ร่างพระราชบัญญัติยา พ.ศ. …. (ฉบับใหม่) ปัญหา หรือทางออก ที่รอการแก้ไข

ร่างพระราชบัญญัติยา พ.ศ. …. (ฉบับใหม่) ปัญหา หรือทางออก ที่รอการแก้ไข

ประเด็นซึ่งกำลังเป็นที่สนใจและถูกจับตามองอยู่ในแวดวงสาธารณสุขขณะนี้คงหลีกไม่พ้นเรื่อง ร่างพระราชบัญญัติยา พ.ศ. .... (ฉบับใหม่) ที่กระทรวงสาธารณสุขได้นำเสนอเพื่อยกเลิกและทดแทนพระราชบัญญัติยา พ.ศ. 2510 ด้วยเหตุผลที่ว่าพระราชบัญญัติยา พ.ศ. 2510 ที่ใช้อยู่ในปัจจุบันนี้ถูกใช้มานานกว่า 50 ปี จึงทำให้การคุ้มครองผู้บริโภคด้านยาไม่เท่าทันกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วทั้งทางวิทยาการและเทคโนโลยี จึงต้องมีการพัฒนาปรับปรุงร่างพระราชบัญญัติยา พ.ศ. .... (ฉบับใหม่) ขึ้น เพื่อให้ครอบคลุมสาระสำคัญในด้านการเพิ่มการคุ้มครองผู้บริโภคมากขึ้น การเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการอนุญาตด้านยา และเพื่อส่งเสริมการแข่งขันของผู้ประกอบการ ที่สำคัญเพื่อให้เกิดการสร้างความมั่นคงทางยาของประเทศ เช่น การเข้าถึงยาของประชาชนทั้งในภาวะปกติและภาวะฉุกเฉิน การส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมยาเพื่อการพึ่งพาตนเอง โดยร่างพระราชบัญญัติยา พ.ศ. .... (ฉบับใหม่) ได้จัดทำและมีการชี้แจงครั้งแรกเมื่อวันที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2561 และนำความเห็นที่ได้มาปรับปรุงเป็น ร่างพระราชบัญญัติยา พ.ศ. .... (ฉบับวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561) พร้อมได้เปิดรับฟังความคิดเห็นในการประชุมจากภาคส่วนต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก และได้นำขึ้นเว็บไซต์สำนักยาเพื่อรับฟังความคิดเห็นเพิ่มเติมระหว่างวันที่ 26 กุมภาพันธ์-วันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2561 อีกทั้งยังได้รับฟังความเห็นในช่องทางอื่น ๆ เช่น จดหมาย อีเมล จนถึงวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2561 ซึ่งมีความเห็นเข้ามาจากหน่วยงานและบุคคลที่เกี่ยวข้องมากกว่า 340 ความเห็น ซึ่งทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เองก็ได้ออกมาชี้แจงว่าได้นำความเห็นต่าง ๆ นี้มาประมวลและปรับปรุงร่างพระราชบัญญัติยา พ.ศ. .... ก่อนนำขึ้นรับฟังความเห็นเพิ่มเติมอีกครั้งบนเว็บไซต์  www.lawamendment.go.th ระหว่างวันที่ 17-31 กรกฎาคม พ.ศ. 2561 ที่ผ่านมา โดย อย. ได้นำความเห็นเพิ่มเติมจำนวนมากกว่า 1,000 ความเห็นมาพิจารณาปรับปรุงร่างพระราชบัญญัติยา พ.ศ. .... ให้เกิดความเหมาะสมยิ่งขึ้น โดยเฉพาะประเด็นที่มีความห่วงใยเกี่ยวกับบทกำหนดโทษ และค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ก่อนนำร่างพระราชบัญญัติยา พ.ศ. .... ฉบับนี้เสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป พร้อมกำชับย้ำว่าร่างพระราชบัญญัติยา พ.ศ. .... ฉบับนี้จัดทำขึ้นเพื่อ ประโยชน์ในการคุ้มครองผู้บริโภคให้ได้รับความปลอดภัยจากการใช้ยาให้ดียิ่งขึ้น เพิ่มการเข้าถึงยา รวมทั้งพัฒนาการพิจารณาอนุญาตด้านยาให้มีประสิทธิภาพ พร้อมยังส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมยาอันนำไปสู่การเพิ่มความมั่นคงทางยาและเสริมสร้างความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจของประเทศชาติ ขอให้ประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเชื่อมั่นในการดำเนินงานของ อย.

