WHO ประกาศใช้การจัดกลุ่มโรคฉบับปรับปรุงใหม่ล่าสุด ICD-11

WHO ประกาศใช้การจัดกลุ่มโรคฉบับปรับปรุงใหม่ล่าสุด ICD-11

            Medscape Medical News: หลังจากที่ได้ดำเนินการปรับปรุง ICD-10 มาแล้วเป็นเวลายาวนานกว่า 10 ปี องค์การอนามัยโลกก็ได้ออกประกาศใช้การจัดกลุ่มโรคฉบับปรับปรุงใหม่ล่าสุดในเวอร์ชั่น ICD-11 แล้ว โดยมีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ ได้แก่ เป็นฐานข้อมูลแบบ electronic เต็มรูปแบบ, มีการเพิ่มเติมชื่อโรคในกลุ่มต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้นเป็น 55,000 ชื่อ จากเดิมซึ่งมีอยู่เพียง 14,400 ชื่อ รวมถึงการปรับปรุงใหม่ ๆ เพิ่มขึ้นมากมาย

            องค์การอนามัยโลกวางแผนจะนำวิธีการจัดกลุ่มโรคแบบใหม่นี้ไปนำเสนอในที่ประชุม World Health Assembly เดือนพฤษภาคม ค.ศ. 2019 นี้ เพื่อให้ประเทศสมาชิกได้ร่วมกันลงนามรับรองการใช้งาน และจะใช้การจัดกลุ่มโรคแบบใหม่อย่างเต็มรูปแบบตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 2022 เป็นต้นไป เหตุที่ทางองค์การอนามัยโลกออกประกาศเผยแพร่ไว้ล่วงหน้าเป็นเวลานานเนื่องจากจะช่วยทำให้ประเทศสมาชิกต่าง ๆ ที่ใช้รูปแบบการจัดกลุ่มโรคนี้ได้มีเวลาทำความคุ้นเคยกับการจัดกลุ่มโรคแบบใหม่ รวมไปถึงอาจมีการแปลให้เป็นภาษาท้องถิ่น หรือจัดการฝึกอบรมวิธีการใช้และลงข้อมูลให้มีความถูกต้องและคล่องตัวได้ก่อนการใช้งานจริง

            Robert Jakob หัวหน้าทีมพัฒนาการจัดกลุ่มโรคและให้คำนิยามมาตรฐานขององค์การอนามัยโลก กล่าวว่า การจัดกลุ่มโรคแบบใหม่นี้เกิดขึ้นเพื่อให้เกิดความสอดคล้องกับความรู้ใหม่ ๆ ที่เกี่ยวกับโรคต่าง ๆ ที่เพิ่มมากขึ้นอย่างมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา รวมถึงมีการนำเอาความรู้เกี่ยวกับการแพทย์ดั้งเดิมในท้องถิ่นบางชนิดที่สำคัญเข้ามาอยู่รวมด้วย การเปลี่ยนแปลงในส่วนของการวินิจฉัยที่ชัดเจนในฉบับนี้ ได้แก่ การนำภาวะสับสนในเพศสภาพของตนเอง (gender incongruence) ซึ่งเดิมเคยถูกจัดไว้ในกลุ่มความผิดปกติของจิตประสาทออกไปจากการจัดกลุ่มโรคเพื่อสอดคล้องกับความเข้าใจที่ดีขึ้นเกี่ยวกับเรื่องนี้ ขณะที่มีการเพิ่มโรคติดเกม (gaming disorder) เข้าไว้ในกลุ่มของกลุ่มโรค addictive disorders โดยให้คำจำกัดความคือ การสูญเสียความสามารถในการควบคุมตนเองในการเล่นวิดีโอเกมหรือเกมดิจิตัลต่าง ๆ และให้ความสำคัญกับการเล่นเกมเหนือการทำกิจกรรมอื่น ๆ เช่น การนอนหลับ การกิน ทำงานหรือทำการบ้าน ซึ่งส่งผลทำให้เกิดผลกระทบเชิงลบต่อสุขภาพและการดำรงชีวิตของบุคคล ทั้งนี้จะให้การวินิจฉัยเมื่อพฤติกรรมที่เข้าเกณฑ์ดังกล่าวเกิดขึ้นต่อเนื่องกันเป็นเวลาอย่างน้อย 12 เดือน

            Jakob กล่าวเสริมว่าในการจัดกลุ่มโรคแบบใหม่นี้จะมีการนำเอารูปแบบการดื้อต่อยาปฏิชีวนะของเชื้อมาทำการบันทึกด้วย ซึ่งจะช่วยทำให้การเฝ้าระวังเกี่ยวกับโรคติดเชื้อดื้อยามีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เช่นเดียวกันกับการเกิดโรคหรือความผิดปกติที่เกิดจากภาวะแทรกซ้อนของการตรวจหรือรักษาต่าง ๆ ซึ่งจะช่วยทำให้การเฝ้าระวังโรคมีความเป็นระบบและเพิ่มความปลอดภัยให้แก่ผู้ป่วยมากยิ่งขึ้น