ภญ.รศ.ดร.มานี เหลืองธนะอนันต์

ภญ.รศ.ดร.มานี เหลืองธนะอนันต์

“เชลแล็ก” ประโยชน์ที่ได้มากกว่าที่เรารู้จัก

“เชลแล็ก” ที่ชาวบ้านทั่วไปมักใช้สำหรับทาเคลือบไม้ให้มีความเงางามและเป็นการถนอมเนื้อไม้ แต่เภสัชกรกลับเล็งเห็นการใช้ประโยชน์ที่มากกว่าอุตสาหกรรมไม้ โดย ภญ.รศ.ดร.มานี เหลืองธนะอนันต์ ผู้ผลิตผลงานวิจัยที่ได้รับรางวัลผลงานวิจัยดีเด่นสาขาวิชาวิทยาศาสตร์และวิทยาศาสตร์ประยุกต์ ประจำปี พ.ศ. 2556 เรื่อง “ผลของสารพอลิเอทิลีนไกลคอลต่อคุณสมบัติทางกายภาพและความคงตัวของฟิล์มเชลแล็ก” จากสถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยศิลปากร ทำให้ “เชลแล็ก” มีประโยชน์มากกว่าที่เรารู้จักกันทั่วไป

หลายคนรู้จัก “เชลแล็ก” เป็นอย่างดีจากคุณสมบัติสำหรับเคลือบไม้ให้มีความเงางามและเพื่อถนอมเนื้อไม้ แต่จะมีใครที่รู้บ้างว่า “เชลแล็ก” มีคุณสมบัติเพิ่มประสิทธิภาพให้กับเภสัชภัณฑ์ ยา หรือเครื่องสำอางหรือด้านการเกษตรได้ ภญ.รศ.ดร.มานี เหลืองธนะอนันต์ ผู้ทำการวิจัยให้ข้อมูลว่า “ผลงานวิจัยเรื่องนี้จะสำเร็จไปไม่ได้ถ้าหากไม่มีผู้ริเริ่ม ต้องขอขอบคุณ ภก.รศ.ดร.สนทยา ลิ้มมัทวาภิรัติ์ ผู้วิจัยอีกท่านที่ริเริ่มงานวิจัยทางด้านเชลแล็ก เราคงคุ้นหูกับชื่อนี้พอสมควร เชลแล็กเป็นสารที่ไทยผลิตได้ในปริมาณมากเป็นอันดับที่ 2 ของโลก รองจากอินเดีย แต่ทำไมถึงไม่ได้นำมาใช้ในวงการอุตสาหกรรมมากกว่าที่ควรจะเป็น นี่เป็นคำถามที่ต้องหาคำตอบ แต่การนำสารตัวนี้มาใช้ในอุตสาหกรรมยา เครื่องสำอาง มันต้องผ่านกระบวนการซึ่งต้องทำให้มันบริสุทธิ์จริง ๆ ในอดีตมีการใช้เชลแล็กเป็นสารเคลือบกันซึมน้ำ เนื่องจากคุณสมบัติที่โดดเด่นในเรื่องการป้องกันการซึมผ่านน้ำที่ดี พอนำมาใช้เป็นฟิล์มเคลือบในอุตสาหกรรมยาจึงสามารถป้องกันการซึมผ่านของน้ำได้ดีมาก ทำให้ยาคงตัว แต่เมื่อเก็บนานขึ้นปรากฏว่า “เชลแล็ก” ที่เคลือบเกิดการเสีย เกิดกระบวนการรวมตัวกันที่เรียกว่า “พอลิเมอไรเซชั่น” ทำให้ยาไม่แตกตัว พอเรากินยาเข้าไปยาจึงไม่สามารถออกฤทธิ์ได้” นอกจากนี้ในอุตสาหกรรมยามีสารสังเคราะห์เกิดขึ้น ซึ่งสามารถทดแทนได้ดีกว่า ความนิยมในการใช้ “เชลแล็ก” ในอุตสาหกรรมยาจึงลดลงเรื่อย ๆ