            อย่างไรก็ตาม แม้ว่าทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาจะออกมายืนยันถึงเหตุผลและความจำเป็นต่อการจัดทำร่างพระราชบัญญัติยา พ.ศ. .... (ฉบับใหม่) นี้ แต่เมื่อมีการรับฟังความเห็นในร่างพระราชบัญญัติยา พ.ศ. .... ฉบับนี้อีกครั้งเมื่อวันที่ 17-31 กรกฎาคม พ.ศ. 2561 กลับได้รับกระแสคัดค้านจากผู้ที่เกี่ยวข้อง เพราะนอกจากจะไม่มีการแจ้งประชาสัมพันธ์ผ่านทางเว็บไซต์สำนักยา สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาอย่างที่เคยเป็น แต่กลับให้ไปรับฟังความเห็นที่เว็บไซต์ www.lawamendment.go.th แทน จึงทำให้กระแสเสียงส่วนใหญ่ทั้งในส่วนของประชาชนและองค์กรวิชาชีพเภสัชกรรมต่างไม่เห็นด้วย และเห็นว่าควรมีการนำเสนอจุดที่ต้องปรับปรุงแก้ไขจำนวนมาก ที่สำคัญร่างพระราชบัญญัติยา พ.ศ. .... (ฉบับใหม่) นี้ไม่ได้นำข้อตกลงที่ได้จากการรับฟังก่อนหน้านี้หลายครั้งมาแก้ไข โดยเฉพาะในประเด็นที่เปิดให้วิชาชีพอื่นสามารถจ่ายยาได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง และจะทำให้มาตรฐานการจ่ายยาไม่เป็นไปตามมาตรฐานสากล และอาจเกิดความไม่ปลอดภัยต่อผู้ป่วย ทั้งนี้ยังไม่รวมถึงการสามารถหาซื้อยาได้ตามร้านสะดวกซื้อ หรือการซื้อขายยาตามสื่อออนไลน์ที่กำลังเป็นปัญหาเพิ่มมากขึ้นจากผู้ที่ไม่มีความรู้ทางด้านยาโดยตรง จึงเป็นสาเหตุให้องค์กรวิชาชีพเภสัชกรรมต่างร่วมกันแสดงจุดยืนออกมาคัดค้านกันอย่างกว้างขวาง

