บุคลากรทางการแพทย์มีปัญหาใช้อุปกรณ์สูดยาไม่ถูกวิธีบ่อยไม่แพ้ผู้ป่วย

บุคลากรทางการแพทย์มีปัญหาใช้อุปกรณ์สูดยาไม่ถูกวิธีบ่อยไม่แพ้ผู้ป่วย

            Medscape Medical News: ปัญหาการใช้อุปกรณ์สูดยา (inhalers) ไม่ถูกวิธีเป็นสาเหตุที่สำคัญสาเหตุหนึ่งที่ทำให้การรักษาโรคของหลอดลมหลายชนิด เช่น โรคหืด (asthma) และโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (chronic obstructive pulmonary disease: COPD) ไม่ได้ผล และจากการวิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับความถูกต้องของการใช้อุปกรณ์สูดยาก็พบว่า แม้แต่ในกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์เองก็มีปัญหาการใช้อุปกรณ์สูดยาทั้งชนิด metered dose inhalers (MDIs) และ dry power inhalers (DPIs) ไม่ถูกต้องบ่อยไม่แพ้ผู้ป่วย

Vicente Plaza จาก Hospital de la Santa Creu i Sant Pau ประเทศสเปน ได้รวบรวมข้อมูลและวิเคราะห์รายงานการศึกษาเกี่ยวกับความถูกต้องของการใช้อุปกรณ์สูดยาในกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ในช่วงปี ค.ศ. 1975-2014 และได้ข้อมูลของอาสาสมัครที่เป็นบุคลากรทั้งสิ้น 6,034 คน และมีการทดสอบวิธีการใช้อุปกรณ์ทั้งหมด 9,993 ครั้ง ผลการศึกษาพบว่าจากการทดสอบทั้งหมด มีอาสาสมัครสามารถใช้อุปกรณ์ต่าง ๆ ได้ถูกต้องเพียง 15.5% (95% CI 12-19.3%) ยิ่งไปกว่านั้นเมื่อวิเคราะห์แยกตามช่วงเวลาเปรียบเทียบกันก็พบว่า ในระยะหลัง (ช่วงปี ค.ศ. 1996-2014) สัดส่วนของบุคลากรที่สามารถทำได้ถูกต้องยังลดลงไปจากในอดีต (ค.ศ. 1975-1995) อย่างชัดเจนจากเดิม 20.5% เหลือเพียง 10.8% เท่านั้น

ผู้วิจัยให้ความเห็นต่อผลการศึกษานี้ว่า ผลการศึกษาที่ออกมาแสดงให้เห็นชัดเจนว่าปัญหาการใช้อุปกรณ์สูดยาไม่ถูกต้องในผู้ป่วยนั้น ส่วนหนึ่งอาจมาจากการที่บุคลากรเองไม่มีความรู้เกี่ยวกับการใช้อุปกรณ์ที่ถูกต้อง ดังนั้น การฝึกสอนวิธีการใช้อุปกรณ์ชนิดต่าง ๆ ให้ถูกวิธีแก่บุคลากรจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นไม่แพ้กับการสอนผู้ป่วย และควรต้องมีการทบทวนซ้ำเป็นประจำสม่ำเสมอ เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับข้อมูลและวิธีการที่ถูกต้องให้มากที่สุด