็พบว่ากลุ่มผู้ป่วยที่มีการใช้ยา oral bisphosphonate มีโอกาสในการเสียชีวิตจากสาเหตุใด ๆ ที่น้อยกว่าคิดเป็น adjusted hazard ratio (HR) 0.85 (95% CI 0.82-0.88)

            ผู้วิจัยกล่าวว่า ในปัจจุบันยังเป็นที่แนะนำกันโดยทั่วไปว่าไม่ควรใช้ยานี้ในกลุ่มผู้ป่วยไตเสื่อมเนื่องจากอาจมีปัญหาในแง่ของความปลอดภัย เนื่องจากยานี้จะต้องขับออกทางไต แต่ข้อมูลจากการศึกษานี้อาจมีส่วนช่วยทำให้ตัดสินใจเลือกใช้ยาเพื่อป้องกันหรือรักษาโรคกระดูกพรุนในผู้ป่วยกลุ่มนี้ได้อย่างมั่นใจมากขึ้น