5 หน่วยงาน ผนึกกำลังจัดการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมาย ทางสื่อสังคมออนไลน์และอินเตอร์เน็ต

5 หน่วยงาน ผนึกกำลังจัดการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมาย ทางสื่อสังคมออนไลน์และอินเตอร์เน็ต

                  กระทรวงสาธารณสุข โดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ร่วมกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม, สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.), สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) และคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หารือกลไกการจัดการปัญหาโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมายทางสื่อสังคมออนไลน์และอินเตอร์เน็ต เพื่อให้เกิดการทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ สามารถคุ้มครองผู้บริโภคได้อย่างทันต่อเหตุการณ์ และสร้างความเชื่อมั่นในการทำธุรกรรมออนไลน์ ซึ่งจะส่งผลดีต่อภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศไทยตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0

         พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการหารือการจัดการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ผิดกฎหมายทางสื่อสังคมออนไลน์และอินเตอร์เน็ต เปิดเผยว่า จากรายงานสถานการณ์มูลค่า E-commerce ในประเทศไทยปี พ.ศ. 2560 พบว่ามีมูลค่าสูงกว่า 2.8 ล้านล้านบาท และมีแนวโน้มสูงขึ้นทุกปี ทั้งนี้เป็นค่าใช้จ่ายด้านการโฆษณาสูงกว่า 10,000 ล้านบาท ซึ่งที่ผ่านมาพบว่าการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพบางส่วนมีการโอ้อวดและโฆษณาเกินจริง ซึ่งอาจส่งผลให้ผู้บริโภคสูญเสียโอกาสในการรักษา และอาจได้รับความเสียหายจนเป็นอันตรายต่อสุขภาพและชีวิตหากหลงเชื่อ ทั้งนี้ที่ผ่านมาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการจัดการกับปัญหาดังกล่าว แต่ต้องใช้กฎหมายหลายฉบับที่อยู่ในความรับผิดชอบของหลายหน่วยงาน แต่ก็สามารถแก้ไขปัญหาได้ในระดับหนึ่ง จึงได้มีการจัดการหารือเพื่อบูรณาการกลไกการจัดการปัญหาให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยมีข้อสรุปดังนี้

            1. ใช้กลไกการทำงานร่วมกันระหว่าง อย. กับสำนักงาน กสทช. ในการระงับการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ผิดกฎหมายของสื่อโทรทัศน์และวิทยุ ซึ่งสามารถดำเนินการได้อย่างรวดเร็วภายใน 1-2 วัน โดยจากการดำเนินงานตั้งแต่วันที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2561 เป็นต้นมา ระงับโฆษณาผิดกฎหมายจากสื่อโทรทัศน์และวิทยุได้จำนวน 199 รายการ ส่วนอินเตอร์เน็ตได้ส่งเรื่องให้สำนักงาน กสทช. ดำเนินการปิดกั้นการเข้าถึงเว็บไซต์ผ่านผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ต (ISP) จำนวน 378 URL จึงเห็นควรนำกลไกการทำงานดังกล่าวมาใช้กับการทำงานร่วมระหว่าง อย. และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในการระงับการเผยแพร่ข้อมูลทางสื่อสังคมออนไลน์และอินเตอร์เน็ตด้วย

            2. ให้มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดต่อผู้ที่กระทำผิดที่ทำให้ผู้บริโภคได้รับอันตรายต่อสุขภาพและชีวิต ส่วนในกรณีที่เป็นเรื่องของการฉ้อโกง ให้ใช้กฎหมายการฟอกเงินร่วมด้วย

            3. การเยียวยาผู้เสียหายจากการใช้ผลิตภัณฑ์สุขภาพ อย. และ สคบ. จะร่วมกันรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อฟ้องคดีเรียกร้องค่าเสียหายทางแพ่งแทนผู้บริโภคอย่างใกล้ชิด ทั้งนี้ในเรื่องของการตรวจสอบการขายตรงและตลาดแบบตรงได้ส่งเรื่องให้ สคบ. แล้วจำนวน 64 URL 

            4. มีการจัดการข้อมูลอย่างเป็นเอกภาพระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ ด้วยการนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้

            5. การปรับเปลี่ยนทัศนคติและพฤติกรรมผู้บริโภค สถานศึกษายังต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง แต่ในขณะเดียวกันทางกระทรวงสาธารณสุขจะทำสื่อซึ่งเป็นความรู้เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ถูกต้องในลักษณะที่เข้าใจง่าย ทันสมัย เช่น infographic โดยให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมนำไปเผยแพร่ในเครือข่ายเน็ตประชารัฐ ในขณะที่กระทรวงสาธารณสุขเผยแพร่ในเครือข่าย อสม. ออนไลน์ด้วย

            พล.อ.ฉัตรชัย กล่าวในตอนท้ายว่า ผลจากการประชุมวันนี้นับเป็นนิมิตหมายอันดียิ่งที่ทุกหน่วยงานได้ให้ความสำคัญและบูรณาการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ แบบครบวงจร พร้อมมีการสื่อสารประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจให้แก่ประชาชนอย่างต่อเนื่อง ส่งผลทำให้ผู้บริโภคมีความปลอดภัยและเกิดผลดีต่อภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศไทย ทั้งนี้หลังจากดำเนินการแล้วจะมีการประเมินผลงานทุก 3 เดือน เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนระบบงานที่ดีอย่างต่อเนื่องและยั่งยืนต่อไป