            เชลแล็กเป็นสารที่มาจากธรรมชาติ ผลิตจากตัวครั่งที่มันไปถ่ายใส่ต้นไม้ ซึ่งมีในพื้นที่ทางภาคเหนือ และเห็นว่ามันมาจากประเทศไทยเราเอง ซึ่งเป็นทรัพยากรที่เรามีอยู่ และผลิตได้เป็นปริมาณมาก สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างกว้างขวางในทางยาและเครื่องสำอาง เช่น มาสคาร่า เป็นต้น นอกจากนี้สารตัวนี้ยังสามารถส่งออกไปยังต่างประเทศ เช่น ประเทศเยอรมนี มีงานวิจัยของเยอรมนีได้ศึกษาสารตัวนี้อย่างมากขึ้น โดยนำเข้าจากประเทศไทย แนวคิดเรื่องประโยชน์ของเชลแล็กและเป็นสารที่อุดมสมบูรณ์ในบ้านเรา เราควรจะนำมาพัฒนาให้ดีขึ้น โดยเฉพาะในเรื่องความไม่คงตัวเพื่อเพิ่มมูลค่าของมัน จึงเป็นจุดเริ่มต้นในการศึกษาสารตัวนี้ จะเห็นว่าจากงานวิจัยสามารถทำให้มันคงตัวดีขึ้นอย่างมาก “เราเริ่มทำงานเรื่อง “เชลแล็ก” นี้มากกว่า 10 ปี แต่แนวงานทางด้าน ภก.รศ.ดร.สนทยา ก็จะปรับปรุงด้านอื่น เช่น พัฒนาในรูปอนุพันธ์ต่าง ๆ ที่สามารถละลายน้ำได้ เช่น รูปเกลือ ส่วนของอาจารย์ก็จะเน้นเรื่องสารช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นเพื่อเพิ่มความคงตัว โดยปกติพวกฟิล์มในการทำเป็นฟิล์มเคลือบนั้น เราจะเน้นในเรื่องการเคลือบ เคลือบยาหรือเคลือบผลไม้ เพื่อความสวยงามหรือเพื่อความคงตัว โดยสารที่เคลือบควรจะมีความยืดหยุ่น แต่พบข้อเสียของ “เชลแล็ก” อีกประการที่เป็นปัญหาคือ มันเปราะไม่แข็งแรงพอ จึงต้องคิดหาสารที่ไปเพิ่มความแข็งแรงและทำให้มีความยืดหยุ่น สารที่เพิ่มเข้ามาเรียกว่า พลาสติไซเซอร์ (plasticizer) หรือสารเพิ่มความยืดหยุ่น ซึ่งพอลิเอทิลีนไกลคอลเป็นสารเพิ่มความยืดหยุ่นตัวหนึ่ง” ผู้ทำการวิจัยกล่าว