ทั้งนี้ในส่วนของสภาเภสัชกรรม โดย ดร.ภก.นิลสุวรรณ ลีลารัศมี นายกสภาเภสัชกรรม ก็ได้ออกมาแสดงจุดยืนคัดค้านการเสนอร่างพระราชบัญญัติยา พ.ศ. .... (ฉบับใหม่ กรกฎาคม พ.ศ. 2561) และมีความเห็นว่ายังมีบทบัญญัติที่เป็นปัญหาอันเป็นสาระสำคัญอยู่หลายประการ อีกทั้งสภาเภสัชกรรมขอยืนยันและสนับสนุนในการเสนอร่างพระราชบัญญัติยา พ.ศ. …. (ฉบับที่ผ่านการพิจารณาเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559) ซึ่งได้ร่วมกันพัฒนาปรับปรุงให้ประชาชนได้รับหลักประกันในการคุ้มครองสวัสดิภาพและความปลอดภัยในการใช้ยาให้ดียิ่งขึ้น โดยในคำแถลงการณ์นี้มีหลายประเด็นที่น่าสนใจ ยกตัวอย่างเช่น การแบ่งนิยามประเภทยาตามร่างมาตรา 4 ไม่เป็นไปตามหลักสากล ซึ่งจะมีการแบ่งประเภทยาเพียง 3 กลุ่ม คือ ยาที่จ่ายตามใบสั่งยา (Prescription only) ยาที่จ่ายโดยเภสัชกร (Pharmacist only) และยาที่ประชาชนเลือกใช้ได้เอง (Self-medication) ซึ่งเป็นที่เข้าใจโดยง่ายของประชาชนในการได้มาซึ่งยารักษาโรค ส่วนนิยามเดิมเป็นการระบุถึงอันตรายจากการใช้ยาไม่สร้างสรรค์ เพียงแค่เป็นที่เข้าใจในวิชาชีพเท่านั้น จึงไม่ควรกำหนดนิยามคำเดิมว่า “ยาอันตราย” “ยาควบคุมพิเศษ” และ “ยาที่ไม่ใช่อันตรายหรือยาควบคุมพิเศษ” ขึ้นมา เพราะนิยามเดิมดังกล่าวถูกใช้มาตั้งแต่ก่อนปี พ.ศ. 2510 อันจะขัดต่อเจตนารมณ์ของการแก้ไขร่างพระราชบัญญัตินี้ให้ทันสมัยอย่างยิ่ง การตัดเนื้อหาบทบาทของวิชาชีพเภสัชกรรมในการปรุงยาและจ่ายยาตามใบสั่งของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ผู้ประกอบวิชาชีพทันตกรรม และผู้ประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์ออกไป โดยพระราชบัญญัติยาฉบับใหม่ได้ให้อำนาจนี้แก่ผู้ประกอบวิชาชีพอื่นในวงกว้าง ซึ่งเป็นที่มาของข้อขัดแย้งระหว่างวิชาชีพว่าด้วยการผลิตผสมยาให้ผู้ป่วยเป็นการเฉพาะราย เพราะอันที่จริงการผลิตหรือการผสมยา ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบวิชาชีพใดก็จะต้องจัดสถานที่ผลิตให้ได้มาตรฐาน Good Manufacturing Practice (GMP) อีกทั้งผู้ปฏิบัติการจะต้องมีความรู้หรือปรุงยาที่ถูกต้องด้วย การยกเว้นให้ผู้ประกอบวิชาชีพที่ไม่ใช่เภสัชกร จึงเป็นการเปิดให้มีการผลิตผสมปรุงยาเป็น “สองมาตรฐาน” สุ่มเสี่ยงต่อความปลอดภัยต่อการใช้ยาของประชาชนอย่างยิ่ง ร่างพระราชบัญญัติยาฉบับใหม่นี้คลุมเครือในเรื่อง “การแบ่งจ่ายและจ่ายยา” ซึ่งควรระบุว่าผู้ที่ได้รับการยกเว้นตามมาตรา 22(4), (5) จะต้องมีความรู้พื้นฐาน การศึกษา ความรู้ ทักษะ และความสามารถในการจ่ายยาตามมาตรฐานวิชาชีพอย่างเดียวกัน การกำหนดให้มีการจดแจ้งชีววัตถุ หรือการจดแจ้งการโฆษณายาซึ่งเป็นเรื่องที่ควรจะมีการควบคุมที่เข้มงวดเพราะเป็นเรื่องที่มีความสุ่มเสี่ยงอย่างมาก ทั้งนี้กระบวนการอนุญาตที่มุ่งอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ประกอบการอาจก่อให้เกิดผลร้ายได้ เพราะพนักงานเจ้าหน้าที่ไม่สามารถตรวจสอบได้อย่างทั่วถึง ควรให้มีบทบัญญัติเนื้อหาเกี่ยวกับเรื่อง E-Commerce และ Tele-pharmacy ในร่างพระราชบัญญัติยา พ.ศ. .... (ฉบับใหม่ กรกฎาคม พ.ศ. 2561) ด้วย เพื่อให้ครอบคลุมคุ้มครองผู้บริโภคด้านยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพ ร่างพระราชบัญญัติยา พ.ศ. .... (ฉบับใหม่ กรกฎาคม พ.ศ. 2561) มาตรา 115 กำหนดให้เภสัชกรสามารถที่จะอยู่ปฏิบัติหน้าที่ในสถานประกอบการด้านยาได้มากกว่า 1 แห่ง หากเวลาปฏิบัติการไม่ทับซ้อนกัน จึงอาจก่อให้เกิดปัญหา “เภสัชกรแขวนป้าย” ที่รุนแรงมากขึ้น สภาเภสัชกรรมจึงขอเลือกให้ตัด มาตรา 115 ออก ร่างพระราชบัญญัติยาใหม่ไม่มีบทบัญญัติกล่าวถึงร้านขายยา ขย.2 ซึ่งปัจจุบันมีอยู่เป็นจำนวนมาก ทำให้ร้านขายยากลุ่มดังกล่าวจะต้องมีเภสัชกรประจำร้านขึ้นมา อันเป็นกฎเกณฑ์ที่ไม่จำเป็นและยากแก่การปฏิบัติในสถานการณ์ปัจจุบัน จึงควรเห็นปล่อยให้เป็นตามเดิม การกำหนดบทลงโทษตามร่างพระราชบัญญัติยา (ฉบับใหม่) นี้ยังไม่มีความเหมาะสม เช่น ความผิดที่ส่งผลกระทบรุนแรงแต่กำหนดโทษต่ำ ความผิดที่ส่งผลกระทบต่ำกลับกำหนดโทษรุนแรง นอกจากนี้ยังมีประเด็นเรื่องผลิตภัณฑ์สมุนไพรอยู่ในร่างพระราชบัญญัติยา (ฉบับใหม่) ที่ยังเป็นปัญหาคาบเกี่ยวกันกับร่างพระราชบัญญัติผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่ทางกลุ่มอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์สมุนไพรกำลังดำเนินการขั้นสุดท้ายก่อนการประกาศใช้ ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขควรต้องมีความชัดเจนในการร่างพระราชบัญญัติยานี้ให้เหมาะสม

