PPI และ H2RA ให้ผลดีใกล้เคียงกันในการป้องกันการกลับเป็นซ้ำของแผลในกระเพาะอาหาร

PPI และ H2RA ให้ผลดีใกล้เคียงกันในการป้องกันการกลับเป็นซ้ำของแผลในกระเพาะอาหาร

            Reuters Health Information: ผลการศึกษาวิจัยแบบ randomized clinical trial เกี่ยวกับประสิทธิภาพในการป้องกันการกลับเป็นซ้ำของแผลในกระเพาะอาหารในกลุ่มผู้ป่วยที่ไม่ได้มีการติดเชื้อ H. pylori พบว่ายา lansoprazole ซึ่งเป็นยาในกลุ่ม proton-pump inhibitors (PPIs) นั้นให้ผลดีใกล้เคียงกันกับยา famotidine ซึ่งเป็นยาในกลุ่ม H2-receptor antagonists (H2RAs)

            ปัจจุบันเป็นที่ทราบกันดีแล้วว่าโรคแผลในกระเพาะอาหารในผู้ป่วยที่ไม่ได้มีการติดเชื้อ H. pylori นั้นมีกลไกและลักษณะของการเกิดโรคที่แตกต่างไปจากกลุ่มที่มีการติดเชื้อและมีความเสี่ยงต่อการเกิดเลือดออกจากแผลซ้ำได้มากกว่ากลุ่มที่เกิดจากการติดเชื้อ โดยทั่วไปจึงมีคำแนะนำให้ใช้ยาในกลุ่ม PPIs ในระยะยาวเพื่อการรักษาผู้ป่วยกลุ่มนี้ แต่ยังไม่เคยมีการศึกษายาในกลุ่ม H2RA ว่ามีประสิทธิภาพในการรักษาโรคนี้ได้ด้วยหรือไม่ Dr.Grace LH Wong และ Dr.Francis KL Chan จาก The Chinese University of Hong Kong จึงทำการศึกษาในแบบ randomized trial ในอาสาสมัครที่เป็นผู้ป่วยโรคแผลในกระเพาะอาหารและไม่มีการติดเชื้อ H. pylori จำนวน 228 ราย โดยแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มให้ได้รับการรักษาที่แตกต่างกันคือ ยา lansoprazole ชนิดรับประทานในขนาด 30 มก.ต่อวัน กับกลุ่มที่ได้รับยา famotidine ชนิดรับประทานขนาด 40 มก.ต่อวัน วัดผลที่อัตราการเกิดเลือดออกซ้ำในกระเพาะอาหาร ซึ่งผลการศึกษาออกมาพบว่าในทั้ง 2 กลุ่มมีอาการเกิดเลือดออกซ้ำไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (0.88% ในกลุ่มที่ได้รับ lansoprazole และ 2.63% ในกลุ่มที่ได้รับ famotidine, p = 0.313)

            ผู้วิจัยกล่าวว่า ผลการศึกษาในครั้งนี้บ่งชี้ว่าการใช้ยาเพื่อยับยั้งการสร้างกรดอย่างเดียวไม่ว่าจะด้วยยาในกลุ่ม PPI หรือ H2RA นั้นยังไม่เพียงพอต่อการป้องกันการเกิดเลือดออกซ้ำในผู้ป่วยเหล่านี้ ดังนั้น จึงอาจจะต้องทำการศึกษาเพิ่มเติมต่อไปว่า การใช้ยาหลายชนิดร่วมกัน เช่น misoprostol ร่วมกับ lansoprazole จะให้ประสิทธิภาพในการรักษาที่ดีขึ้นหรือไม่