นักดื่มประเภท “เมาเละ” เสี่ยงเป็นโรคความดันโลหิตสูงและไขมันในเลือดสูง

นักดื่มประเภท “เมาเละ” เสี่ยงเป็นโรคความดันโลหิตสูงและไขมันในเลือดสูง

            Medscape Medical News: ข้อมูลการศึกษาเกี่ยวกับโรคความดันโลหิตสูงและไขมันในเลือดสูงล่าสุดชี้ นักดื่มที่ดื่มแอลกอฮอล์อย่างหนักชนิด “เมาเละ” (binge drinking) ไม่เพียงแต่จะสร้างปัญหาเรื่องความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ และทำให้เกิดอาการเมาค้างในวันรุ่งขึ้นหลังการดื่มเท่านั้น แต่ยังทำให้มีโอกาสเป็นโรคความดันโลหิตสูงและคอเลสเตอรอลในเลือดสูงได้มากกว่านักดื่มประเภทอื่น ๆ อย่างเห็นได้ชัด

            ก่อนหน้านี้ได้มีการพบข้อมูลเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างการดื่มแอลกอฮอล์อย่างหนักมาแล้วว่ามีความสัมพันธ์กับการเกิดโรคความดันโลหิตสูง กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดหรือตายเฉียบพลัน และโรคหลอดเลือดสมองในกลุ่มวัยกลางคนและในผู้สูงอายุ แต่ไม่เคยมีข้อมูลว่าการดื่มในลักษณะนี้จะทำให้เกิดปัญหาเดียวกันในกลุ่มคนที่มีอายุน้อย ซึ่งมีแนวโน้มจะดื่มแอลกอฮอล์ในลักษณะนี้กันค่อนข้างมาก Mariann Piano นักวิจัยจากสถาบัน Vanderbilt University School of Nursing ประเทศสหรัฐอเมริกาจึงได้ทำการศึกษาถึงความสัมพันธ์ระหว่างการดื่มอย่างหนักกับความเสี่ยงของการเกิดโรคความดันโลหิตสูงในกลุ่มคนที่มีอายุ 18-45 ปี โดยมีอาสาสมัครเข้าร่วมในการศึกษานี้กว่า 4,700 คนในช่วงปี ค.ศ. 2011-2014 โดยมีการสอบถามเกี่ยวกับประวัติการดื่มแบบ binge drinking และแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ดื่มหนัก 1-12 ครั้งในช่วงปีที่ผ่านมา, กลุ่มที่ดื่มหนักมากกว่า 12 ครั้งในช่วงปีที่ผ่านมา และกลุ่มที่ไม่เคยดื่มหนัก อาสาสมัครจากทั้ง 3 กลุ่มจะได้รับการตรวจวัดความดันโลหิต ระดับไขมัน และระดับน้ำตาลในเลือดขณะอดอาหารมาทำการวิเคราะห์เปรียบเทียบ ซึ่งผลพบว่ากลุ่มชายที่ดื่มหนักมีแนวโน้มที่จะมีระดับความดันโลหิตสูงกว่ากลุ่มที่ไม่เคยดื่มหนัก โดยเฉพาะส่วนของ systolic blood pressure และมีระดับคอเลสเตอรอลในเลือดที่สูงกว่าอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ส่วนในกลุ่มหญิง ลักษณะการดื่มแอลกอฮอล์นั้นไม่ได้มีความสัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงของความดันโลหิต ระดับไขมันหรือระดับน้ำตาลในเลือด

ผู้วิจัยกล่าวว่า ข้อมูลที่ค้นพบใหม่นี้จะช่วยทำให้นักดื่มทั้งหลายและบรรดาแพทย์หันมาเน้นการตรวจหาโรคที่สัมพันธ์กับพฤติกรรมการดื่มของคนในกลุ่มวัยหนุ่มสาวให้มากขึ้น โดยเฉพาะในเพศชาย และควรให้ข้อมูลแก่นักดื่มเพื่อสร้างความตระหนักถึงผลเสียในระยะยาวของการดื่มแอลกอฮอล์อย่างหนักด้วย