ด้าน ภก.กิตติ พิทักษ์นิตินันท์ อดีตนายกสภาเภสัชกรรม กล่าวถึงความกังวลเกี่ยวกับการแก้ไขร่างพระราชบัญญัติยาฉบับใหม่ ว่า การแก้ไขร่างพระราชบัญญัติยา พ.ศ. .... (ฉบับใหม่) แทนพระราชบัญญัติยา พ.ศ. 2510 เพื่อให้มีความทันสมัยที่แม้จะมีการปรับแก้แล้วแต่ยังซ้ำรอยเดิม โดยเฉพาะในประเด็นที่เปิดให้วิชาชีพอื่นสามารถจ่ายยาได้ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง และจะทำให้มาตรฐานการจ่ายยาไม่เป็นไปตามมาตรฐานสากล และอาจเกิดความไม่ปลอดภัยแก่ผู้ป่วย ทั้งนี้ตามมาตรฐานสากลได้แบ่งประเภทยาไว้ 3 ประเภท คือ ยาที่ต้องจ่ายตามใบสั่งยา ยาที่จ่ายโดยผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม และยาสามัญประจำบ้าน ซึ่งหากต้องการให้ร่างพระราชบัญญัติยาฉบับใหม่มีความทันสมัยก็ควรต้องให้เป็นไปตามหลักสากลจริง ๆ คือ ควรหันมาใช้ระบบใบสั่งยามากขึ้นแทนการเปิดให้วิชาชีพอื่นมาจ่ายยาสำหรับผู้ป่วยของตนได้ ยกเว้นกรณีในสถานบริการภาครัฐพื้นที่ห่างไกล หรือโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ที่มีข้อจำกัดเรื่องบุคลากร กฎหมายก็อนุญาตให้วิชาชีพอื่นสามารถร่วมกันจ่ายยาได้ภายใต้การกำกับดูแลของผู้ประกอบวิชาชีพ ซึ่งประเด็นที่เปิดให้วิชาชีพอื่นสามารถจ่ายยาได้เคยถูกคัดค้านไปแล้วเมื่อปี พ.ศ. 2557 โดยได้มีการหารือข้อสรุปร่วมกันระหว่างเครือข่ายวิชาชีพเภสัชกรรม สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) รวมถึงวิชาชีพอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง และได้จัดทำร่างพระราชบัญญัติยาฉบับกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเป็นฉบับที่มีการปรับแก้ในประเด็นที่มีการคัดค้านเรียบร้อยแล้วแต่ไม่ได้ถูกนำมาใช้ การที่ อย. ระบุว่าต้องการให้ร่างพระราชบัญญัติยาฉบับใหม่ทันสมัยและสอดคล้องตามมาตรฐานสากล แต่สิ่งที่กำลังดำเนินการอยู่นั้นกลับตรงกันข้าม และยิ่งทำให้ร่างพระราชบัญญัติยาฉบับใหม่วนกลับไปสู่จุดเดิมที่เคยเป็นมา