ก่อนเป็นงานวิจัยฉบับนี้ ผู้วิจัยได้ศึกษาเรื่องคุณสมบัติพื้นฐานของเชลแล็กและการทำให้มันคงตัว  โดยใช้เพียงเชลแล็กโดยไม่เติมสารอื่น ๆ เลยมาทำเป็นฟิล์มเคลือบ พบว่ามันเริ่มรวมตัวกันภายในระยะเวลาประมาณ 2 เดือนจะเห็นว่ามันได้เสียสภาพไป นี่เป็น paper เก่าที่ได้ศึกษาโครงสร้าง พบว่ามันมีโอกาสจะมารวมตัวกัน จากนั้นทดลองเติมสารที่สามารถป้องกันการเกิดการรวมตัว (พอลิเมอไรเซชั่น) สารตัวนั้นบังเอิญเป็นสารเพิ่มความยืดหยุ่นด้วย ผู้วิจัยจึงศึกษาใน paper ถัดมา และเมื่อเติมสารพอลิเอทิลีนไกลคอล พบว่าสารตัวนี้เป็นสารเพิ่มความยืดหยุ่นตัวหนึ่ง และยังเพิ่มความคงตัวให้มัน ดังนั้น จึงเอามาต่อยอดใน paper ใหม่ ซึ่งพอลิเอทิลีนไกลคอลมันมีหลายเกรด ขนาดโมเลกุลต่าง ๆ กันไป ผู้วิจัยก็เลยศึกษาว่าขนาดโมเลกุลและความเข้มข้นของสารมีผลหรือไม่ แล้วก็พบข้อสรุปว่า ขนาดโมเลกุลและความเข้มข้นที่เหมาะสมเท่านั้นสามารถป้องกันไม่ให้มันรวมตัวกันได้ ซึ่งตอนนี้คณะผู้วิจัยได้นำผลงานวิจัยของเชลแล็กมาใช้หลายด้านแล้ว เช่น ทางการเกษตร โดยศึกษาวิเคราะห์คุณสมบัติเบื้องต้นของฟิล์มที่ใช้ในการเคลือบผลไม้ และทำให้ผลไม้มีความคงตัวยาวนานพอที่จะส่งออกได้ ในทางยาได้ศึกษานำเชลแล็กเป็นส่วนหนึ่งของตัวพายาในการนำส่งยาโปรตีน ปัจจุบันนอกจากงานวิจัยชิ้นนี้ ผู้วิจัยกำลังศึกษาต่อยอดในเรื่องการฟอกขาว เนื่องจาก “เชลแล็ก” สีไม่สวย สีเหมือนมะม่วงกวน ดำคล้ำออกน้ำตาล ไม่น่าใช้ จึงให้นักศึกษาปริญญาโททำงานวิจัยเรื่องการฟอกขาวอยู่ เพราะคนเราส่วนใหญ่ชอบสีขาว ๆ ที่น่าใช้ และศึกษาต่อในเรื่องความเป็นพิษหรือการใช้สำหรับนำส่งยา โดยถ้าสามารถผลิตสารที่เป็นวัตถุดิบทางธรรมชาติจากประเทศไทยได้และประโยชน์ของสารตัวนี้มีอยู่มากมายจะเป็นแนวทางที่ดีมากที่จะช่วยลดต้นทุนการนำเข้าสารเคมี แต่ก็เป็นเพียงแนวความคิด “ทุกครั้งของงานวิจัย ผลลัพธ์ที่ได้ก็เป็นเพียงแค่เอกสาร ตำรา สิ่งตีพิมพ์ที่สามารถใช้ขอตำแหน่งทางวิชาการ หรืออย่างมากก็เป็นสิทธิบัตร ซึ่งเป็นที่น่าเสียดายมากสำหรับทุน พลังความคิด และเวลาที่ได้เสียไป หากหน่วยงานภาครัฐหรือภาคเอกชนที่สามารถสนับสนุนทำให้เกิดความต่อเนื่องอย่างเป็นรูปธรรมจนสามารถนำไปใช้ได้ในระดับอุตสาหกรรม ทั้งยา อาหาร หรือเครื่องสำอาง หรืออุตสาหกรรมอื่น ๆ หรือสามารถส่งออกไปขายยังต่างประเทศได้ ซึ่งเป็นการสร้างมูลค่าของงานวิจัย ก็จะเกิดประโยชน์อย่างมากต่อประเทศไทย” ภญ.รศ.ดร.มานี กล่าวทิ้งท้าย

เป็นที่น่าภาคภูมิใจที่สังคมนักวิทยาศาสตร์ของประเทศไทยเราเล็งเห็นการพัฒนาผลผลิตสู่การใช้งานในระดับอุตสาหกรรมและเกษตรกรรม พร้อมเผยแพร่ความรู้สู่ผู้สนใจและนำไปใช้ได้จริงเพื่อผลประโยชน์ในด้านต่าง ๆ จากความสำเร็จและความน่าสนใจของเนื้อหารายละเอียด สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยศิลปากร โดยคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิได้พิจารณาคัดเลือกให้ได้รับรางวัลผลงานวิจัยดีเด่นประจำปี พ.ศ. 2556 สาขาวิชาวิทยาศาสตร์และวิทยาศาสตร์และวิทยาศาสตร์ประยุกต์ เพื่อเป็นการประกาศเกียรติคุณในความสามารถ และเพื่อเป็นขวัญกำลังใจในการผลิตผลงานวิจัยที่ดีต่อไปให้แก่ประเทศ