รหัสพันธุกรรมทำนายความยืดยาวของชีวิต

ผศ.ดร.นพ.ประกอบ ผู้วิบูลย์สุข

รหัสพันธุกรรมทำนายความยืนยาวของชีวิต

            นักวิจัยพยายามศึกษากันมานานแล้วว่า พฤติกรรมอะไร หรือสิ่งใดบ้างที่ส่งผลต่อความยืนยาวหรือหดสั้นของชีวิตคนเรา

            ท่านเคยได้ยินทำนองนี้ไหมครับ

            หากคู่ชีวิตเสียชีวิตลง คู่ครองที่ยังอยู่จะอายุสั้นลง 7 ปี

            หากต้องได้รับการผ่าตัดใหญ่ ชีวิตคนคนนั้นจะสั้นลงกว่าที่ควรจะเป็น 3 ปี

            สูบบุหรี่ 1 ซองต่อวันจะทำให้อายุสั้นลง 7 ปี

            น้ำหนักที่ขึ้นเกินน้ำหนักที่เหมาะสมทุก 1 กิโลกรัม ทำชีวิตคนคนนั้นให้หายไป 2 เดือน

            หรือทุก ๆ 1 ปีที่เราใช้ไปกับการศึกษาจะพาเรายืดอายุได้ 11 เดือน

            ข้างต้นเป็นการศึกษาทางสถิติที่รวบรวมเอาคนที่มีลักษณะปัจจัยต่าง ๆ เหล่านั้น แล้วมาคำนวณหาเวลาที่สั้นหรือเพิ่มขึ้นของคนเรา

            แต่ล่าสุดครับ นักวิจัยแห่งมหาวิทยาลัยเอดินเบิร์ก ประเทศสก็อตแลนด์ได้ศึกษาเรื่องนี้ให้ชัดเจนขึ้นไปอีกขั้นหนึ่งด้วยการศึกษา DNA หรือรหัสพันธุกรรมมาโยงกับความอายุยืนของคนเรา

            สิ่งที่พวกเขาพบน่าสนใจดีครับ

            การศึกษานี้ใหญ่มหาศาลนะครับ

            เพราะติดตามคนกว่า 600,000 คน ด้วยการตรวจ DNA แล้วติดตามดูว่าคนเหล่านี้อายุยืนยาวเท่าไหร่ ปัจจัยไหนส่งผลต่ออายุมากเท่าไหร่

            ด้วยการศึกษาแบบนี้ทำให้นักวิจัยพบว่า คนที่มียีนกลายพันธุ์ที่ทำให้คนคนนั้นเจริญอาหารกว่าคนอื่น ๆ แล้วทำให้คนนั้นอ้วนขึ้นจะอายุสั้นมากเท่าใด

            เรียกได้ว่าแม่นยำขึ้นครับ เพราะด้วยวิธีการศึกษาแบบเก่า คนที่มีปัจจัยเสี่ยงหลาย ๆ อย่างในตัว มันยากที่จะคำนวณอายุที่น่าจะสั้นลง

            อย่างคนที่ทั้งสูบบุหรี่ ทั้งดื่มสุรา ทั้งน้ำหนักเกิน รวมไปทั้งออกจากโรงเรียนก่อนวัยอันควร จะบอกได้ยากว่า จริง ๆ ควรอายุสั้นลงเท่าไหร่ เพราะเราไม่สามารถเอาเวลาที่สั้นลงมาบวกรวมกันได้ แต่สำหรับวิธีใหม่นี้สามารถแยกแต่ละปัจจัยคำนวณได้เลย และนำอายุที่สั้นหรือเพิ่มขึ้นมารวมกันได้

            เข้าทีดีครับ

            ลองดูตัวอย่างที่นักวิจัยพบแล้ว และนำมารายงานนะครับ

            - คนที่มียีนกลายพันธุ์แล้วทำให้ระบบภูมิคุ้มกันทำงานดีขึ้นจะมีอายุยืนขึ้น 7 เดือน

            - ใครที่มียีนกลายพันธุ์ที่เพิ่มระดับคอเลสเตอรอลในเลือดจะอายุสั้นลง 8 เดือน

            - ผู้ที่มียีน APOE กลายพันธุ์ที่ทำให้เป็นโรคสมองเสื่อม (dementia) จะอายุสั้นลง 11 เดือน

            Dr.Peter Joshi ผู้ศึกษาเรื่องนี้กล่าวว่า สิ่งที่รู้ในปัจจุบันนี้เป็นเพียงแค่ปลายยอดน้ำแข็งที่โผล่พ้นน้ำเท่านั้น เขาบอกว่าปัจจัยที่มีผลต่อความยืนยาวของชีวิตเราร้อยละ 20 มาจากกรรมพันธุ์ ที่เหลือเป็นเรื่องอื่น ๆโดยเฉพาะพฤติกรรม และที่สำคัญขณะนี้เราค้นพบปัจจัยของกรรมพันธุ์เพียง 1% เท่านั้น

            Dr.Joshi บอกว่า แม้พันธุกรรมจะมีผลอย่างมากต่ออายุขัยคนเรา แต่ที่มากกว่านั้นคือ การดำเนินชีวิตของคนเราที่ส่งผลเป็นส่วนใหญ่ เขาหวังว่าจะค้นพบปัจจัยใหม่ ๆ รวมทั้งยีนใหม่ ๆ ที่จะช่วยกันปรับเปลี่ยนยืดอายุขัยคนเราให้มากขึ้น

            ซึ่งตรงนี้คงต้องใช้เวลาอีกพักใหญ่ ๆ ครับ

            อืมม... รอครับรอ

(ท่านที่ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม หาอ่านได้จากวารสาร Nature Communications ครับ)