นอกจากนี้ ภก.จิระ วิภาสวงษ์ ประธานชมรมเภสัชสาธารณสุขแห่งประเทศไทย ก็ได้ออกมาคัดค้านเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า ชมรมเภสัชสาธารณสุขแห่งประเทศไทย เห็นว่าร่างพระราชบัญญัติยาฉบับที่ อย. ได้มีการนำเสนอมีจุดที่ต้องปรับปรุงแก้ไขจำนวนมาก ที่สำคัญร่างพระราชบัญญัติยานี้ไม่ได้นำข้อตกลงที่ได้จากการรับฟังก่อนหน้านี้หลายครั้งมาแก้ไข องค์กรวิชาชีพเภสัชกรรมได้ทำการประท้วงอย่างกว้างขวางทั่วประเทศ ชมรมฯ จึงขอออกแถลงการณ์ชี้แจงข้อที่ต้องแก้ไขต่อสังคม โดยมีสาระสำคัญ เช่น นิยามยาสามัญประจำบ้านที่ไม่รัดกุม การปล่อยให้วิชาชีพต่าง ๆ ขายยาได้ การไม่แบ่งประเภทยาตามหลักสากล ให้จดแจ้งยาชีววัตถุ และการโฆษณา เป็นต้น การแก้ไขขาดความรอบคอบด้านการคุ้มครองความปลอดภัยของผู้บริโภค ตลอดจนไม่คำนึงถึงหลักการที่มีการยอมรับในระดับสากลที่กำหนดให้มีความสมดุลระหว่างผู้สั่งยาและผู้ใช้ยา ทั้งนี้ชมรมฯ ขอเรียกร้องว่า อย. ต้องไม่ทำเพียงการมาแจ้งความคืบหน้าเท่านั้น แต่ต้องตกลงกันว่าจะเปลี่ยนแปลงอะไร ไม่เปลี่ยนแปลงอะไร ไม่ใช่แก้ไขตามอำเภอใจ โดยไม่สนใจหลักการ

ภญ.ศิริรัตน์ ตันปิชาติ นายกสมาคมเภสัชกรรมชุมชน องค์กรตัวแทนเภสัชกรที่ปฏิบัติงานวิชาชีพในร้านยาทั่วประเทศ กล่าวว่า การแก้ไขร่างพระราชบัญญัติยาในครั้งนี้ไม่คำนึงถึงหลักการ ดูได้จากหลักการที่เสนอกับสิ่งที่แก้ไขแปลกแยกแตกต่างกัน ไม่คุ้มครองความปลอดภัยให้จดแจ้งการโฆษณาและยาชีววัตถุ ซึ่งการจดแจ้งเครื่องสำอางที่ผ่านมาก็สะท้อนแล้วว่ามีปัญหาด้านสถานที่ผลิตเถื่อนจนกระทบสังคมอย่างกว้างขวางตามที่เป็นข่าว ที่สำคัญคือ ร้านยามีหน้าที่หลักคือ ขายยาโดยเภสัชกรตามกฎหมาย กลับออกกฎหมายมาให้วิชาชีพต่าง ๆ ขายยาได้ด้วย เป็นการสวนทางกับการที่มีเภสัชกรจบออกมามากขึ้น ซึ่งควรให้เภสัชกรซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านยาทำหน้าที่นี้โดยมีใบสั่งยามาที่ร้านยาตามหลักสากล

“อย่างกรณีการขายยาออนไลน์ไม่มีการควบคุมจริงจังก็ไม่สนใจออกกฎหมายมาดูแล ที่ผ่านมาองค์กรวิชาชีพต่าง ๆ ร่วมกันเสนออะไรไปก็ไม่สนใจ รอจังหวะแต่เพียงจะออกกฎหมายมา เชื่อว่าจะมีการคัดค้านกว้างขวางให้กฎหมายนี้ตกไปในที่สุด ทั้งนี้ได้ร่วมกับกลุ่มมงคลนามเภสัชกรรม ออกแถลงการณ์คัดค้านร่างพระราชบัญญัติยาฉบับนี้ โดยจะได้ชวนให้ร้านยาที่เป็นสมาชิกสมาคมเภสัชกรรมชุมชนทั่วประเทศร่วมคัดค้านด้วย”

ผศ.ภญ.วรรณา ศรีวิริยานุภาพ ผู้อำนวยการวิทยาลัยการคุ้มครองผู้บริโภคด้านยาและสุขภาพสภาเภสัชกรรม ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายยาและสุขภาพ กล่าวว่า จากที่ได้ทำการวิเคราะห์ร่างพระราชบัญญัติยาที่มีการนำเสนอ พบว่า 1. อย. รับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานและองค์กรต่าง ๆ แต่ไม่ได้นำหลักการตามที่เสนอมาแก้ไขปรับปรุง เลือกบางประเด็นมาแก้ไขปรับปรุง  2. ไม่คุ้มครองความปลอดภัยต่อผู้บริโภคโดยใช้หลักการกฎหมายที่ผิด  3. ไม่สนใจหลักการสมดุลและตรวจสอบในการจ่ายยา และ 4. ไม่ให้ความสำคัญกับข้อเสนอของวิชาชีพเภสัชกรรมซึ่งเกี่ยวข้องโดยตรง

“ในฐานะอาจารย์ในสถาบันการศึกษาเภสัชศาสตร์จะนำข้อมูลเสนอศูนย์ประสานการศึกษาเภสัชศาสตร์แห่งประเทศไทย เพื่อให้คณาจารย์เภสัชศาสตร์และนิสิตนักศึกษาเภสัชศาสตร์ในทุกคณะเภสัชศาสตร์ทั่วประเทศไทยมีความเข้าใจถึงปัญหาของการออกกฎหมายนี้ และร่วมกันนำเสนอให้มีการแก้ไขตลอดจนคัดค้านกฎหมายฉบับนี้อย่างแข็งขันต่อไป เพราะตั้งแต่ อย. ได้มีความพยายามที่ได้นำเสนอร่างพระราชบัญญัติยาฉบับแก้ไขสู่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีกระแสคัดค้านจากองค์กรวิชาชีพเภสัชกรรมต่าง ๆ อย่างกว้างขวาง ทั้งออกแถลงการณ์คัดค้านและยื่นต่อ อย. และจากนั้นได้มีองค์กรต่าง ๆ แถลงการณ์ตามมาขยายวงอย่างต่อเนื่อง จนอาจคาดได้ว่าจะมีการประท้วงในจังหวัดต่าง ๆ ดังที่เคยปรากฏผ่านมาในการแก้ไขพระราชบัญญัติยาครั้งที่ผ่านมา”

อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาและหาทางออกร่วมกัน เมื่อต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมานี้  .คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้ความเห็นชอบผลการประชุมผู้แทนสภาเภสัชกรรม กลุ่มผู้สมัครเลือกตั้งกรรมการสภาเภสัชกรรมและคณบดีคณะเภสัชศาสตร์จากมหาวิทยาลัย 6 แห่ง โดยกำชับให้ดำเนินการต่อเพื่อให้ร่างพระราชบัญญัติยา พ.ศ. .... มีความสมบูรณ์เหมาะสม คุ้มครองประชาชน และส่งเสริมการผลิตยาในประเทศ โดยที่ประชุมได้ข้อสรุปดังนี้ คือ

1. ที่ประชุมเห็นพ้องว่าเนื้อหาส่วนใหญ่เป็นประโยชน์และเห็นด้วย

2. ประเด็นที่ขอปรับแก้คือ มาตรา 22 ให้กลับไปใช้ข้อความเดิมตามพระราชบัญญัติยา พ.ศ. 2510 คือ การจ่ายยาตามวิชาชีพต่าง ๆ ได้คงเดิม ส่วนพยาบาลในหน่วยงานรัฐสามารถจ่ายยาได้เหมือนเดิมตามที่กำหนดในกฎกระทรวง และการโฆษณายาในมาตรา 137 ให้ใช้ตามพระราชบัญญัติยา พ.ศ. 2510

3. ประเด็นที่ปรับแก้ กรณีนิยามตามมาตรา 4 ให้แบ่งประเภทยาตามหลักสากล เป็นยาตามใบสั่งยา (Prescription only) ยาจ่ายโดยเภสัชกร (Pharmacist only) ยาสามัญประจำบ้าน และกำหนดร้านขายยาประเภท ขย.2 ให้ชัดเจน โดยขอให้ไปทำความชัดเจนอีกครั้ง

4. ประเด็นย่อยอื่น ๆ เช่น ยาออนไลน์ การเรียงลำดับกฎหมายขอให้ปรับให้ถูกต้อง โดยปลัดกระทรวงสาธารณสุขจะนำไปเสนอคณะกรรมการร่างพระราชบัญญัติยา พ.ศ. .... ต่อไป

.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า ขอให้ผู้แทนที่ร่วมประชุมช่วยสื่อสารไปยังสมาชิกเครือข่ายเพื่อทำความเข้าใจให้ถูกต้อง อย่างไรก็ตาม กระทรวงสาธารณสุขยินดีที่จะทำหน้าที่เป็นตัวกลางประสานระหว่างคณะกรรมการร่างพระราชบัญญัติยากับสหวิชาชีพต่าง ๆ เพื่อให้ได้กฎหมายที่มีความสมบูรณ์ทันสมัย เหมาะสม คุ้มครองประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ และส่งเสริมการผลิตยาในประเทศ

            สุดท้ายนี้ ร่างพระราชบัญญัติยา พศ. .... (ฉบับใหม่) จะออกมาในรูปแบบใด จะมีความทันสมัยและถูกปรับเปลี่ยนให้พัฒนาเพื่อที่จะได้ดูแลคุ้มครองผู้ประกอบวิชาชีพและประชาชนได้มากน้อยเพียงใด เราทุกคนคงต้องคอยดู และติดตามกันต่อไป